3 ก.ค. 2024 เวลา 11:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

หนังดีจำเป็นต้องมี Production Value สูงหรือไม่?

เดือนสองเดือนก่อน ผู้อ่านเขียนมาถามผมเรื่อง production value ของหนัง หลานม่า ตอนนั้นผมยังไม่ได้ดูจึงตอบไม่ได้
production value กินความกว้างกว่าฉาก การจัดแสงสี มันยังครอบคลุมการแสดง เทคนิคอื่นๆ ด้วย แต่ความหมายที่เราใช้กัน มักหมายถึงฉากสวย จัดแสงดี ลงทุนชุด เซ็ทต่างๆ มาก
คำถามคือหนังดีต้องมี production value ดีด้วยหรือไม่
คำตอบคือขึ้นอยู่กับมาตรการให้คะแนนของแต่ละคน แต่ละสำนัก ไม่มีถูกหรือผิด แต่โดยส่วนตัวผมไม่ได้ให้คะแนนจุดนี้ ผมเน้นเรื่องกับคอนเส็ปต์หนังมากกว่าแบบ Dogma 95 Movement
1
Dogma 95 เป็นความเคลื่อนไหวของคนสร้างหนังในปี 1995 โดยชาวเดนมาร์ก Lars von Trier และ Thomas Vinterberg เพื่อสวนแรงของการทำหนังแบบ 'ทุ่มทุนสร้าง' หรือ 'อลังการงานสร้าง' เน้นฉาก ส่วนเนื้อเรื่องก็ไม่ค่อยเน้น
Dogma 95 ถามว่าทำไมเราไม่สร้างหนังอย่างที่ควรเป็น เล่าเรื่องที่ดี คอนเส็ปต์ดี ตัดพวกสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ เทคนิคการสร้างทิ้งไปให้หมด ฉากจะจัดแสงดีหรือไม่ หรูหราหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง เหมือนกินข้าวบนจานสังกะสีหรือจานกระเบื้องเคลือบราคาแพง ก็ให้สารอาหารเท่ากัน
พูดง่ายๆ คือเป็น minimalism ในภาพยนตร์
1
ตัวอย่างหนัง เช่น Breaking the Waves หนังเรื่องแรกของ Emily Watson นักแสดงชายคือ Stellan Skarsgård สมัยยังหนุ่ม
หนังกลุ่มนี้ถ่ายทำแบบง่าย ถ่ายเทกสองเทก ในสถานที่จริง ไม่จัดแสงเพิ่ม ถ้ามืดก็ปล่อยให้มืด ทุกอย่างที่ปรากฏในหนังต้องมีความจำเป็นต่อการเดินเรื่อง เช่น ถ้ามีโทรศัพท์ในฉากนั้น ก็ต้องมีเหตุผล
ดูหนังที่เนื้อหาจริงๆ
Dogma 95 movement โลดแล่นในโลกภาพยนตร์ได้เพียงสิบปี ก็สลายตัว
ดูเหมือนคนยังสนใจ 'อลังการงานสร้าง' เหมือนเดิม
โฆษณา