10 ก.ค. 2024 เวลา 03:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ

10 คำศัพท์ในบทวิเคราะห์หุ้น ที่นักลงทุนเจอบ่อยและควรรู้

ในการลงทุนในตลาดหุ้น สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรรู้คือคำศัพท์ที่ใช้บ่อยในวิเคราะห์และคำแนะนำการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น การรู้จักคำศัพท์เหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้เข้าใจบทวิเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้น แต่ยังช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น นอกจากคำแนะนำในการ ซื้อ ขาย หรือ ถือ ง่าย ๆ แล้ว ยังมีอีกหลายคำศัพท์ที่บางคนอาจยังไม่รู้ Wealthy Thai ได้รวบรวม 10 คำศัพท์ที่สำคัญและมักใช้บ่อยในการวิเคราะห์หุ้นมาฝากนักลงทุนทุกคน
1.Accumulative buy (ซื้อสะสม)
แนะนำให้ทยอยซื้อหุ้นสะสม เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานยังดี แต่อาจจะมีปัจจัยลบมากดดันในระยะสั้น จึงเหมาะที่จะซื้อสะสมในระยะยาว แล้วรอเวลาให้หุ้นกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
ตัวอย่าง : คุณมีเงินทุน 100,000 บาท คุณอาจแบ่งซื้อหุ้น A ครั้งละ 10,000 บาท ทุกเดือน เมื่อปัจจัยพื้นฐานของหุ้นยังดีแต่ราคาหุ้นตกลงในระยะสั้น
2.Laggard (ราคายังไม่ปรับขึ้นมาก)
หุ้นที่มีการปรับตัวของราคาช้ากว่าดัชนี SET หรือช้ากว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ทำให้มีราคาถูกเมื่อเทียบกับดัชนีหรือหุ้นในกลุ่ม และมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะสะสมแรงไว้เพื่อวิ่งไล่ตามดัชนีหรือกลุ่มได้ในอนาคต
ตัวอย่าง : หุ้น B ที่ราคายังไม่ขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับดัชนี SET แต่มีแนวโน้มที่ดีในอนาคต
3.Target price หรือ Fair value (ราคาเป้าหมาย หรือราคาเหมาะสม)
คือ ราคาเป้าหมาย หรือราคาเหมาะสมของหุ้น ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินจากปัจจัยพื้นฐาน เช่น ผลประกอบ, กระแสเงินสด, อัตราส่วนการเงิน, แนวโน้มธุรกิจในอนาคต
ตัวอย่าง : หากนักวิเคราะห์ประเมินราคาเป้าหมายของหุ้น C ไว้ที่ 50 บาท แต่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 40 บาท ถือว่าเป็นโอกาสในการลงทุน
4.Trading buy (ซื้อเก็งกำไร)
แนะนำให้ซื้อเก็งกำไร ซึ่งมักเกิดกับหุ้นที่ราคาปัจจุบันใกล้เคียงกับราคาพื้นฐาน ซึ่งมีข่าวดีที่ทำให้ราคาหุ้นวิ่งต่อไปได้ในระยะสั้น
ตัวอย่าง : หุ้น D ที่กำลังมีข่าวดี เช่น การควบรวมกิจการ ที่อาจทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นในระยะสั้น
5.Outperform Market (ทำผลงานดีกว่าตลาด)
คำแนะนำว่าหุ้นจะมีผลประกอบการดีกว่าตลาดโดยรวม เช่น ประเมินว่าสิ้นปี SET Index ปรับขึ้น 5% แต่หุ้นตัวนี้คาดว่าจะเติบโต 10%
ตัวอย่าง : หุ้น E ที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะเติบโตดีกว่าตลาดในปีนี้
6.Underperform Market (ทำผลงานแย่กว่าตลาด)
คำแนะนำว่าหุ้นจะมีผลประกอบการแย่กว่าตลาดโดยรวม มีแนวโน้มจะสร้างผลตอบแทนที่ไม่ดี
ตัวอย่าง : หุ้น F ที่คาดว่าจะทำผลประกอบการไม่ดีเมื่อเทียบกับตลาดรวม
7.Neutral (เป็นกลาง)
ไม่มีการคาดการณ์ที่ชัดเจนว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงในระยะสั้น แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นตัวนั้นไว้เช่นเดิม
ตัวอย่าง : หุ้น G ที่ยังไม่มีปัจจัยบวกหรือลบชัดเจนในระยะสั้น
8.Overweight (น้ำหนักมากเกินไป)
แนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นตัวนั้น เมื่อเทียบกับน้ำหนักลงทุนปกติ นั่นคือเราสามารถขายสินทรัพย์อื่นในพอร์ต หรือนำเงินลงทุนก้อนใหม่มาซื้อหุ้นดังกล่าวเพิ่มได้
ตัวอย่าง : หากนักวิเคราะห์แนะนำให้ Overweight หุ้น H เราอาจเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น H ขึ้นเป็น 20% ของพอร์ต
9.Underweight (น้ำหนักน้อยเกินไป)
แนะนำให้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นตัวนั้น เมื่อเทียบกับน้ำหนักลงทุนปกติ นั่นคือเราสามารถขายหุ้นบางส่วนในพอร์ตออกไป แล้วนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีโอกาสเติบโตมากกว่า
ตัวอย่าง : หุ้น i ที่นักวิเคราะห์แนะนำให้ Underweight เราอาจลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น i ลงเหลือ 5%
10. Consensus (รวมความเห็นจากโบรกฯ)
การสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ต่างๆ ที่ติดตามข้อมูลรายบริษัทอย่างใกล้ชิด โดยจะนำเสนอในรูปตารางสรุปตัวเลขสำคัญทางการเงินรายบริษัท เช่น กำไรสุทธิ กำไรต่อหุ้น (EPS) อัตราเงินปันผล (DIY) มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน (Target Price) คำแนะนำสำหรับการลงทุน เป็นต้น
ตัวอย่าง : ตาราง Consensus ที่แสดงการคาดการณ์กำไรสุทธิของบริษัท J จากนักวิเคราะห์ 10 ราย
นอกจากนี้ยังมีคำที่เจอบ่อย เช่น Sell on fact ขายหุ้น เนื่องจากมีประกาศข่าวดีจากบริษัท หรือ กิจการ และ Buy on dip ซื้อหุ้น เนื่องจากราคาย่อลงชั่วคราว เพื่อรอจังหวะราคาขึ้น เป็นต้น
การทำความเข้าใจคำศัพท์เหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนมือใหม่สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ ขาย หรือถือหุ้นตามคำแนะนำของนักวิเคราะห์
โฆษณา