Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
11 ก.ค. 2024 เวลา 03:00 • ธุรกิจ
ท่าประจำ Disney ใช้แฟรนไชส์ภาพยนตร์ ต่อยอดธุรกิจตัวเอง
หนึ่งในภาพยนตร์ยอดฮิตช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง Inside Out 2 ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอารมณ์ของ
เด็กผู้หญิงคนหนึ่งชื่อว่า ไรลีย์
ซึ่งถูกต่อยอดจากภาคแรกในวัยเด็ก ตามมาด้วย
ภาคนี้ที่เป็นวัยรุ่น และเราก็อาจได้เห็นภาคต่อไปของไรลีย์ ในวัยทำงาน มีครอบครัว มีลูก จนไปถึงวัยชรา
เท่ากับว่า เราอาจจะได้ดู Inside Out หลาย ๆ ภาคต่อเนื่องกัน
จะเห็นว่า อะไรทำนองนี้ เป็นท่าที่ Disney ใช้อยู่เป็นประจำ ในการต่อยอดคอนเทนต์ของตัวเองออกไปเรื่อย ๆ
แล้ววิธีนี้ได้ผลมากแค่ไหน ?
ทำไม Disney ยังเลือกใช้วิธีนี้อยู่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
นอกจากเรื่อง Inside Out แล้ว Disney ยังต่อยอดภาพยนตร์ตัวเองจากตัวตั้งต้นเดิมอยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็น จักรวาล Marvel, Frozen, Toy Story, Star Wars รวมไปถึงเรื่อง Avatar ก็ถูกสร้างขึ้นต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ
ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากความสามารถในการผลิตภาพยนตร์ของ Disney แค่อย่างเดียว แต่ยังมาจากค่ายสตูดิโอที่ไปลงทุนซื้อมาด้วย
ไล่ตั้งแต่
- ปี 2006 ซื้อ Pixar
- ปี 2009 ซื้อ Marvel
- ปี 2012 ซื้อ Lucasfilm ซึ่งมีลิขสิทธิ์ Star Wars
- ปี 2018 ซื้อ 21st Century Fox ซึ่งมีลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ Marvel เรื่อง Fantastic Four, Deadpool, X-Men รวมถึงมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Avatar
เมื่อรวมกับภาพยนตร์ที่ Disney เคยสร้างขึ้นมาเอง
ทำให้ Disney มีคอนเทนต์ที่หลากหลาย แถมยังมีเหล่าแฟนคลับที่ชื่นชอบตามมาด้วย
และสามารถนำไปต่อยอดเป็นลิขสิทธิ์สินค้าที่ระลึก ลิขสิทธิ์สตรีมมิง สวนสนุก และอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง
แถมยังมีรายได้จากส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ที่เอาไปฉาย โดยหากไปดูรายได้ตรงนี้ในช่วงที่ผ่านมา (ปิดงบวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี) จะพบว่า
- ปี 2020 รายได้ 78,063 ล้านบาท
- ปี 2021 รายได้ 33,654 ล้านบาท
- ปี 2022 รายได้ 68,589 ล้านบาท
- ปี 2023 รายได้ 116,108 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า แม้ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ทำให้รายได้ตรงนี้ลดลงไป แต่ในปี 2023 Disney ก็กลับมามีรายได้ตรงนี้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ที่น่าสนใจคือ การเพิ่มขึ้นของรายได้มาจากความสำเร็จแบบถล่มทลายของ Avatar: The Way Of Water ที่กวาดรายได้กว่า 84,131 ล้านบาททั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีแบบนี้ก็เป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน เพราะต้องใช้เวลาพอสมควร ในการออกภาคใหม่ ๆ มาให้คนทั่วโลกได้ดู
ถ้าเป็นเมื่อก่อน ก็คงไม่มีปัญหาอะไรนัก..
แต่ตอนนี้ Disney เจอการแข่งขันสุดดุเดือด โดยเฉพาะธุรกิจสตรีมมิง จนเผชิญกับคู่แข่งที่มากหน้าหลายตา อย่าง HBO GO, Paramount+ รวมไปถึงคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Netflix ที่พร้อมแย่งคนเสพคอนเทนต์จาก Disney ไป
โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Disney ขาดทุนจากธุรกิจสตรีมมิงไปแล้วกว่า 450,000 ล้านบาท
เมื่อคอนเทนต์ใหม่ ๆ ของ Disney ไม่ค่อยมีมาบ่อย
แถมมีตัวชูโรงไม่กี่ตัว คนดูก็พร้อมไปใช้เวลาบนสตรีมมิงเจ้าอื่นในทันที
นอกจากนี้ ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งก็คือ Disney ต้องจัดการกับความคาดหวังของคนดู เพราะหากทำมันออกมาไม่ดี ฟีดแบ็กทางลบ ก็พร้อมทำร้ายกลับได้ทันที
1
อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจขาสตรีมมิงจะยังขาดทุนหนัก
แต่ธุรกิจขาอื่น ๆ เช่น สวนสนุก Disneyland ก็ยังทำกำไรให้กับ Disney ได้เป็นอย่างดี
เพราะหากเราไปดูผลประกอบการของ Disney ก็ยังพอใช้ได้ แม้ต้องแบกการขาดทุนจากธุรกิจสตรีมมิงก็ตาม
ผลประกอบการที่ผ่านมา (ปิดงบวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี)
- ปี 2021 รายได้ 2,466,217 ล้านบาท
กำไร 72,979 ล้านบาท
- ปี 2022 รายได้ 3,026,053 ล้านบาท
กำไร 115,047 ล้านบาท
- ปี 2023 รายได้ 3,251,977 ล้านบาท
กำไร 86,111 ล้านบาท
ถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่าการที่ Disney เลือกใช้แฟรนไชส์ภาพยนตร์ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในการต่อยอดธุรกิจของตัวเองไปเรื่อย ๆ
ซึ่งเป็นท่าของ Disney ที่ประสบความสำเร็จ มีแฟนคลับทั่วโลกคอยติดตาม และรอคอยผลงานภาคต่อเนื่องออกมา ว่าหน้าตาจะออกมาเป็นแบบไหน
แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว ดูจะไม่รอคอยผลงานแบบแฟนคลับเท่าไรนัก เพราะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น Disney ปรับตัวลงเรื่อย ๆ จนมูลค่าบริษัทหายไปถึง -50%
และกำลังตั้งคำถามว่า Disney ยังเป็นอาณาจักรแห่งจินตนาการ ที่น่าสนใจอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า..
ธุรกิจ
7 บันทึก
33
5
7
33
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย