Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
12 ก.ค. 2024 เวลา 06:46 • ท่องเที่ยว
ปราสาทหินพิมาย .. ปราสาทหิน ถิ่นอีสานใต้ (1)
“… บนแผ่นดินสูงที่ตั้งมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร มณฑลอีสาน มีพุทธาวาสและเทวสถาน ซึ่งมักเรียกปนกันว่า .. ปราสาทหิน .. สร้างไว้แต่โบราณมากมายหลายแห่งนับไม่ถ้วน แม้ไม่มีขนาดใหญ่โตเหมือนเช่นนครวัด เมืองเขมร แต่ก็มีที่แปลก และสร้างด้วยฝีมืออย่างประณีตน่าชมหลายแห่ง ..”
ข้อความจากหนังสือ “โบราณคดี” พระนิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้บอกชัดเจนตามพระนิพนธ์ว่า แม้แผ่นดินเขมรจะมีปราสาทขอมอันยิ่งใหญ่อลังการอย่างปราสาทนครวัด-นครธมก็ตาม แต่ดินแดนที่มากมายด้วยปราสาทหิน อันสร้างด้วยอารยะธรรมขอมนั้น กลับอยู่ในแผ่นดินอีสานของเรานี่เอง โดยเฉพาะบริเวณอีสานใต้
ปราสาทหินในบ้านเราสร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของขอม แต่ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัง แต่มิได้หมายความว่าเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน
คนสมัยก่อนถือกันว่า อาคารหินอันใหญ่โตนั้นเป็นที่อยู่ของเทวดา หรือพระเจ้า ดังนั้นแม้แต่กษัตริย์ขอมเองก็ยังไม่กล้าเข้ามาอยู่อาศัย แต่สร้างไว้สำหรับขึ้นว่าราชการแผ่นดิน
ปราสาทหินพิมาย … ปราสาทหินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
“ปราสาทหินพิมาย” … เป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างในยุคเมืองพระนครของเขมร ก็ราวพันปีมาแล้ว และเป็นจุดหมายปลายทางของถนนชัยวรมัน หรือ Royal road ที่ตัดจากเมืองพระนคร ผ่านป่าเขาสูงตรงมายังเมืองพิมาย
ซึ่งเป็นโครงการของกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของเขมร พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้เป็นหนึ่งในกษัตริย์ขอมโบราณเพียงไม่กี่พระองค์ที่ทรงนับถือศาสนาพุทธ ..พระองค์มาแสวงบุญถึงเมืองพิมาย และทรงสร้างปราสาทพรหมทัตในเขตปราสาทพิมายไว้เป็นประจักษ์พยาน
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นมหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรเขมร ซึ่งครองราชย์อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 และศิลปกรรมเขมรในสมัยนี้เองที่เรียกว่า “ศิลปกรรมแบบบายน” อันได้แผ่ความนิยมเข้ามายังประเทศไทย
จากอีสานถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และได้รับความนิยมแพร่หลายกว่าศิลปะแบบใดๆของเขมรที่เข้ามีอิทธิพลในประเทศไทย .. ดังจะเห็นว่า ทางเหนือขึ้นไปทางเหนือจนถึงวัดเจ้าจันทร์ จังหวัดสุโขทัย ทางตะวันตกสุด คือ ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี และยังลงไปถึงจังหวัดเพชรบุรี คือ ปราสาทกำแพงแลง
เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย
แต่อย่างไรก็ตาม “ปราสาทหินพิมาย” ยังได้รับการสร้างเสริมและซ่อมแซมอยู่ตลอด เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แม้ว่าในระยะต่อมาความศรัทธาในพุทธศาสนามหายาน จะมีการเปลี่ยนมาเป็นแบบหินยานแล้วก็ตาม
ดังปรากฏหลักฐานสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา มีวัดสร้างไว้ตรงมุมใกล้ประตูซุ้มกำแพงด้านทิศตะวันตกในบริเวณปราสาทหินพิมาย
เมืองพิมาย มีลักษณะคล้ายเกาะ คือมีน้ำล้อมรอบอยู่ทุกด้าน ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร เดิมมีกำแพงเมืองเป็นคันดินล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีซุ้มประตุสร้างด้วยหินทราย ที่สังเกตเห็นชัดเจนคือประตูไชย ทางด้านทิศใต้ ปัจจุบันมีถนนตัดตรงจากประตูนี้เข้าสู่ประตูปราสาทหินพิมาย
สิ่งที่น่าทึ่งในฝีมือการสร้างของคนโบราณ ที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการก่อสร้างที่ทันสมัยเป็นตัวช่วยเช่นในปัจจุบัน ที่พบที่ปราสาทหินพิมายก็คือ ตั้งแต่ประตูเมือง ประตูกำแพงล้อมรอบปราสาท ไปจนถึงประตูปราสาท จะตรงเป็นแนวเดียวกันตลอด … น่าทึ่งกับฝีมือการสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่ให้ไว้กับโลกของคนโบราณ
กำแพงล้อมรอบลานชั้นนอก .. กำแพงล้อมรอบปราสาท สร้างด้วยหินทราย มีศิลาแลงแทรกเป็นบางส่วนขนาดประมาณ 220 X 277.50 เมตรมีประตูหลอกทำเลียนแบบบานประตูไว้ 2 บาน กำแพงชั้นนอกด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดคือยังมีความสูงเหลืออีก 8 เมตร
ประตูชัย .. บนกำแพงเมืองจะมีประตูเมืองซึ่งมีอยู่ทั้งสี่ทิศ ประตูชัยอยู่ทางด้านทิศใต้ของปราสาทหินพิมายรับกับถนนโบราณที่ทอดตรงมาจากเมืองพระนครในเขมร มีแผนผังการก่อสร้างเหมือนกันทุกประตู
… คือเจาะเป็นช่องสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง ด้านข้างทั้งสองด้านของประตูมีห้องอยู่สามห้อง เทคนิคการสร้างประตูเมืองนี้บ่งบอกว่าอยู่ในยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในพุทธศตวรรษที่ 18 ทำให้สันนิษฐานได้ว่าประตูเมืองคงได้รับการสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลังในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
อุทยานประวัติศาสตร์ พิมาย (1)
“ปราสาทหินพิมาย” สร้างขึ้นตามความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์ และโลกมนุษย์ ลักษณะผังของปราสาทหินพิมายนั้นสร้างขึ้นคล้ายเขาพระสุเมรุ มีองค์ปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ใจกลางของเทวสถาน เป็นเสมือนทางเชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์ ปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ตัวอุทยานตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล และอยู่ใน อ.พิมาย จังหวัดนครราชสีมา บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร
ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่น ๆ ที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมือง พระนคร เมืองหลวงในสมัยนั้นของอาณาจักรขะแมร์ ซึ่งเข้ามาสู่เมืองพิมายทางทิศใต้
ปราสาทหินพิมายนั้นหันหน้าไปทางทิศใต้ ดังนั้นการเข้าชมปราสาทจึงต้องเข้าชมจากทางด้านทิศใต้ ซึ่งจะได้นำเข้าไปชมกันเป็นลำดับ ดังนี้ ….
ทางเข้าสู๋พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
หลังจากที่เราผ่านทางเข้า จะเห็นอาคารอันเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวและให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ปราสาทหินพิมาย และเมืองพิมาย
ส่วนจัดแสดงทับหลังกลางแจ้ง .. ที่ทางด้านขวามือเมื่อเดินเข้าไป มีบริเวณที่ได้รับการปรับแต่งใหม่ เป็นพื้นที่ร่มรื่น ตั้งทับหลังสลักภาพเรื่องราวและลวดลายต่างๆ ตั้งเรียงรายอยู่ 3 แผ่น ซึ่งเป็นทับหลังที่พบที่ปราสาทหินพิมาย
.. และเคยติดตั้งประจำอยู่ตามเหนือกรอบประตูต่างๆ แต่จากการบูรณะ ไม่อาจนำกลับไปติดตั้งยังที่เดิมได้ครบทุกแผ่น จึงนำเอาส่วนที่เหลือมาจัดแสดงไว้กลางแจ้ง
สนามหญ้าหน้าทางเข้าปราสาทดูสวยงาม และได้รับการดูแลอย่างดี .. เป็นส่วนต้อนรับที่เห็นแล้วประทับใจมากทีเดียวค่ะ
พลับพลา .. ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงชั้นนอก ด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 26 x 35.10 เมตร สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง มีบันไดและประตูเข้าสู่อาคารทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกข้าง ๆ ประตูจริงเป็นประตูหลอกด้านละ 1 ประตู
ตำแหน่งที่ตั้ง สันนิษฐานว่าคงเป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่าง ๆที่ใช้ในพิธี
ว่ากันว่า ..มีทับหลังสลักภาพบุคคลทำพิธีมอบม้าแก่พราหมณ์และภาพเทวดาประทับเหนือหน้ากาลที่คายพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง ทับหลังทั้งสองชิ้นนี้มีลักษณะศิลปะแบบที่นิยมกันในราวพุทธศตวรรษที่ 17
จากการขุดแต่งบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาล กระดิ่งสำริด พระพุทธรูปและเทวรูปสำริด แม่พิมพ์พระดินเผา กำไลสำริด หินบด เครื่องประดับทำด้วยทองคำ รวมทั้งยังพบฐานที่ตั้งรูปเคารพทำด้วยหินทรายอีกด้วย ซึ่งสิ่งของที่พบเหล่านี้มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 ทั้งสิ้น .. รวมถึงเหรียญสำริดเหรียญด้านหนึ่งเป็นรูปครุฑ อีกด้านหนึ่งเป็นอักษรโบราณ เป็นเหตุให้เรียกกันว่า "คลังเงิน"
สะพานนาคราช ... ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้ เรียกว่า “สะพานนาค”
เป็นสะพานสร้างด้วยหินทรายตั้งอยู่ตรงหน้าซุ้มประตูกำแพงชั้นนอกเป็นรูปกากบาทขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 31.70 เมตร ยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร มีบันไดขึ้นลง 3 ด้าน
เชิงบันไดทำเป็นอัฒจันทร์ รูปปีกกา ราวสะพานโดยรอบทำเป็นลำตัวของนาคราชทอดตัวยาวเป็นราวบันได ชูเศียรทั้งเจ็ดแผ่พังพานเปล่งรัศมีอย่างสวยงาม
สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล
นาคเป็นสัตว์มงคลที่มักพบตามโบราณสถาน ที่ได้รับอิทธิพลจากคติของศาสนาฮินดู หรือพราหมณ์
ซึ่งเชื่อว่านาคทอดร่างเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์
ประติมากรรมรูปสิงห์ .. ที่ตระพักหรือเชิงบันไดนาคทั้งสองข้างมีประติมากรรมรูปสิงห์จำหลักจากหินทราย ประดับอยู่ข้างละตัว
สิงห์มีท่าทางองอาจเสมือนเป็นผู้พิทักษ์โบราณสถาน ลักษณะทางศิลปกรรมของสิงห์และนาคนี้ คล้ายศิลปะที่นครวัดที่สร้างในช่วงรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1656-1688)
ทับหลังมีรูปนางอัปสร กำลังร่ายรำ
ระเบียงคด และชาลาทางเดิน ... ระเบียงคด มีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน
รูปสบักทับหลังด้านกน้าโคปุระทางเขา เป็นรูปนางโยคิณี ทั้ง 8 ของพระเหวัชระยิดัม กำลังร่ายรำท่าเริงร่าชัยชนะ .. ซึ่งคนโบราณได้นำไปผูกเป็นเรื่องการแข่งขันสร้างปราสาทระหว่าง ชาย-หญิงในหลายสำนวน
ชาลาทางเดิน ..ก่อสร้างด้วยหินทราย เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูด้านทิศใต้ของระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธาน
โดยทำทางเดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน ผังทำเป็นรูปกากบาท
จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้อง รองรับด้วยเสาไม้
ลานชั้นนอกและสระน้ำทั้งสี่
มีลักษณะเช่นเดียวกันทั้งสามทิศ .. เมื่อผ่านซุ้มประตูทางเข้าและกำแพงเข้าไป จะถึงบริเวณลานกว้าง ที่เรียกกันว่า “ลานชั้นนอก” ซึ่งเป็นทางเชื่อมระหว่างซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศใต้และระเบียงคด
ลักษณะยกพื้นเป็นขอบทาง เดินขึ้นลงได้โดยรอบ จึงทำให้เกิดเป็นช่องว่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบแผนผังกากบาทจำนวน 4
จากการขุดแต่งเมื่อปี 2530 พบหลักฐานเป็นหลุมเสาไม้ตลอดแนวทางเดินเป็นคู่ๆ ชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังคา และบราลีดินเผาแสดงให้เห็นว่า เดิมชาลาทางเดินแห่งนี้มีหลังคาคลุมโดยมีเสาไม้รองรับ
ลานชั้นนอกนี้ประกอบด้วย
บรรณาลัย .. ที่ลานชั้นนอกใกล้กับซุ้มประตูด้านตะวันตก มีอาคารสร้างด้วยศิลาแลง 2 หลัง เป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจะเป็นจตุรัส กว้าง 25.50 X 26.50 เมตร
อาคาร 2 หลังนี้จัดเป็นอาคารใหญ่ ไม่มีหลักฐานให้ทราบชัดถึงประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริง เรียกต่อ ๆ กันมาว่า บรรณาลัย ซึ่งหมายถึง สถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ต่าง ๆ ทางศาสนาเทียบกับวัดของเราในปัจจุบันก็คงจะเทียบได้กับ “หอไตร” นั่นเอง
แต่เมื่อพิจารณาสภาพภายในอาคารแล้วชวนให้สันนิษฐานว่าน่าจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น อาจเป็นที่ประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน อันเป็นศาสนาหลักของศาสนาสถานแห่งนี้ หรืออาจเป็นที่พักกระบวนเสด็จของกษัตริย์หรือเจ้านายก็เป็นได้
สระน้ำ หรือบาราย .. โบราณสถานที่พบในภาคอีสานเกือบทุกแห่ง มักมีสระน้ำ หรือที่ภาษาเขมรเรียกว่า “บาราย” อยู่คู่กันแทบทุกแห่ง เป็นสระที่ขุดขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้อุปโภคบริโภค บางคนก็เชื่อว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม
บริเวณเมืองพิมายมีบารายอยู่หลาย แห่งที่อยู่ภายในกำแพงเมือง ตั้งอยู่ที่มุมทั้ง 4 ของลานชั้นนอก คือ สระแก้ว สระพรุ่ง และสระขวัญ นอกเขตกำแพงเมืองคือสระเพลง อยู่ทางทิศตะวันออก สระโบสถ์ อยู่ทางทิศตะวันตก สระเหล่านี้มีขนาดไม่เท่ากันและตำแหน่งที่ตั้งก็ไม่อยู่ในแนวตรงกัน สันนิษฐานว่าเป็นสระที่ขุดขึ้นมาภายหลังคงจะเป็นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
นอกจากนี้ที่บริเวณนี้ยังเคยเป็นที่ตั้งของวัดต่าง ๆ ซึ่งได้ย้ายออกไปสร้างใหม่ข้างนอกปราสาทแล้ว รวมทั้งสิ้น 4 วัด คือวัดสระหิน วัดพระปรางค์ใหญ่ วัดโบสถ์ (ซึ่งมีพระอุโบสถ เรียกกันว่า โบสถ์เจ้าพิมาย) และวัดพระปรางค์น้อย
จากการที่เรียกชื่ออุโบสถว่า โบสถ์เจ้าพิมาย ประกอบกับได้พบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย เมือครั้งกรมหมื่นเทพพิพิธมาสะสมกำลังตั้งตัวเป็นใหญ่คราวเสียกรุงครั้งที่สอง เรียกว่า ก๊กเจ้าพิมาย สระน้ำทั้งหลายจึงคงเป็นสระน้ำที่วัดเหล่านั้นขุดขึ้นมาใช้ประจำวัดนั่นเอง
ลานชั้นใน .. ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
ระเบียงคด .. จากลานชั้นนอกเข้าไปก็ถึงกำแพงอีกชั้นหนึ่งที่ล้อมรอบปราสาทหินพิมาย เรียกว่า “ระเบียงคด” เป็นกำแพงชั้นใน มีขนาดเล็กกว่ากำแพงชั้นนอก และมีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน
ซุ้มประตูทางด้านใต้มีขนาดใหญ่กว่าด้านอื่นๆ ภายในเป็นทางเดินกว้าง 2.35 เมตร เดินทะลุถึงกันได้ตลอด ยาวจากเหนือ - ใต้ 72 เมตร จากตะวันออก - ตะวันตก 80 เมตร อยู่สูงจากพื้นดิน 1 เมตร
ภายในเดินทะลุถึงกันได้ ส่วนผนังด้านนอกปิดทึบ ทำเป็นหน้าต่างหลอกประดับด้วยลูกมะหวด หลังคามุงปิดด้วยแผ่นหินทรายที่วางซ้อนเหลื่อมกันคล้ายประทุนเรือ ส่วนหลังคา ยังคงเหลือสมบูรณ์เป็นบางแห่งเท่านั้น ส่วนใหญ่พังลงมา เพราะการทับซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้นของหินมีน้ำหนักมาก
ซุ้มประตูของกำแพงชั้นใน .. สร้างด้วยหินทรายเช่นกัน มี 4 ประตู ลักษณะคล้ายซุ้มประตูกำแพงชั้นนอก แต่เล็กกว่า ระเบียงแต่ละด้านมีซุ้มประตูหรือโคปุระชั้นในอยู่กึ่งกลาง
ที่น่าสนใจคือประตูด้านทิศใต้ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าด้านอื่นๆ ทำแบ่งเป็น 3 คูหา ชักปีกกาเป็นตัวกำแพงยาวออกไปข้างละ 80 เมตร แล้วหักมุมเป็นแนวกำแพงด้านอื่นต่อไป …
การสร้างประตูซุ้มเหมือนกันทั้ง 4 ด้าน โดยมีคูหาและแนวกำแพงติดต่อกันทั้ง 4 ทิศแบบนี้ ทำให้เกิดเป็นรูปกากบาทขึ้นทุกด้าน และเมื่อมองจากศูนย์กลางขององค์ปราสาทประธาน จะแลเห็นทางเข้าจากประตูเมืองเป็นแนวตรงกันออกไปทั้ง 4 ทิศ
แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมอันได้สัดส่วน และการวางผังเมืองอย่างมีระเบียบแบบแผน แสดงว่าเทคนิคและฝีมือช่างในยุคนั้นได้พัฒนาก้าวไกลไปมากทีเดียว
ซุ้มประตูด้านทิศใต้ บริเวณกรอบประตูทางขวามือ ปรากฏจารึกโบราณบนแผ่นหินในภาษาเขมร อักษรขอมโบราณ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1651–1655 กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพ การสร้างเมือง ตลอดจนปรากฏพระนามของขุนนางชั้นสูง และพระนามมหากษัตริย์คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่1
ข้อความของจารึกโบราณกล่าวเริ่มต้นถึงการสร้างเมืองพิมาย และการสร้างรูปเคารพ “พระกมรเตงอัญศรีวิเรนทราธิบดีวรมะ เมืองโฉกวะกุล” สถาปนาหรือตั้ง “กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย” เป็นเสนาบดีกมรเตงคชตพิมาย ใน พ.ศ.1651 และลงท้ายว่า แตงตวนประสาน บุตรพระกมรเตงอัญศรีวิเรนทราธิบดีวรมะ เมืองโฉกวะกุล ถวายข้าพระแด่กมรแตงชคต พิมาย เมื่อ พ.ศ.1655
เนื้อความของจารึกนี้ เป็นการสถาปนาหรือตั้งเทพเจ้าประจำท้องถิ่น คือ ไตรโลกวิชัย ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งของพุทธศาสนามหายาน ให้เป็นผู้รักษาคุ้มครองปราสาทหินพิมาย หรือเป็นใหญ่ในที่นี้ กับทั้งยังมีการบริจาคข้าทาสไว้สำหรับบำรุงดูแลปราสาทหินพิมายด้วย
จารึกนี้ ทำให้ทราบถึง นามผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับปราสาทหินพิมาย คือ “พระกมรเตงอัญศรีวิเรนทราธิบดีวรมะ” แห่ง “เมืองโฉกวะกุล” แต่ก็ไม่ได้ปรากฏรายละเอียดว่าบุคคลผู้นี้เป็นใคร หรือเมืองโฉกวะกุล นั้นอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตาม พอจะทราบว่าปีที่สร้างปราสาทหินพิมายนั้น คงอยู่รางกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เพราะการประดิษฐานรูปเคารพนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ปราสาทสร้างเสร็จแล้ว
เมื่อเข้ามาอยู่ระหว่างทางเดินในกำแพง หากเดินไปทางซ้ายมือเล็กน้อยแล้วหันกลับมา จะเห็นทับหลังที่ เป็นรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งอยู่บนคานหาม
ยังไม่มีคำอธิบายอื่นที่ดีไปกว่าข้อสันนิษฐานที่ว่า ทับหลังอันนี้เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ ตอนที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สถาปนา “พระชัยพุทธมหานาถ” อันเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ประจำรัชกาลขึ้นตามหัวเมืองต่างๆทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา และขบวนแห่แหนนี้ อาจจะเดินมาตามถนนโบราณ จากเมืองพระนครมาสู่เมืองพิมาย
ทับหลังสลักภาพพระพุทธรูปยืนเรียงแถว ปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ (ปางวิตรรกะ) อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะแบบทวารวดี ที่เคยมีมาก่อนที่เมืองพิมายนี้
รูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรก .. ทับหลังรูปขบวนแห่พระพุทธรูปชิ้นนี้ ถูกใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงรูปแบบเดิมของพระพุทธวิมายที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทประธาน เมื่อแรกสร้างปราสาทพิมาย ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ก่อนที่จะถูกโยกย้ายปรับเปลี่ยนไป จนไม่สามารถสืบทราบได้ว่าเป็นองค์ใด
กัมรเตงชคัตวิมาย .. คำว่า กัมรเตงชคัตวิมาย ปรากฎในจารึกวัดจงกอ และจารึกปราสาทหินพิมาย ๓ (จารึกภาษาสันสกฤตและภาษาเขมรโบราณ) โดย "กัมรเตงชคัต" แปลว่า เจ้าแห่งโลก ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อเทพเจ้าในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ส่วน"วิมาย" แปลว่า สิ้นมายา ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนในพุทธศาสนามหายาน
กัมรเตงชคัตวิมาย .. น่าจะเป็นพระนามพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการเคารพบูชาสูงสุด ณ เมืองพิมาย ซึ่งที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทประธานของปราสาทพิมาย แม้ไม่ทราบแน่ชัดว่า รูปเคารพองค์นี้มีลักษณะแท้จริงเป็นอย่างไร… แต่มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีพุทธลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปในภาพสลักขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกบนทับหลังที่ปราสาทพิมาย ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับตัวปราสาท
ก้มรเตงชศัตวิมาย เป็นที่นับถือสูงสุด ณ เมืองพิมาย เมื่อราวพุทธศดวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ ดังปรากฎหลักฐานว่าได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์และขุนนางเขมร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงมีพระราชศรัทธาต่อกัมรเตงชคัตวิมาย เป็นอย่างสูง .. ดังนั้นในรัชสมัยของพระองค์เมืองแห่งนี้จึงมีนามตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองว่า "วิมาย"
1 บันทึก
3
1
3
1
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย