Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
13 ก.ค. 2024 เวลา 05:42 • ท่องเที่ยว
ปราสาทหินพิมาย (2) .. ปราสาทหินถิ่นอีสานใต้
อุทยานประวัติศาสตร์ พิมาย (2) “ปราสาทหินพิมาย”
เราเดินชมปราสาทหินพิมาย เข้ามาทางประตูด้านทิศใต้ ผ่านสะพานนาค เข้าสู่ระเบียงคดชั้นนอก แล้วเดินผ่านชาลาทางเดินและสระน้ำ เพื่อเข้าสู่กำแพงแก้วและระเบียงคดชั้นในที่ล้อมรอบบริเวณปราสาทชั้นใน
เมื่อก้าวผ่านระเบียงคดมาแล้ว เราก็จะเข้าสู่ลานชั้นใน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคาร 4 หลัง.. ด้านหน้าสุด คือ ปราสาทประธาน ทางด้านซ้ายมือ คือ ปรางค์หินแดง และ หอพราหมณ์ ซึ่งอยู่ติดกัน ส่วนทางด้านขวามือ คือ ปรางค์พรหมทัต
ปราสาทพิมาย ศิลปกรรมเขมรโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18
ปราสาทพิมายเป็นศาสนสถานเนื่องในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ (พ.ศ. ๑๖๒๓ - ๑๖๕๐)
ปราสาทแห่งนี้มีลักษณะพิเศษ คือ มีการจัดวางแผนผังให้ปราสาทหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากปราสาทเขมรโบราณแห่งอื่น ๆที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเดิมนั้น นักวิชาการอธิบายกันว่าปราสาทพิมายหันหน้าไปทางทิศใต้ เพื่อรับกับถนนที่ทอดยาวมาจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย
.. แต่ปัจจุบันมีคำอธิบายที่ต่างออกไปว่า การที่ปราสาทพิมายหันไปยังทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศแห่งความตายหรือทิศแห่งบรรพบุรุษ .. เพื่อแสดงให้เห็นว่า ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายบรรพบุรุษ
นอกจากนี้ปราสาทพิมายยังมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น คือ เป็นปราสาทเขมรแห่งแรกที่ก่อส่วนยอดหรือหลังคาให้เป็นทรงพุ่ม โดยการตั้งนาคปักและบรรพแถลงบนชั้นหลังคาแต่ละชั้นให้เอนเข้าด้านใน
.. ซึ่งคงจะเป็นต้นแบบให้แก่ปราสาทนครวัด ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทอื่น ๆ ในศิลปะเขมรโบราณแบบนครวัด
ปรางค์ประธาน .. เป็นส่วนสำคัญที่สุดขอบปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทองค์ใหญ่ สถาปัตยกรรมหลักและเป็นศูนย์กลางของศาสนาสถานแห่งนี้ องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนฐานสูง 2 ชั้น สลักลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายประจำยาม ลายกลีบบัวอย่างสวยงาม ตัวปราสาทอาจเป็นสัญลักษณ์แทนเขาไกรลาศในศาสนาพราหมณ์ หรือเขาพระสุเมรุในพุทธศาสนา ดังนั้นจึงเท่ากับเป็นแกนกลางของจักรวาล
.. จากความเชื่อนี้ทำให้ปราสาทหินพิมาย ซึ่งสร้างไว้กลางเมือง มีลักษณะเป็นศูนย์กลาง ทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นการวางผังปราสาทหรือแผนผังของเมือง ล้วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนโบราณทั้งสิ้น
องค์ปรางค์ก่อด้วยหินทรายสีขาวตั้งอยู่กลางลาน หันหน้าไปทางทิศใต้ สูง 28 เมตร ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 22 เมตร องค์ปรางค์มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง มีมุข 3 ด้าน คือ ทางทิศเหนือ ตะวันออกและตะวันตก
ส่วนยอดปรางค์หรือหลังคาทำเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันไปเป็นทรงพุ่ม เรียกว่าชั้นเชิงบาตร รวม 5 ชั้น
ที่ส่วนยอดจำหลักเป็นรูปครุฑแบกทั้งสี่ทิศ เหนือขึ้นไปสลักเป็นรูปเทพประจำทิศต่าง ๆ และรูปดอกบัว ประดับด้วยกลีบขนุนปรางค์ และประติมากรรมหินทรายเป็นรูปสัตว์และเทพต่าง ๆ นับเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่ต่างจากปราสาทหินที่พบทั่วไป
งานประติมากรรมภาพสลักนูน ซึ่งถือเป็นลักษณะลวดลายเฉพาะของปราสาทพิมาย คือ “ภาพสลักนูนรูปครุฑแบก” ขนาดใหญ่ที่บริเวณกึ่งกลางชั้นเชิงบาตรขั้นที่หนึ่ง ทั้ง 4 ด้านของปราสาทประธาน .. โดยให้ตัวครุฑแนบไปกับผนังของลวดบัว ขึ้นไปถึงส่วนบนของชุดบัวรัดเกล้า เกิดเป็นกราสาทที่มีขั้น ครุฑแบก ขึ้นเป็ครั้งแรก
ลักษณะดังกล่าวไม่ปรากฎที่ศาสนสถานในศิลปะแบบเขมรโบราณแห่งอื่นๆ
คติเรื่องครุฑแบก หรือครุฑเหิน (กำลังบิน) .. ครุฑมีความสามารถในการบินได้เหนือสรรพสัตว์ทั้งปวง ดังนั้นสิ่งที่อยู่เหนือครุฑที่กำลังบิน จึงหมายถึง ชั้นวิมานสวรรค์ และนี่สื่อความหมายถึง เรือนยอดวิมานของปราสาท
เชื่อว่า .. การสร้างหลังคาแบบนี้เอง ที่ส่งอิทธิพลทางศิลปกรรมต่อไปให้กับปราสาทนครวัด ซึ่งก็ทำให้ปราสาทนครวัดมีลักษณะแปลกไปกว่าบรรดาปราสาททั้งปวงในศิลปะเขมรด้วย
ภาพสลักลวดลายพันธุ์พฤกษาและภาพเล่าเรื่องในศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู ซึ่งสลักอยู่บนทับหลัง หน้าบัน เสาติดกับผนัง และเสาประดับกรอบประตูนั้น ล้วนแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างศิลปะเขมรโบราณแบบบาปวนและแบบนครวัด อันเป็นเอกลักษณ์ของปราสาทพิมายในช่วง ๙๐๐ ปีมาแล้ว
ด้านหน้าของปราสาทประธานทางด้านทิศใต้ .. ไม่มีมุขยื่นออกมาเหมือนด้านอื่นๆ แต่มีมุขกระสัน คือทางเดินเชื่อมต่อมายังมณฑป ซึ่งเป็นอาคารมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมอยู่ด้านหน้าปราสาท มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีมุขเล็กๆยื่นออกไปทั้ง 3 ด้าน บนแนวสันหลังคาของมณฑปจะมีบราลีรูปหม้อน้ำตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบ
ด้านหน้าขององค์ปรางค์มีมุขเชื่อมต่อกับห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า(มณฑป) ที่ส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง เสา ฯลฯ มีการแกะสลักงดงาม ที่หน้าบันและทับหลังส่วนใหญ่สลักเป็นภาพเล่าเรื่อง รามายณะ(รามาวตาร) และ กฤษณาวตาร รวมถึงคติความเชื่อในศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์
ความงดงามของประตูทางเข้า
ทวารบาล (จัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์ฯ พิมาย)
หน้าบันด้านทิศใต้ หรือด้านหน้าก่อนเดินเข้าในองค์ปรางค์เป็น “ภาพศิวนาฏราช” หรือพระอิศวรฟ้อนรำ 108 ท่า ในศาสนาฮินดูเชื่อว่า เป็นการกำหนดระยะโชคชะตาความเป็นไปของมนุษย์
ศิวะนาฏราช 10 กร .. ด้านล่สงกรอบฝั่งขวาเป็น ฤาษีภิกครุ โคนนทิ พระพรหม กำลังตีฉิ่ง พระวิษณุกำลังตีกลอง ..กรอบฝั่งซ้าย ปลายสุดเป็นภาพของนาง กาไรกัล และเหล่าเทพเจ้า ส่วนที่เหลือชำรุด
หากพระอิศวรร่ายรำเร่าร้อนรุนแรงเมื่อใด โลกย่อมปราศจากความสงบสุข จะเกิดกลียุค ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า ต้องเซ่นสังเวยบูชาพระศิวะอยู่เสมอ เพื่อให้พระองค์ฟ้อนรำอยู่ในท่าที่พอดีๆ โลกมนุษย์จะได้สงบสุข … ส่วนทับหลัง ซึ่งอยู่ใต้หน้าบันนี้ ยังค้นหาไม่พบ
มุขมณฑปทางด้านทิศตะวันตก .. หน้าบันชั้นบนแกะสลักเป็นรูป “พระกฤษณะกำลังยกเขาโควรรธนะ” …
เรื่องราวมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระกฤษณะ เกิดเป็นคนเลี้ยงวัว มีพละกำลังมาก แล้วไม่เคารพพระอินทร์ ซึ่งเป็นเทพแห่งสายฟ้าและฝน พระอินทร์จึงบันดาลให้ฝนตกไม่หยุด เพื่อให้น้ำท่วมวัวของพระกฤษณะ แต่พระกฤษณะมีฤทธิ์มาก จึงยกภูเขาโควรรธนะขึ้น ทำให้วัวและคนเลี้ยงวัวทั้งหลายซึ่งอยู่บนนั้นพ้นภัยจากน้ำท่วม
หน้าบันชั้นถัดลงมาและทับหลัง .. สลักเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ตอน “ศึกอินทรชิต” ตอนที่ “พระลักษณ์ถูกศรนาคบาศ” ทำเป็นรูปพระลักษณ์นอนเหยียดยาว ถูกงูหรือพญานาคพันเอาไว้
พระรามกำลังนั่งประคองอยู่ข้างๆและมีฝูงลิงแวดล้อม เหนือขึ้นไปมีพญาครุฑที่บินผ่าน ลงมาช่วยให้พระลักษณ์พ้นจากการรัดรึงของศรนาคบาศ ..
มุขของปราสาทด้านทิศเหนือ .. หน้าบันสลักเล่าเรื่องรามเกียรติ์ตอนรบพุ่งกัน แต่ทับหลังสลักเป็นรูป “พระนารายณ์ 4 กร” ทรงถือจักร สังข์ คฑา และดอกบัวอยู่ในมือ กำลังประทับยืนอยู่ท่ามกลางพรรณพฤกษา
หน้าบันตะวันตก สลักเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ตอนที่ “ยกทัพรบพุ่งกันระหว่างกองทัพลิงและยักษ์” .. ศึกลงกา
ส่วนทับหลังเป็นตอนที่ “พระรามจองถนน” คือ สร้างถนนข้ามน้ำไปตีเมืองลงกา มีฝูงลิงแบกก้อนหินทุ่มลงไปในน้ำ มีรูปสัตว์น้ำอยู่หลายชนิด
มุมปราสาทด้านทิศตะวันออก .. หน้าบันสลักเรื่องรามเกียรติ์ ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ระหว่าง พระราม และทศกัณฑ์ ท้าวมาลีวราช เป็นพระญาติผู้ใหญ่ในวงศ์สหัสบดีพรหมขอบท้าวราพณ์ จึงมี 4 พักตร์แบบพรหม
ทับหลัง … เป็นตอนที่พระลักษณ์กำลังลงโทษตัดหู ตัดจมูก นางสำมนักขา ด้วยเหตุที่นางตามมายั่วยวนพระรามจนถึงอาศรม โดยมีพระรามและนางสีดา นั่งดูอยู่ใกล้ๆ
.. มีฉากหลังเป็นต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา และมีนกหัสดีลิงค์คาบช้างและสิงห์
ต่อมาเมื่อนางสำมนักขากลับมาเล่าเรื่องให้ พญาขร ผู้เป็นพี่ชายว่าถูกดาบสรังแก .. จึงเป็นปฐมเหตุของสงครามระหว่าง พระราม-พระลักษณ์กับเผ่าพงศ์ยักษ์เป็นครั้งแรก
ซุ้มประตูมณฑปตะวันออก .. หน้าบันชั้นบนแกะสลักเป็นรูป “พระอิศวรและพระนาบอุมาทรวโคนนทิ” หรือที่เรียกว่า ”อุมามเหศวร“
หน้าบันถัดลงมา .. สบึกเป็นภาพ พระนารายณ์ทรงครุฑ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระพรหมทรงหงส์และมีฤาษีและเทวดาเป็นแถวอยู่เบื้องล่าง
ทับหลัง.. แสดงภาพที่เหล่าเทพมาแสดงความยินดีในชัยชนะของพระราม (ความดีงาม) ที่เอาชนะท้าวราพณ์รากษส (ความชั่วร้าย) และกลับมาครองกรุงอโยธยา
.. แสดงเป็นภาพของพระรามและนางสีดาประทับบนเรือพระที่นั่ง ทรงพระเกษมสำราญในแม่น้ำ สรยุ ในกรุงอโยธยา
อนึ่ง … เมื่อเดินดูรอบปราสาท จะเห็นว่า ไม่เฉพาะแต่หน้าบันและทับหลังเท่านั้นที่สลักลวดลาย แต่จากฐานจนถึงหลังคา ล้วนมีการแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆด้วย
ส่วนใหญ่ลวดลายประกอบที่ฐานจะเป็นลายดอกไม้ ใบไม้ ลายลูกแก้ว และที่กลีบขนุนยังแกะเป็นรูปเทพต่างๆ
โดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่ และเห็นได้ชัดคือ รูปครุฑแบก บนชั้นหลังคาของปราสาทที่มีอยู่ทุกทิศ ลักษณะเช่นนี้เองที่ช่างสมัยรัตนโกสินทร์ได้ลอกแบบมาใช้ ซึ่งจะเห็นอยู่ตามโบราณสถานหลายๆแห่งในกรุงเทพฯ
เสาประกอบพิธีบูชาไฟ มุมปราสาทด้านทิศเหนือ ห่างจากองค์ปราสาทไปเล็กน้อย จะมีเสาหินรูปสี่เหลี่ยม มีเดือยปักอยู่ข้างบน ตั้งอยู่บนลานทั้งสองด้าน เป็นเสาสำหรับตั้งโคมไฟ ใช้ในการประกอบพิธีกรรม
พิธีบูชาไฟนี้เรียกว่า “ทิวาสี” จะมีการหยดเครื่องหอม น้ำมัน และเครื่องบูชาไฟอื่นๆลงไปบนที่บูชา คือ เสาหินทั้งสองต้น แล้วเดินบูชารอบๆเสานั้น พิธีกรรมนี้เป็นพิธีเก่าแก่เกิดในประเทศอินเดีย และทับหลังของปราสาทด้านทิศเหนือนี้ ก็สลักเป็นรูปนารายณ์ 4 กร ต่างไปจากด้านอื่นที่สลักเล่าเรื่องรามเกียรติ์มาโยตลอด จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า เสาดังกล่าว เป็นที่สำหรับบูชาไฟถวายพระนารายณ์
ภายในปราสาท
เมื่อเดินเข้ามาทางด้านประตูด้านทิศใต้ ที่พื้นด้านหน้าภายในปราสาท จะเห็นเป็นหลุมขนาดต่างๆกัน หลุมเหล่านี้ คือที่ตั้งรูปประติมากรรม ซึ่งคงเป็นทวารบาลตั้งเรียงกันอยู่ ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาปราสาทหินพิมาย มิให้สิ่งชั่วร้ายใดๆเล็ดลอดผ่านเข้ามา
ส่วนที่กรอบประตูมีรูสำหรับใส่เดือยประตู เนื่องจากแต่เดิมนั้น คงมีประตูไม้ปิดด้านหน้าปราสาทเอาไว้
ลวดลายที่สลัก ซึ่งปรากฏบนทับหลังภายในปราสาท ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติและเรื่องราวในพุทธศาสนาทั้งสิ้น .. ยกเว้นทับหลังแผ่นแรก ภายในมณฑป ที่สลักเล่า “เรื่องการสู้รบในเรื่องรามเกียรติ์” แสดงเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างพระลักษณ์และอินทรชิตครั้งสุดท้าย ที่ต่างแผลงศรแข่งฤทธิ์กัน ในที่สุดนี้พระลักษมณ์จึ่งแผลงศรเอนทราสตร์ไปตัดหัวสังหารอินทรชิตได้สำเร็จ
ทับหลังแผ่นถัดไป สลักเล่าเรื่องพุทธประวัติ “ตอนมารวิชัย” หรือตอนที่พระพุทธเจ้าเอาชนะมารได้ ก่อนที่จะตรัสรู้ พระหัตถ์ซ้ายวางไว้บนตัก พระหัตถ์ขวาวางพาดไว้เหนือหัวเข่าขวา แสดงอาการชี้แม่พระธรณีเป็นพยาน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการกดหัวเข่าไว้ ด้วยตั้งใจอธิษฐานว่าจะไม่ลุกขึ้น จนกว่าจะบรรลุพระโพธิญาณ …
ทับหลังชิ้นนี้ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ฯ พิมาย
เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้น พญามารได้ยกทัพมาห้ามไม่ให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และถามว่ามีสิทธิ์อะไรที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าจึงเปลี่ยนจากอาการสมาธิ เป็นชี้พระแม่ธรณีขึ้นมาเป็นพยาน แม่พระธรณีก็หลั่งน้ำที่พระพุทธเจ้าได้เคยบำเพ็ญกุศลแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลในอดีตชาติออกมา น้ำนั้นมากมายจนท่วมไพร่พลพญามาร จนสูญหาย พ่ายแพ้ไปหมดสิ้น
ต่อจากห้องภายในมณฑป จะเป็นห้องในส่วนของปราสาทประธาน ซึ่งแต่ละด้านจะมีทับหลังอยู่ภายในอีก 4 ด้าน ดังนี้
ด้านทิศใต้ เป็นทับหลังที่สำคัญที่สุด เพราะภาพที่ปรากฏบนทับหลัง ตรงตำแหน่งนี้ จะบอกให้รู้ว่าปราสาทถูกสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาใด … ภาพสลักบนทับหลัง แบ่งเป็น 2 แนว
แนวบนเป็น “พระพุทธรูปนาคปรก ประทับอยู่ท่ามกลางพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิในซุ้ม 2 องค์ แนวด้านล่างมีบรรดาอุบาสก อุบาสิกานำสิ่งของมาถวาย” .. ดังนั้น จึงเป็นหลักฐานแสดงว่า ปราสาทหินพิมาย สร้างขึ้นในศาสนาพุทธนิกายมหายาน
ด้านทิศตะวันตก เป็นทับหลังสลักลวดลายเป็น 2 แนวเช่นเดียวกัน แนวบนเป็นพระพุทธรูปยืนประทับอยู่ใต้ต้นไม้คู่หนึ่ง มีกษัตริย์นั่งเฝ้าอยู่ข้างๆพร้อมบริวาร และมีขบวนราชยานคานหามกับเครื่องสูงอยู่ริมซ้าย ส่วนแนวล่างแสดงรูปชาวพนักงาน ชาวประโคมเดินฟ้อนรำ
ด้านทิศเหนือ เป็นทับหลังที่สลักแบ่งภาพออกเป็น 2 แนว โดยแนวบนเป็นภาพบุคคลมี 2 หน้า 6 มือ มีจำนวน 5 ภาพ ภาพกลางมีขนาดใหญ่สุด ภาพบุคคลเหล่านี้ วางมือทั้งสองประสานอยู่บนตักแบบปางสมาธิ มือขวาด้านล่างถือพวงประคำ มือขวาด้านบนถือดอกบัว และมือซ้ายด้านล่างถือกระดิ่ง ส่วนมือซ้ายด้านบนถือดอกบัวอีกดอกหนึ่ง
รูปบุคคลทั้ง 5 นี้ คือ พระวัชระสัตว์ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการยกย่องให้มีฐานะเสมอกับพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนามหายาน (พระพุทธเจ้าของลัทธิมหายานมีจำนวนมากมายไม่จำกัดจำนวน) ส่วนที่ด้านข้างของแนวบนและแนวล่างสลักเป็นรูปทวยเทพ กำลังฟ้อนรำถวาย
ด้านทิศตะวันออก แบ่งเป็น 2 แนวเช่นเดียวกัน แนวบนเป็นภาพพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ ประทับนั่งเรียงแถวอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว จำนวน 10 องค์ ส่วนแนวล่างเป็นรูปเทวดา และนางโยคิณี กำลังร่ายรำ ถือสิ่งของที่แตกต่างกันในมือ
ตรงกลางของทับหลัง สลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชัย มี 4 พักตร์ 8 กร กำลังอยู่ในท่าฟ้อนรำ พระบาทขวายกขึ้น พระบาทซ้ายเหยียบรูปประติมากรรมอีก 2 รูป ซึ่งนอนสลับกันอยู่บนหัวของช้าง เบื้องหลังของพระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชัย หรือพระผู้ชนะตลอดทั้ง 3 โลกนี้ มีหนังช้างแผ่ออก และมีหางช้างตกลงมาอยู่เหนือศรีษะ
ห้องภายในปราสาท มีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมโล่งๆ และค่อนข้างมืด เดิมคงปิดส่วนหลังคาไว้ด้วยแผ่นไม้ ติดดาวเพดานและเขียนลวดลายประดับสวยงาม ปัจจุบันหักพังไปหมด และกรมศิลปากรนำแผ่นไม้ไปปิดกั้นไว้ใหม่
อวค์จำลอง
พระพุทธรูปนาคปรก หินทราย
พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้พบที่ปราสาทพิมาย ปัจจุบันถูกจำลองไปไว้ที่ปราสาทประธานของปราสาทพิมาย
สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หรือหลังจากการสร้างปราสาทพิมายประมาณ ๑๐ㆍ ปี อาจจะเป็นรูป กัมรเตงชคัตวิมาย ที่กล่าวถึงในจารึปราสาทบายน หรือรูปพระพุทธเจ้าวิมาย และพระสุคตวิมาย ที่กล่าวถึงในจารึกพิมานอากาศ และจารึกปราสาทพระขรรค์
องค์จำลอง
ดังนั้นพระพุทธรูปองค์นี้จึงไม่น่าจะเป็นพระประธานองค์แรกของปราสาทพิมาย แต่ถูกนำมาเปลี่ยนในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ก็เป็นได้
พระพุทธรูปิงค์นี้ จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ฯ พิมาย
ในห้องนี้คงเป็นที่ตั้งประติมากรรมสำคัญ ซึ่งอาจจะหมายถึง “กมรเตงขคตวิมาย” ที่กล่าวถึงในจารึกก็ได้ … แต่อย่างไรก็ตาม ประติมากรรมนี้ ย่อมเป็นเทพประธานอันสำคัญสูงสุด ซึ่งควรจะเป็นพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนามหายาน อันทำเป็นประติมากรรมในรูปของพระพุทธรูปนาคปรก
ใต้พื้นห้องของปราสาท มีท่อโสมสูตร เพื่อรองรับน้ำจากการสรงสนานพระพุทธรูป หรือรูปประติมากรรมอื่นภายในนี้ แล้วปล่อยให้น้ำมนต์ไหลลงไปตามท่อ ซึ่งทำเป็นรางต่อออกไปทางมุมปราสาทด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ผู้ที่รอคอยอยู่ภายนอกรับน้ำมนต์ไปดื่มกินต่อไป
รอยพระพุทธบาท ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์ฯ พิมาย .. มีคำอธิบายว่า เดิมประดิษฐานภายในปราสาทประธานของปราสาทพิมาย ภายในฝ่าพระบาทมีลวดลายมงคลในช่องตาราง
ตรงกลางเป็นลวดลายวงกลมเป็นรูปแบบรอยพระพุทธบาทที่มีอิทธิพลจากศิลปะพุกามและนิยมสร้างในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์
“หอพราหมณ์” … นอกจากปรางค์ประธานแล้วภายในลานชั้นในยังประกอบด้วนอาคารอีก 3 หลังอยู่ทางด้านหน้าของปรางค์ประธาน ทางมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมหินผ้าขนาด 6.50 X 17 เมตร
มีมุกขื่นออกไปเป็นบันไดและประตูเข้า - ออก ภายในอาคารพบศิวลึงค์หินทราย จึงเชื่อว่าคงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ จึงเป็นเหตุ เรียกว่า “หอพราหมณ์”
“ปรางค์หินแดง” .. ตั้งอยู่ด้านขวาของปรางค์ประธาน และอยู่บนฐานเดียวกับหอพราหมณ์ สร้างด้วยหินทรายสีแดง มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ฐานปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 11.40 เมตร สูง 15 เมตร มีมุขยื่นออกไป 4 ทิศ ที่มุขแต่ละด้าน มี 1 ประตู
จากการขุดแต่งพบว่าแท่งหินที่ใช้ต่อฐานบางท่อนมีลวดลายสลัก แต่วางกลับข้างจากบนลงล่าง แสดงว่าคงรื้อเอาวัสดุเก่ามาใช้ในการก่อสร้างและคงสร้างพร้อมกับหอพราหมณ์เนื่องจากอยู่บนฐานเดียวกัน และจากการขุดแต่ง ได้พบหินสลักเป็นรูปพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ทรงครุฑ
“ปรางค์พรหมทัต” .. เป็นปราสาทที่สร้างด้วยศิลาแลง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 14.50 เมตร สูง 16 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761) ในรูปแบบสถาปัตยกรรมในศิลปะเขมรโบราณแบบบายน เมื่อคราวที่พระองค์ทรงบูรณะปราสาทหินพิมาย
ปราสาท ก่อสร้างด้วยศิลาแลงโดยก่อเรียงศิลาแต่ละก้อนเกือบเป็นเส้นตรง และมีการนำพระพุทธรูปปางนาคปรก ทับหลังหินทรายที่มีมาก่อนมาใช้ในการก่อสร้างด้วย
ภายในปรางค์พบประติมากรรมรูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งสมาธิ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระรูปเหมือน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (องค์จำลอง)
ประติมากรรมที่จัดแสดงที่ พิพิธภัณธ์ฯ พิมาย
องค์นี้จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ฯ พิมาย
และประติมากรรมสตรีนั่งคุกเข่า ศรีษะ และแขนขาด ไปเหลือแต่ลำตัว สลักด้วยหินทรายเช่นกัน
จึงน่าจะเป็นพระนางชัยราชเทวีมเหสีของพระองค์ ชาวบ้านเรียกกันว่า นางอรพิน ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมายทั้งสองรูป
ลักษณะเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประติมากรรมรูปบุคคล ที่มักจะมีใบหน้าแสดงอาการยิ้มเล็กน้อย
งานประติมากรรมภาพสลักที่แสดงถึงลักษณะเด่นของศิลปะเขมรโบราณแบบบายน คือ การสลักทับหลังเป็นภาพบุคคลเหนือหน้ากาลบริเวณกึ่งกลาง และมีลายก้านขดม้วนสลับกันทั้ง ๒ ด้าน
ประติมากรรมสลักเป็นภาพบุคคลในอิริยาบถนั่ง สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิหรือเป็นพระรูปของกษัตริย์ .. ปัจจุบันจัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ฯ พิมาย
พระพุทธรูป และพระพุทธรูปทรงเครื่องปางนาคปรก … พบที่ปรางค์พรหมทัต ปัจจุบันจัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ฯ พิมาย
รูปแบบงานศิลปกรรมดังที่กล่าวมาแล้วนั้น แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่นี้ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ หรือประมาณ 800 - 900 ปีมาแล้ว และยังเป็นสิ่งที่แสดงว่าปราสาทพิมายเป็นศาสนสถานประจำเมืองที่มีความสำคัญมาก จึงได้รับการทำนุบำรุงและใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง
ตามตำนานพื้นบ้าน เล่าถึงเรื่องความรักระหว่างพระปาจิตต์กับนางอรพิน ที่ต้องพลัดพรากกันหลายครั้งหลายครา เพราะความงามของนางอรพิน ทำให้ถูกท้าวพรมทัตจับตัวเอาไปขังไว้ในปราสาทของพระองค์ แต่พระปาจิตต์ก็พาหนีออกมาได้ ต่อมา ถูกนายพรานชิงตัวไปอีก ซ้ำยังฆ่าพระปาจิตต์ จนร้อนถึงพระอินทร์ต้องนำยาชุบชีวิตมาให้ ขณะเดินทางกลับพรหมทัตนคร เมืองของพระปาจิตต์นั้น เมื่อถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง ได้อาศัยเรือของสามเณรข้ามฟาก สามเณรได้นำพระปาจิตต์ไปส่งขึ้นฝั่งก่อน แปล้วกลับมารับนางอรพินหนีไปอีก แต่นางได้ทำอุบายหนีมาได้
ด้วยความตั้งใจที่จะตามหาพระปาจิตต์ ประกอบกับเห็นว่า การที่เป็นหญิงงามเช่นนี้นำภัยมาสู่ตัวเองเนืองๆ นางจึงอธิษฐานให้เครื่องหมายของสตรีเพศหายไป แล้วบวชเป็นพระ ได้มาอยู่ที่เมืองจัมปากนคร เป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์เมืองนี้มาก เพราะได้ช่วยให้พระธิดาของเมืองนี้ฟื้นจากความตาย
อย่างไรก็ตาม นางก็ยังไม่ได้พบกับพระปาจิตต์ และด้วยความระลึกถึง นางจึงสร้างอาคารขึ้นหลังหนึ่ง แล้วสลักภาพเรื่องราวของนางและพระปาจิตต์ไว้ที่ศาลานั้น … ฝ่ายพระปาจิตต์ก็ได้เดินทางตามหานางอรพินมาจนถึงจัมปากนคร เมื่อได้เห็นภาพสลักที่ศาลาก็รำลึกถึงความหลังได้ ในที่สุดทั้งสองก็พบกัน และพากันกลับไปบ้านเมือง ส่วนนางอรพินก็ไม่ลืมที่จะอธิษฐานขอกลับมาเป็นเพศหญิงดังเดิม และอภิเษกครองรักกันสืบมา
นี่ก็เป็นตำนานพื้นบ้านที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง ที่พยายามจะอธิบายว่า ปราสาทหินพิมาย ก็คือ เมืองจัมปากนคร และรูปสลักที่ปราสาทเป็นเรื่องราวของพระปาจิตต์และนางอรพิน และมีรูปสลักพระเจ้าพรหมทัตอยู่ด้วย
ทับหลังเหนือประตู ด้านทิศใต้ของปรางค์พรหมทัต .. ทับหลังสลักเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน เป็นแถวยาว ในปาง “วิตรรกะ” คือ มือทั้งสองข้างยกขึ้น หันฝ่ามือออก จีบนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เข้าเป็นวงกลม แต่ยังสลักไม่เสร็จ
.. ภาพสลักนี้ได้แสดงถึงอิทธิพลของศิลปกรรมแบบทราวดี ซึ่งแพร่หลายอยู่ในภาคอีสานก่อนการสร้างปราสาทหินพิมาย ว่ายังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงช่วงเวลานั้น
ทับหลังอีกด้านหนึ่ง
ทับหลังด้านทิศเหนือ .. เป็นศิลปะแบบบาปวน ตรงกลางสลักเป็นรูปพระกฤษณะประลองกำลังกับม้า
1 บันทึก
3
1
3
1
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย