16 ก.ค. 2024 เวลา 05:09 • ท่องเที่ยว

วัดบวรนิเวศวิหาร .. ตำหนักเพ็ชร ตำหนักจันทร์

“วัดบวรนิเวศวิหาร” .. เป็นศูนย์รวมพระตำหนักหลายรัชกาลที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะยุคสมัยที่สถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาสู่สยามประเทศ
ที่นี่จึงมีอาคารที่งดงามและหาชมได้ยาก อาทิ พระตำหนักจันทร์,พระตำหนักเพ็ชร ,พระตำหนักเดิม พระตำหนักทรงพรต พระตำหนักซ้าย พระตำหนักใหญ่ พระตำหนักล่าง และพระตำหนักปั้นหยา ฯลฯ
ตำหนักเพ็ชร
"ตำหนักเพ็ชร" .. เป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ณ ขณะนั้น อาคารแห่งนี้ได้ทำพิธีฉลองเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2457
"ตำหนักเพ็ชร" เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว หลังคาปั้นหยา มุขทางเข้าหลังคาจั่ว ด้านหน้าเป็นทิวเสา (Colonnade) ประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักและปูนปั้นเป็นลวดลายทั้งลายไทยและลายอย่างฝรั่ง เสาย่อมุม มีหัวเสา ฐานเสาแบบไทยประยุกต์ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ สันหลังคาประดับด้วยปูนปั้นลายกระจัง
หน้าบันมุขประดับตราวชิราวุธ ลายมหามงกุฎและวัชระ ล้อมรอบด้วยลายเครือเถา พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 6 กรอบหน้าบันและสันหลังคาประดับลายปูนปั้นแบบไทย เช่นเดียวกับลายปูนปั้นที่ประดับตลอดแนวระเบียงฝั่งตะวันออก ก็ผสมศิลปะไทยและฝรั่งด้วยเช่นกัน ด้านล่างลงมาเป็นจารึกชื่อพระตำหนักเพ็ชร
ซุ้มประตูหน้าต่างทำด้วยไม้ คันทวยเป็นลายดอกไม้ ฐานแต่ละช่องประดับด้วยซุ้มดอกไม้ปูนปั้น เสาย่อเก็จประดับบัวหัวเสา พื้นปูด้วยหินอ่อน ..
เคยมีผู้ทรงคุณวุฒิกล่าวถึงพระตำหนักเพ็ชร เอาไว้หลายท่าน ..
“พระตำหนักนี้เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสาน ตกแต่งอย่างงดงาม ด้านนอกมีความเป็นไทย ด้านในตกแต่งแบบคลาสสิค
หน้าบันประดับด้วยลายมหามงกุฎและวัชระล้อมด้วยลายเครือเถา เคยเป็นท้องพระโรงที่เจ้านายที่เป็นภิกษุสงฆ์ใช้ ปัจจุบันด้านในยังมีพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะของร.4 ประดิษฐาน ซึ่งเหมือนพระองค์จริงมากที่สุด “ อาจารย์พีระศรี เคยเล่าเอาไว้
“พระตำหนักเพ็ชรเคยเป็นที่ทรงงานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อปี 2457 (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาแพ) การปฎิรูปศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 5- 6 เกิดขึ้นที่อาคารหลังนี้
ท้องพระโรงเป็นที่ประชุมมหาเถรสมาคม จึงมีความสำคัญต่อพุทธศาสนามาก ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวเอาไว้
ภายในพระตำหนักเพ็ชร .. ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอยู่หัวหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ซึ่งเคยประดิษฐานไว้ที่พระนครคีรี ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร
พระสาทิสสลักษณ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และมีตู้จัดแสดงตาลปัตรและเครื่องบริขารอยู่หลายตู้ด้วยกัน
อาคารหลังนี้ใช้เป็นท้องพระโรงของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในการเสด็จออกเนื่องในวาระสำคัญต่าง ๆ เคยใช้เป็นที่ประชุมมหาเถรสมาคม
และเคยเป็นที่ประดิษฐานพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
ในอดีต พระตำหนักแห่งนี้ เคยเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์บทสวดมนต์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น
และเคยใช้เป็นที่ประชุมคณะธรรมยุติวินิจฉัยกรณีพิพาทระหว่างพระมหานิกายและธรรมยุติ และพระตำหนักเพ็ชรยังได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2539 อีกด้วย
.. เพราะความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระตำหนักเพ็ชร จึงได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2539
ตำหนักแห่งนี้ยังเป็นสถานที่จัดงานในหลายโอกาสที่สำคัญ เช่น .. ในช้วงระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เปิดตำหนักเพ็ชร อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
… ให้พุทธศาสนิกชนได้เข้ากราบสักการะเนื่องในวาระ 200 ปีวชิรญาโณ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามงกุฎวิทยมหาราช เนื่องในวาระครบ 200 ปีนับแต่ทรงผนวช
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอยู่หัวหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ซึ่งเคยประดิษฐานไว้ที่พระนครคีรี ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร
“พระแสงหัตถ์นารายณ์” ในพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร .. เป็นพระแสงสำคัญประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏพบ ๒ องค์มีลักษณะร่วมและต่างกัน
ลักษณะร่วมที่เหมือนกันคือ .. พระแสงนี้มีลักษณะเป็นดาบอย่างยุโรป คือ มีโกร่งพระแสงเป็นรูปกากบาท และที่สำคัญคือส้นพระแสงทำเป็นรูปหัตถ์พระนารายณ์ในลักษณะกำอย่างหลวม ๆ
ลักษณะที่ต่างกันคือ พระแสงหัตถ์นารายณ์องค์ที่ 1 ด้ามพระแสงจะประดับไปด้วยอัญมณีที่สำคัญ โดยมีมรกตเป็นประธาน ล้อมรอบและตกแต่งด้วยเพชร และทับทิม บางครั้งจึงออกนามพระแสงองค์นี้ว่า “พระแสงมรกต” ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ฝักพระแสงเรียบ
พระแสงหัตถ์นารายณ์องค์ที่ 2 ด้ามพระแสงเรียบ แต่ฝักพระแสงด้านหนึ่งสลักดุนเป็นรูปปีนักษัตรทั้ง 12 อีกด้านหนึ่งสลักดุนเป็นลายจักรราศีทั้ง 12 พระแสงหัตถ์นารายณ์องค์นี้เป็นองค์ที่สอดอยู่ในพระหัตถ์พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ที่ประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร ในวันที่ 6 เมษายน หรือวันจักรีของทุกปี
ส่วน “พระแสงหัตถ์นารายณ์” ที่ปรากฏในพระหัตถ์ของพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ที่ประดิษฐานภายในห้องพระฉากตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหารนั้น ก็มีลักษณะต่างออกไป
… แม้ส้นพระแสงทำเป็นรูปหัตถ์พระนารายณ์ในลักษณะกำอย่างหลวม ๆ สื่อลักษณะถึงพระแสงหัตถ์นารายณ์ และมีโกร่งพระแสงเป็นรูปกากบาทเช่นเดียวกับพระแสงหัตถ์นารายณ์ทั้ง 2 องค์
แต่ก็มีลักษณะที่ต่างออกไป ทั้งด้ามพระแสงประดับแถบเป็นลายปล้อง และฝักพระแสงตรงกลางทำเป็นรูปอัญมณีเจียระไนเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบด้วยอัญมณีขนาดเล็ก แล้วแยกออกเป็นลายเครือเถาอย่างฝรั่ง .. นับเป็นรูปแบบพระแสงหัตถ์นารายณ์มีลักษณะหนึ่งที่ปรากฏในงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์
(เรียบเรียง ศรัณย์ มะกรูดอินทร์)
วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เชิญโต๊ะบูชาที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวัดทั้ง 2 ตัว มาประกอบเครื่องตั้งสำรับของวัดบวรนิเวศวิหาร
สำรับหนึ่ง เป็นเครื่องลายครามที่เคยใช้จัดรับเสด็จมาในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562
อีกสำหรับหนึ่ง เป็นชุดเครื่องศิลา อันเป็นเครื่องประกอบพระยศเจ้านายในคราวทรงผนวชในอดีต จึงได้รวบรวมนำมาจัดเป็นเครื่องบูชา ด้วยเป็นรูปแบบที่มิอาจพบเห็นได้โดยทั่วไป
โดยได้นำความช่วยเหลือจาก บ้านใบตอง นักจัดดอกไม้ชื่อดัง มาช่วยรังสรรค์การตั้งแต่งเครื่องโต๊ะ โดยมีแนวคิดในการนำเครื่องเสวยที่พระองค์ทรงโปรด ตามที่เคยมีบันทึกไว้ว่า ฝอยทองกรอบ ลูกชุบเมล็ดแตง ส้มเทพรส (ส้มบางมด) องุ่น ตลอดจนผลไม้นานาตามที่ปรากฏในลายพระหัตถ์พระราชโอรสธิดาได้ทรงเคยบันทึกไว้
นอกจากนี้ ยังมีการอัญเชิญเครื่องบริขารในคราวทรงผนวช อันประกอบด้วยจีวร ตลอดจนเครื่องบริขารสำรับงาที่อยู่ในตำหนักเพ็ชร นำออกมาให้พุทธศาสนิกชนได้ชมในคราวนี้ด้วย
ขอบคุณ เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ
อีกวาระหนึ่งที่สำคัญที่มีนิทรรศการจัดแสดงที่นี่ คือ นิทรรศการพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช พระศาสนกิจ พระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร และสมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 19 พระองค์ เมื่อปี 2551
ท้องพระโรงตกแต่งสวยงาม มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมของยุโรปคลาสสิค
ภายในห้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ 4 ปั้นขึ้นมาเป็นต้นแบบขนาดเท่าพระองค์จริงเป็นองค์แรก
.. ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ ฝีมือช่างไทยสมัยรัชกาลที่ 4 และได้กลายเป็นต้นแบบของพระบรมรูปหล่อต่าง ๆ ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ยังประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระรูปสีน้ำมัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ตู้พัดยศ พัดรอง ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดด้วยพระองค์เอง
ตลอดจนเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน ๆ เช่น กลักใส่เครื่องใช้ประจำพระองค์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์,
.. กล่องงาแกะสลักรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนแกะสลักเป็นรูปพญานาคพ่นน้ำ ล้อมรอบพระราชลัญจกร ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านข้างแกะเป็นรูปพญานาคพ่นน้ำขดกลับกัน 2 ตัว เป็นอาทิ
ย่ามของสมเด็จพระสังฆราช
ตำหนักจันทร์
พระตำหนักจันทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานถวายเป็นที่ประทับแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทำพิธีฉลองพระตำหนักในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2449
เหตุที่เรียกว่าพระตำหนักจันทร์ ก็เนื่องด้วยพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ที่ใช้สร้างพระตำหนักนี้ไว้ก่อนสิ้นพระชนม์
พระตำหนักจันทร์ .. เป็นคอนกรีต 2 ชั้น แบบตะวันตก หลังคาปั้นหยา ชายคาประดับลายไม้ฉลุ เหนือบานหน้าต่างกลางของแต่ละด้านประดับลายปูนปั้นเป็นรูปจุลมงกุฎ หรือตราพระเกี้ยว
พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 5 ชาย คันทวยและช่องลม เหนือหน้าต่างเป็นลายฉลุไม้ เสาเหลี่ยมติดผนังเซาะร่องตามแนวยาวของคันเสา พื้นและบันไดปูด้วยหินอ่อน
ด้านตะวันตกของพระตำหนักมีทางเชื่อมไปยังพระตำหนักซ้ายซึ่งเป็นสถานที่ทรงงาน
พระแท่นศิลาหน้าพระตำหนักจันทร์ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ ซึ่งเป็นหลักฐานอีกชิ้นทางประวัติศาสตร์ ... ภายหลังจึงได้ยกพระแท่นให้สูงขึ้นเพื่อรักษาเป็นอนุสรณ์สืบไป
โฆษณา