Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ในเงาของเวลา
•
ติดตาม
18 ก.ค. 2024 เวลา 18:01 • ประวัติศาสตร์
๒ มิถุนายน ๒๓๕๘
ทำพิธีฝังอาถรรพ์ปักหลักเมือง
'เมืองนครเขื่อนขันธ์'
...
เมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นเมืองตั้งใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งได้สร้างขึ้นต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชบิดา ซึ่งมีพระราชดำริที่จะหาพื้นที่ซึ่งอยู่ทางใต้ลงไปสร้างเป็นเมืองหน้าด่านไว้สำหรับป้องกันข้าศึก ที่จะมารุกรานทางเรือ โดยเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา และดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จจนสิ้นรัชกาล
โดยครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สำรวจหาพื้นที่เพื่อสร้างเมือง
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหยาททรงเสด็จทางชลมารคตามแม่น้ำเจ้าพระยา สำรวจมาทางใต้จนมาถึงบริเวณลัดโพธิ์ ซึ่งเป็นคลองขุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา เห็นว่าทำเลยุทธภูมิดีเหมาะแก่การสร้างเป็นเมืองหน้าด่านสำหรับป้องกันข้าศึกที่จะรุกล้ำเข้ามาทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง
จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นชอบด้วย จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ เป็นแม่กองสร้างเมืองขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๓๐ พน้อมกับให้ทรงสร้างป้อมขึ้นป้อมหนึ่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทางใต้ของปากลัดไปเล็กน้อย ทรงพระราชทานนามว่า 'ป้อมวิทยาคม'
หากแต่การสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงพระราชดำริว่าที่ลัดโพธิ์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เคยโปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จลงไปสร้างเมืองขึ้น การยังค้างคาอยู่ จึงโปรดให้ดำเนินการต่อ ดังปรากฏรายละเอียดในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า
"...เมื่อ ณ เดือน ๕ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ พ.ศ. ๒๓๕๗ ทรงพระราชดำริว่า ที่ลัดต้นโพธิ์นั้นเมื่อในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จลงไปกะการที่จะสร้างเมืองขึ้นไว้ป้องกันข้าศึกที่จะมาทางทะเลอีกแห่งหนึ่ง การยังค้างอยู่เพียงได้ลงมือทำป้อมยังไม่ทันแล้ว จะไว้ใจแก่การศึกสงครามทางทะเลมิได้ ควรจะต้องทำขึ้นให้สำเร็จ
จึงโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่กองเสด็จลงไปทำเมืองขึ้นที่ปากลัด ตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพมหานครบ้าง และแขวงเมืองสมุทรปราการบ้าง รวมกันตั้งขึ้นเป็นเมืองใหม่อีกเมืองหนึ่ง พระราชทานชื่อว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์
ให้ย้ายครัวมอญเมืองปทุมธานีพวกพระยาเจ่ง มีจำนวนชายฉกรรจ์สามร้อยคนลงไปอยู่ ณ เมืองนครเขื่อนขันธ์ แล้วทำป้อมขึ้นข้างฝั่งตะวันออกสามป้อม ให้ชื่อป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ๑ ป้อมปีศาจสิง ๑ ป้อมราหูจร ๑ รวมทั้งป้อมเก่าชื่อป้อมวิทยาคมซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ ด้วย รวมเป็นสี่ป้อม
สร้างข้างฝั่งตะวันตกอีก ๕ ป้อม ชื่อป้อมแผลงไฟฟ้า ๑ ป้อมมหาสังหาร ๑ ป้อมศัตรูพินาศ ๑ ป้อมจักรกลด ๑ ป้อมพระจันทร์ พระอาทิตย์ ๑ ป้อมเหล่านี้ชักกำแพงถึงกัน ข้างหลังเมืองก็ทำกำแพงล้อมรอบ ตั้งยุ้งฉางตึกดินและศาลาไว้เครื่องศัสตราวุธพร้อมทุกประการ
ที่ริมลำแม่น้ำทำลูกทุ่นสายโซ่สำหรับขึงกั้นแม่น้ำ หลักผูกทุ่นก่อด้วยอิฐใช้ไม่ได้ จึงคิดเอาซุงมาทำเป็นต้นโกลน ร้อยเกี่ยวคาบกระหนาบกันเป็นตอนๆ เข้าไปปักหลักหว่างต้นโกลน ร้อยเกี่ยวคาบกระหนาบกันเป็นตอนๆ เข้าไปปักหลักหว่างต้นโกลนทุกช่องร้อยโซ่ผูกทุ่นได้มั่งคงดี
การสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์สำเร็จ ได้ตั้งพิธีฝังอาถรรพณ์ปักหลักเมืองเมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๑๐ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ. ๒๓๕๘ ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงสร้างพระอารามขึ้นไว้ในเมือง พระราชทานนามว่า วัดทรงธรรมพระอารามหนึ่ง พระอุโบสถเป็นแต่เครื่องฝาไม้กระดาน
แล้วจึงโปรดตั้งสมิงทอมา บุตรพระยาเจ่ง ซึ่งเป็นพระยาพระรามน้องเจ้าพระยามหาโยธา เป็นพระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม ผู้รักษาเมือง และได้ตั้งกรมการทุกตำแหน่ง..."
หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) กวีและจิตรกรในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้แต่ง 'นิราศถลาง' ขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๒ กล่าวถึงป้อมที่นครเขื่อนขันธ์และขุนนางมอญที่ดูแลเมืองป้อมปราการแห่งนี้ว่า
"...ถึงนครเขื่อนขันธ์ตะวันบ่าย
ระกำกายตรึกตรองถึงน้องหญิง
เห็นปืนใหญ่นึกจะยืนให้ปืนยิง
ปืนก็นิ่งพี่ก็นั่งประทังตน
ทัศนาธานีเห็นพิลึก
พวกข้าศึกเสียวแสยงทุกแห่งหน
ถึงใครจักหักโหมโจนประจญ
คงจะป่นลงกับปืนไม่คืนมือ
ป้อมปราการก่อกั้นเป็นคันขอบ
ช่องปืนรอบเรียบร้อยน้อยไปหรือ
พระยามอญกินเมืองย่อมเลื่องลือ
ประทานชื่อยศนามตามตระกูล
พระทรงภพตบแต่งไว้แข่งขัน
คอยป้องกันไพรินไม่สิ้นสูญ
ทั้งชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าไม่อาดูร
ก็เพิ่มพูนผาสุกสนุกสบาย..."
เมื่อครั้งที่ 'เซอร์ จอห์น เบาว์ริง' เดินทางเข้ามาสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเดินทางผ่านเมืองนครเขื่อนขันธ์ ที่เขาเรียกว่า 'ปากลัด' และได้กล่าวถึงป้อมที่ปากลัดไว้ว่า มีป้อม ๒ ฟากแม่น้ำ ที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมีสิ่งกีดขวางกลางแม่น้ำ มีโซ่เหล็กและเสาไม้ขนาดใหญ่มิให้เรือรบแล่นทวนขึ้นกรุงเทพฯ ป้อมมีทหารจำนวนไม่มาก นอกจากนี้เมืองปากลัดเป็นเมืองที่ส่งฟืนเข้ามากรุงเทพฯ
และยังระบุว่าประชากรในเมืองนี้เป็นมอญ
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ เมืองนครเขื่อนขันธ์ อยู่ในกำกับของวังหน้า แต่พอถึงรัชกาลที่ ๔ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองนครเขื่อนขันธ์มาขึ้นกับกรมกลาโหม
บริเวณหน้าศาลหลักเมือง หรือแยกบ้านแซ่ (ภาพจากเพจนครเขื่อนขันธ์)
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังมี 'ประกาศจัดปันน่าที่กระทรวงกะลาโหมมหาดไทย ใน 'ราชกิจจานุเบกษา' เล่ม ๑๑ หน้า ๓๐๖ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ว่า
"...มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า...
ข้อ ๑. บรรดาหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก แลเมืองประเทศราช ที่แบ่งเปนปักษ์ใต้อยู่ในกระทรวงกระลาโหมก็ดี เปนฝ่ายเหนืออยู่ในกระทรวงมหาดไทยก็ดี แลที่อยู่ในกระทรวงต่างประเทศก็ดี ตั้งแต่นี้สืบไป ให้อยู่ในบังคับบัญชาตราพระราชสีห์กระทรวงมหาดไทย
ข้อ ๒. เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีน่าที่รักษาการภายในพระราชอาณาเขตรตลอดทั่วไป เว้นไว้แต่ในกรุงเทพมหานครกับเมืองที่ติดต่อใกล้เคียง ควรเป็นเขตรแขวงกรุงเทพฯ ดังจะกำหนดไว้ในประกาศฉบับหนึ่งอีกต่างหากในภายน่านั้น คงให้อยู่ในน่าที่กระทรวงนครบาลรักษาการตามเดิม..."
ซึ่งมีประกาศต่อมาเรื่อง 'แจ้งความกระทรวงมหาดไทย' ใน 'ราชกิจจานุเบกษา' เล่ม ๑๑ หน้า ๓๗๕ วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ว่า
"...อนึ่งเมืองที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ คือ เมืองประทุมธานี ๑ เมืองนครเขื่อนขันธ์ ๑ เมืองสมุทปราการ ๑ เมืองนนทบุรี ๑ รวม ๔ เมือง กระทรวงมหาดไทยได้ส่งเมือง ๔ เมืองนี้ ให้กระทรวงพระนครบาลบังคับราชการอยู่ในเขตแขวงกรุงเทพฯ ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาติแล้ว..."
ยังมีปรากฎว่า เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพบ้านเมืองสกปรกเลอะเทอะเฉอะแฉะด้วยโคลนตม ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย รุ่งขึ้นเสด็จฯ ออกที่ประชุมเสนาบดีทรงเล่าให้ที่ประชุมเสนาบดีฟังว่า ถนนและตลาดนครเขื่อนขันธ์สกปรกเหมือนตลาดท่าจีน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงมีตราน้อยที่ ๒๐/๓๙๙๐ ถึงผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร มีความตอนหนึ่งว่า
"...ฉันนั่งอยู่ในที่ประชุมรู้สึกละอายมาก ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์จะสกปรกหรือสะอาดก็ไม่ใช่ธุระของเรา แต่ความสกปรกของตลาดท่าจีนซึ่งสกปรกจริงสำหรับเป็นที่ยกตัวอย่างเทียบที่อื่น ที่ไม่พอพระราชหฤทัยเช่นนี้ ก็เสมือนกริ้วตลาดท่าจีนด้วยเหมือนกัน..."
ที่ว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์จะสกปรกหรือสะอาดก็ไม่ใช่ธุระของเรานั้น ก็ด้วยเมืองนครเขื่อนขันธ์ไม่ได้อยู่ในหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ด้วยอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงพระนครบาล
เวลานั้นเสนาบดีกระทรวงพระนครบาล คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีคนต่อมาคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
การดำเนินการเกี่ยวกับเมืองนครเขื่อนขันธ์จึงเป็นหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงพระนครบาล ดังพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีถึงเจ้าพระยายมราช ในเรื่องที่จะเปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็น 'เมืองพระประแดง' นั้น
"...ที่ ๘/๑๗๘ วันที่ ๘ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๗
ถึง เจ้าพระยายมราช
ไดรับหนังสือที่ ๓/๒๐๓ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ชี้แจงเรื่องผู้ว่าราชการเมืองมณฑลกรุงเทพฯ และหาฤาในการที่จะเปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์เปนประแดงมานั้นทราบแล้ว เมืองนครเขื่อนขันธ์ที่จะเปลี่ยนชื่อเข้าหาเดิมนั้นเห็นชอบด้วย ควรเปลี่ยนนามเมืองเรียกว่า 'เมืองพระประแดง' (และให้ประกาศในราชกิจจาด้วย)
ส่วนชื่อผู้ว่าราชการเมืองนั้น ถ้าเปนพระยาให้มีนามว่า 'พระยานทีปราการบริหารพระประแดงบุรี... แต่ถ้าเปนพระให้มีนามว่า 'พระประแดงบุรี' แลปลัดเมืองให้มีนามว่า พระ (ฤาหลวง 'ศีรประแดงเขตร... ยกกระบัตรให้มีนามว่า หลวง (ฤาขุน) 'เศรษฐประแดงขัณฑ์'..."
อย่างไรก็ตาม ไม่พบหลักฐานในราชกิจจาเรื่องประกาศเปลี่ยนชื่อ 'เมืองนครเขื่อนขันธ์' มาเป็น 'เมืองพระประแดง' แต่ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๓๒ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น ในพระบรมราชโองการขยายเขตร์กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าในช่วงแรกของประกาศซึ่งเป็นพระราชปรารภของพระบรมราชโองการกล่าวถึงเมืองนครเขื่อนขันธ์ แต่เมื่อกล่าวถึงมาตราที่ ๓ ของประกาศฉบับดังกล่าวออกชื่อ 'เมืองพระประแดง'
จึงกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนชื่อเมืองแต่บัดนั้น
อนึ่งที่เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น 'พระประแดง' นั้น กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า "...เมืองนครเขื่อนขันธ์ แม้จะไม่ได้สร้างบนพื้นที่เดิมของเมืองพระประแดง แต่ก็อยู่ในเขตใกล้เคียงกัน และยังมีความสำคัญดั่งเช่นเมืองพระประแดงเดิม..."
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ มีพระบรมราชโองการประกาศเปลี่ยนนามเรียก 'เมือง' มาเป็น 'จังหวัด' เมืองพระประแดงจึงเป็น 'จังหวัดพระประแดง' จนเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๘ ประกาศ ให้ยุบจังหวัดพระประแดงรวมกับจังหวัดสมุทรปราการ และให้โอนอำเภอราชบูรณะไปขึ้นกับกรุงเทพมหานคร
ส่วนอำเภอพระโขนงที่เคยขึ้นกับจังหวัดพระประแดงนั้น ได้โอนมาขึ้นกับกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้ว
และที่กล่าวว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเมืองพระประแดงเดิมที่มีมาแต่เดิมนั้น ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งอยู่ตรงบริเวณที่เป็นท่าเรือกรุงเทพมหานคร หรือท่าเรือคลองเตยในปัจจุบันนี้
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย