Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Health Story - เฮ้วนี้มีเรื่อง
•
ติดตาม
5 ส.ค. 2024 เวลา 11:00 • ครอบครัว & เด็ก
เด็กไทยพัฒนาการภาษาช้า 74% เปิดเครื่องมืออัปสกิลครูช่วยสอน
เด็กปฐมวัยไทยพัฒนาช้า 30% เป็นด้านภาษามากสุด 74% ดันนวัตกรรม 366 Q-KIDS ช่วยอัปสกิลครู ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2567 เรื่อง การขับเคลื่อนและพัฒนาการเด็กปฐมวัย "3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย" จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ว่า
เด็กปฐมวัยเรียนรู้จากบุคคลรอบข้าง ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี อย่างเรื่องติดจอมือถือ เด็กปฐมวัยไม่สามารถเติบโตได้ด้วยการดูเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยการสัมผัส การเล่น เพื่อพัฒนาร่างกาย สมอง และพัฒนาการ ก็ต้องทำให้เด็กลดการใช้จอมือถือ ซึ่งผู้ใหญ่อาจจะแบ่งเวลาในการใช้จอได้ แต่เด็กทำไม่ได้ พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่าง รวมถึงต้องปล่อยให้เด็กได้แสดงออกและเรียนรู้ โดยดูแลอยู่ข้างๆ ให้ความอบอุ่นและความเชื่อมั่นด้วย
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เป็นนโยบายที่ดี แต่อยากให้มีการคิดนอกกรอบ ทำอย่างไรจะมีรูปแบบต่างๆ มานำเสนอช่วยกันขับเคลื่อน อย่างเทคนิคการขายในสื่อออนไลน์ วิธีขายได้ดีที่สุด เร็วที่สุด คือ ไม่ได้บอกว่าหนังสือนี้ดีอย่างไร แต่บอกว่าถ้าไม่อ่านหนังสือนี้จะเกิดอะไรที่เสียหาย จำเป็นต้องซื้อไปอ่านเพื่อแก้ไข ก็ฝากให้ลองคิดดูว่า ปัจจุบันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนอย่างรุนแรง ทำอย่างไรให้ทุกคนตื่นและตระหนักต่ออันตรายที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชน เช่น เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ จากสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ปกครองต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูและเด็ก ทำให้ศูนย์เด็กเล็กมีความสำคัญอย่างมาก โครงหลักในการดูแลอยู่ที่ท้องถิ่น กทม. อบต. และเทศบาล จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ช่วยกันเข้าไปดูศูนย์เด็กเล็กในการจัดการเรียนการสอน และต้องสอนพ่อแม่ด้วย เพราะเด็กอยู่กับศูนย์ฯ ไม่เกิน 8 ชั่วโมง ที่เหลืออยู่กับผู้ปกครอง
นอกจากนี้ หากได้ข้อเสนอข้อสรุปต่างๆ ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ก็ขอให้ สกศ. สรุปประเด็นสำคัญเพื่อให้ศึกษาธิการจังหวัด นำไปกระจายหาทางป้องกัน ดูแลเด็กปฐมวัยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เท่าทันกระแสโลก เป็นพลเมืองที่ดีที่จะเป็นทรัพยากรของเราต่อไป
ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผลวิเคราะห์ข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ปี 2566 โดยสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย พบเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการล่าช้าราว 30% แต่เมื่อแยกด้านต่างๆ ออกมา พบว่า พัฒนาการล่าช้าด้านภาษาสูงถึง 74.8% การเข้าใจภาษา 60.9% กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา 44.6% และการเคลื่อนไหว 28.2%
ปัจจัยที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้านั้น มองว่าเด็กอยากรู้อยากเห็นเป็นทุนเดิม แต่การให้เด็กเรียนรู้วิชาการ นั่งเฉยๆ มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ให้เด็กไปเรียนรู้ ไม่ให้มีพื้นที่ทำงาน ทำกิจกรรมและเรียนรู้ร่วมกัน หรืออาจให้เด็กอยู่กับหน้าจอมือถือ ตรงนี้ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า จึงต้องบูรณาการให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้าน โดยเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน สามารถทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก และการเข้าใจภาษา
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส.
ต่อจากนี้เป็นยุค AI ซอฟต์สกิลสำคัญที่เด็กควรมี คือ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าตั้งคำถาม ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี เข้าใจจิตใจตัวเอง มีอีคิวที่ดี ซึ่งต้องสร้างตั้งแต่เด็กปฐมวัย ให้เขาได้เล่น ได้เรียน ได้ทะเลาะกับเพื่อน โดยครูและผู้ปกครองต้องรู้ว่า การทะเลาะเกิดอะไรขึ้นในจิตใจเด็ก จะพัฒนาการตัวตนในการควบคุมอารมณ์อย่างไร ทำไมถึงคิดอย่างนั้น ทำไมถึงรู้สึกอิจฉาหรือโกรธ หากเด็กเรียนรู้พัฒนาตัวตนได้ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ควบคุมอารมณ์ได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
การ "คิดนอกกรอบ" ต้องบูรณาการว่าไม่ใช่การเรียนรู้แค่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต้องทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ให้เด็กไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวมาเล่าให้ฟัง มาเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาให้เด็กกล้าตั้งคำถาม กล้าคิดนอกกรอบ กล้าสร้างสิ่งใหม่ นอกกรอบการเรียนรู้ในห้องเรียน ไม่จำกัดแค่พื้นที่ ชุมชนอาจเป็นอีกกรอบหนึ่งที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้การพัฒนาเด็กปฐมวัยว่า ปัญหาของชุมชนเป็นอย่างไร เด็กมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนอย่างไร เขาจะมีจิตสำนึกรักชุมชนและเป็นส่วนหนึ่งพัฒนาชุมชนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การที่ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะมีทักษะในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดย นพ.พงศ์เทพระบุว่า ที่ผ่านมาเบื้องต้นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำหน้าที่รับดูแลลูกให้ช่วงที่พ่อแม่ไม่ว่าง ครูอาจถูกจ้างมาเพื่อดูแลเท่านั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้จบครุศาสตร์ปฐมวัย ไม่ได้มีวิชาการที่จะดูแลพัฒนาการเด็ก
เราก็ต้องไปติดอาวุธหรือเสริมสกิลให้ครู รู้จักพัฒนาการของเด็กคืออะไร ทั้งด้านกาย ใจ อารมณ์ ไม่ใช่แค่การดูแลเรื่องขับถ่าย กินข้าว แต่ต้องไปช่วยเสริมเด็กให้พัฒนาการดีขึ้นด้วย ต้องตรวจจับได้ว่าเด็กคนนี้มีปัญหา ไม่คุยกับใคร มีโรคอะไร เช่น สมาธิสั้น ออทิสติก และจะดูแลอย่างไร
ทั้งนี้ นวัตกรรม "366 Q-KIDS" ถือเป็นส่วนหนึ่งนวัตกรรมคิดนอกกรอบ ในการไปทำงานร่วมระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทีมพี่เลี้ยง และทีมผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มีการพัฒนาครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ตามมาตรฐาน ซึ่งรัฐมนตรี ศธ.ให้ความสนใจอย่างมากกับนวัตกรรมดังกล่าว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ 366 Q-KIDS มาจากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งทั่วประเทศ ต้องทำงานให้ได้ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ไม่ว่าสังกัดกระทรวงอะไรหรือเอกชน มาตรฐานประกอบด้วยสิ่งที่ต้องทำ 50 กว่าข้อ
ถ้าครูศูนย์เด็กเล็กหรืออนุบาลจบด้านปฐมวัยมาโดยตรงก็จะเข้าใจและทำได้ แต่การผลิตครูปฐมวัยบ้านเรายังมีจำกัด ครูส่วนใหญ่ไม่ได้จบโดยตรง ต้องมาทำไปเรียนรู้ไป สสส.คิดค้นวิธีหนุนเสริมศักยภาพครูที่เข้าใจง่าย แม้ไม่ได้จบปฐมวัยโดยตรง ได้ผลจริง ใช้เวลาไม่นาน ไม่เป็นภาระครู เมื่อครูทำงานดีขึ้น เด็กก็รับผลประโยชน์เต็มที่
"เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เราไปทดลองกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใช้เวลาเป็นปี ต่อมาปรับปรุงจนเหลือ 9 เดือน ต่อมาปรับปรุงอีก จากที่ต้องไปดูงานศูนย์ต้นแบบแล้วมาทำ ก็มาเป้นออนไลน์ 100% ปรากฏว่าไม่ค่อยได้ผล ต่อมาเาทำชุดความรู้เครื่องมือใส่กล่อง หรือ Toolbox จัดส่งไปให้หยิบมาทำตาม ทดสอบแล้ว ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน จนในที่สุดเราลองใหม่ มาเป็น 366" น.ส.ณัฐยากล่าว
366 ประกอบด้วย 3 ตัวช่วย ได้แก่ 1.ชุดเครื่องมือพร้อมใช้ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ทำมาพบว่า Toolbox ยังใช้ได้ดี แต่ต้องทำให้ง่ายขึ้น
2.ทีมพี่เลี้ยงหรือทีมดำน้ำลึก (Deep dive) เพราะเวลาทำเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ หากมีคนให้หันไปปรึกษาได้จะดีที่สุด เราก็ค้นหาว่าจังหวัดไหนมีทีมพี่เลี้ยง ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษาท้องถิ่น ครูศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ ก็ให้มาเป็นทีมพี่เลี้ยงประกบในพื้นที่
3.ทีมผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีหลายด้าน ทั้งสมอง จิตใจ สุขภาพกาย พัฒนาการ โภชนาการ เป็นต้น จึงควรมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละเรื่องมารวมตัวกันเป็นทีมที่ไม่ต้องลงพื้นที่ แต่เป็นเทเลคอนซัลต์ให้คำปรึกษา ให้ความเห็นและคำแนะนำต่อครูได้
ต่อมาคือ 6 ขั้นตอน/กิจกรรม จะเป็นการกิจกรรมผสมผสานไฮบริดทั้งออนไซต์และออนไลน์ โดยใช้เวลา 6 เดือน คือ 1 เดือน 1 กิจกรรม เริ่มต้นที่เดือนแรก "ปฐมนิเทศ" เป็นแบบออนไซต์มาเจอหน้ากัน เจอทีมพี่เลี้ยง และทีมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ครูรู้สึกอุ่นใจว่าได้รู้จักกันแล้ว ครั้งที่ 2-3 จะเรียนรู้ออนไลน์ ครั้งที่ 4 มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เจอหน้ากัน ครั้งที่ 5 ออนไลน์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และครั้งที่ 6 มาถอดบทเรียนออนไซต์ด้วยกัน
โดยกิจกรรมที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะอิงตามมาตรฐานชาติ เช่น เรื่องการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เด็กปฐมวัย มาตรฐานชาติให้เรียนรู้ผ่านการเล่น ครูก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจก่อนว่า เด็ก 2-3 ขวบสมองไปได้แค่ไหน กล้ามเนื้อทำอะไรได้แค่ไหน ความสามารถจะเข้าใจเป็นอย่างไร เพราะการคิดเชิงเหตุผลยังไม่เกิด ต้องรู้จิตวิทยาเด็ก
ถึงมาเรียนรู้ว่า การเรียนรู้ผ่านการเล่นคืออะไร แล้วฝึกออกแบบกิจกรรมที่ให้เด็กเรียนรู้ เช่น เรื่องการแปรงฟัน ครูจะครีเอทกิจกรรมอะไรให้เด็กเรียนรู้เรื่องการแปรงฟัน หรือการฝึกวินัยเชิงบวกการเล่นแล้วต้องเก็บ ครูจะใช้กิจกรรมแบบไหนในการฝึกทักษะเด็ก
"ครูจะได้รับการฝึกเรื่องพัฒนาการของมนุษย์ในวัยนี้เป็นอย่างไร ให้รู้จักสังเกตเด็กชั้นเรียนตนเอง เพราะเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนไวเรื่องการคิดเชิงเหตุผล บางคนถนัดใช้ร่างกายเรียนรู้ ต้องชิม ดู วิ่งเล่น ครูจะไปสังเกตเด็กและออกแบบกิจกรรม แล้วดูว่าเด็กเปลี่ยนแปลงไปไหม ถ้าดีก็มาแบ่งปันกันในวงออนไลน์ ให้ครูศูนย์อื่นฟังด้วยว่าแห่งนี้แก้ปัญหาด้วยกิจกรรมรูปแบบไหน ถือเป็นการเรียนรู้ ไปลองทำ แล้วส่งการบ้าน รับฟังคอมเมนต์จากผู้เชี่ยวชาญ แล้วนำไปปรับปรุง" น.ส.ณัฐยากล่าว
น.ส.ณัฐยากล่าวว่า เรามีการทดสอบระบบนวัตกรรม 366 Q-KIDS โดยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วมทดสอบ 51 แห่ง ในเครือข่ายตำบลสุขภาวะ สสส. เรามีการวัดผลก่อนและหลัง โดยในเรื่องของการประเมินคะแนนมาตรฐานระดับชาติก็ขยับขึ้นมาดีขึ้นเกือบ 100% โดยศูนย์ที่เคยถูกประเมินคะแนนอยู่ในระดับปรับปรุงก็ขยับขึ้นมาเป็นพอใช้หรือดี ระดับพอใช้ขึ้นมาเป็นระดับดี-ดีมาก หรือดีอยู่แล้วก็ขยับขึ้นมาเป็นดีมาก
ส่วนพัฒนาการเด็กก่อนและหลัง พบว่า เรื่องปัญหาพัฒนาการของเด็กทั้ง 51 ศูนย์ ซึ่งกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่ค่อยแตกต่างกัน โดยเด็ก 2-3 ขวบ เรื่องหลักที่เจอจะเป็นการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ทำให้เมื่อเด็กมาเข้าศูนย์ฯ เด็กไม่มีความพร้อม เช่น เด็กสื่อสารไม่ได้ พูดเป็นคำๆ ไม่เป็นประโยค กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ให้ทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น หยิบของชิ้นหนึ่งใส่ในห่วง ถ้าเด็กทำไม่ได้สะท้อนว่าเด็กไม่ได้ให้ถูกใช้ร่างกาย ไม่ได้เล่น อยู่แต่หน้าจอ
"ปัญหาที่พบคือพัฒนาการด้านภาษา เสียหายหนักมาก ครูต้องมาฟื้นฟู ทำความตกลงกับผู้ปกครองช่วยกันลดหน้าจอ เพิ่มเวลาให้เด็กได้เล่น ให้ได้ใช้กล้ามเนื้อ ปั้นดินเล่นทราย ปีนป่ายเล่นกับเพื่อน เจอคล้ายๆ กัน ซึ่งจากการประเมินพบว่า ครูเข้าใจเรื่องพัฒนาการมากขึ้น และเด็กได้รับการเสริมพัฒนาที่ดีขึ้นครอบคลุม 2 พันคน" น.ส.ณัฐยากล่าว
ขณะที่ประเมิน 3 ตัวช่วย พบว่ามีประโยชน์แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องตัดอะไรออก ส่วนระยะเวลา 6 เดือน ผลประเมินออกมาว่าพอดี เพราะหากน้อยกว่า 6 เดือน มองว่าจะไม่ได้ผล แต่ก็มีส่วนน้อยที่ตอบว่าสั้นไป เพราะในแง่พัฒนาการบางตัวของเด็กต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน แต่เรื่องนี้ไม่น่ากังวล เพราะระยะโครงการ 6 เดือนก็จริง แต่การเรียนรู้ของครู สามารถทำอย่างต่อเนื่องได้ ก็จะเห็นผลได้เอง รวมถึงมีเสียงสะท้อนจากครูว่า ไม่อยากให้เสร็จ 6 เดือนแล้วจบ เพราะทำให้ได้เพื่อน ได้ฟังผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นการพัฒนางานของครู
ส่วนจะเดินหน้านวัตกรรมนี้ต่ออย่างไร น.ส.ณัฐยา บอกว่า เราวางแผนว่าจะจัดงานมหกรรมให้กลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหารือกับกรมส่งเสริมปกปครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นต้นสังกัดศูนย์พัฒฯาเด็กเล็ก 17,000 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในกระบวนการของปีที่ผ่านมา เห็นว่านวัตกรรมนี้ใช้ได้ ก็หารือว่าปีหน้าน่าจะทำ 2 ทางพร้อมกัน คือ
ทางกว้าง โดยนำ 366 Q-KIDS ขึ้นระบบออนไลน์ เพื่อให้ศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศเข้าถึงได้ และมีเวทีเสริมออนไซต์ แต่จะต้องสมัครเข้ามาร่วมลงทะเบียน และจ่ายค่าเดินทางกันเอง ซึ่งอาจจะต้องไปเบิกค่าใช้จ่ายกับต้นสังกัด
และทางลึก จะช่วยเครือข่ายตำบลสุขภาวะมีศูนย์ต้นแบบ จะพัฒนาเชิงลึกควบคู่กับการทำทีมพี่เลี้ยงศึกษานิเทศก์ที่ยังมีน้อยมาก ซึ่งครูส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมทปีนี้ ก็ระบุว่าอยากขยับตัวเองมาเป็นทีมพี่เลี้ยงด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีในพื้นที่ เพื่อช่วยดูแลศูนย์เด็กเล็กอื่นๆ ในอำเภอ
ส่วนที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้ามาช่วยการเรียนการสอนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หากรับภารกิจนี้จริงก็เป็นเรื่องดีที่จะช่วยกันเข้ามาเป็นทีมพี่เลี้ยงให้ครู เพราะทาง สพฐ.ก็มีองค์ความรู้เรื่องการเรียนการสอนอยู่แล้ว ซึ่งเรายังต้องการคนอีกเยอะในพื้นที่
ข่าว
ครอบครัว
การศึกษา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย