6 ส.ค. 2024 เวลา 13:30 • ไลฟ์สไตล์

'ทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีเงินออม 250 ล้านล้านบาท?'

รู้จัก 'คะเคโบะ (Kakeibo)' เคล็ดลับออมเงินจากญี่ปุ่นอายุร้อยปี ที่เราก็ทำได้เช่นเดียวกัน
[ 🇯🇵 คนญี่ปุ่นออมเงินได้เก่งแค่ไหน]
ถ้าเราจะบอกว่าคนญี่ปุ่น คือ "ยอดมนุษย์การออม" ก็คงไม่ผิดเท่าไหร่ เพราะเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา เงินออมของคนญี่ปุ่นทั้งประเทศรวมกันมีถึง 1,000 ล้านล้านเยน หรือราว 250 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากธนาคารกลางญี่ปุ่น) ยอดเงินเก็บมหาศาลนี้สูงกว่า GDP ของประเทศไทยถึง 15 เท่า (ปี 2023 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท)
ถ้าอยากรู้ว่าจำนวนเงินออมมหาศาล 250 ล้านล้านบาทมากแค่ไหน ลองนึกดูว่าเงินจำนวนนี้มากกว่ามูลค่าของบริษัททั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งมีมากกว่า 700 บริษัท ถึง 13.35 เท่า (มูลค่ารวมของบริษัททั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ไทยเมื่อปี 2023 อยู่ที่ 18.72 ล้านล้านบาท - อ้างอิงตัวเลขจาก finnomena)
และความน่าสนใจอีกอย่างก็คือยอดเงินนี้เป็นยอดของ ‘เงินสด’ ในธนาคารล้วน ๆ
แม้จะอยู่ในช่วงสภาพแวดล้อมภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อ แต่เงินออมของคนญี่ปุ่นคิดเป็น 52.6% ของสินทรัพย์ทางการเงินของครัวเรือน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะ เทียบกับสัดส่วนเงินสดที่คนในประเทศอื่นถือไว้ เช่น อเมริกาและยุโรปถือเงินสดประมาณ 12.6% - 35.5%
นี่หมายความว่าคนญี่ปุ่นมีการออมเงินสด เพื่อใช้ยามฉุกเฉินมากกว่าคนทั่วโลก โดยตัวเลขเงินเก็บนี้เป็นผลลัพธ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการประหยัดและวินัยในการอดออมที่ฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่นได้ดีเลยทีเดียว
1
[ 🪙 เคล็ดลับทางการเงินที่สืบทอดมากว่าร้อยปี 'คะเคโบะ (Kakeibo)' ]
การออมเป็นวัฒนธรรมที่ปลูกฝังในญี่ปุ่นมานานกว่า 100 ปี วิธีที่คนญี่ปุ่นใช้ในการบริหารการเงิน ถูกเรียกว่า "คะเคโบะ - แปลเป็นภาษาไทยว่า สมุดบัญชีครัวเรือน" แนวคิดเรื่องคะเคโบะ ถือกำเนิดในปี 1904 โดย ฮานิ โมโกโตะ (Hani Mokoto) นักข่าวหญิงคนแรกของญี่ปุ่น
โมโกโตะต้องการช่วยเหลือผู้หญิงในสมัยนั้นซึ่งปกติแล้วต้องใช้ชีวิตด้วยเงินที่ค่อนข้างจำกัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตและการออม เธอจึงสร้างระบบการจัดทำงบการเงินที่ผสมผสานประโยชน์ใช้สอย ความเรียบง่าย และความมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะเข้าด้วยกันด้วย
วิธีนี้ใช้แค่ ‘สมุดบัญชีครัวเรือนและปากกา’ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนของทุกเดือน ต้องคำนวณเงินที่จะได้เข้ามา แล้วลบค่าใช้จ่ายประจำ (ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต และค่าใช้จ่ายหนี้ต่างๆ) ที่เหลือคือเงินที่เราสามารถใช้และเก็บออมได้ในแต่ละเดือน
ทีนี้หลังจากหักเงินส่วนที่ออมออกไปแล้ว ทุกครั้งที่คุณใช้จ่ายอะไร ให้เขียนลงไปในสมุดบันทึก โดยเขียนติดไปด้วยว่าเป็นหมวดหมู่ไหนใน 4 หมวดนี้ คือ หมวดจำเป็น (Essentials), ไม่จำเป็น (Non-Essentials), ศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาตัวเอง (Culture), รายจ่ายที่ไม่คาดคิด (Unexpected)
พอถึงสิ้นเดือนก็จะมานั่งรีวิวการเงินของตัวเองกัน ดูว่าแต่ละหมวดเราใช้เงินไปเท่าไหร่ เงินที่หักเพื่อเก็บออมได้ตามที่ตั้งใจไหม แล้วก็ไปเทียบกับเป้าหมายที่วางเอาไว้ให้กับตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดในหลักการนี้คือการมีสติและเตือนสติให้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ก่อนที่จะเปิดสมุดบัญชีขึ้นมาด้วยซ้ำ
[ 🤔 ในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นแล้ว ต้องคิดอะไรบ้างขณะเลือกซื้อของ ]
หลักการ 7 ข้อในการพิจารณาก่อนซื้อของ และ 6 ข้อในการยับยั้งชั่งใจก่อนตัดสินใจซื้อสำหรับคนที่อยากเอาไปปรับใช้กับการใช้จ่ายของตัวเอง หลักการทั้งหมดนี้เราได้สรุปข้อมูลมาจากรายการ ‘เศรษฐกิจติดบ้าน ช่อง Thai PBS’
หลักการ 7 ข้อในการพิจารณาก่อนซื้อของชาวญี่ปุ่น
1.อยู่ได้ไหมถ้าไม่ซื้อ (need หรือ want)
2.มีเงินพอซื้อหรือไม่ ต้องเอาเงินนี้ไปใช้กับอะไรก่อนหรือเปล่า
3.ซื้อไปแล้วได้ใช้ไหม
4.ซื้อมาแล้วมีที่เก็บไหม - จะเอาวางไว้ตรงไหน
5.ทำไมถึงอยากได้ของชิ้นนี้
6.อารมณ์ตอนซื้อของเป็นอย่างไร
7.ซื้อมาแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร
6 หลักการ ในการยับยั้งชั่งใจก่อนตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่าง
1.อยากได้อะไรให้รอไว้หนึ่งวันก่อนแล้วค่อยซื้อ ถ้าไม่อยากได้จริง ๆ เดี๋ยวก็ลืมไปเอง
2.อย่าโดนป้ายลดราคาหลอก นึกถึงความจำเป็นก่อนซื้อเสมอ
3.ดูยอดเงินในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้พลาดการอัปเดตทุกการใช้จ่าย
4.พยายามใช้เงินสดให้มากขึ้น เพื่อจำกัดการใช้เงินเกินงบ
5.ตั้งเตือนเวลาที่เราจะต้องใช้เงิน
6.คิดซะว่าถ้าเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ เราก็อาจจะไม่ต้องใช้มันอีกหรือเปล่า
[ 📊 เก็บเงินไว้แล้วเศรษฐกิจจะโตได้ยังไง ]
สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นนิยมเก็บเงินสดมากกว่าเอาไปลงทุน เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 ช่วงนั้นตลาดหุ้นญี่ปุ่นเคยพุ่งขึ้นไปสูงสุดประมาณ 38,000 กว่าจุด ก่อนจะเกิดฟองสบู่ญี่ปุ่นกระทบเศรษฐกิจและดัชนีนิเคอิ 225 (Nikkei 225 หมายถึงดัชนีหุ้นที่แสดงภาพรวมของตลาดหุ้นญี่ปุ่น) ก็ไม่เคยเห็นเลข 3 ในดัชนีนิเคอิมายาว นานถึง 32 ปี
เหตุการณ์ฟองสบู่ครั้งนั้นทำให้คนญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของการออมเงินสดและระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น
แต่ในช่วงหลัง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกระตุ้นให้คนญี่ปุ่นนำเงินสดที่มีไปลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น และคนญี่ปุ่นเองก็เริ่มตระหนักแล้วว่าการเก็บเงินสดมัน ไม่งอกเงย จึงเริ่มเปลี่ยนรูปแบบใหม่โดยเริ่มต้นจากการเอาเงินบางส่วนเข้าไปในตลาดหุ้น
3
พอคนญี่ปุ่นเริ่มเอาเงินเก็บกลับมาลงทุนอีกครั้ง เศรษฐกิจหุ้นญี่ปุ่นก็พลิกผันจากที่เศรษฐกิจซึมมายาวนาน จนตอนนี้เศรษฐกิจที่ซึมมานาน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นไต่ขึ้นมาอยู่ในระดับ New All Time High ที่ราว 40,000 จุด (ตอนนี้ปรับฐานลงมาเหลือประมาณ 35,000 จุด แต่ก็ถือว่าขึ้นมาประมาณ 400% จากจุดต่ำสุดที่แตะ 7,000 จุดช่วงเดือนมีนาคม 2009)
โทโมะ คิโนชิตะ นักกลยุทธ์ตลาดระดับโลกของ Invesco Asset Management กล่าวว่า ตลาดที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้มีกําไรจากการลงทุนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เขาประมาณไว้ว่า 1 ใน 10 ครัวเรือนในญี่ปุ่นมีรายได้จากการลงทุนถึง 6 ล้านเยน หรือราว ๆ 1.4 ล้านล้านบาท ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ดัชนีเฉลี่ยหุ้นนิเคอิปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
[ 🏆 สรุป ]
'ทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีเงินออม 250 ล้านล้านบาท?' เห็นได้ชัดเลยว่าความมั่งคั่งของคนญี่ปุ่นเป็นผลลัพธ์ที่มีรากฐานมาจากวินัยการออม ด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ
1. ออมก่อนใช้เสมอ วิธีนี้เป็นการผลมาจากฝึกฝนวินัยทางการออมอย่างสม่ำเสมอ สิ่งนี้เป็นรากฐานสำคัญที่สุดของความมั่งคั่ง
2. ใช้สติในการใช้จ่าย หลัก 'คะเคโบะ (Kakeibo)' ที่เป็นเคล็ดลับทางการเงินนี้ให้ความสำคัญกับการจดบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างละเอียด เพื่อช่วยสร้างความตระหนักรู้ในการใช้และออมเงินอย่างประสิทธิภาพ
ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ถ้าใครอยากมีเงินออมเยอะ ๆ แบบคนญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องคิดให้ซับซ้อน เพียงแค่ ‘ออมก่อนใช้’ และ ‘มีสติในการใช้เงิน’ ทำควบคู่สองสิ่งนี้สม่ำเสมอการออมเงินก็จะไม่ใช่เรื่องยากและเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะมีเงินไปต่อยอดและลงทุนได้ด้วย!
#aomMONEY #MakeRichGeneration #เก็บเงินแบบญี่ปุ่น #คะเคโบะ #Kakeibo
โฆษณา