Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขียนไปเรื่อย
•
ติดตาม
7 ส.ค. 2024 เวลา 15:25 • ประวัติศาสตร์
การหายไปของผู้หญิงไทยในประวัติศาสตร์
ตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย เราทุกคนต่างก็เรียนประวัติศาสตร์ไทยมาโดยตลอดไม่ว่าจะเรียนลึกหรือเรียนแค่ผิวเผินก็ตาม โดยบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ถูกพูดถึงนั้นส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นผู้ชายทั้งสิ้น คำถามคือทำไม ทำไมส่วนใหญ่แล้วถึงเป็นผู้ชาย เพราะผู้ชายสมัยก่อนเก่งกว่าผู้หญิง อาจจะใช่ หรือเพราะผู้ชายสมัยก่อนมีจำนวนมากกว่าผู้หญิง โดยหลัก ๆ แล้ว มันเกี่ยวกับความเชื่อในสมัยก่อนต่างหากที่เป็นอิทธิพลต่อผู้หญิงในสมัยนั้น
อดีตแห่งความเป็นใหญ่ของผู้หญิง
โดยความเชื่อสมัยก่อนนั้นผู้ชายจะมียศที่สูงศักดิ์ที่สูง แต่เมื่อกลับย้อนไปก่อนหน้านั้นอีกก่อนที่อารยธรรมอินเดียจะเข้ามา ผู้หญิงนั้นเคยมียศสูงศักดิ์กว่าผู้ชาย เห็นได้จากประเพณีการแต่งงานในสมัยก่อน โดยการแต่งงานในสมัยนั้นผู้ชายจะต้องย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง มาจากการเผยแพร่วัฒนธรรมของพวกผู้ไท (ไทดำ-ไทขาว) ในเวียดนามเหนือให้ผู้ชายคือ “บ่าว” ไปทำงานรับใช้ในบ้านฝ่ายผู้หญิงคือ “สาว” ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (นับเป็นปี ๆ)
เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าตนนั้นขยันทำมาหากินจึงจะเป็นที่ยอมรับ และสามารถ
“แยกครัว” หรือแยกตัวออกไปมีครอบครัวอยู่กินกันเองตามประสาผัว-เมียได้ แต่หากไม่ได้รับการยอมรับก็จะถูกขับไล่ และฝ่ายหญิงก็จะเลือกผู้ชายคนใหม่เข้ามาเป็น “บ่าว” เพื่อทดลองใหม่อีกครั้ง “บ่าว”
ซึ่งแปลว่าขี้ข้า มักใช้คู่กับไพร่คือบ่าวไพร่ ในงานแต่งจึงเรียกผู้ชายว่า “เจ้าบ่าว” และ ผู้หญิงคือ “เจ้าสาว” หรือ “ผู้สาว” ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน มาจากการที่ผู้ชายจะต้องไปเป็นขี้ข้าของผู้หญิงคือ “บ่าว” ของ “สาว” รวมเป็น “เจ้าบ่าว” และ “เจ้าสาว” นั่นเอง
กาลเวลาเปลี่ยน โลกเปลี่ยน
แต่เมื่ออารยธรรมอินเดียเกี่ยวกับศาสนาได้เข้ามา จากที่ผู้หญิงมียศที่สูงศักดิ์กว่าผู้ชาย กลับกลายเป็นผู้ชายแทนที่มียศสูงศักดิ์กว่าผู้หญิง เนื่องจากสังคมชั้นสูงของอินเดียไม่ได้ให้ความสำคัญทางฝ่ายหญิง ทั้งยังเป็นลักษณะพิเศษของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอีกด้วย นอกจากนี้คำสอนทางศาสนาที่เข้ามาจากอารยธรรมอินเดียยังส่งผลให้ เกิดคติสมัยหลัง ๆ ว่า “ผู้หญิงเป็นควาย
ผู้ชายเป็นคน”
ซึ่งหมายความได้ว่าผู้หญิงต้องคอยส่งเสริมฝั่งชายให้ได้ทำมาหากิน เปรียบดั่งชาวนาที่มีควายคอยเป็นแรงงานคอยใช้สั่งนู่นสั่งนี่ให้ทำ เป็นควายที่ต้องคอยส่งเสริมชาวนาอยู่ตลอด
ความเป็นอยู่ของชายหญิง เมื่อโลกเปลี่ยน
ม.ร.ว.อคินรพพัฒน์ และศ.ดร.นิธิ เอียงศรีวงศ์ ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า ผู้หญิงนั้นมีสถานภาพที่ต่ำกว่าผู้ชายในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะสถานภาพในทางพุทธศาสนา และเกียรติยศที่ได้รับจากนอกหมู่บ้าน โดยเฉพาะในทางการเมืองการปกครอง ผู้ชายจะเป็นฝ่ายสะสมเกียรติยศให้แก่ครอบครัว ลูกผู้ชายจึงเป็นฝ่ายใช้ทุนของครอบครัวในการศึกษามากกว่าลูกผู้หญิง เช่น อาจต้องยอมเสียแรงงานของลูกผู้ชายไปเป็นเวลานาน ๆ เพื่อให้ได้บวชเรียนและทำชื่อเสียงในวงการของคณะสงฆ์ ผิดกับผู้ชายที่แต่งงานแล้ว
ที่จะต้องย้ายไปอยู่บ้านผู้หญิงช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะถูกยอมรับ ทำให้กลายเป็นคนแปลกหน้าในครอบครัวไป ผู้ชายจึงต้องพึ่งญาติของฝั่งภรรยา เช่น อาศัยนาของพ่อตาในการทำนาหรือถ้าจะทำธุรกิจตั้งต้นใหม่ก็ยังต้องยืมทุนของฝั่งผู้หญิงอยู่ดี ผู้ชายจึงไม่สามารถกดขี่ภรรยาได้ตามใจชอบ แต่บ่าวไพร่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นไม่เหมือนกัน เพราะอาจต้องกดขี่ผู้หญิงที่เป็นภรรยาโดยไม่ได้ตั้งใจจากการถูกเกณฑ์ไปทำงานรับใช้ราชการจนหมดสภาพ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ว่า
"ผู้ชายจะถูกเกณฑ์ไปทำงานปีละ 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งจะเป็นฝ่ายหญิงที่คอยดูแลตลอด เพราะเจ้านายของฝั่งชายจะไม่ได้ให้ข้าวให้น้ำและไม่ได้ให้ค่าจ้าง
ทำให้เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดฝั่งชายก็จะมาพักผ่อนอยู่บ้านโดยจะไม่ได้ทำอะไรหรือฝึกฝนอาชีพอะไรระหว่างนั้นเลย ระหว่างนั้นฝ่ายภรรยาจะเป็นคนดูแลทั้งหมด ทั้งการปลุกแต่เช้า ราว ๆ 7 โมง เพื่อปลุกขึ้นมากินข้าว หลังจากนั้นฝ่ายชายก็จะนอนต่อจนถึงเที่ยง จึงจะลุกขึ้นมากินข้าวใหม่อีกครั้ง และทำซ้ำในตอนเย็นก็เช่นกัน บางเวลานอกจากเวลานอนก็จะหมดไปกับการพูดคุย และการเล่นพนัน
ทำให้คนที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างในช่วงนั้นจะเป็นของฝั่งภรรยาไปซะหมด นอกจากนี้ยังต้องทำไร่ทำนาเพื่อเอาเงิน และยังต้องหาเวลาไปค้าขายข้างนอกอีกด้วย ไม่งั้นจะไม่มีอันจะกินเอา เมื่อฝั่งชายถูกส่งตัวไปฝั่งหญิงก็ต้องดูแลลูกและตนเอง ถ้ามีคนแก่คนเฒ่าอยู่ในบ้านก็ยังต้องดูแลอีกด้วย ทั้งยังต้องส่งข้าวส่งน้ำไปให้ฝั่งสามี แต่แม้ว่าจะทำถึงขนาดนี้ ฝั่งสามีเมื่อครั้นพ้นกำหนดก็ไม่ได้ช่วยให้ฝั่งภรรยาสบายขึ้นแม่แต่น้อย ทั้งยังลำบากกว่าเดิมจากการเรียกร้องสิ่งต่างๆจากสามีอีกด้วย"
การกดขี่นอกจากเรื่องของสามีและภรรยายังมีเรื่องของความคิด อย่าง ผู้หญิงต้องเรียบร้อยรักนวลสงวนตัว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เพราะเป็นเรื่องของเพศชายทั้งสิ้นด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงมีทางเลือกที่จำกัด ทั้งในเรื่องของอาชีพ และการศึกษา ส่งผลทำให้ผู้หญิงเติบโตมาอย่างไร้ประสิทธิภาพ และไม่อาจต่อยอดอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้
บทบาทสตรีในยุคจอมพล ป.
ยุคจอมพล ป. พิบูลสงครามมีการให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นในฐานะ “บทบาทสตรี” ถึงขั้นมีการออกคำสั่งให้สามียกย่องภรรยาอยู่ตลอดเวลา และห้ามข้าราชการทะเลาะกับภรรยา ต่อมาในปี พ.ศ. 2485
ได้มีการเปิดรับ “นักเรียนนายร้อยหญิง” รุ่นแรก เพื่อส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในการป้องกันประเทศ จอมพล ป. มีนโยบายส่งเสริมบทบาทสตรี เพราะคำกล่าวที่ว่า “หยิงเปนส่วนหนึ่งของชาติ ก็ควนจะได้สร้างตนและช่วยชาติด้วยในตัว…ไครจะดูว่าชาตินั้นชาตินี้เจรินเพียงไดไนเมื่อผ่านไปชั่วแล่นแล้วก็มักจะตัดสินความเจรินของชาตินั้นตามความเจรินของฝ่ายหญิง”
และสตรีในยุคสมัย จอมพล ป. ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม โดยใน พ.ศ.2477 ได้มีการจัดประกวดนางงามในชื่อ นางสาวสยาม ขึ้นในงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 เปลี่ยนเป็น นางสาวไทย ในปี 2482 หลังจากการ เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย"
วีรสตรีแห่งโคราช
ในปีเดียวกันได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ย่าโม” โดยท้าวสุรนารี หรือชื่อเดิม คือ “โม” (ที่แปลได้ว่า ใหญ่มาก) เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2314 ชอบเล่นกระบี่กระบองตั้งแต่เด็ก เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ แป้นาผล ไม่มีสามี จึงอยู่ด้วยกันจนวายชนม์ มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ จุก ส่วนต่อมาท้าวสุรนารีที่ได้ถูกสร้างขึ้น
ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยผู้อยู่ในหัวใจของชาวโคราชทุกคน และถือเป็นอนุสาวรีย์ที่ยกย่องความดีของวีรสตรีสามัญชนคนแรกของประเทศ โดยวีรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ยกทัพเข้ายึดเมืองโคราช คุณหญิงโมได้รวบรวมชาวบ้านเข้าสู้รบและต่อต้านกองทัพเจ้าอนุวงศ์ไม่ให้ยกมาตีกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้สถาปนาคุณหญิงโมเป็น “ท้าวสุรนารี”
และย่าโมก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวโคราช จึงเป็นที่มาของอีกชื่อที่เรียกขานนครราชสีมาว่า “เมืองย่าโม” ทำให้ทุกปีในวันที่ 23 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน จะมีการจัดงานวันฉลองชัยชนะของท้าวสุรนารี ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด
เพื่อเป็นรำลึกถึง และยกย่องย่าโมที่ช่วยปกป้องกรุงเทพฯไว้ได้สำเร็จ โดยอนุสาวรีดังกล่าวจากผลวิจัยในบทคัดย่อของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่พบว่า อนุสาวรีท้าวสุนารี หรือ ย่าโมส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในทั้งด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม พัฒนาสิ่งแวดล้อม จนดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายที่สนใจ เข้ามาไหว้บูชาจนทำให้เกิดการกระตุ้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในฐานะของบทบาทความเป็นหญิง และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนด้านการคมนาคมของโคราชอีกด้วย
ประวัติศาสตร์สร้างปัจจุบัน
ต่อมาในปัจจุบัน ที่ได้มีการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสตรีจากความเท่าเทียมที่ไม่เพียงพอ และบทบาทของสตรีในประเทศไทยนั้นได้เพิ่มขึ้นกว่าในอดีตอย่างมากและพบว่า ผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น บทบาทของสตรีในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นบทบาทนอกบ้านและบทบาทในบ้าน ผู้หญิงสมัยใหม่หลาย ๆ คนจะมีบทบาทหน้าที่การงานนอกบ้านมากกว่า ทำให้หลาย ๆ คนต้องมีการพัฒนาตัวเองแทบจะทุก ๆ เรื่องเพื่อให้ทันต่อยุคและเหตุการณ์ในสังคมปัจจุบัน
แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีความไม่เท่าเทียมที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน และเกิดเป็น(Bias) อคติ อยู่ดี ยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี ในปี พ.ศ.2560–2564 จึงได้กำหนดกรอบความคิดไว้ 5 แนวทางเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศเพื่อสร้างสังคม ที่เท่าเทียมกันออกมา ได้แก่
1) ส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวมีการเลี้ยงดูลูกผู้หญิงและผู้ชายให้มีทัศนคติและมุมมองที่เท่าเทียมกันมากขึ้น และยอมรับความเสมอภาคและเท่าเทียมทางเพศพ่อแม่ไม่มีอคติหรือหยิบยกประเด็นหญิงหรือชายในการ ตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรธิดาการปลูกฝังความรับผิดชอบในครอบครัว (เช่น การช่วยงานบ้าน) การสมรส การสืบสกุลและการยกมรดกจะมีส่วนช่วยให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีอคติด้านเพศ (Gender Bias)
2) สถาบันการศึกษาเป็นอีกสถาบันหนึ่งที่บ่มเพาะคนไทยรุ่นใหม่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของครูอาจารย์และนักการศึกษาโดยรวมจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ระดับต่าง ๆ ที่อาจจะแฝงหรือมีนัยของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย เพื่อเน้นย้ำเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ (Gender in Equality) ที่อาจพบเห็นได้ง่ายในสังคมยุคใหม่นี้
3) ส่งเสริมสื่อสาธารณะที่มีความสมดุลไม่ลบหลู่ดูถูกผู้หญิงหรือตอกย้ำความไม่เท่าเทียมทางเพศสื่อที่ลบหลู่ศักดิ์ศรีของผู้หญิงเช่นที่ปรากฏในละครภาพยนตร์ หรือ การโฆษณาสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ หากมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงบทบาทหญิงชาย (Gender Sensitivity) และมีทัศนคติที่ดีในการสร้างสังคมเสมอภาคระหว่างหญิงชายจะช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมที่เข้าถึงสื่อต่างได้ง่ายมีความเข้าใจที่ดีขึ้น
4) การลดอคติและความเชื่อผิด ๆ ของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในองค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ เช่นผู้บริหารระดับต่าง ๆ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนที่มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายให้ความดีความชอบรวมถึงการมอบหมายงานและความรับผิดชอบให้ผู้ปฏิบัติงานหญิงและชายที่ไม่นำประเด็นทางเพศมาพิจารณาเหนือประเด็นด้านความสามารถและศักยภาพของปัจเจกบุคคล
และหากผู้ที่ทำงานในองค์กรเหล่านี้มีทัศนคติที่ดีขึ้น จะนำไปสู่การลดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน (Sexual Harassment) รวมทั้งนอกที่ทำงานเช่นกัน ลงได้ ทำให้แก้ไขปัญหาผู้หญิงกับการทำงานในองค์กรที่เป็นทางการ
5) แก้ไขปัญหาพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญและเปิดโอกาสหรือสรรหานักการเมืองสตรีให้ลงสมัครในนามพรรคซึ่งส่งผลให้สัดส่วนของผู้หญิงในเวทีการเมืองของไทยระดับต่าง ๆ ยังมีสัดส่วนที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลอันเป็นผลมาจากความเชื่อเดิมที่เน้นว่าผู้หญิงมีบทบาทในครัวเรือนเท่านั้น ส่วนเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของผู้ชายหากสังคม
โดยรวมมีทัศนคติที่ดีขึ้นโอกาสที่ผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถ ก็จะได้รับการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี เพราะประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในทวีปเอเชียที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2475 เพราะตั้งแต่ปี 2475 สตรีในประเทศไทย (หรือสยาม) มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป และมีสิทธิเลือกตั้งหมู่บ้านในปี 2440 ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สองในโลกที่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีตามหลังประเทศนิวซีแลนด์
กรอบความคิดพัฒนาปัจจุบัน
โดยสรุปแล้วผู้หญิงไม่มีพื้นที่ทางสังคมในประวัติศาสตร์ เนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ส่งต่อมาจากอารยธรรมอินเดีย ส่งผลกระทบทำให้ในปัจจุบันยังเกิดความเหลื่อมล้ำทั้ง การล่วงละเมิดทางเพศ, การตระหนักถึงบทบาทหญิงชาย, ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และสุดท้ายอคติด้านเพศ
ส่งผลทำให้สังคมต้องออกมาสร้างกรอบความคิดมากมายให้สังคมไม่เกิดอคติ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเพศหญิงอีกด้วย และกรอบเหล่านั้นแหละที่เป็นส่วนช่วยให้ผู้หญิงมากมายในปัจจุบันจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคมไทย ซึ่งถ้านับจากอดีตถือว่าเพิ่มมากขึ้นทีเดียว.
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย