22 ส.ค. 2024 เวลา 09:37

เริ่มบริหารค่าใช้จ่าย-ภาระหนี้สิน เพื่อสร้าง “วัยเกษียณ” ที่มีสุข !!

การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป เพราะเหตุผลและความจำเป็นในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน เช่น การกู้สินเชื่อธนาคารเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย การกู้สินเชื่อเพื่อศึกษาต่อ การยอมเป็นหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน หรือการยอมเป็นหนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง
ไม่ว่าเหตุผลจากการเป็นหนี้จะเกิดจากปัจจัยอะไรก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือ จะสามารถบริหารจัดการหนี้เหล่านี้ได้อย่างไร หากบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจถือว่าการก่อหนี้ไม่ได้เป็นสิ่งผิด ในทางกลับกันหากไม่สามารถบริหารจัดการได้ ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ต้องกู้สินเชื่อมาจ่ายหนี้เป็นทอดๆ วนเป็นวงจรไม่จบสิ้น แบบนี้หนี้เริ่มเป็นปัญหาของการใช้ชีวิตแล้ว
เมื่อหนี้เริ่มมีจำนวนมากกว่ารายได้ อาจทำให้ผู้กู้ต้องใช้เวลาทำงานเกือบทั้งชีวิตเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ และกว่าจะใช้หนี้ที่มีหมดก็อาจเหลือเวลาไม่มากที่จะวางแผนหรือเก็บเงินเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณอายุแล้ว ซึ่งปัญหาหนี้สินไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับพนักงานบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับกลุ่มข้าราชการอีกด้วย
โดยปัจจุบันจากหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย 16.2 ล้านล้านบาท มีข้าราชการที่เป็นหนี้ราว 3 ล้านคน คิดเป็นวงเงินประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งบางส่วนแม้จะเกษียณอายุข้าราชการไปแล้ว ก็ยังไม่สามารถปลดภาระหนี้สินเหล่านี้ได้ ทำให้เงินบำนาญที่ได้รับอาจไม่พอต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ภาครัฐต้องร่วมมือกับสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อเร่งแก้ปัญหาหนี้ของข้าราชการอย่างจริงจังและเป็นระบบ
จากที่กล่าวมาข้างต้น หากอยากเกษียณแบบสำราญ มีเงินใช้จ่ายแบบไม่ต้องกังวล ก่อนถึงวัยเกษียณทุกคนต้องเริ่มบริหารค่าใช้จ่ายให้รอบคอบมากขึ้น และปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ให้เร็วที่สุด เพราะหากเริ่มช้าอาจเหลือเวลาแก้ตัวอีกไม่มาก ดังนั้น มาลองดูเคล็ดลับในการบริหารจัดการเงินและสินหนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนถึงวัยเกษียณกัน
1.จดบันทึกรายได้และค่าใช้จ่าย
ในแต่ละเดือนทุกคนควรจดบันทึกค่าใช้จ่าย เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะรู้ว่า รายได้ที่เข้ามาแต่ละเดือนนั้น ถูกจ่ายไปกับค่าอะไรบ้าง ทำให้สามารถบริหารจัดการและวางแผนการเงินได้ และเมื่อวางแผนแล้ว สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ด้วย นอกจากจะช่วยป้องกันเงินไหลไปกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย
2.เริ่มลดภาระหนี้สิน
เมื่อทุกคนทำบันทึกค่าใช้จ่าย น่าจะเห็นข้อมูลชัดเจนว่า แต่ละเดือนหมดเงินไปค่าอะไร และควรเริ่มสำรวจว่าปัจจุบันยังมีหนี้อะไรเหลืออยู่บ้าง มีจำนวนเงินต้นมากแค่ไหน และดอกเบี้ยเท่านั้น จากนั้นให้เพิ่มจำนวนเงินที่จะจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนให้มากขึ้น หรือสูงกว่าขั้นต่ำ โดยอาจนำไปจ่ายหนี้ ดังนี้
2.1 ปลดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้มากที่สุด ซึ่งเหมาะกับหนี้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอก เพราะยิ่งผ่อนเงินต้นให้ลดลงเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเสียดอกเบี้ยน้อยลงตามไปด้วย
2.2 ถัดมานอกจากปลดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อนแล้ว อาจเลือก ปลดหนี้ที่เหลือน้อยที่สุด เพื่อลดจำนวนเจ้าหนี้ และทำให้มีเงินเหลือไปจ่ายเจ้าหนี้รายอื่นๆ ได้มากขึ้น ซึ่งเหมาะกับ หนี้ที่มีดอกเบี้ยคงที่ เพราะไม่ว่าจะผ่อนให้หมดเร็วหรือช้า เจ้าหนี้ก็คิดดอกเบี้ยรวมในเงินผ่อนแต่ละเดือนอยู่แล้ว
นอกเหนือจากการวิธีข้างต้นแล้ว ทุกคนสามารถทำเรื่องรีไฟแนนซ์ โดยรวมหนี้จากหลายๆ ที่ให้เป็นก้อนเดียวกันได้ เพื่อลดจำนวนเงินต้นที่ต้องผ่อนต่อเดือนให้ลดลง และอยู่ในภาระที่พอรับได้ หรือเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย แต่ก่อนจะรีไฟแนนซ์ทุกครั้ง ต้องศึกษาเงื่อนไขต่างๆ และคำนวณอัตราดอกเบี้ย รวมถึงค่าธรรมเนียมอย่างรอบคอบว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะระยะเวลาการผ่อนชำระอาจนานขึ้น และดอกเบี้ยที่อาจมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ภาระหนี้เท่านั้นที่ควรจัดการให้หมดก่อนถึงวันเกษียณ แต่ยังรวมถึงการค้ำประกันต่างๆ ด้วย ทั้งการค้ำประกันเงินกู้ และการค้ำประกันคนเข้าทำงาน เพราะหากไม่จัดการให้เรียบร้อย เมื่อเกษียณไปแล้วอาจต้องรับภาระส่วนนี้แบบไม่รู้ตัว
สุดท้าย การเริ่มบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและหนี้สินตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องรอถึงวัยใกล้เกษียณ เพราะอาจมีเวลาให้แก้ไขปัญหาไม่มากพอ ทำให้ชีวิตเกษียณของทุกคนอาจไม่สำราญอย่างคาดหวังไว้
โฆษณา