26 ส.ค. 2024 เวลา 12:00 • ครอบครัว & เด็ก

ลูกที่ยังอยู่ในความปกครองของพ่อแม่ทำอะไรด้วยตนเองได้บ้าง?

เปิดนิติกรรมแบบไหน “ผู้เยาว์” ทำเองได้ และแบบไหนต้องให้ผู้ปกครองยินยอม
เชื่อว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองทั้งหลายอาจมีความสงสัยว่าลูกๆ หลานๆ “วัยเยาว์” ที่อยู่ในความดูแลของเรานั้น สามารถทำนิติกรรมอะไรได้บ้าง หรือทุกนิติกรรมต้องผ่านการยินยอมจากผู้ปกครองทั้งหมดก่อนกันแน่ถึงจะถูกกฎหมายเป๊ะๆ วันนี้เรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันดีกว่า
🙎‍♂️[ #ผู้เยาว์ คือใคร? ]
ก่อนอื่นเรามาเข้าใจกันก่อนว่า ผู้เยาว์ คือใครกันแน่?
ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และการจะบรรลุนิติภาวะ หรือพ้นจากภาวะผู้เยาว์ได้เข้า 2 เงื่อนไข ได้แก่
(1) บรรลุนิติภาวะโดยอายุ คือ ต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
(2) บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส คือ อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ได้ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปีทุกคน นอกเสียจากว่าผู้นั้นได้มีการสมรสตามกฎหมายแล้วจะถือว่าผู้นั้นจะพ้นการเป็นผู้เยาว์ทันที แม้อายุจะยังไม่ถึง 20 ปีก็ตาม
ทั้งนี้ ในทางกฎหมายมองว่า ผู้เยาว์ นั้นยังถือเป็นผู้ที่มีความอ่อนแอ ทั้งด้านความคิดและร่างกาย ดังนั้น การให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมที่สำคัญด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านการยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์ได้
👫[ #ผู้แทนโดยชอบธรรม คือใคร? ]
ผู้แทนโดยชอบธรรม คือ บุคคลอันได้แก่
(1) ผู้ใช้อำนาจปกครอง หมายถึง พ่อแม่ที่ให้กำเนิด หรือ พ่อแม่บุญธรรมตามกฎหมาย อย่างใดอย่างหนึ่ง
(2) ผู้ปกครอง หมายถึง ถ้าผู้เยาว์ไม่มีพ่อหรือแม่ หรือพ่อแม่ถูกถอนอำนาจปกครอง ก็อาจมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองได้
📝🙎‍♂️👫[ นิติกรรมที่ “ผู้เยาว์” ต้องได้รับความยินยอมจาก “ผู้แทนโดยชอบธรรม” ]
จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ในทางกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจาก “ผู้แทนโดยชอบธรรม” เสียก่อน หากไม่ได้รับการยินยอมจะถือว่านิติกรรมนั้นเป็น “โมฆียะ” กล่าวคือ เป็นนิติกรรมที่เป็นเหตุแห่งการ “บอกล้างนิติกรรม” ได้
แต่ไม่ใช่ทุกนิติกรรมที่ผู้เยาว์จะต้องขอความยินยอมทั้งหมด เพราะมีบางนิติกรรมที่กฎหมายยกเว้นให้ผู้เยาว์สามารถทำได้เอง และไม่ถือเป็นโมฆียะ
📝🙎‍♂️[ นิติกรรมที่ “ผู้เยาว์” ทำได้โดยลำพัง ]
✅1. นิติกรรมที่เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว
ได้แก่ นิติกรรมที่ทำให้ได้ไปซึ่งสิทธิ เช่น การรับการให้โดยเสน่หา โดยไม่มีภาระผูกพันตามมา หรือ นิติกรรมที่ทำให้หลุดพ้นจากหน้าที่ เช่น การที่เจ้าหนี้ทำนิติกรรมปลดหนี้ให้ เป็นต้น
✅2. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว
เช่น หากผู้เยาว์มีบุตร สามารถรับรองบุตรได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม
✅3. นิติกรรมที่จำเป็นเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้เยาว์ (เป็นการสมควรแก่ฐานานุรูป)
เช่น การซื้ออาหาร ซื้อเครื่องดื่มกิน ซื้อสมุดดินสอ ขึ้นรถประจำทาง เป็นต้น
✅4. การทำพินัยกรรม
เมื่อผู้เยาว์มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ สามารถทำพินัยกรรมได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม
✅5. การประกอบธุรกิจการค้าหรือทำสัญญาเป็นลูกจ้าง
ในกรณีผู้เยาว์ประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานนั้นนั้นต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้
จะเห็นได้ว่าไม่ใช่นิติกรรมทุกอย่างที่ผู้เยาว์ต้องขอความยิมยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เพราะมีบางนิติกรรมที่ยกเว้นให้ทำเองได้
และขอเสริมข้อมูลว่า ถึงแม้ว่าจะนิติกรรมที่สำคัญ พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะต้องให้ความยินยอมก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้แทนโดยชอบธรรมเหล่านี้ จะสามารถทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ได้ทั้งหมด เพราะกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินของผู้เยาว์นั้นได้กำหนดไว้ เช่น หากพ่อแม่จะจำหน่าย บ้าน ที่ดิน ของผู้เยาว์นั้น จะต้องขออนุญาตจากศาล เพื่อศาลได้ให้ความเห็นชอบเสียก่อนด้วยเช่นกัน
#aomMONEY #ผู้เยาว์ #ผู้แทนโดยชอบธรรม #สิทธิ์ #นิติกรรม #กฎหมาย
โฆษณา