28 ส.ค. 2024 เวลา 11:00 • ความคิดเห็น

จากคนอายุ 50 ที่ติดหนี้ 900 ล้าน กลับมาเป็นเจ้าของธุรกิจหมื่นล้านในวัย 60 ปีได้ยังไง?

ถอด 5 บทเรียนจาก "วรวัฒน์ Cococo" ที่เคยโลภจนหมดตัว
1
เมื่อปีที่แล้ว COCOCO พึ่งได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จากวันแรกที่เริ่มขายมูลค่าหลักทรัพย์ หุ้น COCOCO ในราคาหุ้นละ 5.50 บาท ปัจจุบันวิ่งไปที่ 12 - 13 บาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) อยู่ที่ 17,346 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส.ค. 2567)
1
[ ยอดขายของ บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) ]
ปี 2563 รายได้ 3,035 ล้านบาท กำไร 102 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 3,457 ล้านบาท กำไร 296 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 3,382 ล้านบาท กำไร 378 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 4,679 ล้านบาท กำไร 540 ล้านบาท
1
*ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ
แต่ เบื้องหลังความสำเร็จของ CEO Thai coconut ดร.วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว วัย 65 ปีท่านนี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาต้องเผชิญกับภาระหนี้มหาศาลถึง 900 ล้านบาท ถึงกับต้องยื่นล้มละลาย
จากคนอายุ 50 ที่ติดหนี้ 900 ล้าน กลับมาเป็นเจ้าของธุรกิจหมื่นล้านในวัย 60 ปีได้ยังไง? คุณวรวัฒน์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวนี้ในรายการ “Just Curious EP.5 “วรวัฒน์ Cococo” โลภจนเป็นหนี้ 900 ล้าน สู่เจ้าของธุรกิจหมื่นล้าน”
🎯 วันนี้ aomMONEY ได้ถอด 5 บทเรียนสำคัญจากประสบการณ์ของคุณวรวัฒน์มาฝาก
✅ 1. ความสำเร็จก้าวแรกต้องเริ่มจากการลงทุนในตัวเองและต่อยอดจากสิ่งที่รู้จัก
ตอนเริ่มต้น คุณวรวัฒน์นิยามตัวเองว่าเป็นลูกชาวไร่มาตลอด (คุณพ่อที่ทำไร่อ้อยและคุณแม่ที่ทำสวนมะพร้าว) ก่อนจะผันตัวเองมาเรียนวิทยาศาสตร์และเบนสายไปทำงานในสายโรงงาน (QC และ R&D)
ก่อนจะตัดสินใจลองทำธุรกิจกะเทาะมะพร้าวจากสวนของคุณแม่ ตอนนั้นคุณวรวัฒน์ทำงานนี้เป็นงานเสริม แต่ทำไปทำมาคุณวรวัฒน์พบว่าการขายมะพร้าวที่เป็นงานเสริมทำรายได้ ได้มากกว่างานประจำ จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้มาลงมือทำธุรกิจ เริ่มต้นจากการเป็นนักขาย
ต่อมาเพื่อนของคุณแม่มาชวนกลับไปทำเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำกะทิ เขาบอกว่าตอนแรกการเป็นผู้จัดการไม่ได้ง่ายเท่าไหร่ และเขาต้องไปเรียนการบริหารธุรกิจ (MBA) เพิ่มเติม ช่วงนั้นแม้ว่าเงินเดือนจะเยอะแต่ก็ไม่ค่อยรอด เพราะไปผ่อนบ้านเดือนละ 6,000 บาท และมีค่าเรียนอีก ในช่วงนั้นการเงินของคุณวรวัฒน์ถือได้ว่าตึงเลยทีเดียว
1
แต่คุณวรวัฒน์มองว่าการเรียนรู้มันเป็นเรื่องที่จำเป็น ทั้งการวางแผน การตลาด การไปเรียนทำให้คุณวรวัฒน์มีมุมมองที่กว้างขึ้นในการทำธุรกิจ หลังเรียนจบเขาก็แต่งงานและสร้างโรงงานเล็กๆ ของตัวเอง โดยคุณวรวัฒน์ก็ใช้ความรู้ที่มีจากการเป็น QC มาก่อนค่อยๆ สร้างโรงงานและกลับมาขยายธุรกิจของตัวเองที่ราชบุรี จนธุรกิจมีกำไร 300-400 ล้านต่อปี
✅ 2.ระวังความโลภและให้ความสำคัญกับการงบการเงิน
พอทำธุรกิจจนมีกำไร 300-400 ล้านต่อปีได้เป็นเวลาเกือบ 10 ปี คุณวรวัฒน์เล่าว่าตอนนั้นเกิด เขาเริ่มมีความโลภและบริษัทของเขาทำกำไรได้ไม่ถึง 500 ล้านต่อปีสักที ก็เลยเอาโรงงานมะพร้าวไปกู้เงิน ได้เงินมา 900 ล้าน ตอนนั้นคุณวรวัฒน์เลือกที่จะไปสร้างโรงงานสับปะรดขนาดใหญ่
คุณวรวัฒน์มองว่าโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดคือสับปะรด ถ้ามาทำธุรกิจนี้ยังไงก็รวยแน่นอน แต่พอเปิดได้ 3 ปีก็ต้องปิดเพราะขาดทุนปีละ 100 ล้าน และยังมีค่าใช้จ่ายส่วนหนี้โรงงานอีก ทำให้ธุรกิจขาด Cashflow และต้องยื่นล้มละลายในที่สุด
คุณวรวัฒน์เล่าว่าตอนนั้น ธุรกิจโรงงานสับปะรดต้องซื้อในช่วงที่สับปะรดราคาถูกและต้องใช้เงินที่เย็นมากๆ ในการดำเนินธุรกิจ แต่คุณวรวัฒน์กู้เงินมาขยายทำให้เมื่อได้กำไรมาก็ต้องเอาไปจ่ายธนาคารก่อน ทำให้เงินมาหมุนในโรงงานไม่ทัน ทำให้โดนบังคับขาย (force sell) จนขาดทุนในที่สุด
คุณวรวัฒน์เล่าว่าตอนแรกเขาไม่ค่อยให้ความสนใจกับงบการเงินเท่าไหร่ แต่ในทุกวันนี้เขาให้ความสนใจกับรายละเอียดบัญชีของบริษัทมากขึ้น
จากการกลับมาสนใจรายละเอียดของบัญชีทำให้คุณวรวัฒน์เห็นความสำคัญของเงินทุกบาท รวมถึงป้องกันความโลภจากการอยากรวยเร็วในตอนแรก
การรวยครั้งที่สองของคุณวรวัฒน์ ทำให้การมองโลกของเขาเปลี่ยนไปและไม่อยากจะใช้เงินมากนักเพราะคิดว่าทั้งหมดคือภาระ ต่างกับตอนรวยครั้งแรกที่เขาใช้เงินไปกับสิ่งต่างๆ อย่างบ้านและรถยนต์หลายคัน
✅ 3.หาจุดแข็งทำตัวให้เหมือน ‘ตัวเม่น’
หลังธุรกิจวิกฤต คุณวรวัฒน์ยื่นศาลล้มละลายกลางและเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ และทำแผน 5 ปี คุณวรวัฒน์บอกว่าตอนนั้นเขาต้องขายโรงงานและทรัพย์สินทั้งหมดออกไป
1
หลายคนอาจจะมองว่าการต้องขายโรงงาน ขายสินทรัพย์ที่มีเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก แต่คุณวรวัฒน์กลับมองว่าทรัพย์สินทั้งหมดนี้เป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้ จากการยอมขายสินทรัพย์ทั้งหมด ทำให้เจ้าหนี้เห็นถึงความตั้งใจและยอมรับแผนฟื้นฟู และทำให้ธุรกิจไปต่อได้
ในบทสัมภาษณ์คุณวรวัฒน์เล่าว่า เขาได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ Good to Great (จากบริษัทที่ดี สู่ความเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ เขียนโดย จิม คอลลินส์) บทเรียนนึงที่คุณวรวัฒน์ได้มาคือการได้ฉุกคิดว่า “ทำไมก่อนหน้านี้เราถึงไม่ทำในสิ่งที่เราถนัด เหมือนตัวเม่น”
ตรงนี้คุณวรวัตน์บอกว่า 'เม่น' เป็นสัตว์ที่เสือและสิงโตกินไม่ได้เพราะตัวเม่น ขดตัวเก่ง และตัวเขาเองก็เก่งในเรื่องมะพร้าว ทำไมต้องไปทำสับปะรดที่ตัวเองไม่มีปัจจัยไปสู่ความสำเร็จ (key success factor)
✅ 4.เปลี่ยนวิธีมองพนักงาน ควบคุมอีโก้และเสริมศักยภาพให้คนของเรา
ทีมงานที่ดีเป็นรากฐานของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ก่อนหน้านี้คุณวรวัฒน์มองลูกน้องผ่านแว่นตาที่มีอีโก้ของตัวเอง เขาเล่าว่าย้อนไปตอนแรกเป็นคนโมโหโทโสมาก ลูกน้องพูดอะไรก็ไม่ค่อยฟัง มีอะไรก็ทำเองหมด ทั้งที่เราไม่ควรทำและบางทีเราก็ทำผิดพลาดด้วย
‘ตอนนั้นผมมองว่าลูกน้องโง่หมดเลย ถ้าฉลาดได้สัก 50% ของตัวเอง ชีวิตของผมจะดีกว่านี้เยอะเลย’
ตอนมีวิกฤต เขาต้องเอาพนักงานออกอย่างน้อย 30% เขาก็เอาทั้งหมดมาประชุมและคุยกับผู้จัดการในเรื่องแผนฟื้นฟูและหลักการจากหนังสือ Good to Great ด้วย จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นพนักงานที่ยังอยู่ก็รวมใจกันขึ้นมา
ปัจจุบันคนงานในบริษัทของคุณวรวัฒน์ มีอัตราการ turn over ต่ำมาก อยู่ที่ราวๆ 3% เขามองว่าตรงนี้เป็นส่วนที่วัดผลได้ว่าคนอยากอยู่ทำงานกับเขา
2
คุณวรวัฒน์ได้บอกว่าวิธีการนี้เขาได้มาจากการเสริมแรงจูงใจทั้งสองด้าน ทั้งการให้ผลตอบแทนที่พอดีและการให้โบนัสเยอะ เพราะคุณวรวัฒน์มองว่าการให้ไปเงินโบนัสเยอะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนอยากทำงานและช่วยให้บริษัทเติบโตขึ้น เจ้าของบริษัทไม่ใช่คนที่ทำงานคนเดียว
นอกจากนั้นบริษัทของคุณวรวัฒน์ยังมีสหกรณ์ในบริษัทเพื่อช่วยเหลือสวัสดิการพนักงานในบริษัท มีการให้กู้ 5 เท่าของเงินเดือน เพื่อช่วยไม่ให้พนักงานไปกู้หนี้นอกระบบ
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตอนคุณวรวัฒน์เริ่มเปลี่ยนความคิดจากที่มองว่าลูกน้องโง่ทุกคน เป็นลูกน้องเราทุกคนมีความเก่ง เราจะทำยังไงให้พนักงานดึงความสามารถของตัวเองออกมาเต็มที่ และมีความรักและพร้อมทุ่มเทให้กับบริษัท
✅ 5. รักษาสติและมองโลกในแง่บวก
ในตอนที่ต้องปิดโรงงานสับปะรด คุณวรวัฒน์อายุประมาณ 48 - 49 ปี ทรัพย์สินเกือบทุกอย่างต้องโอนเข้าธนาคารหมด แม้จะยังมีโรงงานมะพร้าวอยู่ แต่คุณวรวัฒน์ ใช้คำว่า ‘หมดตัว’ นักธุรกิจรุ่นเดียวกันบางคนที่เจอสถานการณ์แบบนี้ถึงขั้นเลือกจบชีวิตตัวเองไปเลยก็มี
คุณวรวัฒน์เองก็นอนซมอยู่ 3 วัน แต่สุดท้ายก็คิดขึ้นได้ว่าลูกยังเล็ก และไหนจะพนักงานบริษัทอีก ถ้าเขาไม่สู้สักคนทุกอย่างจะจบแน่นอน ด้วยกำลังใจที่ดีและความเชื่อว่าตัวเองเป็นคนโชคดี เขาจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนั้นไปได้ ทำให้คุณวรวัฒน์ฮึดสู้อีกครั้งหนึ่ง
ประกอบกับหลังมีปัญหาธุรกิจคุณวรวัฒน์ก็ได้เข้าสู่วงการ Leadership Coach โดยมีเพื่อนคุณวรวัฒน์ชวนไปเรียน การได้เข้าไปเรียนก็ทำให้เขาเห็นปัญหาและ มีพลังบวกและได้มองเห็นตัวเองได้เยอะขึ้น และสองปีต่อมาก็เป็นโค้ชด้วย
คุณวรวัฒน์เชื่อว่าการรักษาทัศนคติที่ดีแม้ในช่วงวิกฤตช่วยให้เขาสามารถมองหาโอกาสและแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ เขาบอกว่าจิตใต้สำนึก (Inner) ภายในหัวของคนส่วนใหญ่เป็นเรื่องความกลัว สงสัย และตัดสิน ทั้งที่ความจริง เรายังไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น
การได้กลับมาเรียนรู้ความคิดตัวเอง ทำให้เขาได้ฟื้นฟูและพัฒนาตัวเองไปด้วย ทำให้ตรงนี้ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจและปัญญาในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้
บทเรียนทั้ง 5 ประการนี้จากประสบการณ์ของคุณวรวัฒน์ แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จในธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการพัฒนาตนเอง การบริหารจัดการอารมณ์ และการมีมุมมองที่ถูกต้องต่อการดำเนินธุรกิจ หวังว่าเรื่องราวของคุณวรวัฒน์จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการทุกคนว่า แม้จะเผชิญกับอุปสรรคที่ใหญ่หลวง ก็ยังสามารถฟื้นตัวและประสบความสำเร็จได้หากมีแนวคิดและทิศทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ✌️
1
ดูคลิปสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่:
“วรวัฒน์ Cococo” โลภจนเป็นหนี้ 900 ล้าน สู่เจ้าของธุรกิจหมื่นล้าน | Just Curious EP.5
COCOCO - บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน)
#aomMONEY #makerichgeneration #cococo #thaicoconut
โฆษณา