31 ส.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

คิดจะกู้สินเชื่อ ควรรู้เรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ !!

ดอกเบี้ย MLR MOR และ MRR คืออะไร?
คนที่กำลังจะกู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อคอนโด หรือกำลังศึกษาการกู้สินเชื่อ หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า MLR MOR และ MRR กันบ้าง และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงสงสัยว่าทั้ง 3 ตัวย่อนี้คืออะไร เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยเงินกู้อย่างไร
วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยเหล่านั้นกัน และพามาทำความรู้จักกับประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ ว่ามีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร
ประเภทของดอกเบี้ยเงินกู้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ
1. อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate)
หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้อย่างตายตัว เป็นตัวเลขคงที่เท่าเดิมตลอดอายุสัญญาหรือในช่วงเวลาที่กำหนด
2. อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate)
หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา และจะเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดเงิน และต้นทุนของสถาบันการเงินแต่ละแห่งในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งทางธนาคารแต่ละแห่งจะประกาศแจ้งอัตราดอกเบี้ยออกมาเป็นคราวๆ ไป โดยอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่นิยมใช้ในประเทศไทย ได้แก่ MLR, MOR, และ MRR
3. อัตราดอกเบี้ยปรับคงที่ตามรอบเวลา (Rollover Mortgage Loan)
หมายถึง อัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงระยะหนึ่ง แต่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยคงที่ใหม่เป็นรอบๆ ตามที่กำหนดไว้ เช่น ปรับทุกๆ 5 ปี เป็นต้น โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และต้นทุนพันธบัตร
ดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว MLR MOR และ MRR ต่างกันอย่างไร?
- MLR หรือ Minimum Loan Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี โดยส่วนใหญ่จะใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
- MOR หรือ Minimum Overdraft Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี
- MRR หรือ Minimum Retail Rate คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี โดยส่วนใหญ่จะใช้กับสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต
ตัวอย่างสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยแบบ MRR
วงเงินกู้จำนวน 1,000,000 บาท
อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 - 3 = 5% ต่อปี / ปีที่ 4 MRR -0.25% ต่อปี
ถ้าในปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย MRR กำหนดอยู่ที่ 6% ดังนั้นดอกเบี้ยที่นำมาคิดจะเท่ากับ 6% ลบด้วย 0.25% = 5.75% ต่อปี
โฆษณา