1 ก.ย. 2024 เวลา 13:30 • ครอบครัว & เด็ก

จากเจ้าของทีม สู่แฟนคลับ บทบาทของพ่อแม่ในชีวิตลูกที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา

กับ 7 แนวทางปลูกฝังเรื่องเงินให้ลูกในยุคสมัยที่เราแทบไม่จับเงิน แบบ พี่ก้อย-วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
มีประเด็นหนึ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเรามักรู้สึกเสียดายในภายหลัง นั่นคือ ความสำคัญของการปลูกฝังนิสัยและวินัยทางการเงิน โดยเฉพาะการออม หลายคนมักคิดว่าน่าจะได้เรียนรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ตอนเด็ก
เมื่อไม่นานมานี้ Thairath Money ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “Money สไตล์แม่” รวมตัวแม่ มาแชร์เรื่องเงิน ในงานนี้ คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ (พี่ก้อย) ได้มาเป็น Special Guest ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การสอนเรื่องการเงินให้กับเด็กๆ ในยุคที่เราแทบไม่จับเงินสด
ทาง aomMONEY ก็ได้ถือโอกาสสรุปประเด็นสำคัญจากเซคชั่นของพี่ก้อยมาฝาก
[ บทบาทของพ่อแม่ในชีวิตลูกที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ]
แม้ว่าพี่ก้อยจะไม่มีลูก แต่ได้รวบรวมข้อมูลจากเพื่อนร่วมงานและประสบการณ์ในการช่วยวางแผนการเงินให้ผู้อื่น
ในงานนี้พี่ก้อยได้แบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของพ่อแม่ที่ได้รับมาจากรองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์ (อาจารย์ของพี่ก้อย) ซึ่งได้เปรียบเทียบบทบาทของพ่อแม่กับการเล่นกีฬา ไว้ดังนี้
✅ เริ่มจากเป็นเจ้าของทีม
ในช่วงก่อนจะมีลูกพ่อแม่จะทำหน้าที่เป็นเจ้าของทีมกีฬาที่คุยกันสองคน วางแผนและต้องรับผิดชอบทุกอย่าง คิดทุกอย่างว่าจะมีผู้เล่นเป็นเพศไหน กี่คน อายุห่างกันกี่ปี ซึ่งการวางแผนนี้บางครั้งก็อาจจะไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ
✅คอยเป็นกรรมการในการกำกับดูแล
บทบาทต่อมาพ่อแม่ควรเป็นกรรมการ ช่วยตัดสินผิด - ถูก ให้รางวัลหรือลงโทษ เพราะเมื่อลูกเริ่มโตขึ้นและเรียนรู้ชีวิตก็จะมีการงอแงบ้างตามประสาเด็ก พ่อแม่ต้องคอยดูแลลูก
✅คอยเป็นโค้ชให้คำปรึกษา
เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยเรียน บทบาทของพ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนมาเป็นโค้ช คอยให้คำปรึกษาและฝึกสอนลูกไปพร้อมกัน บทบาทนี้อาจดำเนินไปอย่างยาวนานจนกระทั่งลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นการทำหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ในการชี้แนะและสนับสนุนพัฒนาการของลูก
✅ทำหน้าที่เป็นไลน์แมน
เมื่อลูกเข้าสู่วัยผู้ใหญ่พ่อกับแม่ก็จะกลายเป็น ‘ไลน์แมน’ พ่อแม่ต้องคอยกำกับดูแลอย่างห่างๆ เพื่อไม่ให้ลูกออกนอกลู่นอกทาง
✅ เป็นผู้เล่นสำรอง
เมื่อลูกมีครอบครัว พ่อแม่ต้องถอยมาเป็นผู้สนับสนุนและพร้อมช่วยเหลือเมื่อจำเป็น คล้ายกับตัวสำรอง ไม่อยู่ในสนามแต่เรียกหาได้ถ้าต้องการ
✅หน้าที่สุดท้ายคือวางตัวเป็นแฟนคลับที่คอยเป็นกำลังใจให้
เมื่อลูกมีหลานให้ พ่อแม่ก็ต้องขยับบทบาทออกมาให้กลายเป็นผู้เชียร์และสนับสนุนลูกในการสร้างครอบครัวเป็นของตัวเอง
เพราะการปรับเปลี่ยนบทบาทเหล่านี้จะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างมีอิสระและมีความสุข
[ เริ่มปลูกฝังความรู้ทางการเงินเมื่อไหร่ดี? ]
พี่ก้อยบอกว่าถ้าตามหลักของจิตวิทยาแล้ว ควรสอนเรื่องการเงินให้ลูกตั้งแต่ลูกเริ่มนับเลขได้ เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อการจัดการเงิน และอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการสอนให้ลูกเข้าใจว่าเงินเป็นเพียง ‘ตัวกลาง’ สำหรับการแลกเปลี่ยน
เด็กๆต้องได้เรียนรู้ว่าเงินเป็นแค่ตัวกลางแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้สิ่งของที่เราต้องการใช้ (เงินไม่ใช่พระเจ้า) เพื่อให้ลูกได้เข้าใจและไม่มุ่งมั่นทำงานเพื่อหาเงินอย่างเดียว โดยที่ไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาทำอะไร
[ 7 แนวทางปลูกฝังเรื่องเงินให้ลูกในยุคสมัยที่เราแทบไม่จับเงิน ]
👉 1. ต้องรู้จักแบงก์จริง แบงก์ปลอม
พี่ก้อยแนะนำว่ายังไงก็ตามลูกต้องได้เรียนรู้เรื่องเหรียญและธนบัตร เพราะบางทีมิจฉาชีพอาจมาหลอกลวงลูกเราโดยการเอาเงินสดมาให้ได้ ถ้าเขาไม่เคยเห็นเลยก็อาจจะโดนหลอกได้ง่าย
และเมื่อไม่ใช้เงินสด พ่อแม่ก็ต้องเป็นตัวอย่างในการใช้จ่ายและการจำกัดวงเงิน ต้องบอกให้ลูกรู้ว่า ก่อนจะรูดบัตรได้ต้องมีเงินอยู่ในบัญชีก่อน และเงินในบัญชีของลูกมีที่มาจากการออม
👉2. ต้องรู้จักการออม
การออมสำหรับเด็ก ไม่เหมือนการออมของผู้ใหญ่ เงินออมของผู้ใหญ่จะต้องออมก่อนใช้ แต่สำหรับเด็กเล็ก เงินออมของลูกควรเป็นเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายของลูก ไม่อย่างนั้นเด็กอาจเกิดความกดดัน และไม่ใช้เงินทำอะไรเลย
👉3. อาวุธการเงินที่ลูกควรมีติดตัว “การทำงบประมาณ”
อาวุธสำคัญคือการจัดการงบประมาณของบ้าน ถ้าเราทำงบประมาณหรือวางแผนการเงินภายในบ้าน พ่อแม่ควรถ่ายทอดวิชาเหล่านี้ให้กับลูกด้วย
การทำบัญชีและงบประมาณ จะทำให้เกิดนิสัยการวางแผนทางการเงิน ผลพลอยได้ก็คือลูกจะคิดเลขได้เร็ว
👉4.หาโอกาสสอนเรื่องเงินของลูกผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน
ถือโอกาสสอนลูกเรื่องเงินเมื่อเห็นผ่านทางหนังละคร ข่าว หรือนิทานก่อนนอน เพื่อให้ลูกชินและเข้าใจเรื่องเงินในชีวิตประจำวัน
พอถึงวัยหนึ่ง ลูกควรได้ฝึกบริหารจัดการเงิน เช่น ได้ค่าขนมเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน เพื่อให้ลูกได้ลองบริหารค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง วิธีนี้เป็นวิธีที่พี่ก้อยฝึกมาตั้งแต่เด็กทำให้พี่ก้อยสามารถจัดการงบประมาณได้ดี และบางทีลูกอาจได้เรียนรู้พลังของการรวมกันซื้อเพราะจะได้ของในราคาถูกกว่าเมื่อเหมายกโหล
👉5.เด็กไม่ควรจะรู้ว่าพ่อแม่รวย
ถ้าบ้านมีสภาพคล่องที่ดี เด็กไม่ควรรู้ว่าบ้านรวย เพื่อให้เขารู้จักคุณค่าของเงิน เพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ต้องออกไปทำงานหาเงินมาเพื่อเอามาใช้จ่าย พ่อแม่รวยหรือไม่เอาไว้โตก่อนค่อยรู้
แต่ในสถานการณ์วิกฤตก็ต้องค่อยๆ บอกกับลูกเมื่อให้เด็กเข้าใจเรื่องสถานะการเงินของครอบครัวและต้องปรับตัว
👉6. เราไม่ควรให้เงินลูกในทุกครั้งที่เขาทำอะไรบางอย่างให้เรา
งานบางอย่างพ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักการ Volunteer (สมัครใจเข้าช่วยเหลือ) แต่งานบางอย่างที่ยาก พ่อแม่ก็ควรจะมีค่าตอบแทนให้ลูก เพราะเด็กไม่ควรจะได้เงินพิเศษมาอย่างง่ายๆ แต่เด็กควรจะทำบางอย่างเพื่อ Earn it (ควรค่าที่จะได้รับ)
👉7.สอนให้เด็กเป็นผู้ให้ด้วย ไม่ใช่สอนให้รับอย่างเดียว
ในวัยหนึ่งเด็กควรรู้จักการให้ด้วย และการให้ไม่จำเป็นต้องเป็นการช่วยด้วยเงินเสมอไป แต่ให้เด็กรู้จักการให้ หรือการช่วยด้วยการใช้แรง การให้จะทำให้เด็กมีจิตใจที่อ่อนโยน ยิ่งให้ก็ยิ่งจะให้เก่ง ถ้าไม่เคยให้เลยก็จะให้ไม่เป็น
ทิ้งท้าย
พี่ก้อยเน้นย้ำว่า นอกเหนือจากการส่งเสริมการออมและวินัยทางการเงิน การปลูกฝังเรื่องการให้ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การให้เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน หากไม่เคยปฏิบัติ ก็จะไม่เข้าใจวิธีการ ดังนั้น พ่อแม่จึงมีหน้าที่สอนลูกเรื่องการให้ควบคู่ไปกับการสร้างนิสัยการออมและวินัยทางการเงิน
และ… นอกจากพี่ก้อยแล้ว งานนี้ยังมีแขกรับเชิญมาพูดคุยเรื่องการเงินอีกหลายท่าน ทั้ง ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ นักวิชาการ อาจารย์และผู้บริหารองค์กรยักษ์ใหญ่ คุณลีเดีย ศรัณย์รัชต์ ดีน นักร้อง-นักแสดงมากความสามารถ คุณทราย โศธิดา โชติวิจิตร Content Creator และ TikToker ช่อง MONEY MONSTER
ที่มา:
LIVE💸: Thairath Money Talk: “Money สไตล์แม่” รวมตัวแม่ มาแชร์เรื่องเงิน
#aomMONEY #Moneyสไตล์แม่ #การเงิน #การเงินกับเด็ก #นิสัยการออม
โฆษณา