16 ก.ย. 2024 เวลา 14:29 • ประวัติศาสตร์

๘ มิถุนายน ๒๕๑๔

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๙
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ 'ถนนรัชดาภิเษก'
...
ถนนรัชดาภิเษก เป็นถนนที่สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการจราจรในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
โดยมีจุดเริ่มต้นจากเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำรัสเพื่อแก้ปัญหาการจราจรเป็นครั้งแรก โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเป็นถนนวงแหวนเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญให้แก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก
1
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ให้จัดสร้างถนนวงรอบขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ ๒๕ ปี ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๔
โดยรัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนวงรอบว่า 'ถนนรัชดาภิเษก'
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกต์ พระบรรชินีนาถ ทรงวางศิลาฤกษ์การสร้างถนนรัชดาภิเษก ณ บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพตัดกับถนนเจริญกรุง เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔
บริเวณแนวถนนตัดจากสะพานกรุงเทพผ่านถนนเจริญกรุง และต่อเชื่อมจนครบวงแหวน ปัจจุบันถือเป็นถนนวงแหวนรอบใน โดยมีถนนกาญจาภิเษก หรือทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ เป็นถนนวงแหวนรอบนอก
ถนนวงแหวนรอบในส่วนที่ ๑ เริ่มจากสามแยกท่าพระถึงถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ส่วนที่ ๒ จากถนนพระรามที่ ๔ ถึงสามแยกท่าพระ รวมระยะทางประมาณ ๔๕ กิโลเมตร
และมีพิธีเปิดถนนรัชดาภิเษก ใน พ.ศ. ๒๕๑๙
ถนนวงแหวนรอบในรัชดาภิเษกนั้น มิได้สร้างขึ้นทั้งหมด บางช่วงเป็นถนนที่มีอยู่แต่เดิม เช่นถนนจรัญสนิทวงศ์ (ช่วงสะพานพระราม ๗ - สี่แยกท่าพระ) ถนนพระรามที่ ๓ (ช่วงสุขุมวิท - เพชรบุรีตัดใหม่) ถนนอโศก ดินแดง (ช่วงเพชรบุรีตัดใหม่ - พระรามที่ ๙) และถนนวงศ์สว่าง (ช่วงสี่แยกวงศ์สว่าง - สะพานพระราม ๗) ส่วนช่วงอื่นๆ ที่สร้างขึ้นใหม่จะใช้ชื่อถนนรัชดาภิเษก
ถนนรัชดาภิเษกสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๒๓ ปี ถนนเส้นนี้ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ ชั้นในให้คลี่คลายไปได้อย่างมาก
อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สัญจรเข้า-ออก ระหว่างใจกลางเมืองกับชุมชนส่วนนอก ตลอดจนถึงผู้ที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถเดินทางผ่านกรุงเทพฯ ออกไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น
...
โฆษณา