11 ต.ค. เวลา 12:05

ดาวหางจือจินซาน-แอตลัส พลาดครั้งนี้ต้องรออีก 80,660 ปี แสงสว่างใกล้เคียงดาวศุกร์

ถ้าการรอคอยดาวหางฮัลเลย์ทุก 75 ปีว่ายาวนานแล้ว การรอคอย ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส นั้นยาวนานยิ่งกว่าเพราะหากพลาดการรับชมในปีนี้ต้องรอนานถึง 80,660 ปีเลยทีเดียว
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 วงการตามล่าดาวหางต่างก็ฮือฮาเมื่อมีการค้นพบดาวหางดวงใหม่โดยระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ในประเทศแอฟริกาใต้ แต่ต่อมาพบว่ามีรายงานจากนักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวจื่อจินซานในประเทศจีน ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม ก่อนหน้านั้นไม่นาน ดังนั้นจึงมีการนำชื่อหาดูดาวจากสองซีกโลกมาตั้งเป็นชื่อดาวหางดวงใหม่นามว่า ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS)
สำหรับประเทศไทยนั้น ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส จะปรากฏแสงให้ชมในช่วงหัวค่ำตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป สังเกตได้ทางทิศตะวันตก ทันทีที่ท้องฟ้ามืดสนิท จุดสังเกตคืออยู่บริเวณทางขวาของดาวศุกร์ (ดาวที่ปรากฏสว่างที่สุดในช่วงนี้ทางทิศตะวันตก) แต่จะมองเห็นชัดเจนที่สุดคือวันที่ 13 ตุลาคม 2567 เนื่องจากดาวหางจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุด ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ปรากฏสว่าง และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ชิดขอบฟ้าจนเกินไป
ทำให้มีเวลาสังเกตการณ์พอสมควร และด้วยค่าอันดับสว่างปรากฏที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงคาดว่าในวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส มีโอกาสที่จะปรากฏสว่างบนท้องฟ้าใกล้เคียงกับความสว่างของดาวศุกร์เลยทีเดียว จากนั้นดาวหางจะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ และโคจรกลับมาอีกครั้งในอีก 80,660 ปีข้างหน้า
อ้างอิงข้อมูล : ธนกร อังค์วัฒนะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ภาพ : Daniel Korona (apod.nasa.gov/apod/)
โฆษณา