22 ต.ค. 2024 เวลา 09:09 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

กำเนิดหนังกำลังภายในยุคใหม่ของชอว์

ในช่วงกลางยุค 1960 หนังแนวต่อสู้กำลังภายในของฮ่องกงกำลังจะถึงจุดตาย เมื่อผู้ชมเริ่มเบื่อหนังแนวนี้ที่ดูหลอกๆ เหมือนดูงิ้วบนจอหนัง บ้างต่อสู้กันไปก็มีร้องเพลงสลับฉาก มันเป็นหนังต่อสู้แนวทางเก่าที่กำลังถึงจุดเสื่อม ส่วนหนังที่ได้รับความนิยมเป็นหนังเพลงรักโรแมนติด โดยเฉพาะหนังเพลงหวงเหมย เป็นที่นิยมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ท่านเซอร์รัน รัน ชอว์ มองเห็นจุดเสื่อมนี้ ในหัวครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะแก้ไขสถานการณ์ได้ ชอว์จึงถือโอกาสประกาศล้างหนังต่อสู้แนวทางเดิมหันมาสร้างหนังกำลังภายในยุคใหม่ โดยในปี 1965 นิตยสาร Southern Screen ของชอว์ได้ประกาศแคมเปญใหญ่ที่เรียกว่า 'New Wuxia Century' หรือศตวรรษแห่งหนังกำลังภายใยุคใหม่ โดยชอว์ประกาศว่าหนังกำลังภายในจะถูกยกระดับขึ้นสู่มาตรฐานใหม่
คำประกาศนี้นำมาซึ่งการผลิตและการโปรโมตหนังกำลังภายในครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอว์เรียกว่า "ยุคแอ็กชันใหม่" คำนี้หรือคำที่ใกล้เคียงกันมักถูกใช้เพื่ออธิบายการขยายตัวของหนังกำลังภายในศิลปะการต่อสู้ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการหนังฮ่องกง
การประกาศหันมาผลิตภาพยนตร์แนวกำลังภายในใหม่ของชอว์ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยมีจางเชอะเป็นผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญ ตั้งแต่ตอนที่เขายังไม่ก้าวขึ้นมากำกับหนังให้ชอว์ พอจางเชอะเขามาร่วมชายคาเป็นนักเขียนบทให้ชอว์ เขาหาโอกาสให้กับตนเอง โดยเขาได้โน้มน้าวผู้บริหารให้หันมาสนใจหนังแอ็กชัน ซึ่งจางเชอะเห็นว่าเป็นแนวทางในการปรับปรุงหนังต่อสู้จีนฮ่องกงให้ทันสมัย เหมือนหนังซามูไรฟันดาบของญี่ปุ่นที่เรียกกันว่าหนัง Chanbara และหนังคาวบอยตะวันตกของฮอลลีวูดมาปรับใช้
ตอนนั้นจางเชอะยังไม่มีได้น้ำหนักในใจของท่าเซอร์สักเท่าไหร่ แต่เห็นว่าให้ลองดูก็ไม่เสียหายอะไร จางเชอะจึงได้เริ่มทำงาน"ทดลอง" ความเชื่อของเขา พร้อมๆกับการประกาศสร้างยุคใหม่ของหนังกำลังภายใน ชอว์ก็ได้เปิดรับสมัครนักแสดงรุ่นใหม่เข้าร่วม อันเป็นที่มาของการได้นักแสดงอย่าง หลอลี่ หวังหยู่ เจิ้งเล่ย เขามาเป็นลูกศิษย์รุ่นแรก พร้อมกับบรรดาสตันท์แมนที่ซุ่มซ้อม ซุ่มถ่ายทำหนังกันที่หลังเนินเขาในบริเวณสตูดิโอ
ตอนนั้นหวังหยู่ยังเป็นเพียงนักกีฬาว่ายน้ำ และศึกษาอยู่ในวิทยาลัยฮ่องกง เขาเป็นคนมีฝีมือ ทักษะกีฬาสูงพอๆกับนิสัยไม่ยอมคนจนมีเรื่องชกต่อยไปทั่ว ซึ่งก็เป็นมาตั้งแต่วัยเด็กที่ยังอยู่ในเชียงไฮ้แล้ว เรื่องนี้เจิ้ง เพ่ย เพ่ย ที่มีบ้านอยู่ในละแวกเดียวกับหวังหยู่ที่เชียงไฮ้เคยพูดว่าเธอเห็นหวังหยู่มีเรื่องชกต่อยเป็นประจำ ทำให้เธอไม่กล้าเข้าใกล้เขา พอมาอยู่ฮ่องกงก็ยังไม่พ้นเรื่องวิวาทอยู่เสมอ
“ตอนนั้นผมกำลังเรียนอยู่ที่วิทยาลัยฮ่องกงและเป็นนักว่ายน้ำของทีม”หวังหยู่ให้สัมภาษณ์แล้วเล่าว่า “ในปี 1964 ตอนที่ผมเล่นโปโลน้ำ ผมมีเรื่องชกต่อยกับผู้เล่นคนอื่น ๆ ก็เลยโดนลงโทษ โทษของผมคือถูกสั่งพักการแข่งขัน 6 เดือน พอฤดูร้อนมาถึง ผมก็เลยไม่มีอะไรทำ แล้วผมก็เห็นในหนังสือพิมพ์ประกาศว่าชอว์บราเดอร์สกำลังเปิดรับนักแสดงมาเล่นหนังแนวการต่อสู้ ผมเลยตัดสินใจไปลองดู”
การคัดเลือกนักแสดงถูกจัดขึ้นโดยจางเชอะ ซึ่งในตอนนั้นเป็นเพียงพนักงานที่ไม่มีความสำคัญมากนัก แต่จางเชอะกำลังรอโอกาสครั้งใหญ่ในชีวิต เขาเข้ามาที่ชอว์บราเดอร์สด้วยการชักชวนของรัน รัน ชอว์ เพื่อมาให้ทำงานอยู่ในแผนกเขียนบท
จะมีก็เพียงเรมอนด์ เชา คนเดียวเท่านั้นที่เห็นศักยภาพของเขา เชาเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตของชอว์ แม้จะเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิต แต่ที่สตูดิโอนี้ไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการโดยผู้ที่ตัดสินใจได้มีเพียงรันรัน ชอว์เองเท่านั้น
ในการออดิชั่น จางเชอะให้หวังหยู่ทำท่าคาราเต้ กระโดดสูง และกลิ้งตัวไปข้างหน้า ฯลฯ หวังหยู่ทำให้จางเชอะประทับใจและเลือกเขารวมทั้งอีกสามคน จากฝูงชนที่หากับหลังใหลมาเข้าร่วมนับพันคน และในที่สุด ในเดือนสิงหาคมของปีนั้น หวังหยู่ได้เซ็นสัญญาระยะเวลา 8 ปีกับชอว์บราเดอร์ส และในจุดเริ่มต้นเขาได้แสดงในหนังที่ไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก
จนกระทั่งดาวแห่งโชคชะตาเริ่มเปล่งประกายส่องแสงลงมาต้องตัวเขา
กลับไปที่นิตยสาร Southern Screen ปี 1965 ชอว์บราเดอร์สได้ลงบทความโอ้อวดว่าสตูดิโอกำลังจะเปิด “หนังกำลังภายในยุคใหม่” โดยกล่าวว่า
"จะฉีกกฎเดิม ๆ สร้างภาพใหม่ให้กับหนังกำลังภายในศิลปะการต่อสู้ การต่อสู้ที่ดูปลอม ๆ เหมือนงิ้วจะไม่มีอีกแล้ว และเทคนิคพิเศษในอดีตจะถูกแทนที่ด้วยฉากต่อสู้ที่สมจริง และการต่อสู้นั้นจะดุเดือด เป็นการตัดสินชีวิตหรือความตายในทันที ”
ในโฆษณานั้น เน้น เรื่องการต่อสู้ที่สมจริงอย่างหนักหน่วง และเน้นย้ำว่าจะเป็นยุคของหนังบู๊สี
จางเชอะและหวังหยู่รู้ดีว่านี่เป็นเพียงการโฆษณาของบริษัทเท่านั้น หนังเรื่องแรกที่พวกเขาร่วมงานกันเรื่อง Tiger Boy ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การโจมตีผู้ชมด้วยหนังบู๊สี” นั้นกลับเป็นหนังขาวดำธรรมดา
“หัวหน้าของเรา คุณรัน รัน ชอว์ ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวจางเชอะ” หวังหยู่เล่า “ไม่มีงบประมาณมาเลย เป็นหนังขาวดำ ที่ต้นทุนต่ำมาก ๆ ๆ ” หวังหยู่เล่าต่อไปว่าหนังไม่ประสบความสำเร็จ และหนังเรื่องอื่นๆในแคมเปญหนังกำลังภายในยุคใหม่ก็ไม่ได้ทำรายได้ดีเช่นกัน สามเรื่องแรกก็ล้มเหลว การผลิตเรื่องที่สี่ก็ล่าช้า เสร็จไม่ทันกำหนด เรื่องที่ห้าทำเสร็จแล้วแต่ถูกเก็บเข้ากรุไม่ได้ฉาย
ในหนังหกเรื่องแรกมีเพียง หงษ์ทองคะนองศึก - Come Drink with Me (1966) ขอคิง ฮู เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ แล้วพอมาเรื่องที่เจ็ดคือ เดชไอ้ด้วน - The One-Armed Swordsman ค่อยมาตอกย้ำหนังกำลังภายในยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง
“ตอนนั้นผมยังเป็นนักแสดงหน้าใหม่ ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการแสดงหนังเลย แต่ทุกสิ่งที่จางเชอะบอกให้ผมทำ ผมรู้สึกว่ามันถูกต้องและสบายใจ พวกเรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันไม่เหมือนเรื่องอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ หนังต่อสู้ยุคก่อนนี้จะต่อสู้แบบไม่สมจริง ฉากการต่อสู้ด้วยดาบก็เหมือนการแสดงงิ้วจีน มีจังหวะเดินซ้ายเดินขวา โค้งศีรษะ กระโดดนิดหน่อย แต่พวกเรา(จางเชอะกับหวังหยู่)กำลังทำการต่อสู้ที่สมจริงให้เกิดขึ้น”
การเปลี่ยนแปลงที่ชอว์บราเดอร์สนำมาใน หนังกำลังภายในยุคใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างหนังกำลังภายในแบบเดิมๆ ที่มีรากฐานยาวนานตั้งแต่ยุคหนังเงียบในเซี่ยงไฮ้ หากแต่มีการพัฒนาไปสู่การนำเสนอฉากแอ็กชันและความรุนแรงในรูปแบบที่สมจริงขึ้น
หนังต่อสู้ในยุคก่อนหน้านั้น มักถูกนำเสนอในรูปแบบที่เน้นพลังเหนือธรรมชาติ การใช้เทคนิคย้อนกลับในฉากกกระโดด เพื่อให้ผู้ชมเห็นว่าตัวละครมีวิชาตัวเบา หรือการวาดภาพลงบนฟิล์มเพื่อแสดงถึงลำแสงพลังงานที่ปล่อยออกมาจากฝ่ามือของจอมยุทธ เรียกได้ว่าก่อนหน้านี้ก่อนหน้านี้จะมุ่งเน้นไปที่การออกแบบท่าทางการต่อสู้ที่ดูงดงาม ซึ่งยืมมาจากการต่อสู้ในงิ้ว
แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคหนังกำลังภายในยุคใหม่ที่ชอว์ประกาศ การต่อสู้และร้องเพลงแบบงิ้วถูกขจัดไป จางเชอะได้ว่าจ้างนักออกแบบท่าทางการต่อสู้ที่ไม่มีพื้นฐานมาจากโรงวิ้วอย่าง ถังเจีย และหลิวเจียเหลียงมาเป็นครูฝึกศิลปะการต่อสู้ เพื่อมาออกแบบฉากต่อสู้ เพื่อให้ฉากเหล่านี้ดูสมจริงยิ่งขึ้น เขาใช้เอฟเฟ็กต์เสียงที่ชัดเจนของการปะทะของดาบและเนื้อ ทั้งคู่นั้นทำให้ความรุนแรงในหนังเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับจางเชอะแล้วความสมจริงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงการต่อสู้ที่ดูสมจริง แต่ยังเน้นที่การบาดเจ็บของร่างกายตัวละครอย่างชัดเจน เช่น การตัดแขนใน The One-Armed Swordsman รวมถึงการต่อสู้ที่เลือดชโลมชุดขาวจนแดงฉานใน The Assassin ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หนังต่อสู้โดยเฉพาะของจางเชอะเน้นไปที่ "ร่างกาย" และ "ความเจ็บปวดทางกาย" มากยิ่งขึ้น
ตอนแรกที่ชอว์ปล่อยเดชไอ้ด้วนลงโรงฉายตรงกับการประท้วงใหญ่ในฮ่องกง มีคนนับพันถูกจับ คนตายอีกหลายสิบคน ชอว์ไม่ได้มองไกลไปกว่าทำอย่างไรให้ไม่ขาดทุน ดังนั้น เดชไอ้ด้วยถูกปล่อยออกมาฉายด้วยการสนับสนุนที่เรียกได้ว่าแทบไม่มีจากสตูดิโอ
แต่เดชไอ้ด้วนกลับสอดคล้องกับยุคสมัยและอารมณ์ร่วมของคนฮ่องกงที่ถูกกดขี่ จนกลายเป็นหนังที่ได้รับความนิยมจากคำบอกเล่าปากต่อปาก ทำรายได้ถึง 1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากในยุคนั้น
ในปี 1967 เดชไอ้ด้วยเข้าฉายที่ฮ่องกงท่ามกลางการประท้วงต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมที่แพร่กระจายทั่วเมือง การจลาจลในปีนั้นทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ที่มีแต่ความรุนแรง โดยในช่วงเวลา 12 เดือน ตำรวจต้องกู้ระเบิดถึง 8,000 ลูก ซึ่งส่วนมากเป็นระเบิดปลอม
ก่อนหน้านั้น หนังต่อสู้มักเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสง่างาม และนักแสดงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่ผู้กำกับจางเชอะได้นำความรู้สึกโกรธเคืองและความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามท้องถนนในฮ่องกง มาถ่ายทอดลงบนจอหนัง แทนอารมณ์ของคนหนุ่มสาว ตัวเอกของเรื่องเป็นชายชนชั้นล่างที่ถูกเด็กสาววัยรุ่นชนชั้นสูงฟันแขนขาด จากนั้นเขาก็ต้องฝึกฝนตนเองให้กลายเป็นนักสู้ผู้พิการที่ต้องต่อสู้ด้วยมือซ้ายเพียงข้างเดียว หวังหยู่ก็ยอดเยี่ยมมากด้วยสามารถถ่ายทอดความโหดเหี้ยมผ่านการแสดงออกทางสีหน้าจนรู้สึกได้
จากนั้นมา จางเชอะจึงได้รับอนุญาตให้ทำทุกอย่างได้ตามใจชอบ และสิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างหนังกับดาราของเขา และยังมีผู้ร่วมงานอีกสองคนคือ ผู้กำกับคิวบู ถังเจีย กับ หลิวเจียเหลียง และหนังของเขาก็ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นเรือยๆ ดูเหมือนว่าทุกคนจะได้สิ่งที่ต้องการ หากแต่หวังหยู่แล้วกลับไม่พอใจสถานภาพที่ตนเองได้รับอย่างที่สุด
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่ารัน รัน ชอว์จะปฏิบัติต่อเขาอย่างเหมาะสม “ทุกครั้งที่ผมต้องการความช่วยเหลือ เรย์มอนด์ เชาจะเป็นคนดูแล เข้ามาหาทางช่วยเหลือผม ทั้งเรื่องการเงินและคำปรึกษา ” หวังหยู่กล่าว
“แต่สำหรับรัน รัน ชอว์ มีคำตอบเดียวเท่านั้นที่ผมได้รับคือ ‘ไม่’ เขาเป็นนักธุรกิจแบบดั้งเดิม แม้ว่าผมจะประสบความสำเร็จทำเงินในบ็อกซ์ออฟฟิศให้สตูดิโอมากแค่ไหน แต่เงินเดือนของผมก็ยังคงอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน นั่นแหละผมถึงฉีกสัญญากับชอว์ เมื่อเรย์มอนด์ เชาออกมาตั้งบริษัทหนัง เขาก็ตั้งบริษัทหนังให้ผม และเมื่อผมถ่ายทำหนังผมจะได้เพิ่มอีก 400 ดอลลาร์ ที่สำคัญผมยังสามารถพักอยู่กับครอบครัวได้”
เป็นอันเลิกรากันไปอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นเอง
โฆษณา