28 ต.ค. 2024 เวลา 11:18 • หนังสือ

รัศมีจันทร์

นวนิยายที่ต้องขอสารภาพว่าเห็นหน้าค่าตามาตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มหัดอ่านนวนิยาย ตั้งแต่ครั้งยังเป็นละอ่อนเมื่อนานมากแล้ว นานขนาดไหนน่ะเหรอ…ก็แค่ในยุคที่บ้านหลังไหนติดแอร์ มีรถติดแอร์ บ้านนั้นถือว่ารวย
แต่น่าแปลก…ที่ไม่เคยได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้เลยสักครั้ง จนกระทั่งมาถึงในยุคโควิด-19 ที่ล็อกดาวน์ ถึงขนาดห้ามออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ต้องเก็บเนื้อเก็บตัว อยู่กับบ้าน จึงได้มีโอกาสหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน
‘รัศมีจันทร์’ เป็นเรื่องราวของแคว้น ‘รุไบยา’ ดินแดนบนผืนทะเลทราย ที่ปกครองด้วยสุลต่าน ที่มาจากการสลับสับเปลี่ยนในการขึ้นครองราชย์ของ ‘ข่าน’ อันเป็นผู้นำสูงสุดของเมืองต่างๆ ทั้งห้า โดยองค์สุลต่านจะเป็นผู้นำสูงสุดที่ปกครองแคว้นเล็กๆ นี้ เพื่อความผาสุขและกินดีอยู่ดีของชาวรุไบยา
แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือองค์สุลต่านยังมี ‘องค์รัศมีจันทร์’ นักบวชหญิงคนสุดท้ายแห่งรุไบยา ประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งอียิปต์โบราณ
ภิกษุณีที่สืบเชื้อสายมาจากเทวีอิซิส เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเทพโอสิริส เทพเจ้าแห่งความตาย ทรงเป็นนายิกาแห่งทิวาและราตรี รอบรู้อดีตและอนาคต คำสั่งของเธอคือประกาศิต ทรงเป็นศูนย์รวมความศรัทธาสูงสุดเหนือผู้นำทั้งห้า ที่แม้องค์สุลต่านเองยังต้องให้ความเคารพยำเกรง
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้น เมื่ออับดุลลา ทายาทของเบนลี ข่าน หนึ่งในห้าของผู้นำสูงสูด สืบทอดตำแหน่งข่านต่อจากผู้เป็นบิดาที่เพิ่งเสียชีวิตลง และได้พบกับความลึกลับซับซ้อนการปกครองของแคว้นรุไบยา ที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมดึงเอาความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์รัศมีจันทร์เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพัน
นวนิยายเรื่องนี้เป็นผลงานจากปลายปากกา ‘ลักษณวดี’ ที่ใครๆ ต่างก็ทราบกันดีว่าเป็นนามปากกาของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2555 เช่นเดียวกับนามปากกาอื่นๆ อย่างเช่น ทมยันตี โรสลาเรน และกนกเรขา นั่นเอง
นวนิยายเรื่องนี้น่าจะมีอายุประมาณห้าสิบกว่าปี โดยคำนวณจากการรวมเล่มพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 นักอ่านรุ่นใหม่อ่านแล้วอาจจะงงๆ กับศัพท์แสงในเรื่องอย่างคำว่า ‘อัจกลับแก้ว’ ที่ถ้าเป็นในยุคนี้ ก็หมายถึงโคมไฟแชนเดอเลียร์ หรือ Chandelier นั่นเอง
แต่ในทางตรงกันข้าม…นวนิยายเรื่องนี้ก็มีความทันสมัยอยู่ไม่น้อย เมื่อมีฉากบางฉากไฮเทค มีความเป็นไซ-ไฟเกินคาด อย่างการเลื่อนผ้าทอติดผนัง หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Tapestry ด้วยระบบอัตโนมัติ แล้วแทนที่ด้วยแผนที่ของรุไบยาเลื่อนลงมาแทน
อ่านแล้วนึกถึงภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ในยุคของพระเอก ณอน คอนเนอรี่ ขึ้นมาทันที
และที่ต้องให้เครดิตกับ ‘ลักษณวดี’ คือพล็อตเรื่องที่ลึกลับ ซับซ้อน มีการชิงไหวชิงพริบของตัวละคร และที่สำคัญที่สุด คือมีลีลาการเล่าเรื่องที่กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ สนุก น่าติดตาม ยากต่อการคาดเดา
จนแทบไม่เชื่อว่าจะเป็นนวนิยายไทยที่เขียนขึ้นมาเมื่อประมาณห้าสิบปีกว่าที่แล้ว
ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมอีกหนึ่งผลงานของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ และนามปากกา ‘ลักษณวดี’ ที่ยังคงร่วมสมัย สนุก และน่าอ่านมาจนถึงทุกวันนี้
……………………
โฆษณา