29 ต.ค. 2024 เวลา 13:12 • อาหาร

คู่ครัว

วันนี้…มาขอแนะนำซอสปรุงรส ที่จะเหน็บแนมเรียกว่า ‘ซอสศักดินา’ หรือว่า ‘ซอสเจ้า’ ก็ได้ เพราะเป็นซอสที่คิดค้นและผลิตโดยเจ้า สมาชิกในราชสกุล ‘ทินกร’ เป็นซอสเก่าแก่ที่มีอายุยืนยาวมานานถึง 107 ปี
ซอสนี้มีชื่อตราว่า ‘ไก่งวง’ เป็น Worcester Sauce ที่ต้องอ่านออกเสียงว่า ‘วูดเตอร์ ซอส’ มีรากฐานจากซอสเปรี้ยวของอังกฤษที่เรียกกันว่า Worcestershire Sauce ผลผลิตจากเมืองวูดเตอร์ มณฑลวูดเตอร์เชียร์ในอังกฤษ
ซอสนี้ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยสองเภสัชกร John Wheeley Lea และ William Henry Perrins และตั้งชื่อให้มันว่า ‘วูดเตอร์เชียร์ ซอส’ ในเวลาต่อมา…ทั้งสองก่อตั้งบริษัทขึ้นเพื่อจำหน่ายซอสนี้ในชื่อ Lea & Perrins ที่โด่งดัง ยังมีวางจำหน่ายมาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนซอสเปรี้ยวตรา ‘ไก่งวง’ ของไทยเรานั้น ก็มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ราชสกุล ‘ทินกร’ เป็นราชสกุลเก่าแก่ที่สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับเจ้าจอมมารดาศิลา ในสายราชินิกุล ‘ณ บางช้าง’ มีพระโอรสพระธิดา 5 พระองค์ รวมถึงพระองค์เจ้าชายพนมวัน ต้นราชสกุลพนมวัน พระองค์เจ้าชายกุญชร ต้นราชสกุลกุญชร และพระองค์เจ้าชายทินกร ต้นราชสกุลทินกร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าชายทินกรทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
หนึ่งในพระโอรสของพระองค์เจ้าชายทินกร คือหม่อมเจ้าภูลสวัสดิ์ ทินกร ผู้ที่รับราชการเป็นแพทย์หลวงในพระบรมมหาราชวัง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์แพทย์โรงเรียนราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช รวมถึงยังเป็นนักปรุงยาอีกด้วย
ปัจจุบัน…สมาชิกในราชสกุลทินกรยังคงผลิตยาหอมสูตรหม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร จำหน่ายอยู่จนถึงทุกวันนี้
แต่ผู้คิดค้นซอสตราไก่งวงนี้ในเวลาต่อมา คือหม่อมหลวงเงียบ ทินกร ที่ได้ถวายตัวกับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นข้าหลวงอยู่ในวังบางขุนพรหม ที่ในยุคนั้นได้รับการยกย่องเรียกกันในนาม ‘บางขุนพรหม ยูนิเวอร์ซิตี้’ เพราะถือเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่กุลสตรีไทยในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาการบ้าน การเรือน การครัว ภาษา มารยาท และการเย็บปักถักร้อย
หม่อมหลวงเงียบ ทินกร ชื่นชอบในการเข้าครัวทำอาหาร จึงได้ซึมซับเรียนรู้การปรุงอาหารต่างๆ โดยเฉพาะอาหารฝรั่งจากวังบางขุนพรหม ได้เรียนรู้กรรมวิธีการทำซอสวูดเตอร์ จากเชฟชาวต่างชาติผู้ซึ่งทำงานอยู่ในวังนั้นด้วยเช่นกัน
ในภายหลัง…ท่านได้ทูลลาเพื่อสมรส และต่อมา ได้ทดลองปรุงซอสที่มีรสชาติใกล้เคียงกับ ‘วูดเตอร์เชียร์ ซอส’ ของ Leas & Perrins ซึ่งในเวลานั้น เป็นสิ่งของที่หายากและมีราคาสูง จึงคิดวิธีปรุงซอสเปรี้ยว หรือซอสวูดเตอร์ สูตรเฉพาะของตนเองขึ้นมา
แน่นอนว่าส่วนประกอบบางอย่างที่ต้องใช้ปรุงซอสวูดเตอร์ อาทิ ปลาแอนโชวี่ เป็นส่วนประกอบที่หาไม่ได้ในเมืองไทย ท่านจึงคิดค้นหาส่วนประกอบอื่นที่หาง่ายและมีรสชาติคล้ายคลึงกันมาปรับใช้แทน และนำเอาสมุนไพรเครื่องเทศที่มีอยู่มากมายในบ้านเรา มาคัดสรรเป็นส่วนประกอบ
รสชาติรวมถึงกลิ่นของเครื่องเทศเหล่านั้นส่งผลให้ซอสวูดเตอร์ ตราไก่งวง ของท่านนั้นมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรสชาติเหมาะสมกับอาหารไทยคือ หวานนำแต่อมเปรี้ยว ดังนั้นซอสวูดเตอร์ ของหม่อมหลวงเงียบ ที่ถือเป็นสูตรแรกหรือสูตรดั้งเดิม ในปัจจุบัน…บรรจุอยู่ในขวดฉลากสีครีม จึงเหมาะสมกับอาหารไทย-จีน มากกว่า
และเมื่อคนไทยนิยมรับประทานอาหารฝรั่งกันมากขึ้น หม่อมหลวงฉวี ทินกร น้องสาวของหม่อมหลวงเงียบ จึงคิดค้นสูตรขึ้นมาใหม่เพื่อให้คนไทยได้ใช้ปรุงกับอาหารฝรั่ง เพิ่มความเปรี้ยว ความเผ็ดร้อนยิ่งขึ้น และหวานให้ลดน้อยลง
สูตรที่หม่อมหลวงหญิงฉวี คิดค้นนั้นจึงเหมาะสมกับอาหารฝรั่ง ปัจจุบัน…สูตรนี้บรรจุอยู่ในขวดฉลากสีส้มเหมาะสำหรับอาหารฝรั่งอย่างสเต็ก สตูว์ และบาร์บีคิว
ปัจจุบัน…เราสามารถหาซื้อซอสวูดเตอร์ตราไก่งวง ของราชสกุลทินกร ได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตหลายๆ แห่ง หรือสามารถสั่งซื้อได้ในออนไลน์
เป็นผลิตภัณฑ์ ‘คู่ครัว’ ที่ถ้าใครได้ลองนำมาเหยาะกับไข่ดาวเป็นอาหารเช้าแล้ว…จะติดใจทุกราย
…………………
ข้อมูลจากรายการโทรทัศน์ ‘เปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ’ ทางช่อง PPtv 36
และจากเพจ Gy-Nguang Worcester Sauce Thailand
โฆษณา