27 พ.ย. 2024 เวลา 13:37 • ปรัชญา

บวชหรอ EP. 5/9 ชีวิตของการเป็นพระ

ตอนที่แล้วผมได้เล่าขั้นตอนพิธีปลงผมนาคและพิธีบรรพชาอุปสมบท ตอนนี้จะมาเล่าประสบการณ์ชีวิตของการเป็นพระนะครับ
วันที่ 2 ของการเป็นพระ เริ่มต้นโดยการเดินบิณฑบาตครั้งแรก ซึ่งวันนี้มีคุณแม่กับรุ่นน้องอีก 3 คน นอนค้างคืนที่โรงแรมเมื่อคืนเพื่ออยู่ใส่บาตรผมวันแรกวันนี้ด้วย
เดินบิณฑบาตครั้งแรก
สำหรับใครที่ต้องการจะบวช ผมแนะนำว่าออกจากฝึกท่องขานนาคแล้ว ควรฝึกท่องบทอนุโมทนารัมภคาถา (ยถา) และบทสามัญญานุโมทนาคาถา (สัพพี) เพราะเป็นบทที่พระจะสวดตอนใส่บาตร ไว้ด้วยก็ดีนะครับ แต่ตอนเป็นฆราวาสผมใส่บาตรเป็นประจำอยู่แล้วเลยจำได้ครับ
ในส่วนของการเดินบิณฑบาตนั้น ผมมองว่าได้เป็นการเดินออกกำลังกายยามเช้า เพราะตอนผมเป็นฆราวาสก็แทบไม่เคยตื่นเช้ามาออกกำลังกายเวลานี้อยู่แล้ว555
ซึ่งตอนเช้านั้นบรรยากาศดีมาก แถมสายการบิณฑบาตที่ผมเดินนั้น ได้เดินข้ามแม่น้ำน้อยไป - กลับด้วย ตอนอยู่บนสะพานข้ามแม่น้ำก็ลมเย็นดี
ถึงแม้ว่าบางวันจะฝนตกปรอยๆ เดินบิณฑบาตกลางฝน (ด้วยความที่เป็นพระสวมหมวกไม่ได้ และมือก็ต้องอุ้มบาตรทำให้ไม่สามารถกางร่มได้) แต่ผมคิดว่านี่เป็นอะไรที่ได้ฝึกร่างกาย ฝึกความอดทนดีเหมือนกัน
นอกจากนี้ ระหว่างเดินผมก็โดนหินตำและต้นหญ้าอะไรสักอย่างที่มีดอกเป็นเม็ดมีหนามแทง
ซึ่งบางครั้งผมก็มักจะไปมองสิ่งรอบข้าง ด้วยความที่นี่ไม่ใช่ถิ่นเรา ผมก็อยากมองอยากสำรวจว่ามีอะไรบ้าง
ดังนั้น การเดินเท้าเปล่าสอนให้ผมต้องจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน นั่นก็คือ อยู่กับทุกย่างก้าวของเรานั่นเอง
นอกจากนี้ ในระหว่างที่ผมกำลังเดินอยู่ ผมดันหันไปมองบางอย่างที่ผ่านไปแล้ว ทำให้ก้าวไปเหยียบหิน หรือบางทีก็ชะเง้อมองบางอย่างที่อยู่ข้างหน้าอันไกลที่ยังมาไม่ถึง จนเหยียบหินเช่นกัน
สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนกับชีวิตของเราทุกคน ที่หลายคนมักจะไม่อยู่กับปัจจุบัน คิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง ทำให้เกิดทุกข์นั่นเอง
อีกเรื่องนึงของการเป็นพระที่ผมชอบคือ การเลือกกินไม่ได้
ตอนผมเป็นฆราวาส ผมมักจะเสียเวลาและพลังสมองไปกับการเลือกคิดว่าวันนี้จะกินอะไรดี
พอผมบวชเป็นพระก็ไม่ต้องเสียเวลาและพลังสมองไปเลือกว่าจะกินอะไรดี เพราะส่วนตัวผมก็เป็นคนที่กินง่ายอยู่ง่ายอยู่แล้ว ญาติโยมถวายอะไรมาก็กินได้หมด
แถมได้ลองกินอาหารไทยหรือขนมไทยที่ไม่ได้ไม่ได้กินบ่อยๆ และไม่ได้หาซื้อง่ายในกรุงเทพฯด้วย
วันที่ 2 นี้ผมก็ปรับตัว, จัดห้อง, ซักผ้า, และฝึกนุ่งสบงห่มจีวร
ช่วงบ่ายผมก็นั่งนับเงินที่ญาติโยมถวายงานบวช เมื่อเห็นจำนวนเงินผมก็ยอมรับว่าเกิดกิเลสขึ้นมา นั่นก็คือโลภะ (ความโลภ)
แต่สุดท้ายผมก็คิดกับตัวเองได้ว่า มีเงินมากมายเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถใส่รองเท้าเดินบิณฑบาตได้ เราก็ต้องเดินเท้าเปล่าเจ็บเท้าอยู่ดี
และเราก็ไม่สามารถเอาเงินไปจ้างยุงไม่ให้มากัดเราได้อยู่ดี เพียงแค่เปลี่ยนความคิดเท่านี้ก็สามารถดับกิเลสในใจเราได้แล้ว
ในช่วงแรกๆ ของการเป็นพระ มีสิ่งหนึ่งที่ผมยังไม่ชินและมักจะลืมตัวคือ ผมเผลอรับไหว้โยมที่มีอายุมากกว่า
มีเหตุการณ์นึงคือมีลุงคนนึงยกมือไหว้ผม ผมก็เผลอไหว้กลับ ลุงเขาก็พูดว่า รับไหว้ทำไมหลวงพี่ ผมตอบว่า ขอโทษครับผมพระใหม่5555
แล้วก็ตอนหลังจากทำวัตรเสร็จ แม่ชีกับเณรต้องกราบพระ ผมก็รู้สึกไม่ชินเลยกับการที่มีคนอายุวัยเดียวกับย่ายายผมมากราบผม
ในส่วนของกิจวัตรประจําวันของการเป็นพระว่าวันนึงต้องทำอะไรบ้าง มีดังนี้:
05:00 ตื่นนอน ทำภารกิจส่วนตัว นุ่งสบง ห่มจีวร
05:45 บิณฑบาต
06:45 กลับถึงวัดจัดโต๊ะเตรียมฉันเช้า
07:00 ฉันเช้าพร้อมกันที่โรงฉัน โดยแบ่งเป็น 1) สวดมนต์ก่อนฉัน (พิจารณาอาหาร) ประมาณ 5 นาที 2) ฉันของคาว 10 นาที 3) ฉันของหวาน 5 นาที 4) สวดมนต์หลังฉัน (ให้พรญาติโยม) + ฟังประกาศข่าวสารจากท่านเจ้าอาวาส (แล้วแต่วันว่ามีเรื่องต้องแจ้งมากน้อยแค่ไหน) ประมาณ 10 นาที รวมทั้งหมดประมาณครึ่งชั่วโมง
07:40 ทำวัตรเช้า
08:00 ทำภารกิจส่วนตัว
08:30 เรียนนักธรรม (5 วันต่อสัปดาห์) ถึง 11:00
11:00 ฉันเพล
12:00 ช่วงเวลานี้จนถึง 15:30 ก็จะเป็นช่วงเวลาส่วนตัว (ส่วนใหญ่ผมก็จะซักจีวร แล้วก็แล้วแต่วันด้วย ซึ่งก็จะมีอะไรให้ทำตลอด)
15:30 กวาดวัด
16:30 หลังจากกวาดวัดเสร็จก็จะเป็น Free time ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็ใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือและให้อาหารปลาเพราะว่าที่วัดติดแม่น้ำ
18:00 ทำวัตรเย็น
19:00 ทำวัตรเย็นเสร็จต้องรีบกลับมาอาบน้ำเพราะว่าประมาณ 1 ทุ่มยุงจะมากันหลายสิบตัวเลย
หมายเหตุ: วันพระจะไม่มีการออกไปเดินบิณฑบาต เพราะญาติโยมจะมาถวายที่วัดแทน และจะมีการเทศน์ทุกวันพระ พร้อมกับฉันในศาลาใหญ่
ถึงแม้ว่าจะมี Routine แบบนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะมีภารกิจ, เหตุการณ์ต่างๆ เช่น ถูกไหว้วานให้ไปช่วยงานต่างๆ ในวัดบ้าง เณรชวนไปเล่นบ้าง
หรือกิจนิมนต์ต่างๆ เข้ามา ได้แก่ ไปร่วมพิธีสวดมนต์ถวายในหลวงที่วัดอื่น, พิธีแห่เทียนพรรษา (โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง มาถวายเทียนพรรษา),
พิธีแห่เทียนพรรษา
เวียนเทียนวันอาสาฬหบูชา (แล้วที่วัดนี้ก็มีประเพณีตักบาตรดอกไม้วันเข้าพรรษาด้วย), ไปตักบาตรอาหารแห้งเฉลิมพระเกียรติที่เทศบาล,
ไปตักบาตรอาหารแห้งเฉลิมพระเกียรติที่เทศบาล
ไปอบรมพระนวกะที่วัดอื่น (ซึ่งได้เจอพระวัยรุ่นวัยเดียวกับผมมากมายหลายรูปเลย), ไปสวดมาติกา (มีทั้งไปสวดที่บ้านโยมกับไปสวดที่วัดอื่น) เป็นต้น
รับเกียรติบัตรตอนไปอบรมพระนวกะ
และอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ผมต้องทำก็คือ การแสดงพระธรรมเทศนานั่นเอง
สรุปชีวิตของการเป็นพระนั้น ทำให้ผมได้มีกิจวัตรประจําวันใหม่ที่แตกต่างจากตอนเป็นฆราวาส ทำให้ผมได้เรียนรู้และได้ข้อคิดต่างๆ มากมายผ่านศาสนกิจและศาสนพิธีต่างๆ
ตอนต่อไปจะมาเล่าการขึ้นเทศน์ครั้งแรกของผมนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา