28 พ.ย. 2024 เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

'เศรษฐกิจเวียดนาม🇻🇳' ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สวัสดีตอนเที่ยงวันจ้า พี่โข่งเอง พอดีมีเรื่องประกาศให้ทุกคนทราบก่อนจะเริ่มเนื้อหากัน
วันนี้น้องเนิร์ดเป็นไข้ไม่สบาย จะกลับมาทำงานอีกทีวันพฤหัสบดีหน้า พี่โข่งเลยมาทำหน้าที่ใน Economic Series ของอาทิตย์นี้ไปก่อน
ทุกวันนี้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายของแต่ละประเทศที่ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการนำ-ส่งออก การผลิต การจ้างงาน และอื่นๆ ที่คอยเป็นตัวดึงดัชนีเศรษฐกิจขึ้น
ซึ่งพี่โข่งขอนำเศรษฐกิจในประเทศเวียดนามมาเป็น Case Study ของวันนี้นะ โดยแนวทางการเล่าเรื่องจะไปเน้น ‘ภาพรวมเศรษฐกิจ’ และการออก ‘นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ’
โดยภาพรวมของเศรษฐกิจในเวียดนามนั้นถือว่าออกมาดีเลย เริ่มจาก
.
ปี 2024 ในสามไตรมาสที่ผ่านมา มีตัวเลข GDP อยู่ที่ 6.9% โดยคิดเป็นจำนวนเงินทั้งประเทศประมาณ 466 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ปี 2023 อยู่ที่ 5.0%
ปี 2022 เวียดนามมีตัวเลข GDP อยู่ที่ 8%
.
ทำให้เวียดนามอยู่อันดับ 33 ของโลก ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอิงจากตัวเลข GDP ข้างต้น
หากลองแยกย่อยออกมาดูว่าเวียดนามนั้นให้ความสำคัญในภาคส่วนด้านใดบ้างเป็นส่วนใหญ่ ที่ช่วยผลักดันศักยภาพของเศรษฐกิจให้กลับมายืนในอันดับต้นๆ ของโลกได้ อย่างแรกเลยคือด้านบริการ ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 48.41% ซึ่งไม่แตกต่างจากด้านอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนประมาณ 46.22% ท้ายสุดคือด้านการทำเกษตรกรรมที่มีสัดส่วนเพียง 4.08% เท่านั้น
เหตุผลที่รัฐบาลเวียดนามผลักดันสามภาคส่วนนี้ก็คือ
ภาคบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นเติบโตขึ้น ทำให้กลายเป็นจุดหมายปลายที่ได้รับความนิยมในภูมิภาคอาเซียน ปัจจัยอื่นๆ ที่มาส่งเสริมให้ภาคบริการส่วนนี้ขยายตัวขึ้น อย่างเช่น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ภายในประเทศ รวมถึงภาคบริการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการเงินได้แก่ เทคโนโลยี การธนาคาร และการค้าดิจิทัลที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศและตลาดในต่างประเทศ
ต่อมา รัฐบาลเวียดนามส่งเสริมที่ได้เงินลงทุนมาจากต่างประเทศ จนประเทศเวียดนามกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในอาเซียน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการผลิตจำพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำและแรงงานที่มีฝีมือจำนวนมาก ทั้งยังส่งเสริมการส่งออก อย่างเช่น เสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นรายได้หลักของด้านการส่งออก
ส่วนภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม มีสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการเพาะปลูกจำพวกข้าว กาแฟ และอาหารทะเล โดยเป็นสินค้าการเกษตรหลักที่เวียดนามส่งออกอีกด้วย
ทำให้เห็นว่าเวียดนามมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมดุลระหว่างสามภาค โดยมีภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และใช้ภาคเกษตรกรรม เป็นฐานสนับสนุนที่มั่นคงเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังส่งเสริม นโยบายเปิดเสรีเศรษฐกิจ และการบูรณาการกับเศรษฐกิจโลก เช่น การเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนในทุกภาคเศรษฐกิจนั่นเอง
เรามาดูภาพรวมการนำเข้า-ส่งออกที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของเวียดนามกัน ซึ่งมีมูลค่ารวมการนำเข้า-ส่งออกเกือบ 450 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐเลยทีเดียว
โดยมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 226.98 พันล้านดอลล่าร์ ที่มีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซะส่วนใหญ่ รองลงมาคือกลุ่มเครื่องจักรและกลุ่มรองเท้า มีการส่งออกไปยังประเทศที่ทำสัญญาทางการค้าได้แก่ อเมริกา จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
ส่วนด้านการนำเข้าสินค้า โดยเวียดนามมีการนำเข้าสินค้าจำพวกอิเล็กทรอนิส์ น้ำมันดิบและแร่ รวมถึงเครื่องจักร คิดเป็นมูลค่า 212.97 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ด้านหนี้สินของเวียดนาม ในปี 2023 ส่วนของหนี้ที่รัฐบาลเวียดนามได้ก่อไว้ มีอยู่ราวๆ 38% จาก 37.1% ในปี 2022 แต่หากเทียบกับในเทียบกับปี 2016 มีการก่อหนี้สูงถึง 47.5% ซึ่งถือว่าอัตราส่วนของหนี้ลดลงไปเยอะใน 7-8 ปีที่่ผ่านมา
ส่วนของทุนสำรองต่างประเทศนั้น จากการรายงานรอบล่าสุดในเดือนมิถุนายน ปี 2024 มีราวๆ 82.9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับให้เอกชนหรือรัฐเข้ามาแลกเงินตราต่างประเทศในตลาดการเงินได้ โดยมีธนาคารกลางทำหน้าที่กำกับดูแลอยู่
มาดูกันบ้างดีว่ารัฐบาลเวียดนามมีการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง เริ่มจาก
นโยบายการเงิน (Monetary Policy)
รัฐบาลเวียดนามมีการตั้งเป้าหมายของตัวเลข GDP อยู่ที่ 6.1% ภายในปี 2024 โดยให้ความสำคัญในเรื่องของการเติบโตของอุปสงค์นอกประเทศเวียดนาม ความสนใจในการลงทุนในประเทศจากนักลงทุนต่างชาติ และนโบายการผ่อนปรนเพื่อที่จะปฏิรูปทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น
  • การปฏิรูปเศรษฐกิจ: มีลดการแทรกแซงจากรัฐบาลเวียดนามในบางภาคส่วน ให้กลไลตลาดขับเคลื่อนอย่างอิสระมากขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนธุรกิจภาคเอกชนให้เติบโตอีกด้วย
  • ภาคการเกษตรกรรม: มีการกระจายสิทธิ์ที่ดินให้เหล่าเกษตรกรมีโอกาสร้างรายได้จากการเกษตรมากขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมภาคการผลิตโดยนำเข้าเทคโนโลยีเข้าช่วยเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม
  • ทำสัญญาร่วมการค้าเสรี (Free Trade Area; FTA)กับต่างประเทศมากขึ้น: มุ่งเน้นผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเบา และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
  • ปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น ถนน ท่าเรือ สนามบิน และระบบพลังงาน
เกร็ดน่ารู้: นโยบายผ่อนปรน มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Đổi Mới (โด่ยเหม่ย) ซึ่งแปลว่า ‘การเปลี่ยนแปลงใหม่’ มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากระบบสังคมนิยมแบบรวมศูนย์ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่มีการกระจายอำนาจให้แก่ภาคธุรกิจและท้องถิ่น พร้อมเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและเปิดเสรีด้านการลงทุน โดยเริ่มดำเนินนโยบายตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529)
ในทางกลับกัน พี่โข่งก็ไปเจอข้อท้าทายที่ประเทศเวียดนามกำลังเผชิญอยู่ ตามนี้เลยจ้า
  • เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจ: ทำให้ไม่มีความเท่าเทียมระหว่างคนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองและคนที่อาศัยอยู่ในชนบท
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อม: การพัฒนาอุตสาหกรรมและการเกษตรส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • การพึ่งพาต่างชาติ: เศรษฐกิจของเวียดนามยังคงพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติในระดับสูง
โดยรวมแล้ว รัฐบาลได้คาดการณ์ว่าตัวเลขการเติบโตของอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากหลายบริษัทในประเทศเวียดนามเผชิญกับหนี้ที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ด้านอสังหาริมทรัพย์จะการฟื้นตัวในระยะกลางเท่านั้น
นโยบายการคลัง (Fiscal Policy)
รัฐบาลได้วางแผนการณ์เพื่อที่จะให้การเติบโตทางเศรษกิจขยายตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยทางรัฐบาลเวียดได้ส่งเสริมในเรื่องของภาษีไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนหรือยกเว้นการชำระภาษี ขยายเวลาในการชำระภาษี และการลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax; VAT) สำหรับสินค้าและบริการบางประเภท การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการลดหย่อนภาษีในน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรธรรมต่างๆ และการลงทุนของภาครัฐในส่วนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น
เรียกได้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามนั้นมีศักยภาพสูงเลย มีโอกาสเติบอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปีด้วยนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ดำเนินมาเกือบสี่ทศวรรษ
หากใครมีรายละเอียดมาเสริมเนื้อหาในส่วนนี้ สามารถบอกได้ใต้ comment เลยนะ
#เนิร์ดeconomicseries #wealthelling
ช่องทางอื่นๆ สำหรับติดตามเพจ WEALTHELLING
โฆษณา