Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรมะ คือ คุณากรณ์
•
ติดตาม
28 พ.ย. 2024 เวลา 06:30 • ปรัชญา
watthakhanun
วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ มีพระหลายรูปขออนุญาตไปศึกษาเรื่องอักขระเลขยันต์ ซึ่งกระผม/อาตมภาพก็ได้อนุญาตให้ไป แต่สงสัยอยู่ว่าท่านทั้งหลายมั่นใจแล้วหรือว่า สิ่งที่ตนเองศึกษามาเพียงพอที่จะรักษาตัวคุ้มครองตัวได้แล้ว ? สิ่งที่กระผม/อาตมภาพพูดมานี่ไม่ได้หมายถึงวิชาการภายนอก แต่ก็คือศีลหรือว่าวินัยของพระเองเลย..!
สมัยที่กระผม/อาตมภาพบวชใหม่ ๆ ๔ พรรษาแรก จับนวโกวาทจนเปื่อยไปทั้งเล่ม ก็คือทบทวนอยู่ทุกวัน ชนิดที่เรียกว่าขยับตัวเมื่อไรจะรู้ตัวเองทันทีว่าศีลขาดหรือเปล่า ? จากนั้นก็ไปศึกษาในส่วนของอภิสมาจาร ซึ่งความจริงก็ศึกษาไปตั้งแต่ตอนเรียนนักธรรมชั้นโทแล้ว แต่ก็ต้องทบทวนเพื่อที่จะได้เข้าใจ หรือว่าจดจำได้มั่นคงยิ่งขึ้น
พ้นจากพรรษา ๔ แล้ว ถึงไปศึกษาเรื่องของอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ ซึ่งแรก ๆ ก็ฝึกหัดเอง เขียนเอง จนกระทั่งท้ายสุด พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านได้เมตตาบอกให้ว่า "การเขียนอักขระเลขยันต์นั้น ขั้นตอนต่าง ๆ นั้นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า ตอนที่เขียนเราทรงสมาธิระดับไหน และคิดถึงใคร เนื่องเพราะว่าในเรื่องของเครื่องรางประเภทตะกรุด ผ้ายันต์อะไรต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่ก็คือเขียนเสร็จต้องใช้งานได้เลย ไม่ได้มีการมีจัดงานปลุกเสกกันอีกรอบหนึ่งแบบที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้"
จึงเป็นเรื่องที่พวกเรา ถ้าหากว่ายังศึกษาในเรื่องของพระธรรมวินัยไม่แน่ชัด ไม่สามารถที่จะจดจำได้หมด หรือว่าไม่สามารถที่จะบอกกล่าวต่อให้กับรุ่นน้องได้อย่างถูกต้อง ก็ควรที่จะศึกษาเรื่องของพระธรรมวินัยเพื่อรักษาตัวเองให้รอดก่อนจะดีกว่า
ไม่ใช่ไอ้โน่นก็ขอไปเรียนหมอดู ไอ้นี่ก็ขอไปเรียนอักขระเลขยันต์ สิ่งสำคัญที่จะ
ทำให้เราเป็นพระหรือไม่เป็นพระ เรากลับไม่คิดที่จะศึกษาให้ดีก็กลายเป็นว่าบวชเข้ามาแล้วน่าจะผิดวัตถุประสงค์ไปหน่อย..! เนื่องเพราะว่าถ้าเราศึกษาไม่ดี ตนเองจดจำไม่ถูกต้อง อาจจะทำผิดพลาดยังไม่พอ ถึงเวลาไปบอกกล่าวสั่งสอน ก็จะทำให้รุ่นน้อง ๆ จดจำผิดพลาดไปด้วย
อย่างที่สมัยจำพรรษาแรก ๆ มีรุ่นพี่เขาบอกว่า "ถ้าเราขอสัตตาหะฯ ไปในระหว่างพรรษาแล้วกลับมา ถ้าก่อนสว่างเข้าวัดไม่ได้ ให้ถอดจีวรโยนเข้าไป พรรษาจะได้ไม่ขาด" กระผม/อาตมภาพก็ยังท้วงบอกว่า "ถ้าแบบนั้นตัวก็ขาดพรรษา ผ้าก็ขาดครอง ถ้าเชื่อคุณผมก็บ้าแล้ว..!" นั่นก็คือลักษณะของการจดจำแล้วบอกกล่าวต่อกันไปผิด ๆ
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าวัดท่าซุงมีการปิดประตูแน่นหนา มีเวรยาม ถ้าไม่ได้อรุณเขาไม่เปิดประตูให้ แล้วถ้าพวกท่านไปเจอรุ่นพี่เขาสอนแบบนั้น ขาดความมั่นใจในสิ่งที่ตนเองศึกษามา ก็จะจดจำผิด ๆ แล้วก็ไปสั่งสอนต่อกันผิด ๆ เพราะว่าผ้าห่างตัวก่อนได้อรุณก็แปลว่าเราขาดครอง ครบ ๗ วันได้อรุณแต่กลับเข้าวัดไม่ทันก็ขาดพรรษา โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่เชื่อว่าท่านทั้งหลายก็คงไม่กล้าทักท้วงรุ่นพี่เหมือนกระผม/อาตมภาพเพราะคิดว่าท่านบอกถูก
แบบเดียวกับที่กระผม/อาตมภาพบอกกับพวกท่านทั้งหลายว่า ถ้าญาติโยมลืมสิ่งของเอาไว้ พระเรามีหน้าที่ต้องเก็บรักษาเอาไว้จนกว่าโยมจะมาขอรับคืน แต่คราวนี้การที่โยมเขามาขอรับคืนก็คือต้องได้คืนไปในสภาพเดิม ไม่ใช่เอาไปทิ้งตากแดดตากฝน ปล่อยให้ผุให้ซีดให้เก่า หรือโดนหมาเอาไปแทะ ถ้าทำอย่างนั้นเขาเรียกว่าศึกษามาแบบโง่ ๆ..!
หรือไม่ก็จีวรที่ซักตากอยู่ กระผม/อาตมภาพเห็นมา ๓ วันแล้ว ไม่ยอมเก็บเสียที ฝีมือใครตากไว้รีบไปเก็บซะ เพราะรู้อยู่ไอ้ทิดนั่นสึกไปแล้ว เพราะฉะนั้น..จึงเป็นภาระหน้าที่ของคนที่ทำ จะต้องรีบเก็บรีบงำ ไม่อย่างนั้นทิ้งเอาไว้ยิ่งนานเท่าไร โอกาสที่จะเปื่อยจะผุจะขึ้นราก็มีมากขึ้น
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย