30 พ.ย. เวลา 05:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“ผมไม่เชื่อ แบบประเมินความเสี่ยงการลงทุน โดยสิ้นเชิง..”

- คุณวีระพล บดีรัฐ First Senior Vice President, KBank ในงาน THE MONEY FORUM 2024
คุณวีระพล บดีรัฐ ได้เริ่มต้นว่าจักรวาลการลงทุน มีมากมายเต็มไปหมด ทั้งเงินสด พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นรายตัว อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ ไปจนถึงสินทรัพย์ดิจิทัล
แต่ก่อนที่เราจะเลือกว่า เราจะลงทุนอะไร หลายคนมักเจอกับแบบประเมินความเสี่ยง
คำถามต่าง ๆ บนแบบประเมินความเสี่ยง ก็เช่น
- รับผลขาดทุน ได้เท่าไร
- อยากได้ผลตอบแทน เท่าไร
คำถามเหล่านี้ เพียงแค่จะตอบเราได้ว่า เราน่าจะเหมาะกับการลงทุนประเภทไหน
แต่โดยส่วนตัวแล้ว คุณวีระพลไม่เชื่อ และไม่เชื่อเลย โดยสิ้นเชิง..
แล้วถ้าถามว่าทำไม ถึงไม่เชื่อ ?
คุณวีระพล เล่าว่าเคยมั่นใจว่ารับความเสี่ยงการลงทุนได้สูงมาโดยตลอด
แต่เมื่อต้องเจอกับวิกฤติ เช่นในช่วงซับไพรม์ ปี 2008
หุ้นที่ถืออยู่ กลับมีมูลค่าลดลงกว่า 70%
จึงทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้ว เรารับความเสี่ยงไม่ได้สูงเลย..
นอกจากประสบการณ์ความเสี่ยง การลงทุนแล้ว
“ประสบการณ์ชีวิต” ก็เป็นอีกส่วนสำคัญ ในการวางแผนการลงทุนของเรา
คุณวีระพลเล่าว่าเคยต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกับชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นโดนรถทับ โดนสุนัขกัด รวมถึงการที่ต้องต่อเติมบ้านตอนมีลูก
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เงินไม่พอ เพราะลงทุนไปหมดแล้ว
จึงจำเป็นต้องขายหุ้นออกไปทุกราคา เพราะไม่ได้วางแผนมาก่อน..
คุณวีระพล จึงมองว่าประสบการณ์แย่ ๆ ในโลกการลงทุน และประสบการณ์ชีวิต จะเป็นเครื่องมือที่แท้จริงที่จะบอกเราว่า เรารับความเสี่ยงได้เท่าไร และเราเหมาะกับการลงทุนประเภทไหนมากกว่า
โดยคุณวีระพล ได้สรุปหลักคิดเกี่ยวกับการลงทุนไว้หลายข้อ เริ่มตั้งแต่
- “1 พอร์ตการลงทุน ต่อ 1 เป้าหมาย”
อยากเกษียณใน 20 ปีข้างหน้า 1 พอร์ต
อยากซื้อบ้าน ใน 5 ปีข้างหน้า 1 พอร์ต
แบ่งแบบนี้ ให้ชัดเจนไปเลย เพื่อที่ให้มีเป้าหมายที่แน่นอน รวมถึงการวางแผนว่าจะทำอะไรบ้าง ในเวลาที่หุ้นขึ้น และหุ้นลง เพื่อไม่ให้เราใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ และไหลไปตามกระแส
- “ไม่ว่าจะเงินเล็กเท่าไร เราสามารถเริ่มได้ทันที”
จะเริ่มจาก 5,000 บาท 10,000 บาท ก็เริ่มวางแผนลงทุนได้ เพราะยิ่งรอไปเรื่อย ๆ เราจะยิ่งเสียโอกาส
- ”เราควรจะแบ่งพอร์ตการลงทุน”
ยกตัวอย่างเช่น มี Core Portfolio เป็นกลุ่มการลงทุนหลัก ซึ่งเราควรจะถือไปยาว ๆ ในหลัก 10 ปีขึ้นไป ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย ด้วยการผสมสินทรัพย์ เช่น พันธบัตร, หุ้น และสินทรัพย์ทางเลือก ที่เหมาะกับเรา
และ Satellite Portfolio หรือ กลุ่มการลงทุนรอง ที่เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น กองทุนหุ้นรายประเทศ ตามธีม หรือสินทรัพย์ที่กำลังมาแรง
- “ต่อให้รับความเสี่ยงได้ต่ำหรือไม่ได้เลย เราก็ยังต้องมีหุ้นเสมอ”
เพราะผลตอบแทนหลัก ๆ ของโลก ก็อยู่ที่หุ้นอยู่ดี
หากไม่มีหุ้นอยู่ในการลงทุนเลย เราจะไม่มีผลตอบแทนไปชนะเงินเฟ้อ
สิ่งที่เราควรทำคือ แม้เราจะเสี่ยงได้ไม่มาก เราก็ยังต้องลงทุนในหุ้น และไปปรับลดสัดส่วนลง..
โฆษณา