30 พ.ย. เวลา 06:40 • ปรัชญา

#หากเป้าหมายการใช้ชีวิตของเราไม่ใช่อยู่เพื่อหาความสุขแล้วจะอยู่เพื่ออะไร

เชื่อว่าหลายคนคงเคยถามตัวเองเช่นนี้ เพราะคนส่วนใหญ่นั้นวิ่งไล่หาความสุข อยากจะครอบครองมัน แต่เคยถามตนเองไหมว่าความสุขที่แท้จริงหน้าตาเป็นอย่างไร
มีสุภาษิตฟินนิชของชาวฟินแลนด์กล่าวไว้ว่า “ความสุขที่แท้จริง คือ ความพอดี ไม่มากไปและไม่น้อยไป”
จากรายงานความสุขโลก หรือ The World Happiness Report ประจำปี 2022 ซึ่งจัดอันดับโดยใช้ผลการสำรวจ Gallup World Poll ที่ใช้คำถาม Cantril Ladder เพื่อวัดระดับความสุขของบุคคล ด้วยการให้ผู้คนใน 150 ประเทศทั่วโลก จินตนาการถึงบันไดที่มีตั้งแต่ขั้น 0 ไปจนถึงขั้น 10 เพื่อแสดงถึงชีวิตที่แย่ที่สุดไปจนถึงชีวิตที่ดีที่สุด
โดยให้ผู้ตอบคำถามเลือกขั้นบันไดที่เป็นตัวแทนของความรู้สึกปัจจุบัน จากนั้นจึงนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนความสุขของคนในประเทศกับทั้งปัจจัยที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ทั้งหมด 6 ตัวแปร
ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคม อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี เสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิต การรับรู้ถึงความเห็นอกเห็นใจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว และการรับรู้การทุจริต
โดยผลคะแนนปีนั้น “ฟินแลนด์” ยังครองแชมป์อันดับหนึ่งต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ตามด้วย “เดนมาร์ก” ในลำดับที่ 2 และ “สวีเดน” อยู่ในลำดับที่ 7
คำตอบของคำถามข้างต้นก็คือ เพราะฟินแลนด์ สวีเดน และเดนมาร์กมี 3 ปรัชญาความสุขซึ่งเป็นกระแสนิยมไปทั่วโลกที่เรียกว่า...
“ฮุกกะ” (Hygge)
“ลากอม” (Lagom)
“ซิสุ” (Sisu)
ฮุกกะ - คือการหาความสุขได้จากเรื่องง่ายๆรอบตัว
คำว่าฮุกกะ หรือฮึกเกอ เป็นภาษานอร์เวย์ หมายถึง “ความอยู่ดีมีสุข” คือการตระหนักถึงความสุขที่เรียบง่ายใกล้ตัว ความสุขอันเกิดจากความสบายกายสบายใจ มองเห็นความงดงามของความไม่สมบูรณ์แบบ ใจดีกับตัวเอง ให้รางวัลกับตัวเองบ้างเพื่อความรื่นรมย์
ลากอม - คือความกลมกล่อมแบบพอดี
ในขณะที่ฮุกกะให้ความสำคัญกับห้วงเวลาแห่งความสุข “ลากอม” ซึ่งเป็นปรัชญาการใช้ชีวิตแบบชาวสวีเดนนั้นว่าด้วยเรื่องการรักษาสมดุลชีวิตในทุกๆเรื่องให้พอดี ไม่มากไปและไม่น้อยจนเกินไป หรือ “Not too little, not too much - just right” เพราะความ “พอดี” เท่ากับ “ดีที่สุด”
ซิสุ - คือความเด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว
ซิสุ เป็นปรัชญาการใช้ชีวิตที่เข้มข้นของชาวฟินแลนด์ ที่ว่าด้วยเรื่องทัศนคติทางกายและใจ ซึ่งตรงกันข้ามกับการแสวงหาความสุข แต่เป็นการยอมรับว่าชีวิตคนเรานั้นมีทั้งทุกข์ สุข และเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยให้น้ำหนักในเรื่องของจิตวิญญาณ ความมั่นคงและมั่นใจในศักยภาพภายในของตนเอง ความแกร่งกล้า มีมานะอุตสาหะ ไม่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัดต่าง ๆ
ซึ่งเรื่องนี้บังเอิญสอดคล้องกับเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสของปรัญชา “อิคิไก” ถูกพูดถึงกันมาก เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินแนวคิด “อิคิไก” ที่แปลเป็นไทยว่า “จุดมุ่งหมายของการมีชีวิตอยู่” เป็นปรัชญการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่มองเห็นคุณค่าแท้จริงและสิ่งดีๆ ในตัวเองทำให้มีความพึงพอใจกับชีวิตของตัวเอง
คำถามคือแล้ว"อิคิไก"จะสร้างสมดุลชีวิตหรือ Work-Life Balance ให้เราได้อย่างไร?
อิคิไก คือวิถีชีวิตที่เรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น หนังสืออิคิไกอีกเล่มที่เขียนโดย เอ็กตอร์ การ์เซีย (Hector Garcia) และฟรานเซสค์ มิราเยส (Francese Miralles) 2 นักเขียนชาวสเปนที่ศึกษาปรัชญาอิคิไกจากหมู่บ้านโอะกิมิทางตอนเหนือของเกาะโอะกินะวะซึ่งเป็นชุมชนที่มีประชากรอายุเกิน 100 ปีจำนวนมาก พูดถึงอิคิไกว่าเป็น “ความสุขอันเกิดจากการมีอะไรให้ทำตลอดเวลา”
สรุปคือการมีสมาธิกับทุกสิ่งที่ทำ และ มีหัวใจที่ไม่ยอมแพ้กับวะบิซะบิ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปรัชญาญี่ปุ่นที่พูดถึง “ความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ” มีความเชื่อในความสุขที่เรียบง่ายโดยเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป
เราเองก็ใช้ชีวิตแบบ"ซิสุ"ได้โดยไม่ต้องผจญภัยไปถึงฟินแลนด์ หรือใช้ชีวิตแบบ"อิคิไก"โดยไม่ต้องนั่งเครื่องบินเดินทางไปหมู่บ้านโอะกิมิทางตอนเหนือของเกาะโอะกินะวะซึ่งเป็นชุมชนที่มีประชากรอายุเกิน 100 ปี
แค่เพียงเรามีความกล้าในเรื่องเล็ก ๆ อย่างการลองกินผักที่ไม่ชอบ ฉุดตัวเองให้ตื่นเช้าเพื่อออกไปวิ่ง ทำอะไรในสิ่งที่เรารัก มีความสุขกับสิ่งรอบตัว “รู้แหละว่ามันยาก แต่หากมุ่งมั่นตั้งใจ ก็เป็นสิ่งที่ง่าย” และนี่ก็คือหลักปรัชญาของ"ซิสุ"และปรัชญา"อิคิไก"เช่นกัน
เพราะ “ความสุข” เป็นคำที่แต่ละคนให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไป เราไม่ควรปล่อยให้สังคมเป็นตัวกำหนดนิยามความสุขให้กับเรา แต่เราควรค้นหาความหมายของมันด้วยตัวของเราเอง
โฆษณา