12 ธ.ค. 2024 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์

ทำงบการเงินอาจจะไม่เวิร์กเสมอไป! 2 คำแนะนำจัดการเงินใหม่จากผู้เชี่ยวชาญ ที่ไม่เคร่งครัดจนขยับไม่ได้

ในทุกแผนการเงิน คำแนะนำยอดนิยมมักจะเป็นเรื่องของการทำงบประมาณรายรับ-รายจ่าย เพื่อวางแผนและควบคุมการใช้จ่าย หลายคนเริ่มต้นด้วยการจดบันทึกตัวเลขในตาราง สร้างแผนการเงินที่เข้มงวดจนแทบไม่มีช่องว่างให้ยืดหยุ่น อย่างไรก็ตาม ดาน่า มิแรนด้า (Dana Miranda) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินส่วนบุคคลและผู้เขียนหนังสือ “You Don’t Need a Budget” กลับชี้ว่าแนวทางนี้อาจกลายเป็น “กรอบที่เป็นพิษ” สำหรับหลายคน
“Budget culture (วัฒนธรรมการทำงบประมาณ) กลายเป็นแนวทางหลักในการจัดการกับเงินของเรา โดยอาศัยข้อจำกัด ความอับอาย และความโลภ คล้ายกับวัฒนธรรมการควบคุมอาหารที่ไม่ยั่งยืน”
มิแรนด้า กล่าวในบทสัมภาษณ์กับ CNBC Make It โดยอ้างถึงงานวิจัย Personal Budgeting: Does It Work? ผลงานวิจัยจาก University of Minnesota ที่ชี้ว่าการจำกัดการใช้จ่ายในรูปแบบนี้มักจะล้มเหลวในระยะยาว และคนทำก็จะรู้สึกผิดที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ แถมอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลเพิ่มได้อีกด้วย
และมีการเสริมจาก Sheida Isabel Elmi (เชดา อิซาเบล เอลมี) จาก Aspen Institute Financial Security Program ที่ศึกษาเรื่องนี้และพบว่าการตั้งงบประมาณอาจเป็นเรื่องยากเป็นพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง เนื่องจากพวกเขามักมีรายได้ไม่แน่นอนและค่าแรงต่ำที่ไม่เหมาะกับงบประมาณที่เคร่งครัด
[ ถ้าไม่อยากเขียนงบ มิรันด้าแนะนำให้เราทำอะไรแทน? ]
✅1.เปลี่ยนมุมมองและใช้เงินอย่าง “มีสติ”
มิแรนด้ามองว่าการตั้งงบประมาณที่เป็นพิษเกิดจากวัฒนธรรมทุนนิยมที่เน้นการสะสมทรัพย์สินมากกว่าคุณภาพชีวิต เธอแนะนำวิธีการใหม่ที่เรียกว่า “การใช้เงินอย่างมีสติ”
“แทนที่จะวางแผนว่าทุกบาทควรไปที่ไหนและลงโทษตัวเองเมื่อทำไม่ได้ ลองมองการใช้เงินแบบมีสติในแต่ละช่วงเวลา” เธอกล่าว พร้อมแนะนำให้ถามตัวเองว่าเงินช่วยตอบโจทย์ชีวิตในขณะนี้อย่างไร
แม้ว่าวิธีคิดนี้อาจปรับตัวได้ยากในตอนแรก แต่สุดท้ายมิแรนด้าเชื่อว่าคนเราควรเชื่อมั่นในตนเองมากกว่า
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับความเสี่ยงของการใช้จ่ายเกินตัว เธอกล่าวว่า “หนี้บัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรมเสมอไป” แต่เน้นว่าคนต้องเข้าใจเงื่อนไขและผลกระทบของการตัดสินใจเรื่องหนี้
✅2.ทำ Money Date
อีกวิธีที่มิแรนด้าแนะนำคือการจัดเวลา “เดทกับเงิน (Money Date )” ทุกสองสัปดาห์ เพื่อจัดการการเงินอย่างเป็นระบบและลดความเครียดสะสม
ในเดทนี้ คุณสามารถตรวจสอบว่าการใช้จ่ายส่งผลต่อเป้าหมายชีวิตและการเงินอย่างไร เช่น หากคุณวางแผนไปเที่ยวกับเพื่อน คุณอาจต้องประเมินว่าการใช้เงินตรงนี้จะกระทบกับเงินออมเพื่อเกษียณหรือค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นหรือไม่
และในกระบวนการนี้มิแรนด้า ยังแนะนำให้สร้าง “แผนที่การเงิน (money map)” เพื่อช่วยจัดระเบียบเป้าหมาย ทรัพย์สิน และภาระทางการเงิน โดยแผนนี้ควรมีความยืดหยุ่น เช่น หากเดิมตั้งใจเก็บเงิน 10% ของรายได้ทุกเดือน แต่ภายหลังคุณต้องการนำเงินส่วนนี้มาใช้ในปัจจุบัน คุณก็สามารถปรับเปลี่ยนได้
“แผนที่การเงินจะช่วยให้คุณมองเห็นภาพรวมทางการเงินได้ชัดเจนขึ้น ทำให้เข้าใจผลกระทบจากการตัดสินใจแต่ละครั้ง และช่วยให้คุณตัดสินใจใช้เงินอย่างมีสติมากขึ้นในชีวิตประจำวัน” มิแรนด้า กล่าว
[ การตั้งงบประมาณยังคงสำคัญ ]
แม้ว่าจะมีแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการจัดการเงิน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอย่างทาเนีย บราวน์ (Tania Brown) ยังคงย้ำว่าการตั้งงบประมาณเป็นสิ่งสำคัญ “งบประมาณคือการบอกให้เงินทำงานเพื่อให้คุณมีชีวิตตามที่ต้องการ” บราวน์กล่าว
“ยิ่งคุณมีเงินน้อย การจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงินยิ่งสำคัญ”
🔚 ในท้ายที่สุด การตั้งงบประมาณอาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับบางคน แต่สำหรับคนอื่น การใช้เงินอย่างมีสติและการมีความยืดหยุ่นอาจช่วยให้จัดการการเงินได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องรู้สึกกดดันจนเกินไป
#aomMONEY #การเงินส่วนบุคคล #ทำงบการเงิน #บริหารการเงิน #วางแผนงบประมาณ
โฆษณา