14 ธ.ค. 2024 เวลา 07:00 • ธุรกิจ

บทเรียนหลังม่าน Ford ที่ต้องสะดุด เพราะผู้นำไม่ต้องการแบ่งอำนาจให้ใคร

อย่างที่คุณรู้ ผู้นำองค์กรไม่สามารถทำงานทุกอย่างให้ดีได้ด้วยตัวคนเดียว จำเป็นต้องเดินทางร่วมกันกับผู้คนของคุณ ต้องช่วยให้พวกเขาพัฒนาศักยภาพให้มากที่สุด เพื่อนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จร่วมกัน
ดังนั้น สิ่งที่ผู้นำที่ดีควรทำคือ การมอบอำนาจให้ผู้คนในองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำอื่นๆ ขององค์กร จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ (John C. Maxwell) กล่าวไว้ในหนังสือ The 21 Irrefutable Laws of Leadership ของเขาว่า “มีเพียงผู้นำที่มั่นใจในตนเองเท่านั้นที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่น” ตามกฎแห่งการมอบอำนาจ (The Law of Empowerment)
แม็กซ์เวลล์ ชี้ให้เห็นว่า หากต้องการประสบความสำเร็จ ผู้นำต้องยินดีมอบอำนาจให้ผู้อื่น เพราะการเป็นผู้นำที่ดีคือการช่วยให้ผู้ตามได้บรรลุศักยภาพของตน โดยผู้นำต้องอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ มอบอำนาจ และช่วยให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งการเป็นผู้นำที่ดีไม่ใช่แค่การยกระดับตนเองเท่านั้น แต่เป็นการมอบอำนาจให้ผู้อื่น
มีเพียงผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเท่านั้น ที่จะสามารถบรรลุศักยภาพของตนได้ หากผู้นำไม่ยอมมอบอำนาจให้ เท่ากับการสร้างอุปสรรคที่ผู้ตามไม่มีทางเอาชนะได้ขึ้นมา หากอุปสรรคนั้นคงอยู่ยาวนาน ผู้คนจะถอดใจไปในที่สุดหรือออกไปอยู่กับองค์กรที่เอื้อให้พวกเขาเติบโต
โดยเขาได้เล่าถึงกรณีของ เฮนรี ฟอร์ด 2 คนปู่หลาน ซึ่งเป็นผู้นำของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ส ผู้พาบริษัททะยานขึ้นสู่ความสำเร็จ และถดถอยลงเพราะไม่ยินดีมอบอำนาจให้ใคร ชี้ให้เห็นภาพชัดเจนถึงความสำคัญที่ผู้นำต้องมอบอำนาจให้ผู้อื่น ดังนั้
🚨 [ เรื่องราวหลังม่าน ฟอร์ด มอเตอร์ส เมื่อผู้นำไม่ยินดีแบ่งปันอำนาจให้ใคร ]
ฟอร์ด มอเตอร์ คอมพานี ก่อตั้งเมื่อปี 1903 โดย เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ชายผู้ตั้งปณิธานว่า จะสร้างรถยนต์เพื่อคนหมู่มากเพื่อทุกคนสามารถซื้อได้และมีความสุข โดยถ่ายทอดมันออกมาเป็นรถยนต์รุ่น ‘โมเดลที’ ทำให้ชีวิตของชาวอเมริกันในศตวรรษที่ 20 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในปี 1914 บริษัทฟอร์ดฯ เป็นผู้ผลิตรถยนต์เกือบ 50% ของรถยนต์ทั้งหมดในอเมริกา เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ นำหน้าคู่แข่งอื่นไปไกล
เป็นเวลาเกือบ 20 ปี บริษัทฟอร์ดฯ จำหน่ายรถยนต์โมเดลทีเพียงรุ่นเดียว ซึ่ง ฟอร์ด พัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเอง เขารักรถยนต์รุ่นนี้มากจนไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาเลย ทั้งไม่ยอมให้ใครมายุ่งเกี่ยว ครั้งหนึ่งเขาโกรธเป็นไฟเมื่อกลุ่มนักออกแบบปรับปรุงรถยนต์รุ่นนี้และนำเสนอต้นแบบให้เขาดู ฟอร์ด กระชากประตูรถออกและทำลายทั้งคันด้วยมือเปล่า
ผ่านไปนานกระทั่งปี 1927 ฟอร์ด จึงเห็นชอบให้สร้างรถยนต์รุ่นใหม่ จนกลายเป็นรุ่น ‘โมเดลเอ’ แต่นวัตกรรมกลับตามหลังคู่แข่งอย่างมาก แม้บริษัทฟอร์ดฯ จะเริ่มต้นก่อนและนำหน้าคู่แข่งมาไกล แต่ส่วนแบ่งตลาดก็ตกลงเรื่อยๆ โดยในปี 1931 เหลือเพียง 28% ลดลงเกือบครึ่งของที่เคยทำได้เมื่อ 17 ปีก่อน
ฟอร์ด ไม่ใช่ผู้นำที่มอบอำนาจ เขาลดความสำคัญของเหล่าผู้นำคนอื่นในบริษัทและคอยจับตาดูอยู่เสมอ เขาถึงขั้นตั้งแผนกเพื่อคอยตรวจสอบพนักงานและควบคุมชีวิตส่วนตัวของพวกเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายวิธีทำงานแบบแปลกๆ ของเขา
ขณะที่ ฟอร์ด เริ่มแปลกมากขึ้นเรื่อยๆ เอ็ดเซล ลูกชายของเขาก็ทุ่มเทมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งเขาได้ยกตำแหน่งประธานบริษัทให้ลูกชายในที่สุด แต่เขาก็ยังคงทำงานแบบบ่อนทำลายบริษัทต่อไป โดยทุกครั้งที่เห็นว่ามีผู้นำดาวรุ่งกำลังพุ่งสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ฟอร์ด จะถอดเขาออกจากตำแหน่ง บริษัทจึงเสียผู้บริหารที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารส่วนน้อยเลือกที่จะทนอยู่ต่อไป โดยหวังว่าสักคน ฟอร์ด จะตายไป และ เอ็ดเซล จะเข้ามากุมอำนาจทุกอย่างให้เข้าทางในที่สุด แต่แล้ว เอ็ดเซล ก็เสียชีวิตไปก่อนในปี 1943 ในวัย 49 ปี
จากนั้นฟอร์ดอีกคน เฮนรี ฟอร์ด ที่สอง ลูกชายคนโตของ เอ็ดเซล ในวัย 26 ปี ตัดสินใจลาออกจากกองทัพเรือเพื่อกลับมาดูแลบริษัท แน่นอนในช่วงแรกเขาถูกคนเก่าแก่ของปู่ต่อต้าน แต่ภายใน 2 ปี เขาก็พิสูจน์ตนเองและสามารถทำให้คนสำคัญในบริษัทหันมาสนับสนุน รวมถึงคณะกรรมการบริษัท จนเกลี้ยกล่อมให้ ฟอร์ด ลงจากตำแหน่งเพื่อให้เขาได้ขึ้นเป็นประธานบริษัทแทน
ฟอร์ดที่สอง เข้ามาดูแลบริษัทที่ไม่สามารถทำกำไรได้มานานกว่า 15 ปี เขาเริ่มต้นด้วยการมองหาผู้นำ โดยโชคดีที่ผู้นำกลุ่มแรกเข้ามาหาเขาเอง พันเอกชาร์ล เท็กซ์ ธอร์นตัน นำกลุ่มชาย 10 คน ที่เคยทำงานร่วมกันในกระทรวงการสงคราม ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เข้ามาในบริษัท พวกเขาทำประโยชน์ได้มากมาย โดยระหว่างทำงานได้สร้างรองประธานบริษัท 6 คน และประธานบริษัท 2 คน
ระลอกที่สอง บรรดาผู้นำหลั่งไหลเข้ามาบริษัทหลังจากที่ เออร์นี บรีช ผู้บริหารมากประสบการณ์ จาก เจเนอรัล มอเตอร์ส และอดีตประธษนบริษัท เบนดิกซ์ เอวีเอชั่น เข้ามายังบริษัทฟอร์ดฯ
ฟอร์ดที่สอง รับ บรีช เข้ามาเป็นรองประธานฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดรองจากตนเอง ด้วยความหวังว่า บรีช จะเข้ามาควบคุมและพลิกฟื้นบริษัทได้ และเขาก็ทำได้จริง บรีช ดึงผู้บริหารมากความสามารถมากกว่า 150 คน จาก เจนเนอรัล มอเตอร์ส เข้ามา จนทำให้ปี 1949 บริษัทฟอร์ดฯ ได้ประสบความสำเร็จอีกครั้ง โดยสามารถจำหน่ายรถยนต์รุ่น ‘เมอร์คิวรี’ และ ‘ลินคอล์น’ ได้มากกว่า 1 ล้านคัน เป็นยอดขายที่ดีที่สุดนับตั้งแต่รุ่นโมเดลเอ
🚨 [ ความสำเร็จอยู่ได้ไม่นาน เมื่อผู้นำอยากเก็บอำนาจไว้ผู้เดียว ]
แม็กเวลล์ แสดงความคิดเห็นว่า บริษัทฟอร์ดฯ คงเติบโตกว่านี้จนสามารถแซงหน้า เจนเนอรัล มอเตอร์ส และครองตำแหน่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งได้อีกครั้ง หาก ฟอร์ดที่สอง เป็นผู้นำที่มอบอำนาจให้ผู้อื่น ปัจจัยที่สำคัญคือ “มีเพียงผู้นำที่มั่นใจในตนเองเท่านั้นที่กล้ามอบอำนาจให้ผู้อื่น” เขารู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามด้วยความสำเร็จของ ธอร์นตัน, บรีช และ ลูวิส ครูโซ ผู้บริหารระดับตำนานของเจนเนอรัล มอเตอร์ส ที่ บรีช ดึงตัวมา
ฟอร์ดที่สอง เริ่มกังวลกับตำแหน่งของตนเอง เนื่องจากเขาไม่ได้เข้ามาสู่ตำแหน่งเพราะอิทธิพลของตน แต่เป็นเพราะชื่อสกุลและอำนาจในการควบคุมหุ้นบริษัทของครอบครัว
เวลาต่อมา ฟอร์ดที่สองเริ่มทำให้ผู้บริหารระดับสูงแตกคอ เริ่มจาก ธอร์นตัน และ ครูโซ หลังจาก ธอร์นตัน ลาออก เขาก็ทำให้ ครูโซ และ บรีช แตกคอกัน ซึ่ง ปีเตอร์ คอลเลียร์ และ เดวิด โฮโรวิตซ์ ผู้เขียนประวัติของผู้นำตระกูลฟอร์ดทั้งสามรุ่น ได้อธิบายวิธีการของ ฟอร์ดที่สอง ไว้ว่า
“สัญชาตญาณการเองตัวรอดของ เฮนรี เผยตัวออกมาในรูปแบบของเล่ห์เหลี่ยมผสมกับความอ่อนแอ เขามอบอำนาจให้ ครูโซ ทำทุกสิ่งตามต้องการ การที่ เฮนรี ยึดอำนาจจาก บรีช และนำไปมอบให้ขุนพลของเขาทำให้คนสองคนซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการประสบความสำเร็จของฟอร์ดขัดแย้งกันเอง แม้จะไม่มั่นใจในตัว บรีช แล้ว แต่ เฮนรี ก็ยังปล่อยให้ บรีช ดำรงตำแหน่งต่อไป เพื่อที่ตัวเองจะได้ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และด้วยความที่ บรีช มีตำแหน่งเหนือกว่า ครูโซ เฮนรี จึงสามารถใช้ บรีช ควบคุม ครูโซ ได้”
กลายเป็นรูปแบบในการเป็นผู้นำของ ฟอร์ดที่สอง ในที่สุด ทุกครั้งที่ผู้บริหารคนใดเริ่มมีอำนาจและอิทธิพล ฟอร์ดที่สอง จะย้ายพวกเขาไปอยู่ในตำแหน่งที่มีอิทธิพลน้อยลง หรือแม้แต่ทำให้ขายหน้าต่อหน้าคนจำนวนมาก ฟอร์ดที่สอง ใช้วิธีเหล่านี้ตลอดเวลาที่บริหารบริษัท
ลี ไออาค็อกคา ได้แสดงความเห็นในฐานะที่เคยเป็นประธานบริษัทฟอร์ดฯ ว่า “จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสมาด้วยตนเอง เฮนรี ฟอร์ด มีนิสัยแย่ๆ เรื่องการกำจัดผู้นำที่เข้มแข็ง”
ไออาค็อกคา เล่าว่า ฟอร์ดที่สอง เคยอธิบายถึงปรัชญาการเป็นผู้นำของตนเองให้ฟังว่า “สิ่งที่คุณควรทำกับคนที่ทำงานให้คุณคืออย่างให้เขาอยู่อย่างสบายใจเกินไป อย่างให้เขารู้สึกอุ่นใจหรือทำงานอย่างราบรื่น จำทำในสิ่งตรงกันข้ามกับความคาดหวังกับเขาเสมอ คุณต้องทำให้คนของคุณกังวลและหวาดหวั่นตลอดเวลา” และหลังจากนั้นหลายปี เขาก็ตกเป็นเป้าของ ฟอร์ดที่สอง เสียเอง
🚨 [ อุปสรรคที่ทำให้ผู้นำไม่ยินดีแบ่งปันอำนาจให้ใคร ]
แม็กเวลล์ ชี้ให้เห็นว่า เฮนรี ฟอร์ด ทั้งสองคนไม่ได้ทำตามกฎแห่งการมอบอำนาจ แทนที่จะหาคนที่มีความสามารถและมอบทรัพยากร อำนาจ และความรับผิดชอบให้ ปล่อยให้พวกเขาแสดงฝีมือสร้างความสำเร็จ ฟอร์ดทั้งสองกลับทำลายบรรดาคนเก่ง สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในตนเอง จึงไม่ต้องการแบ่งปันอำนาจให้ผู้อื่น จนบ่อนทำลายศักยภาพความเป็นผู้นำของตนเองและทำลายองค์กร ซึ่งเหตุผล 3 ข้อ ที่ทำให้ผู้นำไม่อยากมอบอำนาจให้ผู้อื่น คือ
- ต้องการความมั่นคงในตำแหน่ง : เพราะกลัวว่าจะต้องสูญเสียความสำคัญไป แต่ผู้นำที่ดีจะต้องมอบอำนาจและช่วยให้คนอื่นพัฒนาตนเองจนสามารถทำงานแทนได้ นั่นคือคุณค่าของผู้นำ
- ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง : คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของผู้นำคือ การพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
- มองไม่เห็นคุณค่าของตนเอง : คนที่กังวลสายตาคนอื่นมากเกินไปไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ ไม่รู้ว่าตนเองมีคุณค่าในเรื่องใดบ้าง จึงไม่สามารถมอบให้ผู้อื่นได้ รวมถึงอำนาจ ผู้นำที่ดีจะตระหนักในคุณค่าของตนเอง เชื่อมั่นในตนเองและคนของเขา
🚨 [ ส่งท้าย ]
เรื่องราวของ เฮนรี ฟอร์ด ทั้งสองคน เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่า ‘การมอบอำนาจ’ มีความจำเป็นมากเพียงใด เป็นอีกสิ่งที่ผู้นำอย่างคุณพึงปฏิบัติ ก้าวไปสู่การเป็นสุดยอดผู้นำที่ดี ซึ่งจำเป็นต้องตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเอง มั่นใจในตนเองและคนของคุณ รวมถึงเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างการเติบโตและความสำเร็จให้องค์กร ผู้อื่น และตัวของคุณ
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsLeadership
โฆษณา