17 ธ.ค. 2024 เวลา 06:33 • ปรัชญา

watthakhanun

วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ ตั้งใจจะเปลี่ยนเวลามาบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนตอน ๖ โมงเย็น แต่ปรากฏว่าวันนี้ทำไม่ได้ เนื่องเพราะว่ากลับมาเจออากาศที่ต่างกัน ๔ - ๕ องศาเซลเซียส ร่างกายรับไม่ไหว หมดสภาพไปเสียก่อน ถ้าหากว่าไม่มีเสียงระฆังเรียกทำวัตรค่ำก็คงจะยาวไปเลย..!
สำหรับวันนี้ได้ไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งปฏิบัติธรรมประจำปีอยู่ที่ศาลาการเปรียญ ดร.อุไรศรี คะนึงสุขเกษม วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ ถนนพหลโยธิน หมู่ที่ ๑ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ส่วนหนึ่งซึ่งได้ตักเตือนบรรดาพระภิกษุสามเณรและผู้เข้าปฏิบัติธรรมไป ก็คือ ทุกคนปฏิบัติธรรมเหมือนกับแก้บน ไม่ได้มาปฏิบัติธรรมโดยที่ตั้งใจ แต่ทุกคนรู้สึกว่ามาเพราะโดนหลักสูตรบังคับ พูดง่าย ๆ ว่าทิ้งโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต ซึ่งมนุษย์คนหนึ่งจะพึงมีพึงได้ เพราะว่าการที่เราได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรมแล้วน้อมนำมาปฏิบัตินั้น เป็นเรื่องที่ยากเป็นอย่างยิ่ง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก ถ้าว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์ก็คือ ต้องช่วงชิงกับผู้อื่นนับ ๑๐ ล้านเพื่อที่จะเป็น ๑ ในหลาย ๑๐ ล้านนั้นมาเกิด
แต่ถ้าว่ากันตามที่อรรถกถาจารย์ท่านเปรียบเทียบเอาไว้ ก็เหมือนกับเอาเต่าตาบอดตัวหนึ่ง โยนไว้ในทะเลที่เต็มไปด้วยคลื่นลม แล้วมีแอกเล็ก ๆ ขนาดพอสวมคอเต่านั้นได้ ทิ้งเอาไว้ในทะเลนั้นด้วย ระยะเวลา ๑๐๐ ปีให้เต่าตัวนั้นโผล่ขึ้นมาครั้งหนึ่ง ถ้าศีรษะสามารถสวมกับแอกได้พอดี นั่นคือโอกาสที่มนุษย์คนหนึ่งจะได้เกิดมา แล้วท่านคิดว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไร ? กว่าที่ศีรษะเต่าซึ่งร้อยปีโผล่ขึ้นมาครั้งหนึ่งจะสวมกับแอกได้พอดี
ประการที่สอง กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ การดำรงชีวิตอยู่รอดมาถึงปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ยากเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าชีวิตคนอยู่ที่ลมหายใจเดียวเท่านั้น หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตายแล้ว หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตายอีกเช่นกัน กว่าจะมาถึงปัจจุบัน เรามีโอกาสตายมากจนนับไม่ถ้วน..!
ประการที่สาม กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ การที่จะได้ฟังธรรมนั้นเป็นเรื่องที่แสนยาก เพราะว่ากว่าจะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏขึ้นมานั้น อย่างน้อยต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป
ถ้าเราจะนับอายุมหากัปก็ต้องเริ่มจาก ๑ รอบอันตรกัป ก็คือระยะเวลาที่เราตั้งเลข ๑ ขึ้นมา แล้วต่อด้วยเลข ๐ จำนวน ๑๔๐ ตัว ระยะเวลาที่ยาวนานไป บุคคลมีความชั่วแทรกเข้ามาทีละเล็กทีละน้อย อายุขัยของมนุษย์ก็ลดลงไปเรื่อย ผ่านไป ๑๐๐ ปีลดลง ๑ ปี ผ่านไป ๑๐๐ ปีลดลง ๑ ปี
จากเลข ๑๔๑ หลักลดลงมาถึงเลข ๒ หลัก คือ ๑๐ ปีโดยประมาณ แล้วเกิดมิคสัญญีฆ่าฟันกัน ชนิดที่จดจำกันไม่ได้ว่าใครเป็นพ่อแม่พี่น้อง บุคคลที่เกิดความสลดใจก็หันไปรักษาศีล เจริญภาวนา เมื่อความดีเกิดขึ้นก็ลักษณะเดียวกันว่า ระยะ
เวลาผ่านไป ๑๐๐ ปี อายุก็เพิ่มขึ้น ๑ ปี ผ่านไป ๑๐๐ ปี อายุก็เพิ่มขึ้น ๑ ปี จนกระทั่งอายุขัยมนุษย์กลับไปยั่งยืนด้วยตัวเลข ๑๔๑ หลักเท่าเดิม จากสูงสุดลงมาต่ำสุด จนย้อนกลับไปสูงสุด เรียกว่า ๑ รอบอันตรกัป เป็นเวลาที่ยาวนานจนนับไม่ได้..!
อรรถกถาจารย์เปรียบไว้ว่าเหมือนมีถังเหล็กใบหนึ่ง กว้าง ๑ โยชน์ ยาว ๑ โยชน์ สูง
๑ โยชน์ ก็คือด้านละ ๑๖ กิโลเมตร เพราะว่าโยชน์หนึ่งมี ๔๐๐ เส้น หนึ่งเส้นมี ๒๐ วา เท่ากับด้านหนึ่ง ๘,๐๐๐ วา เทียบเท่า ๑๖,๐๐๐ เมตร คือ ๑๖ กิโลเมตร..! ระยะเวลา ๑๐๐ ปี เอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ละเอียดเหมือนทรายละเอียดที่กรองดีแล้วหย่อนลงไปเมล็ดหนี่ง ๑๐๐ ปีผ่านไปหย่อนลงไปเมล็ดหนึ่ง เมล็ดพันธุ์ผักกาดเต็มถังนั้นแล้วยังไม่ได้ ๑ รอบอันตรกัปดี แล้วท่านทั้งหลายคิดว่าจะมีโอกาสหย่อนเมล็ดแรกไหม ?
แล้วจากนั้น ๑ รอบอันตรกัปที่ยาวนานขนาดนั้น ๖๔ รอบอันตรกัปจึงเท่ากับ ๑ อสงไขยกัป ๔ อสงไขยกัปจึงเท่ากับ ๑ มหากัป เท่ากับว่า ๑ มหากัปท่านจะต้องหย่อนเมล็ดพันธุ์ผักกาดให้เต็มถังมหายักษ์นั้น ๒๕๖ ถัง..! แค่เศษของการปฏิบัติเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าแสนมหากัป เราก็ไม่ทราบว่ายาวนานเท่าไร แล้วนี่ยังเป็นอสงไขยของแสนมหากัปอีก..!
คำว่า อสงไขย หรือ อสังขยา ที่แปลว่านับประมาณไม่ได้ เป็นเพราะว่าเราใช้ชีวิตมนุษย์ แม้กระทั่งเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดแรกเราก็อยู่ไม่ถึงที่จะหย่อนลงไป เราจึงนับไม่ได้ แต่พรหมเทวดาท่านอายุขัยยืนยาวมาก โดยเฉพาะถ้าหากว่าเป็นพรหมชั้นท้าย ๆ ท่านสามารถนับได้ หรือผู้ที่ทรงอภิญญาสมาบัติ ใช้ความเป็นทิพย์สามารถคำนวณได้ ระยะเวลาที่ยาวนานปานนั้นกว่าจะมีพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นมาพระองค์หนึ่ง
จึงเข้ากับข้อสุดท้ายที่ว่า กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท การเกิดของพระพุทธเจ้านั้นยากเป็นที่สุด
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๗
โฆษณา