2 ม.ค. เวลา 13:32 • ข่าว
ซอย ลาดพร้าว 15

ว้าวปี 2025 สะพานกลับรถเคเบิล แห่งแรกในโลก สร้างบนถนนมิตรภาพฟังก์ชั่นใช้งานครบ

พาไประเบิดความว้าวววว….กรมทางหลวง ปี 2025 สร้างสะพานกลับรถเคเบิล “แห่งแรกในโลก” แทนเสาตอม่อ สร้างเร็ว ปลอดภัยลดเสี่ยงอันตราย 400 ล้าน ฟังก์ชั่นใช้งานครบทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ คนเดิน บนถนนมิตรภาพ
นอกจากซ่อมบำรุงดูแลรักษาสายทางแล้ว ยังสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านงานทางที่แฝงมิติความสวยงาม เท่ๆ เก๋ๆ แบบอันลิมิเต็ด ปีใหม่นี้ กรมทางหลวงจะเพิ่มความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ใช้เส้นทางด้วยความสดใหม่ก่อสร้างสะพานกลับรถเคเบิลแบบแนวโค้ง (Horizontal curve cable-stayed bridges) แห่งแรกของโลก บนทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) บริเวณ กม.8-9 พื้นที่บ้านหลุบเลา ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เวอร์ชั่นไอคอนิกใช้เคเบิลรับแรงแทนเสาตอม่อไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อเรียกเสียงฮือฮา แต่มาจากหลักการด้านความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ
พาย้อนไปดูที่มาเรื่องนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ได้สัมภาษณ์อธิบดีทางหลวงคนที่ 33 นายสราวุธ ทรงศิวิไล (เกษียณราชการเมื่อ ก.ย. 2567) เล่าให้ฟังว่า กรมทางหลวงมีสะพานบนโครงข่ายทั่วประเทศ 17,219 แห่ง แบ่งตามฟังก์ชั่นการใช้งาน เป็นสะพานข้ามคลอง/ลำห้วย/บึง/อ่างเก็บน้ำ 15,765 แห่ง สะพานข้ามแม่น้ำ 761 แห่ง สะพานข้ามทางแยก/ถนน 376 แห่ง สะพานข้ามทางรถไฟ 156 แห่ง สะพานกลับรถ (เกือกม้า) กว่า 120 แห่ง และสะพานทางแยกต่างระดับ 41 แห่ง
ครั้งนั้น อธิบดีฯ สราวุธ บอกว่า ….การก่อสร้างสะพานเกือกม้าแบบเดิมที่มีเสาตอม่อกลางถนน ใช้เวลาก่อสร้างนานเสี่ยงอันตรายมากทั้งกับผู้ก่อสร้างและผู้ใช้รถใช้ถนน เนื่องจากการจราจรหนาแน่นและติดขัด เสียพื้นที่นั่งร้าน ได้ให้โจทย์สำนักสำรวจและออกแบบ แสดงศักยภาพการออกแบบวิศวกรรมทางหลวงหานวัตกรรมใหม่ๆ ทำอย่างไร? ให้ไม่มีเสากลางถนน รถที่ผ่านไปมามีทัศนวิสัยที่ดี รู้สึกปลอดภัย กรณีรถเสียหลักจะไม่ชนเสากลางถนน
“นายสมบูรณ์ เทียนธรรมชาติ” ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและออกแบบ บอกถึงจุดลงตัวในวันนี้ว่า โมเดลสะพานเกือกม้าใช้เคเบิลรับน้ำหนักโครงสร้างแทนเสาตอม่อ ออกแบบเสร็จแล้ว ได้แท็กทีมผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจและจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนพร้อมก่อสร้างเร็วๆ นี้ เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ด้วย
วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานออกแบบโครงสร้างที่ 1 “ดร.สุกิจ ยินดีสุข” เจ้าของงานดีไซน์ชวนทึ่ง…..ให้รายละเอียดว่า โจทย์คือการก่อสร้างสะพานกลับรถแบบไม่มีเสากลางถนนเพื่อเซฟความปลอดภัย ด้านข้างยกพื้นสะพานด้วยเคเบิล (สลิง) แต่มีค่าก่อสร้างสูงกว่าสะพานแบบมีเสาตอม่อ จึงต้องเลือกพื้นที่ก่อสร้างและพิจารณาหลายองค์ประกอบ อาทิ จุดนี้เป็นชั้นดินแข็ง พื้นที่เขตทาง 60 เมตร มีความเหมาะสมในการใช้เคเบิ้ลยกน้ำหนัก ออกแบบเพื่อดึงการใช้งานให้ครบทั้ง 3 โหมด คือ รถยนต์ทุกประเภท รถจักรยานยนต์ (จยย.) ที่มักย้อนศร รวมทั้งคนเดินข้าม และให้เข้าถึงภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ การรับฟังความเห็น 3 ครั้งผ่านไปได้ด้วยดี ลงตัวด้วยงบประมาณที่ใกล้เคียงรูปแบบเดิม 400 ล้านบาท กำลังคำนวณรายละเอียดราคา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเดือน เม.ย. 2568 ใช้เวลา 1,080 วัน เสร็จประมาณปี 71
เมื่อถามถึงไอเดียเฉียบ นับเป็นแห่งแรกในโลกได้หรือไม่??.…ดร.สุกิจ แจกแจงว่า สะพานกลับรถเวอร์ชั่นใหม่มาจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 ที่มุกดาหารข้ามแม่น้ำโขง รวมทั้งเทคนิคจากหลายประเทศที่ได้ศึกษาโดยดึงจุดเด่นนำมาต่อยอด ในเชิงวิศวกรรมสะพานกลับรถแบบเคเบิล ถือว่าเป็นสะพานเคเบิลแบบแนวโค้ง (Horizontal curve cable-stayed bridges) เป็นการออกแบบที่รวมข้อได้เปรียบของการใช้ระบบเคเบิลมาช่วยรับน้ำหนักสะพานและรถยนต์ พร้อมพิจารณาให้ตอบโจทย์ด้านความสวยงาม ความโดดเด่นและเพิ่ม value ของพื้นที่ ตัวอย่างสะพานเคเบิลที่อยู่ในแนวโค้งราบได้แก่ สะพาน Terenez Bridge ประเทศฝรั่งเศส
สะพาน Katsushika Harp Bridge ญี่ปุ่น สะพาน Ponte Del Mare อิตาลี สะพาน Santa Maria De Benquerencia Bridge สเปน ส่วนใหญ่ให้รถยนต์และคนเดินข้ามฝั่ง หากพิจารณาด้านฟังก์ชั่นการใช้กลับรถ นับได้ว่าเป็นสะพานกลับรถแบบโค้งในแนวราบออกแบบรับแรงโดยระบบเคเบิลแห่งแรกในโลกได้
สุดยอดฝีมือ วิศวกรไทยเจ๋งไม่แพ้ชาติใดในโลก ….สวัสดีปีใหม่ 2025 ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการใช้ชีวิต ว้าวแล้วว้าวอีกด้วยความสดใส และปลอดภัยทุกการเดินทาง
โฆษณา