11 ม.ค. เวลา 12:41 • ประวัติศาสตร์

พระประวัติสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประสูติเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2403 ณ พระตำหนักที่ประทับเดิมของสมเด็จพระศรีสุลาลัย ภายในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสมโภชขึ้นเมื่อพระชันษาได้ 3 วัน และสมโภชเดือน ตามลำดับ ณ พระตำหนักที่ประสูติ
พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีมีพระโสทรเชษฐาและพระโสทรเชษฐภคินีรวม 3 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ชาววังมักเอ่ยพระนามอย่างลำลองว่า"สมเด็จพระราชปิตุลาฯ" ส่วนชาวบ้านมักออกพระนามว่า "สมเด็จวังบูรพา" เพราะทรงมีวังชื่อว่า"วังบูรพาภิรมย์" ซึ่งก็คือตำแหน่งที่เป็นย่านวังบูรพาในปัจจุบัน ตามพระประวัตินั้น ทรงเป็นจอมพลในรัชกาลที่ 7 ที่ทหารรักมาก เล่ากันมาว่าพวกทหารมักจะแบกพระองค์ท่านขึ้นบนบ่าแห่แหนในวาระที่มีการฉลองต่างๆ เป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์
ทรงเริ่มต้นการศึกษาเล่าเรียนในสำนักของครูผู้หญิงแล้วทรงเริ่มศึกษาด้วยพระองค์เองเรื่อยมา หลังจากนั้นจึงทรงเล่าเรียนหนังสือขอมและบาลีที่สำนักพระยาปริยัตติธรรมธาดา(เปี่ยม) เมื่อผนวชเป็นสามเณร พระองค์ทรงวิชาทางพุทธศาสตร์ในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ณ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
หลังจากนั้น พระองค์ทรงศึกษาวิชาการทหารในสำนักกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ตั้งแต่ พ.ศ. 2415 และทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษในสำนักของมิสเตอร์ เอฟ.ยี. แปตเตอร์ซัน ที่โรงเรียนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมประตูพิมานไชยศรีชั้นนอกภายในพระบรมมหาราชวัง และทรงเรียนวิชาภาษาไทยเพิ่มเติมจากสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) รวมทั้งศึกษาแบบอย่างราชการพระราชประเพณีในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
พระองค์ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ รับราชการทหารครั้งแรกในตำแหน่งนายทหารพิเศษแต่งเครื่องยศชั้นนายร้อยโท กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสสิงคโปร์(ครั้งที่ 2) และพม่าส่วนของอังกฤษตลอดประเทศอินเดีย รวมทั้งหัวเมืองขึ้นของกรุงสยามตามชายทะเลฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู
ต่อมาในปี พ.ศ. 2431 ได้รับพระราชทายศเป็น นายพลเอก ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญเช่น รัฐมนตรีและองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องคมนตรีและนายกองเอกในกองเสือป่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อภิรัฐมนตรี และองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนาบดีกระทรวงกลาโหม จเรทัพบก จเรทหารทั่วไป ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นต้น
พระกรณียกิจสำคัญ คือ ทรงร่วมจัดทำและส่งหนังสือ COURT และ หนังสือข่าวราชการ ของคนส่งหนังสือที่ทำหน้าที่รับส่งจดหมายระหว่างสมาชิกด้วย นับเป็นจุดเริ่มของการมี บุรุษไปรษณีย์ และการใช้แสตมป์ติดบนจดหมายที่สมาชิกของหนังสือ COURT และหนังสือข่าวราชการส่งถึงกัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้มีการไปรษณีย์และโทรเลขขึ้นในประเทศไทย ทรงเห็นว่าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มีพระทัยใส่ในเรื่องการไปรษณีย์
จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ตั้งกรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข ขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ทรงได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข เป็นพระองค์แรกของประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ทั้ง 2 กรมนี้ได้รวมเป็นกรมเดียวกัน มีชื่อใหม่ว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข
สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประชวรพระโรคพระอันตะอักเสบมาหลายวัน จนเสด็จทิวงคตในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2471 เวลา 18.27 น. ณ ตำหนักวังบูรพาภิรมย์ สิริพระชันษา 68 ปี 153 วัน
โฆษณา