Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
24 ม.ค. เวลา 14:05 • ครอบครัว & เด็ก
ฟ้องชู้ยังไงให้ได้เงินล้าน ศาลใช้อะไรพิจารณาคดี
เปิดกฎหมาย "ฟ้องชู้" เกณฑ์พิจารณาค่าทดแทนในคดี - ค่าทนาย - อิงจากอะไร
ในยุคที่ความรักดูเหมือนจะเปราะบางกว่าที่เคย ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียนกรมการปกครองมีการเก็บสถิติการจดทะเบียนหย่าร้างประจำปี พ.ศ. 2567 พบว่ามีการหย่าร้างเกิดขึ้นถึง 147,621 ครั้งทั่วประเทศ แม้จะดูเหมือนเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของชีวิตคู่ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจำนวนการจดทะเบียนสมรสในปีเดียวกันที่อยู่ที่ 263,087 คู่ แสดงให้เห็นว่ามากกว่า 44% ของคู่สมรสใหม่ มีโอกาสเผชิญกับปัญหาที่อาจนำไปสู่การหย่าร้าง
ข้อมูลจาก คุณสุทธินี เมธีประภา อดีตนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ไว้กับสำนักข่าวไทยรัฐไว้ว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้คู่สมรสแยกทางกัน คือ การนอกใจ ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับ 2 รองจากความรุนแรงในครอบครัว และใกล้เคียงกันในแง่ของความถี่
แม้เรื่องการนอกใจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติในบางมุมมอง แต่ในบริบทของกฎหมายไทย การฟ้องร้องในคดีที่เรียกกันว่า “คดีฟ้องชู้” กลับมีความชัดเจนทั้งในแง่เกณฑ์การพิจารณา และการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ หลักเกณฑ์เหล่านี้มีอะไรบ้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายและขั้นตอนในการดำเนินคดี มาไขข้อสงสัยไปพร้อมกัน
[ 🧐ฟ้องชู้ คืออะไร สมรสเท่าเทียมฟ้องชู้ได้ไหม? ]
สำหรับการฟ้องชู้นั้น แต่เดิมถ้าเป็นผู้หญิงต้องมีลักษณะที่ชู้ผู้หญิง นำสามีของตนไปเปิดตัวในที่สาธารณะ แต่ถ้าชายผู้เป็นสามี จะฟ้องร้องผู้หญิง แค่ภรรยาไปอยู่บ้านชายชู้ก็สามารถฟ้องร้องได้
จนกระทั่งเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ และร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม การฟ้องร้องชู้จะเปลี่ยนไป คือ
- ทั้งชายและหญิง ถ้ามีชู้จะต้องมีการเปิดตัวในที่สาธารณะ จึงจะเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าทดแทนได้
- เมื่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม บังคับใช้ ชู้ที่เป็นเพศเดียวกันกับสามีหรือภรรยา สามารถฟ้องได้ เช่นกัน ไม่ว่า ชู้จะเป็นทอมกับภรรยา ฝ่ายชายสามารถฟ้องร้องได้ แต่ทางเดียวกัน ถ้าชู้เป็นเกย์มาคบกับสามีเรา ภรรยาก็สามารถฟ้องได้
- หลักฐานสำคัญ ต้องมีรูปถ่ายยืนยันว่า ฝ่ายที่ถูกร้องเรียนควงชู้ไปเปิดตัวที่สาธารณะในหลายสถานที่
- ศาลจะถามหาหลักฐานว่า ทั้งสองคนได้คบกันในฐานะชู้สาว หรือมีเพศสัมพันธ์กัน เช่น มีแชตคุยกันถึงการเข้าโรงแรม หรือมีเพศสัมพันธ์อย่างชัดเจนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม "การฟ้องชู้" สามารถกระทำโดยไม่ฟ้องหย่า และสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนได้
[ 🗂️ หลักเกณฑ์ 10 ข้อที่ศาลใช้พิจารณกำหนดเงินค่าทดแทนในคดีฟ้องชู้ ]
ข้อมูลนี้อ้างอิงมาจากบล็อกของ ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ (srisunglaw .com) สำหรับการเรียกค่าแทนในคดีฟ้องชู้นั้น ตามกฎหมายจะอิงจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 ประกอบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1525
📍ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 บัญญัติไว้ว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทน จากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ แล้วแต่กรณี
สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
📍 ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
📍มาตรา 1525 ค่าทดแทนตาม มาตรา 1523 และ มาตรา 1524 นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่ง ชำระเป็นงวด ๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาล คำนึงถึงจำนวนทรัพย์สิน ที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรส เพราะ การหย่านั้นด้วย
โดย ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ ได้สรุปหลักเกณฑ์โดยสังเขป ที่ศาลนำมาใช้วินิจฉัยกำหนดค่าทดแทนในคดีฟ้องชู้ และพยานหลักฐานที่นำมาใช้สืบประกอบจากตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกา และตำรากฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว ของปรมาจารย์ทางกฎหมายหลายท่าน เช่น ท่านอาจารย์ประสพสุข บุญเดช ท่านอาจารย์ชาติชาย อัครวิบูรย์ และประสบการณ์ทำงานของท่านเองนั้น พบว่าสิ่งที่นำมาใช้ประกอบการเพื่อกำหนดเงินค่าทดแทนในคดีฟ้องชู้ มีอยู่ราวๆ 10 ข้อด้วยกัน
1.ฐานะทางสังคมและอาชีพการงาน การศึกษาของทุกฝ่าย ทั้งสามี ภริยา และตัวชู้
- อาชีพและการศึกษายิ่งสูงยิ่งมีโอกาสในการกำหนดค่าทดแทนสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น ฝ่ายที่มีชู้ หรือคู่สมรสมีการศึกษาสูงมาก หรือจบในวิชาชีพสาขากฎหมายที่จำเป็นต้องทำงานที่ต้องเป็นที่เชื่อถือของสังคมเช่นนิติศาสตร์ แพทย์เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่จะต้องรู้จักผิดชอบชั่วดีมากกว่าบุคคลอื่น
- เป็นที่รู้จักทางสังคมแค่ไหน บางอาชีพนั้นเป็นที่รู้จักของสังคมอย่างกว้างขวาง เช่นนักการเมือง ดารานักแสดง นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร อาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เป็นชู้ขึ้นแล้วย่อมเป็นที่รู้ของวงสังคมระดับกว้างขวาง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมาก และศาลก็จะกำหนดค่าเสียหายให้สูงขึ้นเช่นกัน
- มีรายได้เป็นอย่างไร รายได้ของคู่ความที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่ศาลจะนำมาประกอบว่า ควรจะกำหนดค่าทดแทนเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่
- ถ้าคู่กรณีทุกฝ่ายมีรายได้ไม่เยอะมาก เช่น ทั้งชู้และคู่สมรส เป็นพนักงานบริษัท มีเงินเดือนเพียงเดือนละ 15,000 บาท ศาลก็อาจจะกำหนดค่าทดแทนเป็นจำนวนไม่สูงมาก
พยานหลักฐานที่ใช้นำสืบ เช่น หนังสือรับรองการทำงาน สลิปเงินเดือน, วุฒิการศึกษา, หลักฐานแสดงการประกอบธุรกิจ เช่นหนังรับรองบริษัท, หลักฐานอื่นๆที่แสดงถึงรายได้ เช่น หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินและธุรกิจ, หลักฐานที่แสดงถึงฐานะทางสังคม เช่นการเป็นผู้นำชุมชน (หนังสือรับรองตำแหน่ง) นักการเมือง ดารานักแสดง
2.ระยะเวลาว่าแต่งงานกันมานานแค่ไหน ?
กรณีที่คู่สมรสแต่งงานกันมาเป็นเวลานาน เช่น แต่งงานกันมาเป็นเวลา 20 ปี มีครอบครัวมั่นคง ในกรณีเช่นนี้ หากมีพฤติการณ์เป็นชู้เกิดชึ้นและทำให้ครอบครัวแตกแยก ค่าทดแทนที่จะได้รับย่อมจะสูงกว่ากรณีที่คู่สมรสเพิ่งแต่งงานกันมาเป็นเวลาไม่นาน
นอกจากนี้ คู่สมรสบางคู่ที่แม้เพิ่งจะจดทะเบียนสมรสไม่นาน แต่ได้อยู่กินร่วมกันมานานแล้ว ก็ควรนำสืบถึงกรณีที่เคยอยู่กินร่วมกันมาก่อนจดทะเบียนสมรสมาเป็นเวลานานด้วย
3.มีการจัดงานแต่งงานกันหรือไม่ ? จัดงานเล็กหรือจัดงานใหญ่
รูปแบบการจัดงานแต่งงานเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ศาลนำมาประกอบการพิจารณากำหนดค่าทดแทนในคดีหย่า
เนื่องจากเมื่อมีการจัดงานแต่งงานอย่างยิ่งใหญ่ เช่น มีแขกผู้มีเกียรติ เป็นนักการเมือง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาร่วมงานจำนวนมาก การที่คู่สมรสต้องหย่าเพราะมีชู้ จะส่งผลให้เกิดความอับอายต่อสาธารณชนมากกว่า เนื่องจากมีพยานรู้เห็นการสมรสจำนวนมาก ศาลจะพิจารณากำหนดค่าทดแทนในอัตราที่สูงขึ้น เพราะความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติยศมีมากกว่า
กรณีไม่จัดงานแต่งฝ่ายจำเลยสามารถใช้เป็นข้อต่อสู้เพื่อขอลดค่าทดแทนได้ เนื่องจากความเสียหายต่อชื่อเสียงและความอับอายมีน้อยกว่า เพราะไม่มีพยานรู้เห็นการสมรสมากนัก
4. มีลูกด้วยกันหรือไม่ ?
การมีชู้ในกรณีที่คู่สมรสมีบุตรด้วยกันนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อครอบครัวและตัวบุตรโดยตรง โดยเฉพาะในกรณีที่บุตรยังอยู่ในวัยเยาว์ ความแตกแยกของครอบครัวส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพจิตใจของบุตร ทั้งความเสียใจ ความอับอาย และความรู้สึกถูกทอดทิ้ง
นอกจากผลกระทบทางด้านจิตใจแล้ว บุตรยังอาจได้รับผลกระทบในแง่ของการขาดการดูแลเอาใจใส่จากฝ่ายที่มีชู้ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเติบโตขึ้นมาพร้อมกับปมด้อยและบาดแผลทางจิตใจที่ยากจะเยียวยา การขาดความอบอุ่นและการอุปการะเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมอาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเติบโตของเด็กในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงมักพิจารณากำหนดค่าทดแทนในอัตราที่สูงขึ้นสำหรับกรณีที่คู่สมรสมีบุตรด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบุตรยังอยู่ในวัยเยาว์ เมื่อเทียบกับกรณีที่คู่สมรสไม่มีบุตร เพื่อให้สอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวโดยรวม และเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่ต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้เป็นบิดามารดา
5.ความสัมพันธ์ในครอบครัวก่อนเกิดเหตุการณ์มีชู้ เป็นอย่างไร ?
- กรณีแรก ครอบครัวที่มีความรักความอบอุ่น คู่สมรสใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขมาเป็นเวลานานโดยไม่เคยมีการนอกใจ เมื่อมีบุคคลที่สามเข้ามาทำลายครอบครัวจนแตกแยก ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายทางจิตใจอย่างรุนแรง ศาลมักจะพิจารณากำหนดค่าทดแทนในอัตราที่สูง ทนายความฝ่ายโจทก์จึงควรนำสืบให้เห็นถึงความอบอุ่นและความสุขของครอบครัวก่อนที่จะมีการนอกใจเกิดขึ้น
- กรณีที่สอง ครอบครัวที่มีปญหาความสัมพันธ์อยู่เดิม อาจเป็นกรณีที่แยกกันอยู่มานาน มีการทะเลาะวิวาทเป็นประจำ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีพฤติกรรมนอกใจหรือมีภรรยาน้อยอยู่แล้ว ในกรณีเช่นนี้ ศาลมักจะกำหนดค่าทดแทนในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากการมีชู้มิได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ครอบครัวแตกแยก แต่ครอบครัวมีปัญหามาก่อนแล้ว ทนายความฝ่ายจำเลยควรนำสืบให้เห็นถึงปัญหาครอบครัวที่มีมาก่อนเพื่อขอลดค่าทดแทน
6.พฤติการณ์ในการเป็นชู้ เปิดเผยแค่ไหน ?
- ลักษณะแรก หากเป็นการมีความสัมพันธ์แบบปกปิด โดยคู่ชู้พยายามรักษาความลับและหลีกเลี่ยงการเปิดเผยต่อสาธารณะ มีการพบปะกันอย่างมิดชิดตามสถานที่ส่วนตัว ไม่มีการประกาศความสัมพันธ์หรือแสดงออกต่อสาธารณะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในกรณีเช่นนี้ ศาลมักจะกำหนดค่าทดแทนในอัตราที่ต่ำกว่า เนื่องจากพฤติการณ์ไม่ได้ก่อให้เกิดความอับอายต่อสาธารณชนมากนัก
- ลักษณะที่สอง เป็นการมีความสัมพันธ์อย่างเปิดเผยโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายหรือศีลธรรม เช่น การโพสต์รูปคู่แสดงความรักบนสื่อสังคมออนไลน์ การพาไปแสดงตัวในที่สาธารณะหรือสถานบันเทิง การแนะนำให้เพื่อนร่วมงานหรือครอบครัวรู้จัก หรือในบางกรณีถึงขั้นจัดงานแต่งงาน หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อคู่สมรสที่ถูกตัด กรณีเช่นนี้ศาลจะพิจารณากำหนดค่าทดแทนในอัตราที่สูง เพราะถือเป็นการละเมิดที่รุนแรงและก่อให้เกิดความอับอายต่อคู่สมรสอย่างมาก
7.เป็นชู้กันมานานแค่ไหน ?
- กรณีแรก การมีความสัมพันธ์ในระยะเวลาสั้น เช่น เพียงไม่กี่สัปดาห์หรือหนึ่งเดือน ในกรณีเช่นนี้ศาลมักจะพิจารณากำหนดค่าทดแทนในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคู่สมรสและครอบครัวยังไม่รุนแรงมากนัก
- กรณีที่สอง การมีความสัมพันธ์เป็นระยะเวลายาวนานหลายปี ในกรณีนี้นอกจากความเสียหายทางจิตใจที่สะสมมายาวนานแล้ว ยังอาจมีการถ่ายเทผลประโยชน์ทางทรัพย์สินจากคู่สมรสไปยังชู้เป็นจำนวนมาก ศาลจึงมักจะกำหนดค่าทดแทนในอัตราที่สูง
8. ฝ่ายชู้ รู้หรือไม่ว่าอีกฝ่ายมีคู่สมรสอยู่แล้ว ?
การรู้หรือไม่รู้ของชู้เกี่ยวกับสถานภาพการสมรสของคู่สัมพันธ์มีผลต่อการพิจารณาค่าทดแทนของศาล แม้ว่าตามกฎหมายแล้วชู้จะต้องรับผิดไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม
- กรณีแรก คือ การเป็นชู้โดยไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีคู่สมรสอยู่แล้ว อาจเกิดจากการถูกหลอกลวงว่าอีกฝ่ายเป็นโสด หรือเกิดจากพฤติการณ์ที่ทำให้เข้าใจผิดได้ เช่น คู่สมรสไม่ได้อยู่ด้วยกันเนื่องจากภาระงาน ในกรณีเช่นนี้แม้จะต้องรับผิดตามกฎหมาย แต่เนื่องจากไม่มีเจตนาชั่วร้ายหรือจงใจฝ่าฝืนศีลธรรม ศาลมักจะกำหนดค่าทดแทนในอัตราที่ต่ำ อาจเป็นเพียงหลักหมื่นบาท
- กรณีที่สอง คือ การเป็นชู้ทั้งที่รู้ว่าอีกฝ่ายมีคู่สมรสอยู่แล้ว แต่ยังจงใจเข้าไปมีความสัมพันธ์ด้วย พฤติการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและไม่คำนึงถึงศีลธรรมอันดี ศาลจึงมักจะกำหนดค่าทดแทนในอัตราที่สูง
9.หลังจากถูกจับได้แล้ว มีพฤติการณ์สำนึกผิดหรือไม่ ?
- กรณีแรก เมื่อถูกจับได้แล้วมีความสำนึกผิด โดยทั้งคู่สมรสที่มีชู้และตัวชู้ยุติความสัมพันธ์ทันที และแสดงความจริงใจในการขอโทษขอขมาต่อคู่สมรสที่ถูกนอกใจ พฤติกรรมเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความสำนึกผิดและความพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์ ศาลจึงมักจะพิจารณากำหนดค่าทดแทนในอัตราที่ต่ำลง
- กรณีที่สอง เมื่อถูกจับได้แล้วยังคงมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความไม่สำนึกผิด เช่น ยังคงมีความสัมพันธ์ต่อกัน มีการระรานหรือกลั่นแกล้งคู่สมรสที่ถูกนอกใจ พยายามบีบบังคับให้หย่าขาดจากกัน หรือพยายามทำลายความสัมพันธ์ของคู่สมรสเพื่อผลประโยชน์ของตน พฤติการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพความรู้สึกของผู้อื่นและไม่มีความสำนึกผิดในการกระทำของตน ศาลจึงมักจะกำหนดค่าทดแทนในอัตราที่สูง
1
10.มีการฟ้องหย่าประกอบด้วยหรือไม่ ? อีกฝ่ายได้ทรัพย์สินจากการฟ้องหย่าไปด้วยหรือไม่ ?
ประเด็นนี้จะเป็นไปตามข้อกฎหมายคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1525 วรรคสอง ที่วางหลักว่า หากคู่สมรสมีการฟ้องหย่าประกอบการฟ้องชู้ด้วยนั้น ต้องดูว่ามีการแบ่งทรัพย์สินกันเป็นอย่างไร
เช่น สามีมีชู้ ภรรยาจึงฟ้องหย่าพร้อมกับฟ้องชู้ และภรรยาได้รับส่วนแบ่งสินสมรสประมาณ 20 ล้าน ในคดีฟ้องหย่า ในกรณีฟ้องชู้เรียกค่าทดแทน ศาลอาจจะกำหนดค่าทดแทนให้ต่ำลง เพราะเห็นว่าฝ่ายภรรยาได้ทรัพย์สินสมรสไปส่วนหนึ่งแล้ว
[ 🧑⚖️ค่าทนายในคดีฟ้องชู้อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ]
ค่าทนายในการฟ้องชู้จะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของคดี, พยานที่มี, ระยะทางการเดินทางของทนาย, จำนวนค่าชดหรือค่าเสียหายที่ฟ้องร้อง
จากการสำรวจค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย เพื่อดำเนินคดีฟ้องชู้จะอยู่ที่ราวๆ 30,000 - 50,000 บาท
[ 🗃️ ยอดเงินค่าทดแทนในคดีฟ้องชู้ ฟ้องได้ทีละประมาณเท่าไหร่ ]
จำนวนเงินสูงสุด สูงสุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาเริ่มตั้งแต่ 100,000 – 3,000,000 บาท
โดยรายการฟ้องร้องดำเนินคดีที่จำนวนเงิน ‘100,000 - 300,000 บาท’ น่าจะเป็นตัวเลขที่พบบ่อย ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง หรือคู่สมรสไม่ได้มีหน้าตาหรือฐานะทางสังคมนะ เพราะหากยื่นฟ้องที่ตัวเลขดังกล่าวแล้ว ฝ่ายโจทก์จะเสียค่าธรรมเนียมศาลเพียงแค่ 1,000 บาทเท่านั้น
ในกรณีที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีหน้าตาทางสังคมหรือมีฐานะทางสังคมสูง หรือพฤติกรรมการเป็นชู้ที่มีความร้ายแรงตัวเลขที่จะยื่นฟ้องก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทหรือสูงกว่านั้น และโจทย์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 ของยอดเงินที่ฟ้องคดี
🧐อย่างไรก็ตาม การฟ้องชู้ ถือเป็นคดีแพ่ง ต้องพิจารณาคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว โดยกระบวนพิจารณาจะเน้นการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความกัน มากกว่าการจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด
ที่มา:
- ฟ้องชู้ เรียกเงินได้เท่าไหร่ มีขั้นตอนอย่างไร รวม 10 หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ ในการฟ้องชู้ ฉบับสมบูรณ์
https://shorturl.at/kxxd3
- ผ่าน กม. "สมรสเท่าเทียม" แล้ว "ฟ้องชู้" ไม่ได้จริงหรือ ? | รู้ทันกันได้
https://youtu.be/lCdvmJqbGZE?si=aYDUhV9hDRprj9Rx
- กราฟแสดงผลข้อมูลการจดทะเบียนหย่า สูงสุด 5 จังหวัด ประจำปี พ.ศ.2567
https://stat.bora.dopa.go.th/stat/GENSTAT/STATFAM/#/marry
-ดับฝันเมียน้อย ทนายฟ้องชู้ แนะหลักฐานดิ้นไม่หลุด ซุกเพศเดียวกัน กฎหมายใหม่ไม่เว้น
https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2794571
#aomMONEY #ฟ้องชู้ #การเงินส่วนบุคคล #การเงินคู่สมรส #หย่าร้าง
2 บันทึก
6
3
2
6
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย