27 ม.ค. เวลา 14:30 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Perfect Days เงินน้อยก็สุขได้ ถ้ามองเห็นค่าความเรียบง่าย

3 บทเรียนการเงินจากหนังที่ถ่ายทอดชีวิตอันแสนเรียบง่าย ในโลกที่เร่งรีบและแข่งขัน
Perfect Days (หยุดโลกเหงาไว้ตรงนี้) เป็นหนังรางวัลอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังจะเปิดให้ดูใน Netflix และหลายๆคนก็รอที่จะได้ดูหนังเรื่องนี้อีกครั้ง aomMONEY ก็อดไม่ได้ที่จะเอาหนังเรื่องนี้มาเล่าและสอดแทรกบทเรียนทางการเงินที่นึกขึ้นได้ระหว่างดูมานำเสนอให้คนอ่านได้อินไปกับเรา 😅
Perfect Days เป็นหนังที่กำกับโดยผู้กำกับชาวเยอรมัน วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) วัย 78 ซึ่งนอกจากจะเป็นหนังที่ได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ เช่น รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัล Festival de Cannes ปี 2023, รางวัลจากเวที Tokyo International Film Festival หรือเข้ารอบสุดท้ายเป็นตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังนานาชาติ ปี 2023 ที่ผ่านมา
Perfect Days ยังทำสถิติเป็นหนังที่สร้างรายได้สูงสุดของผู้กำกับชาวเยอรมันคนนี้ด้วย
[ หนังเรื่องนี้พูดถึงอะไร? 🎬 ]
ในโลกที่เร่งรีบและแข่งขัน ทุกคนต่างตามหาความสำเร็จ ความร่ำรวย และสถานะทางสังคม แต่ “Perfect Days” ภาพยนตร์ของวิม เวนเดอร์ส กลับพาเราไปสัมผัสชีวิตที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของฮิรายามะ ชายวัยใกล้เกษียณที่ทำงานขัดห้องน้ำในโตเกียว ผู้มีชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายและเต็มไปด้วยความสุขเล็กๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แสดงโดยโคจิ ยาคุโช (Kōji Yakusho) นักแสดงเจ้าบทบาทชาวญี่ปุ่นที่ภายหลังได้รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากหนังเรื่องนี้ทั้ง รางวัล Cannes Best Actor Award และ Asian Film Award for Best Actor
แม้หนังจะไม่ได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเงินโดยตรง แต่หากพิจารณาให้ดี เรื่องราวของฮิรายามะกลับสะท้อนข้อคิดที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับ “ความมั่งคั่งที่แท้จริง” และวิธีที่เราควรมองและจัดการกับทรัพยากรในชีวิตของเรา
[ เรื่องย่อ 🧐 ]
Perfect Days เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับวันๆ หนึ่งของผู้ชายคนหนึ่งที่ทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะรอบๆ โตเกียว หรือเรียกง่ายๆ ก็คือเขาเป็นนักขัดส้วม
ดำเนินเรื่องผ่านชายที่ชื่อ Hirayama (ฮิรายามะ) ชายวัยเกือบชรา ที่ชีวิตประจำวันของเขาดำเนินไปอย่างธรรมดาๆ ที่มีเพียงการตื่นเช้า เดินทางไปทำงาน (ทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ) และกลับบ้านมารดน้ำต้นไม้ที่รัก บางวันก็ออกไปกินข้าวในร้านอาหารร้านประจำ แวะไปซื้อหนังสือ หรืออาบน้ำในโรงอาบน้ำ ซึ่งอาจเป็นกิจวัตรที่หลายคนไม่ชอบใจนัก
ในหนังเรื่องนี้นอกจากชีวิตที่ดำเนินไปของคนทำความสะอาดห้องน้ำ เราจะได้ฟังเพลงสากลยุค 70-80 ที่อาจจะเคยโด่งดังในอดีตเปิดขึ้นมาอีกครั้ง และความธรรมดาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ฮิรายามะตกหลุมรัก และไม่ได้สนใจว่าคนรอบข้างจะคิดและรู้สึกอย่างไรต่อเขา เพราะสิ่งที่เขาทำอยู่ในชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายนั้นเป็นไปด้วยความสุข และทั้งเรื่องก็วนลูปของกิจวัตรเดิมๆ อาจมีสถานการณ์แปลกๆ
เช่น หลานหนีออกจากบ้านมาขออยู่ด้วย เพื่อนร่วมงานวัยรุ่นขอให้ขายเทปคาสเซ็ตที่มีเพื่อเอาเงินมาให้ยืมไปออกเดตกับสาว หรือการที่วันหนึ่งตื่นมาแล้วพบว่าโรงอาบน้ำหายไป ร้านอาหารร้านประจำปิด รถเสียฯ
แต่ท้ายที่สุดชีวิตของเขาก็จะกลับมาลงล็อกแบบเดิม จนในหนังเรื่องนี้แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่นั่นก็ดูเหมือนปกติของชีวิตพวกเราดีนี่ว่าไหม?
ถึงแม้จะฟังดูเป็นภาพยนตร์ที่น่าเบื่อ แต่ด้วยความเรียบง่ายเหล่านี้มันทำให้คนดูสามารถซึมซับและเก็บเกี่ยวรายละเอียดเล็กน้อยที่ถูกซ่อนไว้ให้เราได้เห็นชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเหงา ความโดดเดี่ยว ความเรียบง่ายและความสงบสุขของชีวิตได้เป็นอย่างดี
1
[ บทเรียนการเงิน 3 ข้อที่ได้จาก Perfect Days 🔍 ]
1. ความสุขไม่ได้มาจากจำนวนเงิน แต่จากมุมมองที่เราเลือกใช้
ฮิรายามะมีชีวิตที่ดูธรรมดา เขาตื่นเช้าไปทำงาน ขัดห้องน้ำ ฟังเพลง และอ่านหนังสือ กิจวัตรที่เรียบง่ายเหล่านี้ทำให้เขารู้สึกพึงพอใจในชีวิต แม้รายได้ของเขาอาจไม่ได้สูง แต่เขาก็ดูไม่ได้ต้องการอะไรมากเกินความจำเป็น
ในเชิงการเงิน สิ่งนี้สอนเราว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้มาจากการครอบครองวัตถุราคาแพง แต่เกิดจากความพอใจในสิ่งที่เรามี การไล่ล่าความร่ำรวยอาจทำให้เราหลงลืมว่าความสงบสุขในใจนั้นสำคัญกว่า เช่นเดียวกับหลักการของ Minimalism ที่เน้นการลดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป และโฟกัสเฉพาะสิ่งที่มีคุณค่าจริงๆ
2.ความเรียบง่ายคือรากฐานของความมั่นคง
ฮิรายามะไม่ได้ต้องการชีวิตที่ฟุ่มเฟือย แต่เขามุ่งเน้นที่ความสงบเรียบง่าย หนังเรื่องนี้เตือนเราว่าการไล่ตามความต้องการที่ไม่สิ้นสุดอาจนำมาซึ่งความเครียดและความเหนื่อยล้า
ในทางการเงิน การมีชีวิตที่ “ต่ำกว่าความสามารถในการใช้จ่าย” (Living below your means) และสร้างนิสัยการออมเงิน จะทำให้เราสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้ ความเรียบง่ายจึงไม่ใช่ข้อจำกัด แต่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างอิสรภาพทางการเงินและจิตใจของเราด้วย
3. การยึดมั่นในคุณค่าของตนเองสำคัญกว่าการยอมรับจากสังคม
ในฉากหนึ่ง น้องสาวของฮิรายามะถามเขาด้วยความสงสัยว่า “พี่ทำงานล้างห้องน้ำจริงๆ เหรอ” คำถามนี้สะท้อนมุมมองของสังคมที่มักตัดสินคุณค่าของคนจากงานที่ทำ หรือภาพลักษณ์ที่แสดงออก แต่ฮิรายามะยังคงยึดมั่นในสิ่งที่เขาทำและพึงพอใจกับชีวิตที่เลือก แม้จะถูกมองว่าไม่เหมาะสมในสายตาคนอื่น
2
อีกทั้ง ฮิรายามะยังแสดงให้เห็นถึงการให้คุณค่ากับสิ่งที่คนอื่นอาจมองข้าม เช่น การฟังเทปคาสเซต ซึ่งปัจจุบันถูกมองว่าเป็นของเก่าล้าสมัย แต่สำหรับเขา เทปคาสเซตคือความสุขเล็กๆ ที่ไม่เพียงมีคุณค่าทางใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันเทปคาสเซตก็เป็นสิ่งที่เวลาเพิ่มมูลค่าให้ได้อีก เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตสงบๆ ของเขาที่อาจทำให้ใครหลายคนอิจฉา
ในเชิงการเงิน สิ่งนี้สอนเราว่า การตัดสินใจทางการเงินควรยึดตามคุณค่าและเป้าหมายส่วนตัว มากกว่าการพยายามสร้างภาพลักษณ์หรือยอมรับจากสังคม การใช้เงินเพื่อไล่ตามสิ่งที่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง อาจนำไปสู่ภาระหนี้สินและความเครียด การยึดมั่นในคุณค่าของตนเองและใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล ไม่เพียงช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงิน แต่ยังเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตในระยะยาวอีกด้วย
🔚 บทสรุป: ภาพยนตร์เรื่อง Perfect Days เป็นเหมือนการสะท้อนแนวคิดที่ว่า ชีวิตไม่จำเป็นต้องซับซ้อนเพื่อจะมีความสุข เช่นเดียวกับการจัดการการเงินที่ดีซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งกลยุทธ์ซับซ้อน แค่รู้จักเลือกสิ่งที่สำคัญ และดำเนินชีวิตอย่างมีสติ
เพราะในท้ายที่สุด “ความมั่งคั่งที่แท้จริง” อาจไม่ได้วัดจากจำนวนเงินในบัญชี แต่คือการใช้ชีวิตที่เราไม่ต้องการอะไรมากเกินไป และพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เหมือนกับฮิรายามะที่สร้าง “วันธรรมดาที่สมบูรณ์แบบ” ของเขาในแบบที่ไม่มีใครเหมือน
ที่มา:
Perfect Days (2023) จะลง Netflix วันที่ 27 ม.ค. นี้.
1
#aomMONEY #เกร็ดการเงินจากหนัง #พอเพียง #พอประมาณ #PerfectDays
โฆษณา