3 ก.พ. เวลา 06:15 • อาหาร

ตะลิงปลิงแช่อิ่ม(แห้ง)

ตะลิงปลิงเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มใหญ่ เป็นพี่น้องกับต้นมะเฟือง แทบไม่มีโรคแมลง ดูแลง่าย ออกผลได้ตลอดทั้งปี
แนะนำให้ปลูกตะลิงปลิงเป็นไม้ประจำบ้าน(ถ้ามีพื้นที่ว่างพอ) เพราะผลตะลิงปลิงนำมาทำอาหารได้หลากหลาย
ในบทความนี้จะเน้น "ตะลิงปลิงแช่อิ่ม" ที่ผู้เขียนแปรรูปเป็นแบบแห้งที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน (ไม่ใช่แบบสามรสที่มีน้ำตาลคลุก)
วิธีทำ
1. ตัดขั้วออก ล้างน้ำ
2. แช่น้ำเกลือ 2-3 ชม. ล้างน้ำออก ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
3. ต้มน้ำเชื่อมก่อน (อัตราส่วน น้ำตาลทราย 1: น้ำ 3 ส่วน) โดยกะปริมาณน้ำเชื่อมพอให้น้ำเชื่อมท่วมผลตะลิงปลิงเท่านั้น
4. ใส่ผลตะลิงปลิงตอนน้ำเชื่อมเดือดๆ รอเดือดอีกครั้งปิดเตาไฟ ทิ้งไว้ค้างคืน
5.ตอนเช้าชิมน้ำเชื่อมทึ่แช่อิ่ม..รสจะหวานอมเปรี้ยว...ถ้ารสยังเปรี้ยวจัด ให้ตักน้ำเชื่อมในหม้อสัก10% มาเติมน้ำตาลทรายอีกเท่าตัวตั้งไฟ พอเดือดเทน้ำเชื่อมเข้มข้นนี้ลงไปในหม้อเดิม ชิมรสอีกครั้ง ให้มีรสหวานนำเปรี้ยว นำไปใส่ขวดโหลแช่อิ่มในตู้เย็นอีก 2-3 วัน ก่อนนำมาตากแดด
อีกอย่างนึง คือ ตอนเช้า ผลตะลิงปลิงจะหดตัวไปมาก เพราะน้ำในผลถูกดึงออกมา ทำให้เหลือน้ำแช่อิ่มปริมาณมาก...ถ้าไม่อยากให้มีน้ำเหลือมาก ต้องลดปริมาณน้ำที่ใส่ในตอนแรก จากที่ให้น้ำเชื่อมพอท่วมผลตะลิงปลิง ลดลงเหลือแค่ 3/4 ของปริมาณผลตะลิงปลิง เรียกได้อีกอย่างว่า ระดับน้ำต่ำกว่าผลตะลิงปลิงในหม้อเล็กน้อย ไม่ต้องกล้วว่าผลด้านบนจะไม่แช่น้ำ เดี๋ยวผลมันก็จะหดตัวลงต่ำเองในตอนเช้า
เมื่อครบเวลา นำตะลิงปลิงแช่อิ่มพักไว้บนกระชอนให้สะเด็ดน้ำ นำมาเรียงบนตะแกรง แล้วนำไปตากแดด ป้องกันแมลงรบกวนโดยใส่ในมุ้ง(สีขาว) ถ้ามีตู้อบพลังแสงอาทิตย์จะยิ่งดี
ตากแดดจัดๆ 2 วันก็เก็บได้แล้ว ถ้าเป็นผลใหญ่อาจต้องใช้เวลาตากแดดนาน 3 วัน
ผลตะลิงปลิงสดเอามาแช่อิ่ม ตากแห้ง ...
จาก 1 หม้อใหญ่ เช่น 10 กก. จะเหลือแค่ 1 กก.
น้ำเชื่อมที่เหลือจากการแช่อิ่มนำมาเป็นน้ำหวานชงดื่ม ใส่วุ้นว่านหางจระเข้ลงไปก็จะเพิ่มความอร่อยมากขึ้น ส่วนผลแช่อิ่ม นำมาทำเป็นตะลิงปลิงลอยแก้วได้
นอกจากนี้ ตะลิงปลิงนำมาทำกับข้าวที่มีรสเปรี้ยวได้หลายเมนู เช่น ต้มยำต่างๆ ต้มข่าไก่ ใส่ในน้ำพริกกะปิ ตำขนุน(ควบคู่ไปกับมะเขือเทศ) แกงส้ม เป็นต้น
ข้อควรระวัง จำกัดการรับประทาน ในผู้ป่วยโรคไต โรคเก๊าท์ เพราะมีกรดออกซาลิคสูง อาจทำให้ไตทำงานหนัก หรือเป็นนิ่วในไต
โฆษณา