10 ก.พ. เวลา 13:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

มาทำไม

บทวิจารณ์เรื่อง The Day of the Jackal ในโพสต์ก่อน
ผู้อ่านบางคนอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมผมจึงให้ความสำคัญกับตัวละครส่วนเกิน
1
"มันก็แค่หนัง คิด'ไรมาก"
ก็จริง หากมองในมุมของผู้เสพที่ไม่คิดมาก แต่หากนักเขียนคนหนึ่งต้องการให้งานของตนอยู่ในขั้นดี ต้องให้ความสำคัญกับตัวละครส่วนเกิน
ภาษาการประพันธ์เรียกว่า Chekhov’s Gun
นักเขียน Anton Chekhov เขียนว่า “ถ้าในบทที่ 1 คุณแต่งเรื่องให้มีปืนยาวกระบอกหนึ่งแขวนบนผนัง ในบทที่ 2 หรือบทที่ 3 ปืนนั่นต้องยิงอะไรสักอย่าง ถ้าไม่ยิง มันก็ไม่ควรอยู่ในเรื่องตั้งแต่แรก”
นี่เป็นที่มาของคำว่า Chekhov’s Gun เป็นหลักมาตรฐานของการแต่งเรื่อง
Chekhov’s Gun บอกว่าทุกองค์ประกอบในเรื่องต้องมีเหตุผลของการดำรงอยู่
ถามเสมอว่า "มาทำไม"
นี่ก็คือสิ่งที่ผมย้ำเสมอว่า องค์ประกอบของเรื่องควรน้อยที่สุดเท่าที่เดินเรื่องได้ อะไรที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องให้ตัดทิ้งไป
ถ้ายังไม่เก็ต ยกตัวอย่างดนตรีก็แล้วกัน คุณฟังเพลงออเคสตราของบาคหรือเบโธเฟนไหลพลิ้วอย่างเพลิดเพลิน ทันใดนั้นก็มีเสียงช้างร้องแทรกเข้ามา เสียงช้างร้องก็คือส่วนเกิน มาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
หากคุณดูภาพ โมนา ลิซา ฉากหลังเป็นกลางๆ ไม่เด่น สมมุติว่าเราใส่ช้างเข้าในฉากหลัง มันก็เป็นส่วนเกิน เพราะช้างไม่ใช่สาระของภาพนี้
ลองคิดดูว่าหากชายชราใน The Old Man and the Sea ลากปลาไป แล้วเจอคนเรือแตกลอยมา คุยกันอีกสามบท เรื่องจะหลงทางไปไหน เพราะสาระของเรื่องอยู่ที่คนกับปลา ใส่องค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาได้ แต่ต้องมีเหตุผล และไม่เด่นเกินแกนเรื่อง
2
นักเขียนสมัย 50-60 ปีก่อนทำงานแบบเขียนตอนต่อตอน ลงหนังสือพิมพ์เป็นวันๆ พล็อตไหลไปเรื่อย เพราะไม่ได้เขียนจบทีเดียวมาก่อน หากคนอ่านชอบ ก็ขยายเรื่อง ทีนี้ก็ใส่ตัวละคร ฉาก เหตุการณ์เข้าไปโดยไม่ได้อยู่ในคอนเส็ปต์มาก่อน ดังนั้นเรื่องมีจึงส่วนเกินมาก
ในนิยายกำลังภายใน บ่อยครั้งมีจอมมารดำขาวหรือนางมารเกาะดอกท้อโผล่มาฉากเดียว แล้วหายไปเลย เพราะนักเขียนยัดตัวละครส่วนเกินเข้าไปมากจนลืมว่ามี
งานดีๆ ไม่ว่าเป็นวรรณกรรมหรือหนัง จะไม่มีส่วนเกิน
ทุกครั้งที่ใส่ตัวละครหรือองค์ประกอบอะไรเข้าไป ต้องถามเสมอว่า "มาทำไม"
เหมือนกับที่อาทิตย์ก่อนผู้ใหญ่บางคนถามว่า "ท่านหลิวจงอี้มาทำไม"
(ประโยคสุดท้ายเป็นส่วนเกินของบทความนี้)
1
โฆษณา