14 ก.พ. เวลา 10:50 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Asura ละครญี่ปุ่นย้อนยุคปี 1979 ที่ละเอียดจัด แทบทุกซีนมีความหมาย

The Guardian พาดหัวข่าวว่า ‘Asura is the best Netflix drama in years’: this strikingly beautiful show will leave you salivating (แปล: อสุราเป็นละครที่ดีที่สุดของเนตฟลิคในรอบหลายปีนี้ โชว์ที่แสนสวยงามน่าพิศวงนี้จะทำให้คุณรู้สึกท่วมท้น)
Palme d’Or-winning Japanese director Hirokazu Kore-eda’s tale of four sisters is a stunningly shot, laugh-out-loud tale that’s hugely touching. How has it gone almost unnoticed? (แปล: ผู้กำกับ ฮิโรคาซุ โคเระเอดะ ผู้ชนะรางวัลภาพยนตร์ปาล์ม เล่าเรื่องของสี่พี่น้องได้ด้วยภาพอันสวยงามผ่านเรื่องราวอันแสนขบขัน และสัมผัสถึงหัวใจของคนดูได้อย่างตราตรีง แต่แล้วเหตุไฉนละครเรื่องนี้ถึงดูเหมือนไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
เอาจริง พอเปิดดูแค่คำโปรยในเนตฟลิคว่า เรื่องนี้กำกับโดยผู้กำกับคนเดียวกับที่กำกับเรื่อง ​​The Makanai: Cooking for the Maiko House ก็ต้องรีบกดเก็บเอาไว้ในสต็อกต้องดูให้ดูเมื่อจัดเวลาได้ทีเดียว มีทั้งหมด แค่ 7 ตอนเท่านั้น วันเดียวก็จบ แต่ต้องตั้งใจ ก็เชฟ(ผู้กำกับ) จัดเต็มซะขนาดนั้น ผู้ชมก็ต้องจัดท้องและสมองให้ว่างสมความตั้งใจของแก กว่าทีมงานจะทำละครดีๆสักเรื่อง เซลล์สมองตายแล้วเกิดใหม่อีกเพียบ
เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นปี ​1979 นำมาจากนิยายเรื่อง ​Ashura no Gotoku แต่งโดย Kuniko Mukoda ดัดแปลงเป็นบทละครโดยผู้แต่งนิยายเองแล้วนำออกฉายในปี ​2003 แล้วที่นำมาทำใหม่เพื่อฉายในปี ​2025 นี้ก็ทำแบบย้อนยุคเต็มๆ ให้บรรยากาศทุกอย่างเหมือนชีวิตย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีก่อน ผู้กำกับทำได้ละเอียดมาก เสื้อผ้า หน้าผม อุปกรณ์เข้าฉาก ถนนหนทาง กระทั่งกำแพงตึก ถนน ป้ายรถเมล์ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทนสีของหนัง ทุกอย่างจริงๆ สี่นิ้วโป้งของตัวเองยกให้ไม่พอต้องขอยืมเพื่อนมาช่วยยกให้เลยทีเดียว
เนื้อหาของเรื่องก็เป็นเรื่องราวธรรมดาปัญหาของครอบครัว หญิงชาย การนอกใจ ความลับ(ที่คนเค้ารู้กันทั้งโลกยกเว้นตัวเอง) ความสัมพันธ์ของพี่น้อง พ่อแม่ แม่ลูก พ่อลูก พ่อตาลูกเขย ที่ทุกสังคมทุกประเทศ ทุกระดับชั้นของสังคมมีกันทั้งนั้น ในเรื่องนี้จะเห็นวิธีการมองปัญหาของคนญี่ปุ่นในยุคนั้น มุมมองของแต่ละคนที่มีพื้นฐานหรือสภาวะสถานะแตกต่างกัน มองสิ่งที่เกิดคนละแบบ ดูจบแล้วก็อาจทำให้เราเพิ่มความเข้าใจในความเป็นญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น ดูๆไปอาจรำพึง “อ่อ เป็นเช่นนี้เอง“ในหลายซีน ถ้าดูให้ละเอียดนะ อย่าได้ปล่อยผ่าน
เรื่องก็เริ่มขึ้นจากวันนึงทาสึโกะ ลูกสาวคนที่สามของครอบครัวทาเคซาวะ อายุ 30 ปี ทำอาชีพบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน ได้ว่าจ้างนักสืบเอกชน ซึ่งเมื่อเธอได้รับรายงาน เธอก็โทรศัพท์หาพี่น้องทั้งหมดตามลำดับคือพี่สาวคนที่สองมากิโกะ อายุสี่สิบต้นเป็นคุณแม่บ้านเต็มเวลาลูกวัยรุ่นสองคนชายหญิง พี่สาวคนโตสึทาโกะ อายุสี่สิบปลายเป็นหญิงหม้ายอาชีพครูสอนจัดดอกไม้และรับจัดดอกไม้ลูกชายโตแล้ว และน้องเล็กซากิโกะ (อายุยี่สิบกลาง เป็นพนักงานเสิร์ฟร้านอาหารมีแฟนเป็นนักมวยอาชีพยังไม่เป็นแชมป์) ให้มาประชุมในเรื่องสำคัญกัน
เมื่อทุกคนมาพร้อมกันที่บ้านของมากิโกะ (ท่านเขยทาคาโอะคือสามีของมากิโกะก็อยู่ในการประชุมไปกินของว่างไปด้วย) ทาสึโกะ หญิงสาวผู้เคร่งเครียดและจริงจังกับทุกเรื่องปานชีวิตจะขาดผึงได้ตลอดเวลาก็บอกพี่น้องว่า พ่อเรามีเมียน้อยเราจะทำอย่างไรดี สำหรับเธอคิดว่าต้องบอกให้พ่อเลิกกับเมียน้อย หรือถ้าไม่ก็เลิกกับแม่เสีย แต่แล้วเธอก็ได้รับการตอบรับจากพี่ๆ ทุกคนอย่างที่เธอไม่ได้คาดคิด พี่คนโตประณามพ่อว่าไร้มนุษยธรรมแต่ก็บอกว่าเรื่องแบบนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลก
พี่คนที่สองคิดกลางๆว่า ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ชาย น้องเล็กคิดว่ามันเป็นเรื่องของคนสองคน อีกอย่างแม่ก็มีส่วนผิดต่อให้รับผิดชอบหน้าที่แม่บ้านได้ดีแต่ไม่สามารถเพิ่มสีสันให้ชีวิตครอบครัวได้ถือว่าจืดชืด เหตุการณ์สรุปไม่ได้แต่มาจบลงตรงที่ทุกคนรับรู้ แล้วคุณเขยก็สั่งทุกคนว่า ห้ามให้คุณแม่ทราบเด็ดขาด (นี่ไง ความลับที่ปิดกันให้แซ่ดแต่รู้กันหมดทุกคนยกเว้นคนต้นเรื่อง) แต่ละครญี่ปุ่นดำเนินเรื่องไวปานกลัวสึนามิถล่ม แค่ภายใน EP1 คุณแม่กับคุณพ่อแค่มองตาก็รู้กันแล้วว่าความลับสิบปี ไม่ลับเสียแล้ว
นี่เป็นแค่พล็อตเริ่มเรื่อง แล้วตามมาด้วยพล็อตย่อยๆแตกกระจายไปตามตัวละครต่างๆ เพราะตีมของเรื่องหลักๆ น่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ คำนิยามของคำว่าซื่อสัตย์ การนอกใจ ความไว้ใจ แทบทุกตัวละครจะมีเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับตีมนี่อยู่เป็นหลัก เช่น พี่คนโตก็มีความสัมพันธ์อันบอกใครไม่ได้เช่นกัน พี่สาวคนที่สองก็มีความสงสัยในความซื่อสัตย์ของสามี และทาคิโกะเองก็มีความลังเลสงสัยว่าตนควรจะมีครอบครัวดีหรือไม่เพราะความรู้สึกไม่มั่นคงในประสบการณ์รับรู้ของตนกับความล่มสลายของพ่อแม่ที่ครองคู่กันมากว่า 50 ปี
ลองดูภาพยนตร์ตัวอย่างจะเห็นอารมณ์ของละครบ้าง และอาจเดาอะไรได้บ้าง แต่อยากจะบอกว่า อาจเดาผิดได้ เบื้องหลังของเรื่องราวอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นทั้งหมด
ผู้กำกับนี่จะมีการนำเสนอสารในแต่ละตอนไม่เหมือนกันสอดแทรกให้คิดอยู่เรื่อยๆ เช่น ใน EP 2 ตอนจบเค้าจะตั้งคำถามว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องไม๊นะ ที่ผู้หญิงต้องยอมที่จะอยู่เงียบๆ ไปอย่างมีความสุข อย่าก่อเรื่องใดๆ ลูกสาวก็เริ่มรู้แล้วว่าแม่ก็รู้มาตลอด แถมเป็นคนเขียนไปเล่าเรื่องราวให้หนังสือพิมพ์อีกต่างหาก พ่อก็รู้แล้วว่าแม่รู้ เรียกว่าเป็นความลับที่รู้กันหมดทุกคน ทุกคนตัดสินใจที่จะมองข้าม และอยู่แบบเงียบๆ มันใช่ไม๊นะ
พอดูถึงตรงนี้ทำให้คิดถึงสังคมไทยเสียจริงๆ ไอ้คำว่า “ใครๆเค้าก็มีกัน“ “มันเป็นอย่างนี้มาแต่โบร่ำโบราณ” “ผู้ชายก็เป็นแบบนี้หละ” ทำให้สถาบันครอบครัวขาดความศักดิ์สิทธิ์ ในเมื่อแม่ยอมให้พ่อเป็นแบบนี้ คุ่ไหนๆที่เห็นก็แบบนี้ ละครที่ดังๆตบกันสนั่นก็แบบนี้ แน่นอนตัวอย่างที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดยังเป็นตัวอย่างแบบเบี้ยวๆ ไม่ต้องไปหวังเลยว่า เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้าก็พร้อมที่จะละเมิดศีลข้อสามแบบหน้าตาเฉยไม่รู้สึกรู้สาอันใด ประเทศไทยเมืองพุทธอันดับต้นๆของโลก แต่ศีลข้อสามข้อสี่ขาดกันกระจุย
ถ้าเราคิดในแง่สังคมวิทยาอ่ะนะว่าการมีผัวเดียวเมียเดียว การสาบานว่าจะมาเป็นคู่สร้างครอบครัวแล้วจะต้องอยู่กันอย่างซื่อสัตย์ตลอดไป แต่ถ้าตามธรรมชาติก็เหมือนกับจะค้านกับกฏ Survival of the Fittest ของ Darwin ซึ่งสิ่งมีชีวิตต้องการจะอยู่รอดได้ด้วยการเลือกยีนที่ดีที่สุด ดังนั้นถ้าตามกฎนี้ monogamy ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติต้องการ แต่ก็อีกนั่นหละ เราไม่ใช่มนุษย์ถ้ำที่การอยู่รอดของมนุษย์ชาติทำได้ด้วยการสร้างมนุษย์เยอะๆเสียเมื่อไหร่ เราเลิกอยู่ถ้ำย้ายมาอยู่เมืองอันเป็นสังคมที่มีกฎเกณฑ์กันแล้ว
มีซีนเกี่ยวกับการทำผักดองอันนี้ภาพสวยนำเสนอได้ธรรมชาติมาก ซึ่งลูกสาวคนที่สองได้สารภาพกับแม่ว่าสามีตัวเองก็มีเมียน้อย แต่ตัวเองได้แต่เงียบเอาไว้ ไม่รูํ้ว่าทำถูกต้องไม๊ แม่แกสอนว่า “ถ้ายอมรับก็เท่ากับแพ้” แนวคิดอันนี้ก็น่าสนใจดี ท่าทางคงคิดแบบญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เคยได้ยินแต่ว่า “ถ้ายอมรับเท่ากับเสียหน้า” ประมาณแนวละครจีน เสียหน้าต้องเอาคืน หรือ “ถ้าไปรับรู้เท่ากับต้องตัดสินใจ ถ้าไม่พร้อมจะตัดสินใจก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ซะ” ประมาณละครไทยและจีนที่จะได้ยินว่า “มาบอกทำไมไม่ได้อยากรู้”
ในเรื่องนี่นะ จะเห็นสังคมญี่ปุ่นนี่เป็นสังคมแห่งความเงียบ แค่เห็นก็รู้กันแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ต้องพูดเยอะ ประมาณมองตากันก็รู้กันไปหมด ไม่ต้องมานั่งสาธยายหละ ละครของแกนี่จะมีแต่ความเงียบ เงียบเข้าไปในใจ ให้เข้าใจกันได้ ผู้กำกับเก่งจัด ดาราสุดยอดทำได้ตามที่ ผกก ต้องการ เทียบเรื่องนี้กับ ​The Makanai (2023) แล้ว คิดได้เลยว่า คนญี่ปุ่นนี่แกไม่ยอมหยุดพัฒนาฝีมือจริงๆ ยิ่งรู้ว่าแกกำกับเรื่อง Like Father, Like Son (2013) ที่ได้รับรางวัลจากเมืองคานส์อีกนะ โห ยอมใจเลยอาชีพผู้กำกับนักล่ารางวัลแล้ว
จะไม่เล่าเรื่องให้ฟังหมดหละ อยากให้ไปดูชมแล้วเก็บเกี่ยวกันเอง บริหารเซลล์สมองกัน แต่อยากจะเล่าให้ฟังเป็นซอตๆ ที่น่าสนใจ เช่นใน EP3 ตอนจบแกยกคำพูดของนักเขียนที่ชื่อ นัตสิเมะ โซเซกิ ในหนังสือชื่อ กูบิจินโซ พูดเกี่ยวกับ “โลกเรานั้นจดจำแต่สุขนาฎกรรม” แล้วก็เปรียบเทียบว่า อะไรคือ สุขนาฎกรรม กับ โศกนาฎกรรม สุขนาฎกรรม ก็เช่น อยากกินอันนี้หรืออันนั้น อยากไปที่นี่หรือที่นั่น ส่วน จะอยู่หรือจะตาย นี่หละคือ โศกนาฏกรรม ก็เป็นการเล่นคำ มี “สุข” ก็มี “โศก” อยู่ที่ใครเป็นคนมองใครเป็นคนจำ
มีซีนนึงเกี่ยวกับคำถามว่า ถ้าสามีที่กำลังทำงานเจอความยากลำบาก ภรรยาควรจะแสดงท่าทีอย่างไร อันนี้น่าสนใจ ในละครเขยคนที่สองแกบอกว่าภรรยาต้องทำตัวเหมือนสบายดี กินอิ่มนอนหลับห้ามมาทำท่าลำบากลำบนอดอยากด้วยกัน แบบนั้นมันเสียศักดิ์ศรีลูกผู้ชายมาก อืมม์ ซับซ้อนจริงๆ หรือความคิดที่ว่ามีผู้หญิงอื่นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการผิดคำสัญญาว่าจะไม่กินข้าว ฮึ่ม เลือดบูชิโดจริงๆ
มีซีนนึงเมื่อพ่อแกเป็นหม้ายเพราะแม่ตายไปแล้ว ชีวิตก็ดิ่งเหว แกถึงขั้นตะโกนออกมาด้วยความแค้นใจว่า ผู้หญิงไม่ควรตายก่อน การเป็นหม้ายนี่ควรจะเป็นเรื่องของผู้หญิง นี่คิดตามความคิดในแง่ของผู้ชาย ตอนนี้ ผกก แกทำได้ดีมากที่จะนำเสนอว่าขณะที่ผู้ชายมีเมียน้อยมีความสุขในทางที่เลือก ผู้ชายไม่เคยรับรู้เลยว่าผู้หญิงนั่นสภาพเป็นอย่างไร ในเวลาที่ต้องอยู่คนเดียว คิดดีๆ ก็คือเป็นหม้ายทั้งที่มีสามีอยู่ข้างๆนี่หละ คิดอีกแบบก็เหมือน Living Apart Together (LAT) ที่พบเจอเยอะแยะในสังคมปัจจุบัน
ในเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่นำเสนอความสัมพันธ์หญิงชายเท่านั้น แต่แสดงถึงความสัมพันธ์ของพี่น้องผู้หญิงด้วยซึ่งที่จริงแล้ว Asura (อสูรที่มีสามหน้า) นี่หละสุดท้ายจะเฉลยว่าก็คือธรรมชาติของผู้หญิงนั่นเอง คือเรื่องนี้มีพี่น้องสองคู่ คู่โต กับคู่เล็ก คู่โตก็จะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันก็จะมีประสบการณ์ชีวิตร่วมกันเยอะหน่อยช่วงพ่อแม่ลำบากสร้างครอบครัว (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) กับคู่เล็กซึ่งเป็นคู่กัดประมาณว่าเกิดใกล้ๆกันที่บ้านพอมีกินให้เริ่มอิจฉากันได้ประสาพี่น้อง ตลอดทั้งเรื่องจะมีพล็อตที่ค่อยๆนำเสนอปมของคู่เล็ก
มีสองไคลแม๊กซ์ที่เล่าให้ฟังถึงความสัมพันธ์ของคู่เล็กนี่เลยก็คือวันที่ ทาคิโกะจะแต่งงาน สองคนแทบแตกกันไม่มีวันกลับได้ แต่พ่อแกน่ารักมาก กระโดดเข้ามาบอกกับลูกทั้งสองว่าอีกสิบปีทั้งสองคนจะมองเรื่องที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นเรื่องตลก ดูให้ดีๆแล้ว พ่อแกเอาประสบการณ์ชีวิตมาสอนลูกแก้สถานการณ์ได้เหมาะสมกับความเป็นพ่อจริงๆ กับวันที่ซากิโกะตกต่ำสุดๆแล้วทาคิโกะก็ยื่นมาเข้ามาช่วยอย่างสมควรเรียกได้ว่าเป็นพี่น้องจริงๆ
ตัวละครอีกตัวนึงที่น่าจะเล่าให้ฟังและน่าสนใจอีกเช่นกันคือนักสืบเอกชนที่สุดท้ายกลายมาเป็นเขยที่สาม นักแสดงคือ Ryuhei Matsuda เล่นเรื่อง ​Quartet กับเรื่อง My Dear Exes บทละครตัวนี้มีความสนใจโดยเฉพาะการที่คนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กับแกในวาระต่างๆ รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่พ่อแกเป็นผู้สูงอายุอยู่คนเดียวไม่ได้ แล้วมีการเสนอให้แกเข้าไปเช่าบ้านเพื่ออยู่ดูแลบ้านและดูแลพ่อก็น่าสนใจ สังคมญี่ปุ่นแก้ปัญหาผู้สูงอายุแบบนี้มานานมากแล้ว เมืองไทยก็คงมีเหมือนกันแต่เวลาดูละครไทยจะกลายเป็นละครฆาตกรรมซะส่วนใหญ่
ในตอนจบจะมีการหักมุมแบบที่คาดไม่ถึงสำหรับพ่อ กับคู่ของเขยที่สองอีก เรื่องนี้สั้นๆ แค่ 7 ตอนเท่านั้น ตอนละห้าสิบนาที ลองเข้าไปดูแล้วกดให้คะแนนละครญี่ปุ่นด้วย เห็นได้ข่าวว่าละครญี่ปุ่นไม่ค่อยเป็นที่นิยมในเมืองไทย เนตฟลิคจะไม่ค่อยนำเข้า น่าเสียดาย ละครญี่ปุ่นนี่ แกทำกระชับสื่อความได้มากมาย เนื้อๆทั้งนั้น แล้วก็จะมีจุดให้ประหลาดใจอยู่เรื่อยๆ ขอชวนเปิดเข้าไปหาชมกันได้ โดยเฉพาะผลงานของผู้กำกับคนนี้
โฆษณา