17 ก.พ. เวลา 01:45 • ประวัติศาสตร์

🐉 ๙ พญานาค มหานาคาธิบดี 🤴

แม่เหน่ง เคยเขียน ๙ มหาเทวี มเหสีแห่ง ๙ พญานาค ไว้เมื่อประมาณ ๓ ปีที่แล้ว และมีความตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องราวของท่านพญานาคทั้ง ๙ องค์ แต่ก็ผลัดวันประกันพรุ่งมาเรื่อยๆ
นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน เป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการเป็นผู้พิทักษ์รักษาพุทธศาสนา ตามความเชื่อของคนไทย
ก่อนจะมาทราบตำนานของ ๙ พญานาค แบบตัวต่อตัว เรามาทราบประวัติโดยทั่วไปของพญานาคกันก่อนค่ะ
พญานาคแบ่งเป็น ๔ สาขา เอ้ย! แบ่งเป็น ๔ ตระกูล คือ ตระกูลวิรูปักษ์ กายจะมีสีทอง ตระกูลเอราปถ มีสีเขียว ตระกูลฉัพพยาปุตตะ กายเป็นสีรุ้ง และตระกูลกัณหาโคตมะ เป็นสีดำ
ในทางพุทธศาสนา พญานาคยังสามารถแบ่งตามชาติกำเนิด ได้เป็น ๔ ประเภท
🐉 กำเนิดแบบโอปปาติกะ คือ ผุดขึ้นเป็นตัวเป็นตนทันที ไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ให้กำเนิด แต่อย่าไปเรียกท่านว่าลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่นะคะ เพราะพญานาคที่กำเนิดแบบนี้ถือเป็นพญานาคมากบุญบารมี มีลักษณะกำเนิดเหมือนเทวดา หรือ พรหม พญานาคที่กำเนิดลักษณะนี้จะอิทธิฤทธิ์มากกว่าพญานาคที่กำเนิดในลักษณะอื่นๆ จัดอยู่ในพญานาคชั้นสูง มีบริวารคอยรับใช้
🌳 กำเนิดแบบสังเสทชะ คือ กำเนิดในเหงื่อไคลหรือที่ชื้นแฉะ จากต้นไม้ ผลไม้ ดอกไม้ ที่ชุ่มชื้น ขึ้นเชื้อรา นาคที่เกิดลักษณะนี้ถือเป็นกึ่งเดรัจฉานกึ่งทิพย์ เมื่ออยู่ในบาดาลจะสามารถแปลงเป็นมนุษย์ได้ ทำหน้าที่เป็นบริวารรับใช้อยู่ในวิมาน ณ ภพบาดาลของพวกโอปปาติกะ
🐍 กำเนิดแบบชลาพุทชะ คือ การกำเนิดจากครรภ์ของมารดา มีอิทธิฤทธิ์มากน้อยตามบุญกรรมที่ได้สั่งสมมา จะเป็นพวกพญางูหรือเทพเจ้าเสียส่วนใหญ่
🥚 กำเนิดแบบอัณฑชะ คือ กำเนิดจากฟองไข่ เหมือนงูทั่วไป นาคประเภทนี้มีพิษร้ายกาจ แต่ส่วนใหญ่เป็นงูชั้นล่าง เช่น งูเห่า งูจงอาง
เอาล่ะค่ะ บัดนี้แม่เหน่งจะพาท่านผู้อ่านดำดิ่งสู่บาดาล ตามหาตำนานนาคราช แล้วล่ะค่ะ
๑. พญาอนันตนาคราช
ถือเป็นมหาเทพแห่งพญานาคทั้งปวง ทรงเป็นโอรสองค์แรกของพระฤษีกัสสยปะ และนางมัทรุ ในตำนานของฮินดูเล่าว่า ขนาดลำตัวของท่านอนันตนาคราชนั้นยาวเป็นอินฟินิตี้ วัดความยาวไม่ได้กันเลยทีเดียว มีเศียรถึง ๑๐๐๐ หัว พิษที่พ่นออกมาจะเป็นเปลวอัคคี พระองค์ทรงมีมเหสีหลายองค์ แต่ที่ทรงรักมากที่สุดคือพระนางอุษาอนันตวดี
พญานาคอนันตนาคราช
อนันตนาคราช ท่านทรงเบื่อหน่ายความวุ่นวายของบรรดาพี่น้อง จึงหนีไปเข้าเฝ้าถวายงานเป็นแท่นบรรทมขององค์พระนารายณ์ ส่วนพระนางอุษาวดีทรงเป็นแท่นบรรทมให้องค์พระแม่ลักษมี
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
วีรกรรมของท่านอนันตนาคราชนั้นไม่เบาเลยทีเดียว แต่ที่ดุเดือดเลือดพล่านที่สุด เห็นจะเป็นตอนที่ขึ้นไปบนสวรรค์ เพื่อท้าตีท้าต่อยกับเหล่าเทวดา ด้วยทะนงตนว่าตัวนั้นมีฤทธามากกว่าใคร เหล่าเทวดาก็พากันกลัวศีรษะหดหมด ยกเว้นพระพาย
ทั้งคู่ประลองยุทธ์กัน โดยงัดท่าไม้ตายเข้าโจมตีกัน อนันตนาคราชเอาลำตัวเข้าพันภูเขาใหญ่ไว้ แล้วท้าให้พระพายลองทำลายภูเขานี้ดู พระพายก็ใช้กำลังสร้างทอร์นาโดระดับ F5 ขึ้น เพื่อจะพ้ดทำลายภูเขาที่อนันตนาคราชโอบไว้ แต่อนันตนาคราชก็ขยายตัวเองให้ใหญ่ขึ้นแล้วแผ่พังพานมาป้องกันพายุหมุนของท่านพระพายได้ทุกครั้ง
ท่าไม้ตายสุดท้ายที่พระพายใช้คือการดึงเอาลมในตัวของสัตว์ทั้งมวลมาใช้ด้วย แต่ก็ถูกพญานาคอนันตนาคราชกลืนเข้าไปทั้งตัว เมื่อไม่มีพระพายแล้วสัตว์โลกทั้งหลายก็หายใจไม่ออก ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องออกมาตักเตือน และให้อนันตนาคราชคายพระพายออกมา
ปรากฏว่าตอนที่ท่านพญานาคใหญ่คายพระพายออกมา ก็บังเกิดพายุใหญ่พัดจนภูเขาทลายกลายเป็นถนนไฮเวย์ แต่สุดท้ายพระพายกับพญานาคต่างก็นับถือซึ่งกันและกัน กลายเป็นสหายกันในที่สุด
คาถาบูชา พญานาคอนันตนาคราช : มหานาคะ มหานาคี เทวีนาคกัลยาณี มหานาคะ เทวา ชะยะ เตตี เตติ
การสัประยุทธ์ระหว่างพญานาคอนันตนาคราชกับพระพาย
๒. พญานาคมุจลินทร์
พญานาคมุจลินทร์เกิดในตระกูลวิรูปักษ์ ทรงถือกำเนิดแบบโอปปาติกะ เป็นพญานาคผู้คุ้มครองพุทธศาสนา
พญานาคมุจลินทร์
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษแล้ว ได้เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิที่ใต้ร่มไม้จิก ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา แต่ในครั้งนั้นเกิดฝนฟ้าคะนองถึง ๗ วัน ๗ คืน
ปรากฏว่าได้มี พญานาคมุจลินทร์ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงถวายอารักขา โดยขนดกายเป็นฐานให้พระพุทธองค์ได้ ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานเพื่อปกป้องพระวรกายของพระพุทธเจ้า อันเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรก
พญานาคมุจลินทร์ขดกายและแผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้า
พระพุทธรูปปางนาคปรก
พระนางศรีณรรฐนพเทวี เป็นมเหสีคู่บารมีของพญานาค
มุจลินทร์ ถือกำเนิดจากพระฤษี ทรงอภิเษกกับท่าน
มุจลินทร์ แต่เพียงในนามเท่านั้น เพราะพญานาคมุจลินทร์ ท่านทรงบำเพ็ญตนเป็นอพรหมจริยาวิสัย (ถือพรหมจรรย์) เพื่อปกป้องพระพุทธเจ้า
พระนางศรีณรรฐนพเทวี พระมเหสีของพญานาคมุจลินทร์
๓. พญาภุชงค์นาคราช
พญาภุชงค์นาคราชเป็นพญานาคประจำพระองค์ขององค์ศิวะมหาเทพ (พระอิศวร) เป็นพญานาคในตระกูลวิรูปักษ์ มีพระวรกายเป็นสีเทาฮินดู พระนาภีและพระเศียรเป็นสีแดง เมื่อจำแลงกายเป็นมนุษย์แล้ว จะมีลักษณะเหมือนฤาษีใจดี รูปร่างสง่างาม ดูมีอายุเหมือนวัยกลางคน (ประมาณ 50 ปี)
พญาภุชงค์นาคราช
ท่านมีพระมเหสีหลายองค์ แต่พระมเหสีเอกคือ พญานาคิณีศรีปางตาล ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสและพระธิดารวมทั้งหมด ๒๔ พระองค์
ท่านทรงเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง หลังสละราชสมบัติแล้ว ท่านก็บำเพ็ญตบะบารมีอยู่ในวิมานชั้นพรหม
๔. พญานาคศรีสุทโธนาคราช
พญานาคศรีสุทโธนาคราช พญานาค ๗ เศียร เป็นมหาเทพนาคาแห่งวังนาคินทร์คำโชนด เป็นพระโอรสของพญานาโคศิรินาคราช กับ นางพญาศรีนคราบาดาล พระวรกายใหญ่โต มีอิทธิฤทธิ์และมากด้วยบารมี นิสัยอ่อนโยน มีเมตตา โปรดการจำศีลบำเพ็ญเพียรและการฟังธรรมเป็นนิจ
พญานาคศรีสุทโธนาคราช
พญานาคีศรีปทุมมาเทวี ทรงเป็นพระชายาที่องค์ศรีสุทโธนาคราชรักมากที่สุดในบรรดาชายาทั้ง ๗ องค์ ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม และเก่งกล้าในทางการรบ
พระนางศรีปทุมมาเทวี มเหสีพญาศรีสุทโธนาคราช
ป่าคำชะโนด วังนาคินทร์ ใน จ.อุดรธานี ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของพญานาคปู่ศรีสุทโธ และเจ้าย่าศรีปทุมมา ภายในพื้นที่ของป่าคำชะโนด จะมีลักษณะร่มเย็นเพราะถูกปกคลุมด้วยต้นชะโนดขนาดใหญ่ ต้นชะโนดเป็นต้นไม้ที่มีลักษณะประหลาด คล้ายต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นตาลผสมกัน จัดเป็นพืชจำพวกปาล์ม
ป่าคำชะโนด เกาะกลางอ่างเก็บน้ำกุดขาม
ป่าคำชะโนด ครอบคลุมพื้นที่ ๓ ตำบล คือ ตำบลวังทอง บ้านม่วง และบ้านจันทร์ อำเภอบ้านดุง จ.อุดรธานี มีเรื่องเล่าขานว่า บ่อยครั้งที่ชาวบ้านพบชาวเมืองคำชะโนดไปเที่ยวงานบุญพระเวสสันดร รวมถึงหญิงสาวที่มายืมเครื่องมือทอผ้าอยู่เป็นประจำ
ป่าคำชะโนด วังนาคินทร์
๕. พญานาคศรีสัตตนาคราช
พญานาคศรีสัตตนานาคราช เป็นพญานาคที่มีบิดาเป็นมนุษย์ มารดาเป็นพญานาคีที่เป็นพระราชธิดาของพญาสนธินาคราช และพญาศรีภาวนานาคิณี สืบเชื้อสายมาจากพญา
มุจลินทร์นาคราช
ตำนานเล่าว่าท่านถือว่าเป็นพญานาคฝั่งลาว ส่วนฝั่งไทยคือ พญาศรีสุทโธนาคราช ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระสหายกัน
ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวความไว้ว่า...เมื่อพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จสู่ดอยนันทกังรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของนางนันทยักษ์ มีนาคตนหนึ่งมี ๗ เศียร ชื่อว่า ศรีสัตตนาค เข้ามาทูลขอพระบรมศาสดาให้ทรงย่ำรอยพระบาทไว้ ณ ถ้ำแห่งนี้ ทรงก้าวพระบาทย่ำรอยเท้าไว้แล้วทรงแย้ม
พระโอฐ และตถาคตได้กล่าวแก่พระอานนท์ว่า เราเห็นนาค ๗ เศียร เป็นนิมิต ต่อไปภายหน้าที่นี้จักบังเกิดเป็นเมือง นามว่า "ศรีสัตตนาค"
พญานาคศรีสัตตนาคราช
*** ตำนานอุรังคธาตุ คือ ตำนานที่แต่งในลักษณะนิทานปรัมปรา เป็นนิทานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทตามฝั่งแม่น้ำโขงโดยถือว่าเกิดจากการกระทำของพวกนาค
พระมเหสีของพญาศรีสัตตนาคราช คือ พระนางญานีรัตนวดีศรีสัตตเทวี พระแม่นาคีผู้มีเมตตา
พระนางญานีรัตนวดีศรีสัตตเทวี
รูปปั้นพญานาคศรีสัตตนาคราช ประดิษฐาน ณ ริมฝั่งโขง จังหวัดนครพนม
คำบูชาพญาศรีสัตตนาคราช
ท่องนะโม สวด ๓ จบ
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสาวา
อิมัง สิริสัตนาคะ ราชะนามะกัง
อะหัง วันทามิ สัพพะทา
สัพพะโสตถี ภะวันตุเม
๖. พญาเพชรภัทรนาคราช
พญาเพชรภัทรนาคราช หรือพญานาคเกล็ดแก้ว
พญาเพชรภัทรนาคราช ทรงเป็นพระราชโอรสของพญานาคอนันตนาคราช และพระนางอุษาอนันตวดี ท่านอยู่ในตระกูลวิรูปักษ์ พระวรกายเดิมมีสีทอง เกล็ดเพชรนี้ท่านได้จากการบำเพ็ญเพียรบารมี แผ่พังพานได้ ๙ เศียร
ตำนานรักของท่านเพชรภัทรนาคราช เข้าตำรารักวุ่นวายของเจ้าชายรูปงาม กันเลยทีเดียว ก่อนจะทรงพบรักแท้กับพระนางอัญญารินทร์ธสินีเทวี ผู้เป็นธิดา ท้าวพญาวิสุทธ์นาคราช ซึ่งเป็นโอรสของปู่ภุชงค์และย่าศรีปางตาล กับ พระนางเชรษินีเทวี ราชธิดาของท้าววิรูปักษ์กับพระนางนพเกตนาคินีเทวี เรียกว่า ชาติตระกูลของพระนางสูงส่งยิ่งเลยทีเดียวเชียว
พระชายาของพญานาคเพชรภัทรนาคราชก่อนหน้านี้ ได้แก่
🌹พระนางกัลเกตุ เป็นชายาที่ได้ประทานมาจากท้าววิรูปักษ์ อยู่กันยังมิทันหม้อข้าวจะดำ เพราะท่านเพชรภัทร ไม่เต็มใจจะแต่งงานด้วย พระนางกัลเกตุ จึงออกหาศีลหาธรรม โปรดสงบ แต่ยังไม่บรรลุโลกุตระธรรม
🌻 พระนางศิริณา นาคินีผู้เป็นางรำถวายองค์อัมรินทร์ องค์อัมรินทร์ท่านประทานให้พญาเพชรภัทร...ท่านพญานาคท่านรักเคารพองค์อัมรินทร์ดุจพระเชษฐา จึงขัดมิได้จำต้องรับนางไว้เป็นชายา แต่ก็อยู่กันได้ไม่นาน พระนางก็กลับไปจำศีลอยู่ที่สระอโนดาส จนได้ณานจุติสวรรค์ชั้นดุสิต
🥀 นิลารุจี เป็นนาคินีชั้นสามัญ ทรงช่วยชีวิตชายาองค์นี้ไว้จากครุฑสุติรสัตตะ ชายาองค์นี้อยู่ได้ไม่นานก็กลับบ้านไป คราต่อมาชายาองค์นี้กลับลอบปลงพระชนม์พระชายาคู่พระทัยของพระองค์พระนางอัญญารินทร์ธสินีเทวี สร้างความพิโรธแก่องค์นาคินเพชรภัทรเป็นอันมาก พระองค์ทรงประหารนางนิลารุจี ตายไปเกิดเป็นสัตว์นรก
🌷 ครีภัตราเทวี ชายาองค์นี้ท้าววิรูปักษ์ก็ประทานมาเช่นกัน...ท่านวิรูปักษ์นี่ก็ขยันเสิรฟ์นิ...อิอิ...ครีภัตราเทวีมีศักดิ์เป็นหลานท่านวิรูปักษ์ ประทานให้มาทำหน้าที่เป็นเลขาคิม แต่เรื่องราวไม่ได้ฟินเหมือนในซีรีย์เกาหลี เรื่องดัง เพราะท่านประธาน CEO เพชรภัทรนาคราช ท่านไม่ทรงโปรดนาง แต่ถึงกระนั้นก็อยู่กับท่านเพชรภัทร นานกว่าชายาองค์อื่น เมื่อพญาเพชรภัทรนาคราชมาพบกับ พระนางอัญญารินทร์เทวี ก็เลิกรากับพระนางครีภัตราเทวีทันที
🦚 องค์ที่ ๕ เป็นนางกินรีจากฝั่งโขง องค์นี้เป็นตัวป่วน ทำให้ชายาองค์อื่นๆทะเลาะกัน องค์เพชรภัทรจึงให้นางเนรเทศตัวเองไป
พระชายาทั้ง ๕ องค์ของพญานาคเพชรภัทร
อัญญารินทร์ธสินีเทวี พระชายาอันเป็นที่รักของพญานาคเพชรภัทรนาคราช
แม้พระกามเทพจะทรงบอกว่าพญานาคเพชรภัทรกับพระ
นางอัญญารินทร์ธสินีเทวี จะเป็นคู่แท้ แต่ก็ทรงมีเหตุให้ทรงพลัดพรากจากกันชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยองค์เพชรภัทรนาคราช ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม เพื่อบรรลุโสดาบัน จึงต้องทรงแยกจากนางอันเป็นที่รัก
แต่เมื่อบรรลุธรรมท่านก็เสด็จไปหาพระบิดาและพระมารดาก่อน แล้วจึงเสด็จไปสอนธรรมแก่พระชายาอัญญารินทร์ธสินี
พญาเพชรภัทรนาคราช-พระนางอัญญารินทร์ธสินีเทวี รักแท้เหนือกาลเวลา
๗. พญานาคดำแสนศิริจันทรา
พญานาคดำแสนศิริจันทรา
พญานาคดำแสนศิริจันทรา หรือ องค์ดำแสน เป็นโอรสของพญาศรีสัตตนาคราช เป็นต้นกำเนิดของพญานาคตระกูลกัณหาโคตะมา ซึ่งเป็นพญานาคตระกูลสีดำ ตอนที่กำเนิดมีสายฟ้ากระหน่ำมาบนเปลือกไข่อยู่หลายเพลาเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก ทรงเป็นกษัตริย์สายบู๊ เป็นยอดนักรบแห่งเมืองบาดาล ทรงเชี่ยวชาญการศึกสงคราม อักษร มนต์พระเวทย์ อาวุธคู่กาย คือ ตรีศูล และหอกทองคำปลายเป็นเพชร
พญานาคดำแสน ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นราชทูตของวังบาดาล พระองค์ทรงเป็นที่โปรดปรานของพญาอนันตนาคราช ทรงรับอาสาพญาอนันตนาคราช ไปปราบเหล่ากองทัพเพชรพญาธรหรือพญาครุฑที่มารุกรานเมืองบาดาล พญาอนันตนาคราช ได้ประทานหอกศรีอนันต์เศรษฐ์ ซึ่งเป็นหอกทองคำ ปลายเพชร เกล็ดสุริยัน เป็นศาสตราวุธที่ซัดออกไปแล้วมีอานุภาพแยกออกเป็นพันหอก เมื่อพระองค์ซัดหอกออกไปหอกก็แยกเป็นนับร้อยนับพันเข้าทิ่มแทงเหล่าพญาครุฑจนดับสิ้นหมดทั้งกองทัพ ตายภายใต้หอกศรีอนันต์เศรษฐ์ และอาวุธคู่กายองค์ดำแสนอีกอย่าง คือ ตรีศูล
ศึกพญานาค-พญาครุฑ
เมื่อรบชนะองค์ดำแสน ก็นำทรัพย์สมบัติของพญาครุฑมามอบให้พญาอนันตนาคราช สร้างความปลาบปลื้มพระทัยให้แก่พญาอนันตนาคราชเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมอบพระนางมนตรามณีนฤมาสเทวี หรือมณีนฤมาส ราชธิดาผู้กำเนิดจากพระนางปทุมมานาคินี ให้เป็นพระชายาขององค์ดำแสน
สำหรับพระนางมณีนฤมาสนั้น ทรงเป็นนาคิณีที่มากด้วยบารมี ทรงอ่อนหวานน่ารัก มีพระสิริโฉมงดงาม ฉวีวรรณผุดผ่อง ตอนมาจุตินั้น พระมารดาไม่สามารถมีประสูติกาล พระนางเจ้าปทุมมา จึงกลืนบัวนฤมาส อันเป็นบัววิเศษฐานประทับของพระแม่ลักษมีลงไป จนเกิดเหตุอาเพศปรากฏเป็นราหูอมจันทรา จนทำให้พระราชมารดาและพระราชธิดาสิ้นพระชนม์พร้อมกัน
เมื่อนั้นพระราหู เข้าเสวยบัวนฤมาส แต่กลับถูกพลานุภาพแห่งบัวนฤมาส เปล่งแสงอุลตร้าโซนิกอย่างรุนแรง สร้างความทรมานแก่พระราหูจนต้องคายพระนางปทุมมา และพระนางมณีรฤมาสออกมา กำเนิดพระชายาเอกของพญานาคก็เป็นที่อัศจรรย์เช่นนี้แล
พระนางมณีนฤมาสเทวี มเหสีที่รักแห่งพญานาคดำแสน
พญานาคดำแสนศิริจันทรา ทรงมีโอรสธิดากับพระ
นางมณีนฤมาส รวม ๗ พระองค์ แต่ที่เหมือนพระองค์ เก่งกล้า และเรืองพระเวทย์ คือ พญานิลกาฬนาคราช
พญาดำแสนนาคราช ทรงเป็นนักรบ ปรารถนาจะรวบรวมเมืองน้อยใหญ่ รบที่ไหนก็จะทรงอภิเษกกับราชธิดาเมืองนั้นๆ พระองค์จึงมีพระสนมมากถึง ๒๐๐ พระนาง แต่ไม่เคยแตะต้องสนมนางใด ทรงมีพระทัยรักมั่นคงต่อพระมนตรามณีนฤมาสเทวี
แต่ถึงกระนั้นพระนางมณีนฤมาส ก็ทรงเศร้าหมองทุกครั้ง เมื่อพระสวามีรบชนะก็มีนางสนมติดไม้ติดมือกลับมาด้วยทุกครั้ง พระนางมณีนฤมาส ทรงศรัทธาในรักแท้ และหยิ่งในศักดิ์ศรีของจอมนาคิณีผู้สูงศักดิ์ แม้จะรักองค์ดำแสนเพียงใด แต่ก็มิอาจทนอยู่ในฮาเร็มของพระสวามีได้ จึงทรงหนีจากพระสวามีไปจุติเป็นมนุษย์และไม่ปรารถนากลับไปหาพระสวามีองค์ดำแสนนาคราชอีก พญาดำแสนนาคราชออกตามหาพระชายาเท่าใดก็หาไม่เจอ ด้วยบารมีของพญาศรี
สุทโธนาคราชทรงคุ้มครองไม่ให้พบเจอ
พระนางมณีนฤมาสเทวีทรงหนีพระสวามีมาจุติบนโลกมนุษย์
๘. พญายัสมัญนาคราช
พญายัสมัญนาคราช หรือพญายัสมันรายะนาคราช เป็นพระโอรสในพญาอนันตนาคราชกับเจ้านางสร้อยแสงคีรี ทรงเป็นสหายร่วมรบกับพญาเพชรภัทรนาคราช พญาภาคินทร์นาคราช และพญานฤบดินทร์นาคราช พระอาจารย์ผู้สอนวิชาการรบให้แก่พญายัสมัญ คือ เทพเจ้าแห่งสมุทร องค์เดียวกับเทพเจ้าโพไซดอน มั้ยนะ ดังนั้นพญายัสมัญนาคราช จึงเป็นพญานาคผู้เชี่ยวชาญศาสตร์แห่งมนตรา "วิชาทิพย์มนต์นาวี"
พญายัสมัญนาคราช
ทรงอภิเษกกับพระนางมุญารินทร์รณีเทวี ที่ทรงกำเนิดในตระกูลวิรูปักษ์ เป็นราชธิดาองค์เล็กสุดของพญาภุชงค์นาคราช และพระนางทองคำศรีปางตาล พระนางจึงมีพระวรกายสีทองขาวมุก เยี่ยงพระราชมารดา ทรงเป็นที่สนิทเสน่หาและหวงแหนของพระราชบิดาและพระราชมารดาเป็นอย่างมาก
พระนางมุญารินทร์รณีเทวี
พญายัสมัญนาคราชกับพระนางมุญารินทร์...รักนี้ต้องฝ่าฟัน
ความรักของพญายัสมัญนาคราชที่มีต่อพระนางมุญารินทร์ จึงต้องฝ่าด่านพ่อตาแม่ยายพอสมควร
๙. พญาครรตะศรีเทวานาคราช
พญาครรตะศรีเทวานาคราช ทรงงดงาม มีพระปรีชาสามารถโดดเด่น สมเป็นชายชาตินักรบ ทรงเก่งกาจ มีปัญญาเลิศล้ำที่สุด กายของพระองค์มีสีทองล้วน มี ๙ เศียร ร่างกายกำยำใหญ่โต พละกำลังมหาศาล ชอบการจำศีลภาวนา ปลีกวิเวก ถือสันโดษ ยึดมั่นในวาจาสัตย์
พญานาคครรตะศรีเทวานาคราช
พระมเหสีคู่พระบารมีของพญาครรตะศรีเทวานาคราช คือ พระนางศิริมายานาคินีเทวี ราชธิดาของพญาวาสุกรีนาคราช
พระนางศิริมายานาคินีเทวี
นะโมตัสสะภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะติตัง พญามะ นาคะ อภินัง นาคา สาธุโนภันเต ยะมะ ยะมะ
จากลากันด้วยคาถาบูชาพญานาค นะคะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ
Reference :
โฆษณา