26 ก.พ. เวลา 12:47 • ความคิดเห็น

การจัดการภาระงานของนักบิน (Workload Management)

หนึ่งใน 9 สมรรถนะนักบินที่มักไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็น สิ่งที่เราเรียกกันว่า “การจัดการภาระงาน”
ความหมายตามตำราหมายถึง การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจัดลำดับความสำคัญและดำเนินภารกิจให้เสร็จสิ้นทันเวลาในสถานการณ์นั้นๆ
บนอากาศ นักบินไม่ได้บังคับเครื่องเพียงอย่างเดียว มันมีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารเวลา การจัดลำดับสถานการณ์ตรงหน้า การใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ในห้องเล็กๆแคบๆบนท้องฟ้าที่ไม่เคยเหมือนเดิมสักวัน รวมไปถึงการบริหารจัดการกับทีมงานทั้งในเครื่องและนอกเครื่อง
นี่คือหนึ่งในทักษะที่ไม่ง่าย มันต้องถูกเพาะบ่ม ป้อนโจทย์ใหม่ๆเข้าไปบ่อยๆเพื่อให้นักบินได้ฝึกใช้สมองในการประมวลผลให้ไว แล้วจัดการภาระงานที่ซับซ้อนได้อย่างมืออาชีพ
เรื่องนี้เชื่อมโยงกับวิชาปัจจัยมนุษย์หรือ Human Factor ที่ว่า คนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆกัน หรือที่เราเรียกกันว่า Mutitasking โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องการความถูกต้องและแม่นยำแบบชนิดที่เรียกว่า “พลาดไม่ได้เด็ดขาด”
แล้วจะทำอย่างไร หากมีอะไรประเดประดังเข้ามาตรงหน้าในเวลาแทบจะพร้อมๆกัน สันชาตญาณต่อไปนี้คือสิ่งที่ต้องปลุกมันขึ้นมาให้ได้สำหรับนักบินทุกคน
1. Maintains Self-Control (ควบคุมตนเองให้ได้)
เชื่อได้เลยว่าหากใครได้ลองมาใช้สมองบนท้องฟ้า ขีดความสามารถไม่เท่าตอนอยู่บนพื้นแน่ๆ และยิ่งถ้ามือต้องจับคันบังคับด้วยแล้ว สมองลดลงไปได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณออกซิเจนที่น้อย ความเครียด ความกดดัน ความกดอากาศที่ต่ำ ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อเรื่องของการควบคุมตนเองทั้งสิ้น ดั่งนั้น 'สติ' จึงสำคัญมาก ยิ่งควบคุมตนเองได้ดีเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น เรื่องนี้ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ การเตรียมตัว ความรู้ที่สั่งสม และการฝึกจิตให้มั่นคงอย่างเนืองนิจ
2. Plan, Prioritise, and Schedule Tasks Effectively (การวางแผน จัดลำดับเป็น จัดการงานอย่างมีประสิทธิภาพ)
นักบินมักใช้เทคนิคที่เรียกว่า 'Event Cycle' เป็นวิธีที่ใช้สำหรับการวางแผนตามลำดับเหตุการณ์ ในแต่ละเฟสบนอากาศ สามารถแบ่งขั้นแบ่งตอนได้หลายแบบมาก ขึ้นอยู่กับภารกิจการบิน แต่โดยหลักแล้ว เราจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่ ช่วงก่อนเหตุการณ์ ช่วงระหว่างเหตุการณ์ และช่วงหลังเหตุการณ์ ตัวอย่างการใช้เทคนิคนี้เช่น วางแผนทำเช็กลิสต์ Before Landing Check ก่อนถึงจุด IF (Initial Approach Fix) และทำ Final Check หลังจุด FAF (Final Approach Fix)
เรื่องนี้เป็นเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญด้วย รู้ว่าอะไรสำคัญก่อนและหลัง จำแนกสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างแม่นยำ แล้วเลือกหยิบขั้นตอนสำคัญเอาออกมาใช้อย่างถูกต้องตามจังหวะเวลา
3. Manages Time Efficiently (การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ)
ลองคิดดูว่า สายการบินที่ต้องจัดการเวลาในการเปลี่ยนเที่ยวบินให้รวดเร็วภายในกำหนดเวลา แถมยังต้องปลอดภัยและมีประสิทธิภาพด้วย มันต้องทำงานภายใต้ภาระงานและความกดดันขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดเครื่อง เติมน้ำมัน โหลดสัมภาระ เรื่องนี้คือเรื่องของ 'Turnaround Time' หนึ่งในกุญแจสำคัญของการบริหารเที่ยวบิน
อีกกรณีหนึ่งที่แจ่มชัดมากๆคือ ภารกิจขึ้นบินฉุกเฉินของนักบินเฮลิคอปเตอร์เมื่อได้รับการร้องขอให้ไปรับผู้ป่วย เช่น นักบินกำลังนอน Standby อยู่ในห้องที่แองก้า แล้วมีโทรศัพท์จาก Dispatcher บอกว่ามีผู้ป่วยที่แท่นขุดเจาะกลางทะเล พวกเราแทบจะรีบเด้งตัวขึ้นมาจากเตียง แล้วไปจัดแจงอุปกรณ์ เตรียมแผนบิน แบ่งบทบาทหน้าที่กันระหว่างกัปตันและผู้ช่วยนักบิน พร้อมขึ้นภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรฐาน เช่น ควรวิ่งขึ้นได้ภายใน 30 นาทีนับจากได้รับการแจ้งเป็นต้น
4. Offers and Accepts Assistance – Delegate and Ask for Help Early (แบ่งบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน)
ถ้าเป็นเที่ยวบินแบบ Multi Crew (ใช้นักบินมากกว่า 1 คน) แบบนี้โดยทั่วไปนักบินจะรู้กันว่าใครทำอะไร มีการแบ่งบทบาทที่ชัดเจนมาก แต่หากเป็นการบินแบบคนเดียวหรือ Single pilot เราจำเป็นต้องคิดเยอะหน่อย
รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีบนเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพ คิดล่วงหน้า วางแผนรอบด้าน และสามารถขอคำแนะนำจาก ATC ได้เสมอไม่ว่าจะเป็นให้เจ้าหน้าที่ช่วยแจ้งเตือนอะไรก็ตามที่เราไม่แน่ใจ การขอสภาพอากาศที่อัปเดต การขอคำแนะนำในการเปลี่ยนเส้นทาง การระแวดระวัง Traffic ที่อยู่ในห้วงอากาศเดียวกันกับเรา
5. Manages and Recovers from Interruptions, Distractions, Variations, and Failures (จัดการสิ่งที่เข้ามาก่อกวน รวมถึงเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์)
ไม่มีทางที่งานบนฟ้าจะราบเรียบตลอดเวลา หัวข้อนี้แยกได้ 4 ประเด็นหลักคือ 1) สิ่งรบกวน 2) ความวอกแวก 3) ผิดแผน และ 4) มีสิ่งขัดข้องเกิดขึ้น
สมมติขณะทำเช็กลิสต์บางอย่างอยู่บนฟ้าแล้ว ATC เรียกวิทยุมาหาเรา จะทำยังไง อาจใช้เทคนิค “Stop – Think – Act – Review” เพราะมันขึ้นอยู่กับหน้างานจริง ว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น นักบินจะต้องลำดับความสำคัญได้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง จะตอบ ATC ก่อนแล้วค่อยทำเช็กลิสต์ หรือต้องรีบทำเช็กลิสต์ก่อนค่อยตอบ ATC
บางเฟสของการบินที่ต้องการสมาธิสูง เช่นขณะนำเครื่องร่อนลงจอด แล้วเกิดลูกเรือชวนคุย หรือผู้ช่วยนักบินเริ่มชวนคุยมากเกินไป แบบนี้ต้องใช้กฎ 'Sterile Cockpit' เข้ามาจับ (หาอ่านได้ในโพสก่อนๆ)
แต่ถ้าหากเป็นกรณีผิดแผนหรือมีบางสิ่งขัดข้องเกิดขึ้นขณะบิน นักบินก็จะทำตามขั้นตอนที่ถูกฝึกมา ซึ่งเรื่องนี้คือหนึ่งในทักษะที่นักบินได้รับการฝึกอย่างเป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในสถานการณ์จริงกับการฝึกมันต่างกันตรงที่ความกดดัน ดังนั้นเรื่องนี้จึงย้อนกลับไปที่ข้อ 1 อีกครั้ง นั่นคือเรื่องของการควบคุมตนเอง (Maintains Self-Control)
6. Review, Monitor, and Cross-Check Actions Conscientiously (การรีวิว มอนิเตอร์ ตรวจสอบกันและกัน)
วงรอบนี้ต้องทำให้เร็ว ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ ท่องไว้ให้มั่นว่า “ไม่มีที่ว่างสำหรับความผิดพลาดบนท้องฟ้า” ขณะบินจึงต้องคอยเตือนตัวเองว่าสิ่งไหนทำแล้ว สิ่งไหนยังไม่ทำ ค่าพารามิเตอร์ต่างๆยังอยู่ในเกณฑ์ไหม และกรณีทำการบินกัน 2 คน ก็ต้องหมั่น Cross-Check ในบทบาทของกันและกันด้วย
เทคนิคมีเยอะ เช่น เรื่องมอนิเตอร์เครื่องวัดหรือค่าพารามิเตอร์ต่างๆก็ใช้การสแกนอย่างเป็นระบบ เช่น T-Scan ส่วนเรื่องการ Cross-Check ระหว่างนักบินนั้น ก็ควรฝึกใช้ Challenge – Response ให้ชิน อย่าไปคิดว่าเป็นการจับผิด มันหมดยุคสมัยของการบินแบบระบบอาวุโสไปนานแล้ว การทำงานร่วมกันในห้องนักบินนั้นต้องการการเฝ้าระวังซึ่งกันและกัน มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
7. Verifies That Tasks Are Completed to the Expected Outcome (ตรวจสอบงานว่าเป็นไปตามที่ต้องการไหม)
ในทุกๆเฟสของการบิน ตั้งแต่ตรวจเครื่องก่อนขึ้นบิน การสตาร์ตเครื่องยนต์ การวิ่งขึ้น การบินตามเส้นทาง การเตรียมลดระดับความสูง กระทั่งเครื่องร่อนลงจอดสัมผัสพื้น
นักบินจะถูกฝึกให้เช็กเสมอว่าทำทุกขั้นตอนถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่ พูดง่ายๆคือ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ แต่เมื่อทำอะไรแล้วจะต้องตรวจสอบผลของมันเสมอด้วย
เช่น ความสูงเป็นไปตามที่ต้องการไหม ความเร็วใช่ไหม อัตราไต่ อัตรร่อน เป็นอย่างไร บางอย่างต้อง Double-Check ซึ่งเป็นงานละเอียด และที่สำคัญ ทุกกิจกรรมที่ทำนั้น เป็นไปด้วยความรวดเร็วและต้องแม่นยำที่สุด
....
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ อ้างอิงมาจากทฤษฎีที่อัปเดตใหม่ล่าสุด การจัดการภาระงานบนฟ้าของนักบินนั้นแฝงไปด้วยความกดดันที่หลายคนไม่รู้ เป็นหนึ่งในสมรรถนะเงียบ ไร้เสียง ถ้าไม่บรรยายอย่างละเอียด คนทั่วไปจะคิดแค่ว่านักบินใช้ทักษะแค่การบังคับเครื่องไปในอากาศเท่านั้น
ที่สำคัญ ทักษะเรื่องนี้ นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย โดยเฉพาะกับคนทำงานที่มีภาระงานมากล้น การจัดการกับหลายสิ่งหลายอย่างตรงหน้าจึงไม่ง่าย หลายสิ่งที่ต้องแบกในแต่ละวันมันอาจสาหัสนัก จนเรากลัวว่ามันจะพังไหม หากมีภาระมากมายที่ต้องจัดการขนาดนี้
แต่เชื่อเถอะว่า มันอาจไม่ใช่ภาระเหล่านั้นที่ทำให้เราพัง แต่มันเป็นเรื่องของวิธีการที่เราแบกมันมากกว่า
<It’s not the load that breaks you down, it’s the way you carry it. - คำพูดของ Lou Holtz อดีตโค้ชฟุตบอลและนักวิเคราะห์โทรทัศน์ชาวอเมริกัน>
เรื่องการบริหารจัดการภาระงานหรือ Workload Management นี้ ถือได้ว่าเป็นศิลปะในการแบกงานอย่างหนึ่งนั่นเอง
โฆษณา