Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
1 มี.ค. เวลา 08:00 • ไลฟ์สไตล์
เงินในบัญชีอยู่ได้ไม่นาน? อาจเพราะเรารู้ไม่ทันสมอง!
5 เทคนิค จิตวิทยาเพื่อช่วยลดการใช้จ่ายและเพิ่มการออม
หลายคนคงเคยสงสัยว่าทำไมเงินเราถึงหมดเร็วนัก ทั้งที่ตั้งใจว่าจะประหยัด แต่กลับควบคุมตัวเองไม่ได้ หลายคนอาจจะ #หาเงินได้ใช้เงินเกิน แต่คำตอบที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินเดือนที่หาได้ แต่อยู่ที่กลไกการทำงานของสมองต่างหาก
[ ทำไมสมองของเราถึงชอบหักหลังกระเป๋าเงินนัก? 🧠vs. 💳 ]
คุณเคยตั้งใจจะเก็บเงิน แต่สุดท้ายกลับเผลอรูดบัตรซื้อของที่ไม่จำเป็นไหม? นั่นไม่ใช่แค่เรื่องของวินัยทางการเงิน แต่มันคือ สงครามภายในสมองของคุณเอง
สมองของเราทำงานโดยมีสองกลไกหลัก เรียกง่ายๆ ว่า “สมองฝั่งอารมณ์” ที่ต้องการความสุขทันที และ “สมองฝั่งเหตุผล” ที่พยายามวางแผนเพื่ออนาคต แม้หลายครั้งสมองทั้งสองฝั่งจะทำงานร่วมกันได้ดี แต่ในหลายๆ ครั้งสมองทั้งสองฝั่งนี้ก็มักแข่งกันควบคุมการตัดสินใจของเรา
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันได้ทำการศึกษาเรื่องนี้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน 14 คน โดยให้พวกเขาเลือกบัตรของขวัญ Amazon มูลค่า 5 – 40 ดอลลาร์ ภายใต้เงื่อนไขว่า ยิ่งมูลค่าสูงขึ้น เวลารอรับก็จะนานขึ้น (ตั้งแต่ 2 - 6 สัปดาห์) ขณะที่พวกเขากำลังตัดสินใจนั้น สมองจะถูกสแกนด้วยเครื่อง fMRI เพื่อตรวจจับการทำงานของระบบประสาท
1
และการทดลองนั้นพบว่า
1️⃣ ถ้ารางวัลสามารถรับได้ทันที → สมองฝั่งอารมณ์จะทำงานหนักขึ้น เพราะมันต้องการ “ความสุขเดี๋ยวนี้”
2️⃣ ถ้ารางวัลต้องรอนาน → สมองฝั่งเหตุผลจะทำงานมากขึ้น เพราะมันช่วยเราวางแผนเพื่ออนาคต
3️⃣ แต่ถ้าสุดท้ายเราเลือกสิ่งที่ได้ทันที → สมองฝั่งอารมณ์ก็จะกลับมาเป็นฝ่ายนำ
หมายความว่า ทุกครั้งที่มีตัวเลือกเข้ามา สมองส่วนอารมณ์และส่วนเหตุผลก็จะทำงานแข่งกัน พยายามโน้มน้าวควบคุมการตัดสินใจเรา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมนุษย์จึงมักมีความคิดสับสน ว้าวุ่นในใจอยู่เสมอ เมื่อต้องเลือกอะไรสักอย่าง และหลายครั้งตรรกะพื้นฐานก็ใช้ไม่ได้กับมนุษย์
[ 5 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณเอาชนะสมองส่วนที่อยากใช้เงิน 🔍 ]
ถ้าสมองฝั่งอารมณ์อยากจะรูดบัตรเครดิตให้เต็มวงเงิน และสมองฝั่งเหตุผลเอาแต่คอยเตือนให้เก็บเงินไว้สำหรับใช้สิ้นเดือนบ้าง จิตเป็นนายแล้ว – กายเราจะเป็นบ่าวให้ฝั่งไหนดี?
ถ้าสมมติเราอยากจะให้สมองฝั่งเหตุผลชนะเพราะเราเห็นความสำคัญและไม่อยากเครียดกับการไม่มีเงินปลายเดือนเหมือนทุกๆ เดือนที่ผ่านมาแล้วละก็ ลองดู 5 เทคนิคนี้ที่เราเจอมาจาก yahoo! Finance
✅1. อย่าบันทึกข้อมูลบัตรเครดิต/เดบิตไว้ติดเครื่อง
เวลาที่เราซื้อของในแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์บ่อยๆ ระบบก็จะส่งป๊อปอัพมาถามว่า "จะบันทึกข้อมูลบัตรไว้ไหม?" ซึ่งหลายครั้ง เราก็อาจจะกดตกลงไปเลย เพราะคิดว่าครั้งหน้าจะได้สะดวก ไม่ต้องพิมพ์ใหม่
แต่รู้ไหมว่า การที่เราต้องหยิบกระเป๋าสตางค์ออกมา แล้วนั่งพิมพ์เลขบัตรทีละตัว มันกลับเป็นผลดีกว่านะ เพราะช่วงเวลานั้นมันจะทำให้เรามีโอกาสได้คิดทบทวนว่า "เราจำเป็นต้องซื้อของชิ้นนี้จริงๆ หรือเปล่า?" "เงินในบัญชีพอไหม?" บางทีแค่ช่วงเวลาสั้นๆ นี้ก็อาจช่วยให้เราเบรกการช็อปปิ้งแบบหุนหันพลันแล่นได้
ที่สำคัญกว่านั้นคือเรื่องความปลอดภัย ลองคิดดูว่าถ้าวันดีคืนดีเว็บหรือแอพที่เราเคยบันทึกข้อมูลบัตรไว้โดนแฮก ข้อมูลบัตรของเราก็อาจรั่วไหลไปด้วย เพราะฉะนั้นครั้งหน้าถ้ามีป๊อปอัพขึ้นมาถามแบบนี้ แนะนำว่ากด "ไม่" ไปเลยดีกว่า อาจจะดูเสียเวลาหน่อย แต่นอกจากจะช่วยควบคุมการใช้จ่ายแล้ว ยังปลอดภัยกว่าด้วย
✅2. ใช้เงินสดแทนบัตรเครดิต
เคยสังเกตไหมว่าทำไมเวลาจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตเราจะไม่ค่อยรู้สึกสะเทือนใจเท่าไหร่?
นี่ไม่ใช่แค่ความรู้สึกของเราคนเดียวนะ มีงานวิจัยในปี 2001 โดย Prelec และ Simester ที่ยืนยันว่าคนเรายอมจ่ายแพงกว่าเดิมถ้าใช้บัตรเครดิต ทั้งๆ ที่เป็นของชิ้นเดียวกัน
สาเหตุก็เพราะว่าเวลาเราควักเงินสดจ่าย เราจะเห็นเงินในกระเป๋าลดลงทันที ต่างจากบัตรเครดิตที่แค่รูดปุ๊บจบปั๊บ ไม่เห็นเงินหายไปไหน (จนกว่าจะถึงวันจ่ายบิล!) ทำให้เราอาจใช้จ่ายเพลินเกินตัวได้ง่ายๆ
แม้ว่าทุกวันนี้หลายร้านจะไม่รับเงินสดแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ลองปรับมาใช้จ่ายด้วยเงินสดดูนะ รับรองว่าพอได้เห็นแบงก์ในกระเป๋าค่อยๆ หายไป จะทำให้เราคิดหนักก่อนควักเงินจ่ายทุกครั้งแน่นอน แถมยังช่วยคุมงบได้ดีกว่าด้วย!
✅3. คิดมูลค่าของสิ่งที่ซื้อในแง่ของ “ชั่วโมงการทำงาน” ไม่ใช่แค่ตัวเงิน
เวลาที่เราจะตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่าง เรามักจะมองแต่ตัวเลขและคิดว่าทั้งหมดนั้นมันก็สมเหตุสมผลดีนี่ แต่วิธีนี้เขาแนะนำให้เราลองคิดกลับกัน นั่นคือการแปลงราคาสินค้าเป็น "เวลาทำงาน" แทน เพราะบางทีเห็นแค่ตัวเลขเงิน เราอาจคิดว่า "โอเค ไม่แพงนี่" แต่พอคิดว่าต้องทำงานกี่ชั่วโมงถึงจะได้เงินก้อนนี้มา มุมมองเราอาจเปลี่ยนไปเลย
1
ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่าเราทำงานชั่วโมงละ 500 บาท แล้วเราเห็นรองเท้าสวยๆ คู่นึงราคา 5,000 บาท ถ้าดูแค่ราคาก็อาจคิดว่าไม่แพงมาก แต่ลองคิดใหม่ว่า... เราต้องทำงาน 10 ชั่วโมงเลยนะเพื่อจะได้รองเท้าคู่นี้มา (ยังไม่รวมหักภาษีด้วย)
1
พอคิดแบบนี้แล้ว อาจทำให้เราชั่งใจมากขึ้นว่ามันคุ้มกับเวลาและแรงที่เราทุ่มเทไปไหม โดยเฉพาะถ้าในตู้เรายังมีรองเท้าสภาพดีอีกตั้งหลายคู่
1
✅4. ตั้งค่าให้การออมเป็นระบบอัตโนมัติ
เคยเจอปัญหาแบบนี้ไหม... ทุกต้นเดือนตั้งใจว่าจะเก็บเงิน แต่พอถึงสิ้นเดือนกลับพบว่าเงินหมดไปกับค่าใช้จ่ายจิปาถะซะงั้น! นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับหลายคนมาก เพราะธรรมชาติของคนเรามักจะเลือกความสุขในปัจจุบันมากกว่าคิดถึงอนาคต (เขาเรียกว่า Present Bias)
1
แต่มีวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยเราได้ นั่นคือการตั้งระบบออมเงินอัตโนมัติ! เช่น ถ้าเราทำงานประจำ เงินเดือนเราจะออกทุกวันที่ 25 ของเดือน ทีนี้ เราก็ตั้งในแอพธนาคารให้โอนเงินจากบัญชีหลักไปบัญชีออมทรัพย์อัตโนมัติทุกเดือนก็ได้
ข้อดีของการทำแบบนี้คือ เราไม่ต้องมานั่งคิดหรือลังเลว่าจะออมดีไหม เพราะมันจะหักไปเองโดยอัตโนมัติก่อนที่เราจะเอาเงินไปใช้อย่างอื่น แถมยังช่วยให้เราสะสมเงินได้อย่างสม่ำเสมออีกด้วย เรียกว่าเป็นการบังคับตัวเองให้ออมแบบไม่รู้ตัวเลย
✅5. ใช้กฎ “30 วัน” เพื่อลดการซื้อของตามอารมณ์
ใครเคยเป็นบ้างไหม เดินห้างแล้วเจอของถูกใจปุ๊บ อยากได้ปั๊บ รีบควักเงินซื้อเลย... แต่พอกลับบ้านมานั่งคิดดีๆ กลับรู้สึกว่า "เอ... จำเป็นต้องซื้อขนาดนั้นเหรอ?"
นี่แหละที่มาของ "กฎ 30 วัน" วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้เราควบคุมการช็อปปิ้งตามใจอยากได้! วิธีนี้ก็คือ ถ้าเจอของที่อยากได้ แทนที่จะรีบซื้อเลย ให้จดไว้ก่อน แล้วรอ 30 วัน
1
ระหว่างที่รอ เราจะมีเวลาคิดหลายอย่าง... เช่น ของชิ้นนี้คุ้มค่ากับเงินที่จะจ่ายไหม? มีที่ไหนขายถูกกว่านี้ไหม? หรือบางทีพอผ่านไปสักพัก เราอาจพบว่าจริงๆ แล้วไม่ได้อยากได้ขนาดนั้น
⚠️ แต่ว่าถ้าจะใช้กฎนี้กับทุกอย่างก็คงลำบาก เราอาจลองตั้งเกณฑ์ใหม่ เช่น ถ้าของชิ้นไหนราคาเกิน 2,000 บาท จะใช้กฎ 7 วัน (7 days delay) แต่ถ้าชิ้นไหนเกิน 10,000 บาทก็ใช้กฎ 30 วันแทน
🔚สรุป: การบริหารการเงินไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข แต่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาและพฤติกรรมส่วนตัวด้วย การเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการใช้จ่ายและการออม นอกจากจะสามารถช่วยให้คุณควบคุมการเงินของตัวเองได้ดีแล้ว มันยังจะทำให้คุณเข้าใกล้เป้าหมายทางการเงินและสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้นด้วย
อ้างอิง:
https://www.inc.com/.../why-your-brain-prioritizes
...
https://finance.yahoo.com/.../psychological-money-hacks
...
#aomMONEY #วิธีประหยัดค่าใช้จ่าย #ออมเงิน #วิธีเก็บเงิน #การเงินส่วนบุคคล #หาเงินได้ใช้เงินเป็น
4 บันทึก
6
6
4
6
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย