7 มี.ค. เวลา 13:08 • การศึกษา

#กำหนดรู้อย่างไร?

จิตกับอารมณ์ เป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันมาก เมื่ออารมณ์กระทบจิตคราวใด จิตก็จะคล้อยตามอารมณ์ในคราวนั้น จิตมักจะปรารภถึงบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ เรื่องราว มาปรุงแต่งอารมณ์ ยิ่งปรุงแต่ง จิตก็ยิ่งเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์นั้น
หากจิตเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์โดยไม่ปล่อยวาง จิตก็จะเนิ่นช้าข้องอยู่กับอารมณ์ หากจิตเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์โดยไม่ปล่อยวาง จิตก็จะข้องอยู่กับอารมณ์ ทำให้เนิ่นช้า (ต่อการรู้แจ้งในอารมณ์) จิตที่เนิ่นช้าเพราะข้องอยู่กับอารมณ์ ย่อมถูกความทุกข์ครอบงำ บีบคั้น และทำให้เดือดร้อน
การก้าวข้ามออกมาจากอารมณ์ คือการยอมรับอารมณ์ตามเหตุปัจจัยที่มันเกิดขึ้น โดยกำหนดรู้ว่า
นี้ (อารมณ์) เป็นทุกข์
นี้ (ความไม่รู้อารมณ์นำไปสู่การปรุงแต่ง) เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
นี้ (จิตละความไม่ในรู้อารมณ์) เป็นความดับทุกข์
นี้ (การกำหนดรู้ทุกข์ ละเหตุ ทำความดับให้ปรากฏ) เป็นข้อปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
เมื่อกำหนดรู้ตามแนวอริยสัจ ๔ อย่างนี้ จิตจะคลายจากการปรารภถึงบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ เรื่องราว จะมีก็แต่การกำหนดรู้อารมณ์นั้นว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หากทำได้อย่างนี้ทุกคราว จิตก็ก้าวข้ามความทุกข์ได้ทุกคราว และจิตจะไม่เนิ่นช้าต่อการบรรลุธรรมในเบื้องหน้า
จารุวณฺโณ ภิกฺขุ (พระอาจารย์ต้น)
โฆษณา