Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
10 มี.ค. เวลา 11:40 • ประวัติศาสตร์
ความล้มเหลวของ “สงครามครูเสด (Crusades)” ทั้ง 9 ครั้ง
นักประวัติศาสตร์หลายคนมักแสดงทัศนะว่า “สงครามครูเสด (Crusades)” ทั้ง 9 ครั้งนั้นล้มเหลว และก็เป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดกองทัพครูเสดจึงไม่สามารถก่อตั้งนครของชาวคริสต์ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์
วันนี้เราจะมาลองเจาะดูสงครามครูเสดแต่ละครั้งแบบคร่าวๆ และลองมาดูว่าเหตุใดจึงไม่ประสบความสำเร็จ
“สงครามครูเสดครั้งที่ 1 (First Crusade)” เกิดขึ้นจากผู้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งกำลังถูกคุกคามจากกองทัพมุสลิม
1
“จักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire)” กำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยจักรวรรดิไบแซนไทน์เพิ่งเสียดินแดนจำนวนมากในอานาโตเลีย และดูเหมือนใกล้จะล่มสลายเต็มที
จักรวรรดิไบแซนไทน์จึงขอความช่วยเหลือจากเหล่าชาวคริสต์ทางตะวันตก ขอให้มาช่วยหยุดการขยายอำนาจของมุสลิม ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับดินแดนศักดิ์สิทธิ์โดยตรง
ฝรั่งเศสนั้นส่งกองทัพมาเป็นจำนวนมากในสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ซึ่งกองทัพฝรั่งเศสนั้นมีกำลังพลน้อยกว่ากองทัพมุสลิมมาก
แต่ไม่น่าเชื่อว่ากองทัพฝรั่งเศสสามารถบุกขยี้กองทัพชาวเติร์กที่กำลังขยายอำนาจตรงมายังคอนสแตนติโนเปิล และกองทัพฝรั่งเศสก็เข้ามาครอบครองกรุงเยรูซาเลมได้ในที่สุด
ต่อมาคือ “สงครามครูเสดครั้งที่ 2 (Second Crusade)” ซึ่งเริ่มขึ้นในปีค.ศ.1147 (พ.ศ.1690) และกินเวลากว่าสองปี
จุดประสงค์หลักของสงครามครั้งนี้คือการยึดเมืองโอเดสซาคืนจากพวกเติร์ก แต่เมื่อ “สมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3 (Pope Eugene III)” เรียกระดมพลเพื่อก่อสงครามในปีค.ศ.1145 (พ.ศ.1688) พระองค์ก็ตรัสว่าจุดประสงค์ของสงครามครูเสดครั้งนี้ คือเพื่อปกป้องดินแดนศักดิ์สิทธิ์และวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ไม่ได้ตรัสถึงเมืองโอเดสซา
สมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3 (Pope Eugene III)
ผลที่ได้ก็คือ เกิดความขัดแย้งในกองทัพเกี่ยวกับจุดประสงค์หลักของสงครามนี้ ทำให้สงครามครั้งนี้ล้มเหลว ถึงแม้ว่าในบางพื้นที่กองทัพครูเสดจะได้รับชัยชนะ แต่ภาพรวมก็ยังถือว่าล้มเหลว
และผลสรุปก็คือ มุสลิมกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง
“สงครามครูเสดครั้งที่ 3 (Third Crusade)” เกิดขึ้นจากความล้มเหลวของสงครามครูเสดครั้งที่ 2 ในปีค.ศ.1148 (พ.ศ.1691) และจุดประกายให้ชาวยุโรปต่างต้องการจะกลับไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพื่อต่อสู้อีกครั้ง
สงครามครูเสดครั้งที่ 3 ยังเกิดขึ้นโดยตรงจากการที่ “ซาลาดิน (Saladin)” เข้ายึดครองเยรูซาเลมได้ในปีค.ศ.1187 (พ.ศ.1730) ทำให้พระสันตะปาปาทรงเรียกระดมพลเพื่อยึดดินแดนศักดิ์สิทธิ์คืน
ซาลาดินเข้ายึดครองเยรูซาเลม
กองทัพนับหมื่นจากยุโรปเข้าร่วมในสงครามครูเสดครั้งที่ 3 โดยนักประวัติศาสตร์ประเมินว่ามีทหารเข้าร่วมในสงครามนี้ระหว่าง 36,000-70,000 คน
หลังจากเตรียมทัพเป็นเวลานับเดือน “จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Frederick I)” ก็ทรงนำกองทัพครูเสดออกเดินทัพในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1189 (พ.ศ.1732) โดยเดินทัพข้ามยุโรป มุ่งตรงไปยังเยรูซาเลม
จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 1 ทรงนำกองทัพครูเสดของพระองค์ซึ่งประกอบด้วยกำลังพล 15,000 นายออกเดินทัพ และระหว่างทาง พระองค์ก็สามารถรวบรวมกำลังพลได้เพิ่ม
จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Frederick I)
กองทัพของพระองค์ทรงเดินทัพผ่านฮังการี จักรวรรดิไบแซนไทน์ และบอลข่าน ก่อนที่กองทัพของพระองค์จะบุกเข้ามาถึงพื้นที่ของตุรกีในปีค.ศ.1190 (พ.ศ.1733) และพบเจอกับการโจมตีจากกองทัพศัตรู
กองทัพเยอรมันของจักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 1 สามารถพิชิตกองทัพเติร์กได้ที่เมืองคอนยา หากแต่ความสำเร็จนี้ก็อยู่ให้พระองค์ชื่นชมได้ไม่นาน เนื่องจากจักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 1 ทรงจมน้ำขณะทรงม้าข้ามแม่น้ำในปีค.ศ.1190 (พ.ศ.1733) นี้เอง และสวรรคตในที่สุด
1
กองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามครูเสดครั้งที่ 3 โดย “พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (Richard I of England)” ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพอังกฤษในสงครามครูเสด และเริ่มรวบรวมกองทัพและเสบียง
พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (Richard I of England)
4 กรกฎาคม ค.ศ.1190 (พ.ศ.1733) พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ทรงพบกับ “พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส (Philip II of France)” ที่ฝรั่งเศส และทรงเดินทัพมุ่งตรงไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ด้วยกัน
เมื่อนำทัพมาใกล้ถึงเมืองเอเคอร์ กองทัพครูเสดก็เตรียมตัวจะโจมตีเมืองที่ตกอยู่ใต้อำนาจของตุรกี
จากนั้น ก็ถึงเวลาปิดล้อมเมืองเอเคอร์ โดยพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 กับพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงบดขยี้เมืองเอเคอร์ได้ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1191 (พ.ศ.1734)
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส (Philip II of France)
ชัยชนะของกองทัพครูเสดทำให้อิทธิพลของซาลาดินในดินแดนแถบนี้เสื่อมถอย และหลังจากชัยชนะที่เอเคอร์ พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ทรงนำทัพมุ่งสู่เมืองจาฟฟา ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับกองทัพครูเสด เนื่องจากเป็นทางผ่านไปสู่เยรูซาเลม เมืองที่เป็นเป้าหมายของกองทัพครูเสด
7 กันยายน ค.ศ.1191 (พ.ศ.1734) กองทัพของซาลาดินได้ปะทะกับกองทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ที่เมืองอาร์ซุฟ และชัยชนะก็ตกเป็นของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ที่ทรงนำทัพบดขยี้กองทัพของซาลาดินจนแหลก
แต่ถึงแม้ว่ากองทัพครูเสดจะได้รับชัยชนะในดินแดนศักดิ์สิทธิ์และสามารถยึดพื้นที่ในแถบชายฝั่งทะเลทางเหนือของเยรูซาเบมได้ แต่กองทัพครูเสดก็ยังไม่สามารถยึดเมืองเยรูซาเลมได้
เรียกได้ว่าสงครามครั้งนี้มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลวในคราวเดียว
“สงครามครูเสดครั้งที่ 4 (Fourth Crusade)” เริ่มจากการที่ ”สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 (Pope Innocent III)” ทรงเรียกระดมพลเพื่อก่อสงครามครูเสดครั้งที่ 4 โดยมีจุดประสงค์เพื่อยึดเยรูซาเลมคืนจากพวกมุสลิม
แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้เป้าหมายนี้เปลี่ยนไปเป็นคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดของชาวคริสต์
กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกโจมตีและกวาดต้อนทรัพย์สินมีค่าไปจนหมดเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1204 (พ.ศ.1747) และทำให้สงครามครูเสดครั้งที่ 4 ถูกประณามว่าเป็นสงครามครูเสดครั้งที่อื้อฉาวและทำไปเพื่อปล้นทรัพย์สินเท่านั้น
“สงครามครูเสดครั้งที่ 5 (Fifth Crusade)” มาจากการที่สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ทรงตั้งพระทัยจะยึดเยรูซาเลมคืนจากอำนาจของมุสลิมให้ได้ หากแต่กลยุทธ์ในครั้งนี้ คือการทำให้ศัตรูอ่อนกำลังลงด้วยการเข้ายึดเมืองของมุสลิมในแอฟริกาเหนือและอียิปต์
1
แต่ความเชื่อที่ว่าอียิปต์นั้นจะเข้ายึดง่ายกว่าเยรูซาเลมนั้นเป็นความคิดที่ผิด และผลที่ได้ก็คือความล้มเหลว โดยกองทัพครูเสดสามารถเข้ายึดเมืองดาเมียตตา แต่ก็ต้องประสบปัญหาภายในหลายอย่าง ทั้งความขัดแย้งภายใน อีกทั้งยังขาดแคลนกำลังทหาร อาวุธ และเรือ
หลังจากพ่ายแพ้ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำไนล์ กองทัพครูเสดก็ต้องยกทัพกลับโดยไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไปมากนัก
ต่อมาคือ “สงครามครูเสดครั้งที่ 6 (Sixth Crusade)” ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากที่กองทัพครูเสดจากยุโรปไม่สามารถยึดเมืองเยรูซาเลมได้ในสงครามครูเสดครั้งที่ 5 แต่ชาวยุโรปจำนวนมากยังคงอยากกลับไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์
นั่นจึงนำไปสู่สงครามครูเสดครั้งที่ 6
“จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Frederick II, Holy Roman Emperor)“ ทรงระดมกำลังพล และส่งทหารจำนวนมากออกเดินทัพจากเยอรมนี หากแต่พระองค์ไม่ได้เสด็จไปด้วย โดยกองทัพครูเสดแล่นเรือไปยังเมืองเอเคอร์
จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Frederick II, Holy Roman Emperor)
เมื่อถึงเอเคอร์ กองทัพครูเสดก็ได้รับความช่วยเหลือจากประชาชนท้องถิ่น ได้กำลังพลเพิ่ม และมุ่งทางใต้ไปเยรูซาเลม หากแต่กองทัพของจักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 2 ก็ไม่มีกำลังพลมากพอที่จะโจมตีเยรูซาเลม ทำให้กองทัพของพระองค์ต้องเจรจากับศัตรู
ในที่สุด “อัล-คามิล (Al-Kamil)” สุลต่านแห่งอียิปต์ในเวลานั้น ก็ทรงยอมยกเยรูซาเลมและดินแดนรอบๆ แก่จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 2
จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 2 เสด็จมาเยรูซาเลมในปีค.ศ.1229 (พ.ศ.1772) และทรงอ้างสิทธิครอบครองเมือง แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จในสงครามครูเสดครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะปราศจากกำลังทัพหรือความช่วยเหลือจากคริสตจักร แต่ก็สามารถยึดเยรูซาเลมได้
แต่ความสำเร็จนี้ก็อยู่ได้เพียงแค่ประมาณสิบปีเท่านั้น และนำไปสู่สงครามครูเสดครั้งต่อไป
“สงครามครูเสดครั้งที่ 7 (Seventh Crusade)” เกิดจากพระราชประสงค์ของ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส (Louis IX of France)” ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1244 (พ.ศ.1787) ซึ่งมีพระราขประสงค์จะยึดเยรูซาเลมคืนจากมุสลิม
พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ทรงออกเดินทัพในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.1248 (พ.ศ.1791) โดยทัพของพระองค์นั้น ประกอบด้วยกองเรือกว่า 100 ลำ กำลังทหารอีกกว่า 35,000 นาย มุ่งไปยึดเมืองหลักของอียิปต์ และจะนำเมืองที่ยึดได้ไปแลกกับเมืองในซีเรีย
พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส (Louis IX of France)
พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ทรงเชื่อว่าถึงแม้ว่าจะเป็นศัตรูกับอียิปต์ แต่พระองค์ก็จะสามารถยึดเมืองเยรูซาเลมได้ ดังนั้น หลังจากผ่านฤดูหนาวในไซปรัส กองทัพครูเสดของพระองค์ก็เดินทัพมาถึงเมืองดาเมียตตา อียิปต์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1249 (พ.ศ.1792)
แต่กองทัพของพระองค์ที่เดินทัพมาถึงก็ต้องสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากระหว่างทางนั้น เสบียงอาหารร่อยหรอ อีกทั้งพายุใหญ่ก็ทำลายกองเรือของพระองค์ไปหลายลำ และคร่าชีวิตทหารจำนวนมาก
ท่าเรือและเมืองดาเมียตตานั้นมีการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น หากแต่กองทัพครูเสดก็สามารถบุกเข้ามาในเมืองได้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1249 (พ.ศ.1792) และยึดเมืองดาเมียตตา
แต่นี่คือจุดสิ้นสุดของความสำเร็จของกองทัพครูเสด เนื่องจากในเวลาต่อมา กองทัพครูเสดได้ถูกบดขยี้ที่แมนซูราห์ ทำให้กองทัพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ต้องยอมแพ้ และเมืองดาเมียตตาก็กลับมาอยู่ในอำนาจของมุสลิมอีกครั้ง
ในเวลาต่อมา กองทัพศัตรูได้ปล่อยองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ก็ประทับอยู่ในเลแวนต์ ก่อนจะทรงก่อสงครามอีกครั้ง
ถึงจะพ่ายแพ้ แต่การได้เห็นพวกมุสลิมกลับมาเรืองอำนาจในอียิปต์และดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ไม่ทรงยอมแพ้ และระดมกองทัพและออกเดินทัพอีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ.1267 (พ.ศ.1810) โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์จะเข้ายึดครองเมืองตูนิส ซึ่งเป็นเมืองหลวงของตูนิเซียในปัจจุบัน
และนี่คือ “สงครามครูเสดครั้งที่ 8 (Eight Crusade)”
กองทัพฝรั่งเศสออกเดินเรือในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1270 (พ.ศ.1813) และเดินทางมาถึงตูนิเซียในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.1270 (พ.ศ.1813)
กองทัพฝรั่งเศสตั้งค่าย เตรียมพร้อมจะบุกโจมตีเมืองตูนิส หากแต่ในช่วงนี้เอง ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในกองทัพฝรั่งเศส และทำให้ทหารยุโรปจำนวนมากเสียชีวิตจากโรคบิด
พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ก็สวรรคตจากพระอาการประชวรเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.1270 (พ.ศ.1813) ทำให้กองทัพครูเสดต้องยกทัพกลับยุโรป และเรียกได้ว่าสงครามครูเสดครั้งที่ 8 นี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
มาถึงครั้งสุดท้าย คือ “สงครามครูเสดครั้งที่ 9 (Ninth Crusade)” ซึ่งเกิดจากการที่ “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (Edward I of England)” ตั้งพระทัยจะก่อสงครามครูเสดครั้งที่ 9 เพื่อกู้ชื่อกองทัพครูเสดที่ล้มเหลวมาจากครั้งก่อนหน้า
แต่ขวัญกำลังใจของทหารในเวลานั้นก็แทบจะไม่มี และทหารก็มีเพียงแค่หยิบมือเท่านั้น ผลก็คือ กองทัพครูเสดครั้งที่ 9 ประสบชัยชนะเพียงแค่ไม่กี่สมรภูมิเท่านั้น
เรียกได้ว่ากองทัพคริสเตียนนั้นล้มเหลวในการยึดกรุงเยรูซาเลม กองทัพครูเสดนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งการวางแผนที่ไม่ดี การบริหารกองทัพที่ผิดพลาด และโรคระบาด
1
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (Edward I of England)
แต่ถึงอย่างไร สงครามครูเสดก็เป็นสงครามหนึ่งที่ได้รับการจารึกและเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน
References:
https://medium.com/lessons-from-history/the-nine-crusades-and-the-reasons-for-their-failure-50cf442f67b0
https://www.redlandsdailyfacts.com/2011/12/02/story-of-the-nine-medieval-crusades/
https://psychhistoryandsystems.wordpress.com/2017/09/03/the-nine-crusades/
https://www.bartleby.com/essay/Causes-And-Failures-Of-The-Crusades-PCSQSJPNG6
https://www.worldhistory.org/article/1273/the-crusades-consequences--effects/
37 บันทึก
40
20
37
40
20
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย