12 มี.ค. เวลา 08:00 • ธุรกิจ

ESG มีอะไรบ้าง? รู้จักแนวทางปฏิบัติเพื่ออนาคตของ SME ยุคใหม่

บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกหลักการ ESG ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมแนวทางการนำไปปรับใช้จริงที่เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้
🔵 Content Summary
  • ESG (Environmental, Social, and Governance) เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจ SME สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว โดยเฉพาะในยุคที่เผชิญความท้าทายจากวิกฤตและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
  • การนำ ESG มาใช้สามารถสร้างประโยชน์หลายด้านให้กับธุรกิจ ทั้งการลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและกฎหมาย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างภาพลักษณ์ที่ดี ลดต้นทุนการดำเนินงาน และช่วยรักษาพนักงานที่มีคุณภาพ
  • SME สามารถเริ่มต้นนำ ESG มาปรับใช้ได้โดยเริ่มจากการประเมินสถานะปัจจุบันขององค์กร กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบสูงแต่ใช้ทรัพยากรน้อย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืนผ่านการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับ
ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรง และความคาดหวังของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป การดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมที่มุ่งเน้นเพียงผลกำไรระยะสั้นอาจไม่เห็นผลมากเท่าเดิม เนื่องจากยุคนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและมองหาแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวด ล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตทางธุรกิจ
แนวคิด ESG หรือ Environmental (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม) and Governance (ธรรมาภิบาล) จึงไม่ใช่แค่ ‘เทรนด์’ ความยั่งยืนที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่เป็นหลักการสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจ โดยเฉพาะ SME สามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
🔵 ESG คืออะไร และทำไมถึงสำคัญ?
ESG ย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) ซึ่งเป็นแนวคิดด้านความยั่งยืนที่ได้รับความสนใจอย่างมากในภาคธุรกิจทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในประเทศไทย โดย ESG Sustainability คือแนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และบริหารองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาลที่ดี
สำหรับ SME ที่มีการนำ ESG Model มาปรับใช้ยังช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว และเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร เนื่องจากปัจจัยต่อไปนี้
💠 ลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและกฎหมาย
การปฏิบัติตามหลักการ ESG ช่วยให้ธุรกิจลดความเสี่ยงจากกฎระเบียบต่างๆ จากประชาคมโลกได้ เช่น มาตรฐานและกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับ ESG ที่เข้มงวดขึ้น ในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสิทธิมนุษยชน และด้านบรรษัทภิบาล ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
💠 เพิ่มโอกาสทางการเงินและการลงทุน
ปัจจุบัน นักลงทุนและสถาบันการเงินได้หันมาให้ความสำคัญกับ ESG rating มากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจที่มี ESG Model ที่ดีจึงมักได้รับการสนับสนุนทางการเงินและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลจาก Bloomberg ยังระบุว่า กองทุน ESG ทั่วโลกมีมูลค่ารวมกว่า 7 ล้านล้านดอลลาร์ (อ้างอิง: Bloomberg) แสดงให้เห็นว่าแนวทางนี้ไม่ได้เป็นเพียงกระแสชั่วคราว แต่เป็นการลงทุนที่เข้าสู่กระแสหลักแล้ว
💠 สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดี
ปัจจุบันลูกค้าและคู่ค้าธุรกิจยุคใหม่มักให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG จึงมีโอกาสดึงดูดลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเก่าได้ดีกว่า
💠 ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ
การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรหมุนเวียน และลดของเสียจากการกระบวนการผลิต จะช่วยให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานได้ อาทิ การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานและเครื่องจักรให้สามารถใช้พลังงานพลังงานสะอาดทดแทน หรือ การทำระบบลีน (LEAN) เพื่อปรับการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
💠 เสริมสร้างขวัญกำลังใจของพนักงาน
บริษัทที่ให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG จะสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานคุณภาพที่มีความภักดีและมีความกระตือรือร้นในการทำงานได้ดีกว่า เพราะพนักงานในปัจจุบันมีความคาดหวังกับองค์กรที่มีจริยธรรมและมีความยั่งยืน ต้องการสัมผัสถึงคุณค่าของงานที่ทำ และร่วมสร้างผลลัพธ์ที่ดีทั้งต่อองค์กรและสังคม
🔵 ESG มีอะไรบ้าง ? ชวนเจาะลึกหลักการ ESG ความยั่งยืนทางธุรกิจในยุคเปลี่ยนผ่าน
อ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะพอรู้คร่าว ๆ กันแล้วว่า ESG มีอะไรบ้าง โดยส่วนนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจแบบเจาะลึกกับ 3 มิติหลักของ ESG ซึ่งได้แก่ Environmental, Social and Governance
1. Environmental (สิ่งแวดล้อม)
การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไม่เพียงช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อโลก แต่ยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อีกด้วย โดยตัวอย่างแนวปฏิบัติที่สำคัญ เช่น
  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) โดยการใช้พลังงานสะอาดหรือพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การใช้พลังงานทดแทนและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือการใช้ระบบรีไซเคิลภายในองค์กร
  • การบริหารจัดการของเสียและขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหามลพิษและต้นทุนจากการกำจัดขยะ
  • การพัฒนาสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดและความต้องการของผู้บริโภค
2. Social (สังคม)
ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้จริง เช่น
  • การดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดสวัสดิการที่ดี การส่งเสริมสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-life balance)
  • การส่งเสริมความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชน โดยให้โอกาสการจ้างงานที่เป็นธรรมและหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ
  • การรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนโดยรอบ ผ่านโครงการ CSR หรือการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม
  • การปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม เพื่อให้แน่ใจว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
3. Governance (ธรรมาภิบาล)
ธรรมาภิบาลที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจมีความโปร่งใส ลดความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน และสร้างความไว้วางใจในสายตาของนักลงทุนและลูกค้า โดยแนวทางสำคัญ ได้แก่
  • มีความโปร่งใสในการดำเนินงานและการเงิน โดยการจัดทำรายงานทางการเงินที่ชัดเจนและตรวจสอบได้
  • การปฏิบัติตามกฎหมายและจริยธรรมทางธุรกิจ เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  • การป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชัน ด้วยการกำหนดนโยบายภายในที่ชัดเจน และให้ความรู้แก่พนักงาน
  • มีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาที่กระทบต่อธุรกิจในระยะยาว
🔵 แนวทางการนำ ESG Model ไปปรับใช้กับ SME ควรเริ่มต้นอย่างไร?
💠 ประเมินสถานะปัจจุบันขององค์กร
วิเคราะห์กระบวนการทำงานและกิจกรรมทางธุรกิจที่มีอยู่ ว่าสอดคล้องกับแนวคิด ESG Sustainability มากน้อยเพียงใด ทั้งในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคมและพนักงาน รวมถึงการกำกับดูแลกิจการ เพื่อให้คุณมองเห็นจุดแข็งที่สามารถต่อยอดและจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง นอกจากนี้ คุณยังสามารถศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีจากองค์กรต้นแบบในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของธุรกิจของตนเองได้อีกด้วย
💠 กำหนดเป้าหมายและวางแผนกลยุทธ์
ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายแต่สามารถบรรลุได้จริง เช่น การกำหนดเป้าหมายลดการใช้พลังงานลง 20% ภายใน 2 ปี หรือการพัฒนาทักษะพนักงานให้ครอบคลุม 100% ของพนักงานทั้งหมด ในแผนกลยุทธ์ควรระบุขั้นตอนการดำเนินงาน ระยะเวลา งบประมาณ และผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPIs) ที่สามารถวัดผลได้จริง
💠 ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน
สามารถเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการที่ส่งผลกระทบสูงแต่ใช้ทรัพยากรน้อย เช่น การติดตั้งระบบประหยัดพลังงาน การปรับเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนาระบบการจัดการของเสีย นอกจากนี้ ควรพิจารณาการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
💠 สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืน
ผู้ประกอบการควรสื่อสารวิสัยทัศน์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนให้พนักงานทุกระดับเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม การประกวดนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือการให้รางวัลสำหรับพนักงานที่มีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน และที่สำคัญ ควรส่งเสริมให้พนักงานนำแนวคิดด้านความยั่งยืนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ขยายวงกว้างสู่สังคม
🔵 เริ่มต้นวันนี้ เพื่อก้าวสู่เส้นทางการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนด้วย ESG
ท้ายที่สุดแล้ว การนำแนวคิด ESG มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ SME ไม่ใช่เพียงการตอบสนองต่อกระแสความยั่งยืนหรือการปฏิบัติตามข้อกำหนดเท่านั้น แต่เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในระยะยาว เพราะในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การดำเนินธุรกิจตาม ESG Model นับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ผู้ประกอบการไม่อาจมองข้ามได้เลย ดังนั้น หากเริ่มต้นวางแผนและดำเนินการตั้งแต่วันนี้ คุณก็จะมีความพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต และสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจได้อย่างแท้จริง
โฆษณา