10 มี.ค. เวลา 12:35 • ครอบครัว & เด็ก

”กฎหมายอาญา ไม่ย้อนหลัง..“

สมัยผู้เขียนเรียนอาชญาวิทยาที่มหาวิทยาลัยมหิดล.. ซึ่งเป็นวิชาที่อธิบายสาเหตุของการกระทำความผิด..
มีทฤษฎีหนึ่ง ชื่อ การคบค้าสมาคมที่แตกต่าง (Differential Association) โดยนักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน Prof. Edwin Sutherland มีชีวิตอยู่ก่อน พ.ศ. 2493..
ทฤษฎีนี้ อธิบายว่า.. คนดีจะกลายเป็นคนร้ายได้.. หากได้เรียนรู้การกระทำผิดผ่านการคบค้าสมาคมกับอาชญากรโดยไม่รู้ตัว..
ทฤษฎีนี้ โด่งดังมาก.. ตอนเรียน ผู้เขียน ก็ยิ้มในใจเบาๆ..
แหมๆ.. ทฤษฎีนี้เกิดมาได้แค่ 50-60 ปีนี้เอง..
ความจริงพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องนี้มานานตั้ง 2,500 ปีแล้ว.. ไม่เห็นมีใครศึกษาจริงจัง..
นั่นก็คือ .. มงคล 38 ประการ..
พระไตรปิฏกกล่าวถึง มงคลสูตร.. สิ่งนำความเจริญ ในข้อแรกว่า..
”อย่าคบคนพาล (อเสวนาจะพาลานัง)“..
หลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังนี้ ก็เช่นเดียวกัน..
สำหรับนักเรียนกฎหมายปี 1.. คงเข้าใจหลักการนี้เป็นอย่างดี เพราะเรียนมาแล้ว..
แต่วันนี้ ผู้เขียนจะมาเปิดโลกในสิ่งที่เราเรียนมาแล้ว ให้เห็นอีกมุมหนึ่ง..
กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่ผู้กระทำ.. หมายถึง.. รัฐจะออกกฎหมายอาญากำหนดความผิด เพื่อลงโทษบุคคลที่กระทำการใด.. ก่อนที่จะมีการตรากฎหมายฉบับนั้น ไม่ได้..
เช่น นาย ก. ขับรถไปจอดริมถนนสายหนึ่ง.. วันรุ่งขึ้น มีกฎหมายอาญากำหนดว่า ห้ามจอดรถริมถนนสายนั้น มิฉะนั้นต้องรับโทษ..
กฎหมายแบบนี้ขัดต่อหลักการทางอาญา ใช้บังคับไม่ได้.. นาย ก. ไม่มีความผิด..
หรือ นาย ก. ทำผิดกฎหมายยาเสพติด.. ต่อมามีกฎหมายใหม่ออกมาให้เพิ่มโทษความผิดนั้น.. แบนนี้ จะใช้กฎหมายใหม่มาเพิ่มโทษนาย ก.ไม่ได้..
ข้อน่าพิจารณา คือ..
1) หลักการนี้ ยืนยันหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญว่า.. จะทำการใดก็ได้..
เว้นแต่ จะมีกฎหมายห้ามกระทำ และกำหนดโทษไว้..
เช่น ตามรัฐธรรมนูญ บุคคลมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูด จะแสดงความเห็นอะไรก็ได้ (right to express) ..
แต่จะพูดดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทคนอื่นไม่ได้ เพราะมีกฎหมายกำหนดความผิดไว้..
2) หลักการนี้ ห้ามรัฐออกกฎหมาย ให้มีผลย้อนหลังไปลงโทษบุคคล.. แต่การออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นคุณแก่บุคคล แบบนี้ทำได้..
เช่น มีกฎหมายใหม่ให้ลดระวางโทษให้น้อยลง หรือยกเลิกความผิด..
กฎหมายใหม่นี้ ย้อนหลังได้.. บุคคลที่ทำผิดนั้นก่อนกฎหมายออกมา จะได้รับประโยชน์ คือ ได้ลดโทษ.. หรือยกเลิกความผิดนั้นด้วย..
แม้เขากำลังรับโทษจำคุกในเรือนจำ ถ้ากฎหมายใหม่ยกเลิกความผิด ก็ต้องปล่อยตัวทันที..
นักคิดหลายคน อาจสงสัยว่า หลักการนี้มาจากไหน..
ก็คงมาจากกฎหมายของประเทศแถบตะวันตกล่ะครับ.. เพราะกฎหมายเรามักลอกมาจากฝั่งนั้น..
กฎหมายของฝั่งตะวันตก ส่วนใหญ่ นับถือศาสนาคริสต์.. รากฐานกฎหมายเขาก็มาจากหลักศาสนาคริสต์นั่นล่ะ..
เท่าที่ค้นคร่าวๆ.. หลักนี้เอามาจาก Magna Carta ธรรมนูญของประเทศอังกฤษที่ร่างในปี คศ. 1215..
เทียบเวลากับประเทศไทย ก็คือ ปี พ.ศ. 1,758.. ยุคนั้นน่าจะก่อนสมัยสุโขทัย..
ใกล้เคียงสมัยพระเจ้าติโลกราช ของเชียงใหม่ ที่ทำสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งแรกในไทย (พ.ศ. 2,000) ..
ในพระไตรปิฏก.. หมวดพระวินัยปิฏก มหาวิภังค์ ปฐมปาราชิกกัณฑ์ ซึ่งเป็นศีลข้อแรกและสำคัญที่สุดของพระภิกษุ ระบุว่า..
“ห้ามเสพเมถุน”.. คือ ห้ามพระภิกษุมีเพศสัมพันธ์กับสตรี..
สาเหตุเนื่องจาก มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ พระสุทินนะ ตั้งใจบวชอย่างดี.. ตอนแรกแม่ไม่ยอมให้บวช ท่านก็อดข้าวประท้วงถึง 7 วัน.. จนแม่ใจอ่อน อนุญาตให้บวชได้..
บวชแล้วสักพัก.. ภริยาของพระสุทินนะที่แต่งงานกันไว้แล้วก่อนบวช เริ่มมีระดู..
แม่พระสุทินนะจึงมาขอร้องว่า ถ้าไม่ยอมสึก ก็ขอบุตรไว้สืบสกุลสักคน.. พระสุทินนะใจอ่อน ก็นอนกับสีกาภริยา.. จนสีกาตั้งครรภ์.. และคลอดบุตรชายในเวลาต่อมา..
แต่พระสุทินนะกลับซูบผอม.. นอนไม่หลับ ฉันไม่ลง เพราะกลุ้มใจ คิดมากว่า สิ่งที่ตนทำนั้น ผิดหรือถูก.. เพราะยุคแรก พระพุทธเจ้ายังไม่บัญญัติพระวินัยใดๆเลย..
เพื่อนหมู่ภิกษุรู้เข้าก็ติเตียน นำความมาเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง..
พระพุทธเจ้า ทรงไต่สวน จนได้ความจริงแล้ว.. ท่านก็ติเตียนพระสุทินนะ.. แล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติ กฎหมายสงฆ์ข้อแรกของโลกว่า..
”ห้ามภิกษุเสพเมถุน.. ถ้าฝ่าฝืนมีโทษร้ายแรง คือ ปาราชิก ต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที..
แม้ลาสึกไปแล้ว.. ก็ห้ามมิให้บวชใหม่ตลอดชีวิต..”
ทางพระเรียกว่า เปรียบเหมือนตาลยอดด้วน..
โทษปาราชิกนี้ จึงเทียบได้กับโทษอาญาทางโลก คือ ให้ประหารชีวิตนั่นเอง..
โทษอาญาทางโลกมีข้อยกเว้น เพื่อความเป็นธรรมตราบใด.. พระวินัยก็ไม่ต่างกันมีข้อยกเว้นเช่นกัน..
พระพุทธเจ้าทรงกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดฐานเสพเมถุน มีโทษปาราชิกว่า..
เว้นแต่ 5 กรณี ดังนี้..
1) พระภิกษุไม่รู้ตัว.. หรือถูกบังคับ ไม่ยินดี..
2) พระภิกษุเป็นบ้า..
ทั้งสองข้อนี้ตรงกับหลักกฎหมายอาญา คือ ขาดเจตนา.. ผู้ไม่รู้ ย่อมไม่ผิด..
หรือกฎหมายเรียกว่า วิกลจริต.. ภาษาแพทย์เรียว่า จิตเภท.. (บ้าแบบไม่รู้ตัว)
3) พระภิกษุจิตฟุ้งซ่าน..
4) พระภิกษุมีเวทนากล้า จนไม่รู้สภาพการกระทำ..
คือ บ้าชั่วขณะ หรือผีเข้า.. ทั้งสองข้อนี้ ภาษากฎหมายเราเรียกว่า จิตฟั่นเฟือน เช่น เมายาบ้า..
 
ภาษาแพทย์เรียกว่า โรคจิต.. (ยังรู้ตัว)
5) พระภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ.. คือ พระสุทินนะ.. ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ..
ข้อนี้ชัดเจนว่า ตรงกับหลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ นั่นเอง..
ถ้า Magna Carta เป็นกฎหมายฉบับแรกในอดีตที่วางหลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษจริง..
พระวินัยข้อห้ามเสพเมถุนของพระพุทธองค์.. ก็วางหลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษในทางธรรมเฉกเช่นเดียวกัน..
ที่สำคัญคือ.. หลักการตามพระวินัยนี้เกิดมามากกว่า 2,700 ปีมาแล้ว.. ก่อนหลักการที่เกิดในอังกฤษนานมาก..
เลยไม่รู้ว่า.. เราลอกหลักกฎหมายมาจากอังกฤษ..
หรืออังกฤษลอกหลักกฎหมายนี้มาจากพระพุทธองค์กันแน่..
ขำๆนะครับ.. จะจริงหรือไม่จริง ก็ไม่เป็นไร..
แค่อยากให้ได้คิดพิจารณาเปรียบเทียบสิ่งที่ได้เล่าเรียน..
ไม่ได้อยากให้คิดมาก.. 55
โฆษณา