11 มี.ค. เวลา 12:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

How to cut your dementia risk: 7 key lessons from the world’s best studies

วิธีลดความเสี่ยงจากโรคสมองเสื่อม: 7 บทเรียนสำคัญจากงานวิจัยที่ดีที่สุดในโลก
งานวิจัยล่าสุดเผยให้เห็นเบาะแสว่า คุณสามารถจะลดโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร ต่อไปนี้คือสิ่งที่วิทยาศาสตร์กล่าวไว้เกี่ยวกับการรักษาสมองให้เฉียบคม
ในขณะนี้ทั่วทั้งโลก ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หลักใหญ่เนื่องมาจากการเพิ่มของจำนวนประชากร และการมีอายุขัยที่ยาวขึ้น ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 จะมีผู้คนเป็นโรคสมองเสื่อม 153 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงสามเท่า จากจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน ความคืบหน้าในการรักษาโรคนี้ก็ยังไม่พบทางสว่าง เนื่องจากความซับซ้อนของสมอง และความเข้าใจของเราเกี่ยวกับสาเหตุโรคสมองเสื่อม และความเข้าใจในการรักษาโรคนี้ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้แต่การพัฒนายารักษาโรคสมองเสื่อมที่สามารถข้ามผ่านเลือดเข้าไปในสมอง ก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย
แต่ความหวังยังไม่หายไป ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แทนที่เรามัวแต่รอคอยการคิดค้นวิธีการรักษาโรคนี้ มีหลายสิ่งที่คุณสามารถทำได้ในวันนี้ ซึ่งสามารถจะลดความเสี่ยงในการวินิจฉัยโรค และชะลอการเสื่อมของสมองเมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้ว
ในวันหนึ่งข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์ อาจค้นพบวิธีรักษาโรคสมองเสื่อม ซึ่งจะช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ชีวิตของผู้ป่วยหลายล้านคนรวมทั้งครอบครัวของพวกเขา ในระหว่างนี้ ลองใช้เทคนิคที่ทำให้สมองเฉียบคมเหล่านี้ดู
1. จับตาดูการเคลื่อนไหว
โดยทั่วไปแล้ว การมองเห็น ถือเป็นประสาทสัมผัสที่สำคัญที่สุด ดวงตาของเรามีความซับซ้อนสูง สามารถแยกแยะสีได้ถึง 10 ล้านสีโดยประมาณ และเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในอาณาจักรสัตว์แล้ว การมองเห็นของเรา ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ถือว่าไม่ธรรมดา
ดังนั้น การมองเห็น จึงมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับสุขภาพสมองของเรา และการมองเห็นที่ดีขึ้น จะเกี่ยวข้องกับการรักษาการทำงานของสมองให้แข็งแรงเมื่อเราอายุมากขึ้น ซึ่งการวิจัยสนับสนุนสิ่งนี้ ดังการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร รายงานทางวิทยาศาสตร์ Scientific Reports ผลพบว่า ความไวต่อการมองเห็น สามารถทำนายโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 12 ปี ก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ
ในการวิจัยนี้ ได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมการวิจัยจากผู้ที่มีสุขภาพดี จำนวน 8,623 คน ซึ่งเป็นชาวเมืองนอร์ฟอล์ก ประเทศสหราชอาณาจักร โดยมีการติดตามผลแต่ละคนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะเห็นพื้นที่ ที่มีจุดที่เคลื่อนไหว และขอให้ผู้ร่วมการวิจัยให้กดปุ่มทันที ที่เห็นรูปสามเหลี่ยมปรากฏรูปร่างขึ้นมา ภายในพื้นที่ดังกล่าวนั้น
โฮเกอร์วอร์สท์ Eef Hogervorst ศาสตราจารย์ ผู้ร่วมโครงการวิจัย อธิบายว่า วิธีในการตรวจหาผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมมีวิธีการตรวจคร่าวๆ อย่างไร โดยกล่าวว่า " ณ จุดใดก็ตามในพื้นที่ จุดเหล่านี้อาจก่อตัวขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยมโดยสามเหลี่ยมอาจหงายขึ้น หรือสามเหลี่ยมอาจคว่ำลง ในพื้นที่เขตของการมองเห็น และสำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม จะกดปุ่มช้ากว่ามาก เมื่อเห็นรูปสามเหลี่ยมปรากฎขึ้นมา"
แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าการมองเห็น สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน และปรากฏว่า การมองเห็น สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันโรคสมองเสื่อมได้
การวิจัยโรคสมองเสื่อมในสาขาทางด้านการมองเห็นนี้เพิ่งเกิดขึ้น และการวิจัยสาขานี้ก็มีความหลากหลาย โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่ได้มาก็น่าสนใจเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การวิจัยในปี 2021 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า การเคลื่อนไหวของดวงตาในแนวนอน สามารถปรับปรุงการดึงความทรงจำได้ดีกว่าการเคลื่อนไหวของดวงตาในแนวตั้ง และคนที่ถนัดขวา จะได้รับประโยชน์มากกว่าจากการเคลื่อนไหวของดวงตานี้ ซึ่งตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญเองยังไม่แน่ใจว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ในปีเดียวกันนั้นเอง โฮเกอร์วอร์สท์ และทีมงานวิจัยของเธอ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ดูทีวีมากขึ้น และผู้ที่อ่านหนังสือมากขึ้นจะมีความจำดีขึ้น และสามารถจะลดความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมได้อย่างมาก โฮเกอร์วอร์สท์ ชี้ให้เห็นว่า เหตุผลนี้ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจาก การเคลื่อนไหวของดวงตาขณะที่ดูทีวี และการเคลื่อนไหวของดวงตาขณะอ่านหนังสือ
ดังนั้น แม้ว่าการรักษาโรคสมองเสื่อมโดยวิธีเคลื่อนไหวดวงตายังไม่มีอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ชัดเจนว่า การที่ดวงตาของคุณเคลื่อนไหวและมีส่วนร่วมนั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และการที่ดวงตาของคุณเคลื่อนไหว มีประโยชน์ต่อคุณเมื่อคุณอายุมากขึ้น
ข่าวดีก็คือ ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องนั่งมองขึ้นลง และนั่งมองซ้ายและขวา โฮเกอร์วอร์สท์ แนะนำให้คุณอ่านหนังสือ ดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การไปเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติแทน ฟังดูคงจะไม่ยากใช่ไหม
2. จงศึกษาเรียนรู้ต่อไป
ผลของการวิจัยต่อสุขภาพมีหลายแง่มุมและซับซ้อน ถึงกระนั้น สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ การมีการศึกษาเรียนรู้มากขึ้น และการมีการมีการศึกษาเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูงขึ้น จะทำให้ผลทางด้านสุขภาพดีขึ้น โรคสมองเสื่อมก็เช่นเดียวกัน
ผลการวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ยิ่งคุณใช้ระยะเวลาศึกษาเรียนรู้มากขึ้นเท่าใด ความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมก็จะลดลง โดยความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมอาจลดลงมากถึงร้อยละ 11 ต่อการศึกษาเรียนรู้ในแต่ละปี
เป็นที่น่าสังเกตว่า ระดับของการศึกษาสูงขึ้น มักทำให้สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงขึ้น และทำให้วิถีชีวิตสุขภาพดีขึ้น ดังนั้นประโยชน์ของการศึกษาจึงโยงใยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น การกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยทางการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น จึงมีผลอย่างมากในการลดความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม
ดังที่กล่าวไปแล้ว การวิจัยมากมายที่พบประโยชน์อันมากมายของการศึกษาและเรียนรู้นั้น เป็นน่าเชื่อถือและรับรู้กันมาอย่างยาวนาน
สำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม การศึกษาสูงขึ้น จะช่วยลดผลกระทบบางอย่างได้ ตัวอย่างเช่น การวิจัยในปี 2010 จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แสดงให้เห็นว่า การศึกษาเรียนรู้ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในสมองได้ดีขึ้นจากโรคสมองเสื่อม ก่อนที่โรคสมองเสื่อมจะแสดงอาการ
3. ล้อมรอบตัวด้วยผู้อื่น
ไม่มีใครชอบความเหงา ผลที่เกิดความเหงาและเปล่าเปลี่ยว อาจจะยาวนานกว่าที่คุณคิด
เกรแฮม Eileen Graham รองศาสตราจารย์ ด้านสังคมศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น Northwestern University รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผู้คนจะรู้สึกเหงาในบางครั้ง” “คุณรู้ไหมว่าจุดตกต่ำในชีวิตของคนๆ หนึ่ง เช่น หลังจากการเลิกรากัน หรืออะไรทำนองนั้น สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่เลย”
เกรแฮม กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ คือ ความเหงาที่เกิดขึ้นในระยะยาว จากข้อมูลของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ ความเหงาที่เกิดจากการแยกตัวออกจากสังคมในลักษณะนี้ สามารถจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมของบุคคล ได้มากถึงร้อยละ 60
เกรแฮม ชี้ให้เห็นว่า การทำความเข้าใจว่าความเหงาส่งผลอย่างไรกับสมอง แล้วเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมนั้นเป็น “คำถามเปิดกว้าง” แต่เธอคิดว่า อาจเป็นได้ว่า คนเหงามักจะมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือความเหงา ได้สร้างความเครียดทางร่างกายให้กับสมอง
แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือ การอยู่ท่ามกลางผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอายุมากขึ้น
คำแนะนำของ เกรแฮม คือ “คุณต้องรู้จักตัวเองเป็นอย่างดี และรู้ว่าความต้องการทางสังคมของคุณคืออะไร ดังนั้น หากคุณต้องการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกเหงา คุณต้องพยายามออกไปข้างนอกและติดต่อกับเพื่อน เช่น เพื่อจะดื่มกาแฟด้วยกัน หรือจะโทรศัพท์คุยกันก็ได้”
เกรแฮม ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรู้จักเพื่อนบ้านของคุณ โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่อาจไม่มีโอกาสได้พบปะทางสังคม และถ้าจะพูดในวงที่กว้างกว่านั้นคือ ต้องการให้สังคม สร้างระบบที่สามารถจะปกป้องผู้ที่เสี่ยงต่อความเหงาได้
4. มีความพิถีพิถันละเอียดรอบคอบ ไม่วิตกจริต
บุคลิกภาพของคุณ คุณอาจรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวคุณ เหมือนกับแขนหรือขาที่คุณมีอยู่ แต่ว่าบุคลิกภาพนั้นมีความแตกต่างกับแขนหรือขาอย่างมากตรงที่ว่า บุคลิกภาพสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้โดยตัวคุณเอง ในความเป็นจริงแล้ว คุณอาจจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของคุณ หากว่าคุณต้องการให้ความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม มีน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร อัลไซเมอร์และสมองเสื่อม ซึ่งเป็นวารสารของสมาคมโรคสมองเสื่อม Alzheimer's & Dementia: The Journal of the Alzheimer's Association งานวิจัยนี้ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยหลายฉบับ รวมผู้ที่เข้าร่วมการวิจัยทั้งหมดมีจำนวนถึง 44,000 คน โดยงานวิจัยนี้จะเปรียบเทียบลักษณะบุคลิกภาพที่สำคัญแต่ละบุคคลิก กับความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม
ทีมงานวิจัยได้วัดผลสิ่งที่เรียกว่า คุณลักษณะ 5 ประการ ดังนี้ 1. ความพิถีพิถันละเอียดรอบคอบ 2. ความเปิดเผยร่าเริงชอบเข้าสังคม 3. การเปิดรับประสบการณ์ใหม่ 4. วิตกจริต 5. ความมีจิตใจดีงามโดยมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และทีมงานวิจัยได้วัดผลสุขภาวะ โดยการถามคำถามกับผู้เข้าร่วมวิจัยทุกคนตามแบบประเมิน โดยจะสอบถามทั้งทางด้านความนึกคิด และความพึงพอใจ เช่น ถามถึงผลกระทบทัศนคติเชิงบวก และทัศนคติเชิงลบ และถามถึงความพึงพอใจในชีวิต
เบ็ค Emorie Beck ศาสตราจารย์ หัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายว่า ผลจากการวิจัยได้เป็นไปตามที่ได้คาดไว้ คือ คนที่ความพิถีพิถันละเอียดรอบคอบสูง และมีวิตกจริตในระดับที่ต่ำจะมี “ความเสี่ยงต่ำต่อโรคสมองเสื่อม” และในทำนองเดียวกัน ผู้ที่มีทัศนคติเชิงบวก และผู้มีความพึงพอใจในชีวิตสูง ก็มีความเสี่ยงต่ำต่อโรคสมองเสื่อม เช่นกัน
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยที่ทำให้ เบ็ค และทีมงานวิจัยของเธอประหลาดใจก็คือการพบว่า บุคลิกภาพ สามารถจะปกป้องสมอง จากการแสดงอาการของโรคสมองเสื่อมได้ ถึงแม้ว่าโรคสมองเสื่อม ได้เกิดขึ้นอยู่ในสมองแล้วก็ตาม
เบ็ค กล่าวว่า “เราพบว่า ลักษณะบุคลิกภาพจะแสดงออกมาทางพฤติกรรม และการรับรู้ของการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม จะไม่เชื่อมโยงกับกลไกทางชีววิทยาของโรคที่ซ่อนอยู่” กล่าวอีกนัยหนึ่ง การส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกเหล่านี้ จะทำให้สมองมีภูมิต้านทานต่อโรคสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น
หากตอนนี้คุณรู้สึกวิตกจริตและยังคงคลางแคลงใจตัวเองว่า คุณเป็นคนวิตกจริต หรือว่าเป็นคนที่มีความพิถีพิถันละเอียดรอบคอบ ทั้งๆ ที่คุณก็รู้ตัวเองดีว่า คุณเป็นคนที่ไม่มีความพิถีพิถันละเอียดรอบคอบ อย่าไปกังวล เพราะยังมีเวลาให้คุณได้เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ
เบ็ค แนะนำให้สร้างกิจวัตรและสร้างนิสัยที่ดี โดยการอยู่ท่ามกลางผู้คนที่คิดบวก และอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มีความพิถีพิถันละเอียดรอบคอบ และหากจำเป็นจริงๆ ให้เข้ารับการบำบัดเพื่อพัฒนาตนเอง
5. ลดการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ
เนื่องจากเมืองต่างๆ ขยายตัวมากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มลพิษทางอากาศจึงกลายเป็นปัญหาต่อสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันนี้ ประชากรโลกจำนวนมากถึงร้อยละ 90 สูดอากาศพิษและฝุ่นละอองที่เกินค่าที่องค์การอนามัยโลก หรือWHO กำหนด
จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า ปริมาณอากาศเสียที่บุคคลหนึ่งได้รับสัมผัส ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในชีวิตบั้นปลาย
จากการรีวิวงานวิจัยอย่างเป็นระบบในหัวข้อนี้ในปี 2023 ฝุ่นพีเอ็ม PM 2.5 ที่บุคคลหนึ่งได้รับสัมผัส จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมขึ้นร้อยละ 4 ในทุกๆ 2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร µg/m3 ของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เพิ่มขึ้น
เมื่อดูตามพื้นที่ต่างๆ แล้ว ในปี 2023 ความเข้มข้นของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยในกรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร มีค่าอยู่ที่ 8.4 µg/m3, ที่เมือง Coraopolis ในมลรัฐเพนซิลวาเนีย ซึ่งเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีที่แล้ว วัดค่าได้ 19.3 µg/m3 ในขณะที่ในกรุงเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย มีค่าเฉลี่ยของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงอย่างน่าทึ่งโดยตรวจวัดได้ค่าถึง 100 µg/m3
6. ให้ความสำคัญกับการนอนหลับของคุณ
โรคสมองเสื่อมมีหลายรูปแบบ และส่งผลกระทบแบบเฉพาะต่อทุกคน ถึงกระนั้น เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม มักจะวินิจฉัยหรือดูควบคู่ไปกับการนอนไม่หลับ
ตัวอย่างเช่น เมื่อ 'พระอาทิตย์ตกดิน' เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ที่มีโรคสมองเสื่อม ที่จะกระสับกระส่าย สับสน และกระวนกระวายใจ เมื่อเวลาที่พระอาทิตย์ตกดิน และข้างนอกเริ่มจะมืดลง
แต่ก่อนการวินิจฉัยล่ะ เรารู้ว่าการนอนหลับดีต่อการรักษาสุขภาพโดยทั่วไปของเรา การนอนหลับช่วยให้สมองของเราเฉียบแหลมด้วยหรือเปล่า
วิทยาศาสตร์ก็ไม่ชัดเจน นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่า การนอนหลับกับโรคสมองเสื่อมไปเชื่อมโยงกันอย่างไร แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ซ้อนกันอยู่ว่า การนอนหลับที่เพียงพอในระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นปัจจัยในการป้องกันโรคสมองเสื่อม
การวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2021 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร เนเชอร์ Nature Communications ในการวิจัยนี้ ได้ติดตามการนอนหลับของผู้เข้าร่วมวิจัยวัยกลางคนจำนวน 8,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 50 ปีถึง 70 ปี โดยให้คำจำกัดความของการนอนหลับคืนปกติว่าต้องมีระยะเวลาของการนอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมง และผลจากการวิจัยพบว่า การนอนหลับน้อยกว่า 7 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องกัน เสี่ยงต่อเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30
โฮเกอร์วอร์สท์ กล่าวว่า “การนอนหลับไม่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยกลางคน และพบได้บ่อยครั้งในกลุ่มผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะทำให้คุณเป็นโรคสมองเสื่อมได้ อาจเป็นเพราะว่า ความสามารถที่น้อยลงของร่างกาย ในการกำจัดคราบพลากที่เกาะที่เซลล์ประสาทในเนื้อสมอง จึงทำให้เกิดเป็นโรคสมองเสื่อม”
“ฉันมักจะบอกผู้คนให้ความสำคัญกับการนอนหลับเป็นอันดับแรก ทำงานทุกอย่างให้เต็มที่ในตอนเวลากลางวัน เพื่อให้แน่ใจว่า คุณจะได้นอนหลับอย่างสบายในเวลากลางคืน” โฮเกอร์วอร์สท์ กล่าว
7. ออกกำลังกายและรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นโรคสมองเสื่อมนั้น มีแนวโน้มที่จะรวมกลุ่มกัน ซึ่งทำให้การลดความเสี่ยงจากโรคสมองเสื่อม มีความซับซ้อนและไม่เป็นเชิงเส้น ตัวอย่างเช่น การวิจัยเกี่ยวข้องกับปัจจัยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยสถานที่ที่คุณอาศัยอยู่ สถานที่ที่คุณอาศัยไปสัมพันธ์กับปัจจัยความสัมพันธ์ทางสังคม และ ความสัมพันธ์ทางสังคมก็ไปสัมพันธ์ปัจจัยการรับสัมผัสกับมลพิษ
จะเห็นได้ว่า ลักษณะปัจจัยต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคสมองเสื่อม ได้พัวพันกันเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนการคำนวณหาค่าที่แต่ละปัจจัยไปมีผลนั้น จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
เมื่อมาถึงตรงนี้ อย่างน้อย คุณคงเข้าใจเรื่องทั่วไปแล้ว นั่นคือ การมีสุขภาพดีโดยรวม จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคสมองเสื่อมได้
ผลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ดีสำหรับหัวใจนั้น ย่อมดีต่อสมองเสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน การคุมน้ำหนักให้พอดีที่ทำให้ร่างกายมีความแข็งแรง การรักษาความดันโลหิตให้ต่ำ และการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ล้วนแต่ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคสมองเสื่อมได้
การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย เป็นรากฐานของวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี ดังนั้น อาหารที่ดีควบคู่กับการออกกำลังกาย จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้หัวใจและสมองแข็งแรง ในวัยชรา
อาจค่อนข้างที่จะน่ารำคาญ ที่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ได้ตัดสินใจว่า อาหารชนิดใดดีที่สุด ผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้รับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียนที่มีผักและผลไม้สูง แม้ว่าผลการวิจัยขนาดใหญ่ในปี 2022 พบว่า การรับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียนที่มีผักและผลไม้สูงนั้น ไม่ได้ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมได้
อิมาริซิโอ Sara Imarisio หัวหน้าฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยอัลไซเมอร์ ประเทศสหราชอาณาจักร ได้ตอบถึงผลจากการวิจัยในขณะนั้น กล่าวว่า "หลักฐานที่แสดงว่าอาหารบางชนิด ส่งผลต่อความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมนั้น ยังไม่ชัดเจน" และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม อิมาริซิโอ ยังชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ “ดีต่อสุขภาพหัวใจของเรา ก็ดีต่อสุขภาพสมองของเราด้วย” และการรักษา “วิถีชีวิตที่สมดุลและมีสุขภาพดี” ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
ข้อความเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่มักบอกเราอย่างตรงไปตรงมานั้นคือ ออกกำลังกายให้มากขึ้น ออกกำลังกายทันทีอย่ารีรอ การออกกำลังกายเป็นประจำ สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ประมาณร้อยละ 28 ส่วนโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นรูปแบบของโรคสมองเสื่อมที่เราพบได้บ่อยที่สุด ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่า การออกกำลังกายเป็นประจำ สามารถจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์ ได้มากถึงร้อยละ 45
ผู้เขียน : Tom Howarth
แปลไทยโดย : Wichai Purisa (senior scientist)
โฆษณา