12 มี.ค. เวลา 11:35 • ประวัติศาสตร์

“ฌ็อง-เบแดล บอกาซา (Jean-Bédel Bokassa)“ จักรพรรดิบ้าแห่งแอฟริกา

“ฌ็อง-เบแดล บอกาซา (Jean-Bédel Bokassa)“ คือผู้ปกครองที่ถูกตราหน้าว่าชั่วร้ายที่สุดคนหนึ่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 20
เขาเกิดในปีค.ศ.1921 (พ.ศ.2464) ในดินแดนของแอฟริกาที่อยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศส ก่อนจะเติบโตมารับราชการในกองทัพอาณานิคมฝรั่งเศส เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 (WWII)
ในช่วงที่อำนาจของฝรั่งเศสในแอฟริกาเริ่มเสื่อม บอกาซาได้เลื่อนยศเป็นพันเองในจักรวรรดิเกิดใหม่อย่าง “จักรวรรดิแอฟริกากลาง (Central African Republic)“ ซึ่งเป็นดินแดนที่แห้งแล้ง เต็มไปด้วยป่าดิบและทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ และยังเป็นหนึ่งในชาติที่ยากจนที่สุดในโลก
ฌ็อง-เบแดล บอกาซา (Jean-Bédel Bokassa)
ประชาชนชาวแอฟริกากลางในเวลานั้นที่อ่านออกเขียนได้มีไม่ถึง 10% และเด็กเล็กจำนวนมากก็ป่วยตายเนื่องจากขาดสารอาหาร
ในต้นปีค.ศ.1966 (พ.ศ.2509) บอกาซาได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล และแต่งตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเวลายาวนานกว่า 11 ปี
ในปีค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาเป็นเวลายาวนานกว่า 11 ปีเต็ม บอกาซาก็เริ่มจะคิดว่าตำแหน่งประํานาธิบดีนี้น้อยไปสำหรับตน
1
ตัวบอกาซานั้นเคยทำงานอยู่ในกองทัพอาณานิคมฝรั่งเศส ซึมซับความเป็นฝรั่งเศส ซาบซึ้งในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีไอดอลเป็นขุนศึกและจักรพรรดิคนสำคัญอย่าง “นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)”
นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)
สำหรับบอกาซา เขาอยากจะเป็นอย่างนโปเลียน การเป็นประธานาธิบดีของเขานั้นมันกระจอกเกินไป หากจะยิ่งใหญ่ที่สุด เขาต้องเป็น “จักรพรรดิ”
บอกาซาตัดสินใจปราบดาภิเษกตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิแอฟริกากลาง และการจะขึ้นครองราชย์ ก็ต้องมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งบอกาซาก็ทุ่มงบประมาณไม่อั้น
เดือนธันวาคม ค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) มีการซักซ้อมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บอกาซาก็หมกตัวอยู่ในพระราชวังที่หรูหราที่ตนสร้างขึ้น ดูเทปพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Elizabeth II)” พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักร วนไปวนมา
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร
บอกาซาประทับใจในพระราชพิธีของพระราชินีอังกฤษเป็นอย่างมาก ทุกอย่างดูยิ่งใหญ่อลังการ ศักดิ์สิทธิ์และขลัง และตัดสินใจเลยว่าพิธีของตนก็ต้องไม่แพ้ควีนอังกฤษ
บอกาซาออกคำสั่งให้ผู้บัญชาการเรือนจำเมืองบังกี ให้คัดเลือกนักโทษที่หน่วยก้านดีจำนวนหนึ่ง ให้ย้ายไปอยู่เรือนจำอื่นที่สภาพแวดล้อมดีขึ้น เลี้ยงอาหารอย่างดี และให้ออกไปสูดอากาศข้างนอกได้
นักโทษเหล่านี้ได้รับการเอาใจอย่างดี มีแม้กระทั่งข่าวลือว่าจะมีการนิรโทษกรรมนักโทษ สร้างความตื่นเต้นยินดีแก่เหล่านักโทษ
ทางด้านฝรั่งเศสในเวลานั้น นำโดยประธานาธิบดี “วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง (Valery Giscard D’Estaing)“ ก็ได้สนับสนุนบอกาซาด้วยการให้เครดิตแก่บอกาซาเป็นจำนวนเงินกว่าหนึ่งล้านปอนด์เพื่อซื้อรถลิมูซีนที่หรูหราเพื่อใช้รับส่งแขกในงาน รวมทั้งมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ BMW อีกกว่า 200 คัน
วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง (Valery Giscard D’Estaing)
และถึงแม้อาณาจักรของบอกาซานั้นจะเงินหมด แทบจะล้มละลายอยู่แล้ว แต่บอกาซาก็ยังวางแผนจะใช้เงินกว่า 10 ล้านปอนด์กับพระราชพิธีของตน และมีการออกหมายเชิญผู้นำต่างๆ จากทั่วโลกให้เข้าร่วมพิธี ซึ่งแน่นอนว่าผู้นำหลายๆ ชาตินั้นต่างสะอิดสะเอียนและไม่เอาด้วย
กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรก็ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีอย่างไร้เยื่อใย ส่วนประธานาธิบดี “จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter)” แห่งสหรัฐอเมริกา ก็ได้สั่งตัดขาดความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาในแอฟริกากลางทุกช่องทาง
แต่บอกาซาก็ไม่สลด ในงานพระราชพิธี เขาเดินทางมาเข้าร่วมพิธีในรถม้าที่ลากจูงด้วยม้าขาวจำนวนแปดตัว และงานพิธีก็หรูหราอลังการ
จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter)
แขกเหรื่อได้รับการเลี้ยงอาหารอย่างดี มีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา พื้นที่ต่างๆ ติดตั้งกระจกกันกระสุน อาหารแต่ละจานถูกนำมาเสิร์ฟบนจานและถาดทองคำ
แต่หากแขกเหรื่อทราบว่าเนื้อที่พวกตนทานนั้นทำมาจากอะไร คงต้องรีบอยากลุกหนีและกลับบ้านเป็นแน่
1
เหล่านักโทษที่ถูกคัดเลือกมาอย่างดีตามที่ผมเล่าก่อนหน้านี้ ได้อยู่เอ็นจอยสิทธิพิเศษของตนได้ไม่นาน เมื่อตนเองนั้นกินอาหารดีๆ จนร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงแล้ว ก็ถูกนำไปสังหาร ก่อนพ่อครัวจะแล่เนื้อเอามาทำอาหารเสิร์ฟแขกในงานเลี้ยง
พิธีบรมราชาภิเษก บอกาซา
สำหรับแขกวีไอพีชาวฝรั่งเศสนั้น ถึงแม้จะคิดว่าบอกาซานั้นไม่ปกติ ไม่ค่อยเต็ม แต่ความบ้าในทุกสิ่งที่เป็นฝรั่งเศสของบอกาซา ก็ทำให้ชาวฝรั่งเศสเหล่านี้พอจะมองข้ามไปได้ อีกทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสก็ยังให้สิทธิสัมปทานธุรกิจบางอย่างแก่บอกาซา และสนับสนุนด้านการทหารอีกด้วย
บอกาซาก็รู้จักเอาใจแขกชาวต่างชาติเป็นอย่างดี มีการแจกของขวัญที่หรูหราแก่แขกของบอกาซา เช่น เครื่องเพชรที่หรูหรา
ในช่วงเวลาที่บอกาซารุ่งเรืองสุดขีด ดูเหมือนสินทรัพย์เดียวที่แอฟริกากลางพอมีเหลือก็คือ “น้ำมัน” ในขณะที่ฝรั่งเศสเอง ก็เริ่มจะไม่วางใจในความบ้าของบอกาซา เริ่มรู้สึกแปลกๆ แล้วเหมือนกัน
1
สองปีหลังจากขึ้นครองราชย์ บอกาซานั้นไม่ใช่แค่จักรพรรดิที่กดขี่และบ้าเลือด หากแต่ยังเป็นความอับอายของฝรั่งเศสอีกด้วย เนื่องจากทั้งโลกก็ทราบดีว่าที่ผ่านมานั้น ฝรั่งเศสสนับสนุนบอกาซา
ความบ้าของบอกาซานั้นทะยานไปสุดขีดเมื่อบอกาซาตัดสินใจจะเปลี่ยนเมืองหลวงที่ทรุดโทรมและยากจนของตน ให้กลายเป็นมหานครแฟชั่นที่มีต้นแบบมาจากฝรั่งเศส
บอกาซาออกคำสั่งให้เด็กนักเรียนในเมืองบังกี ให้ซื้อชุดนักเรียนราคาแพง และต้องใส่ชุดนักเรียนเหล่านี้ตลอดเวลาที่มาโรงเรียน
1
แต่ปัญหาก็คือ พ่อแม่ของเด็กนักเรียนล้วนแต่เป็นคนยากจนที่แทบจะไม่มีเงินซื้อตำราเรียนให้บุตรหลาน ดังนั้นจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อชุดนักเรียน?
1
ที่สำคัญ โรงงานที่ผลิตชุดนักเรียนซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียวนั้น ก็เป็นโรงงานของบอกาซา และบอกาซา ซึ่งพบว่าคำสั่งของตนนั้นไม่เป็นที่เชื่อฟังของประชาชน ทำให้บอกาซาโมโห และคิดว่าต้องสั่งสอนให้หลาบจำ
เด็กนักเรียนกว่า 200 คนถูกทหารหลวงกวาดต้อนเข้ามาในเรือนจำบังกี โดยตัวบอกาซาเองได้ออกมาต่อว่าและตวาดลั่น
“ตราบใดที่พวกแกอยู่ในเรือนจำ พวกแกก็จะไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน”
คือคำพูดของจักรพรรดิโรคจิตที่พูดต่อเหล่าเด็กนักเรียน
ในช่วงสัปดาห์ต่อมา เด็กนักเรียนจำนวนมากในเรือนจำถูกซ้อมจนเสียชีวิต
ข่าวการสังหารเด็กนักเรียนหลุดไปเข้าหูทูตฝรั่งเศส ซึ่งในทีแรกก็ไม่อยากจะเชื่อว่าบอกาซาจะเป็นไปได้ขนาดนี้ แต่เมื่อข่าวและหลักฐานต่างๆ เข้ามาเรื่อยๆ ทูตฝรั่งเศสก็ต้องยอมรับว่าบอกาซานั้นกู่ไม่กลับแล้วจริงๆ
ทางด้านรัฐบาลฝรั่งเศสที่ปารีส ก็ตระหนักแล้วว่าบอกาซาไม่ใช่แค่ตัวตลกที่อยากเป็นจักรพรรดิอย่างที่พวกตนเคยมอง แต่เขาคือปีศาจร้าย และหากปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไป ฝรั่งเศสเองต้องเสื่อมเสียอย่างมาก
บอกาซาต้องถูกโค่นล้ม
และโอกาสก็มาถึง โดยในปีค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) ในขณะที่บอกาซาเดินทางออกจากเมืองบังกี หน่วยสืบราชการลับฝรั่งเศสพร้อมด้วยนักการเมืองชาวแอฟริกาที่เคยถูกขับไล่โดยบอกาซา ก็ได้ร่วมมือกันยึดอำนาจจากบอกาซา และทำให้จักรวรรดิแอฟริกากลางกลับมาอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศสอีกครั้ง
หลังจากยึดอำนาจ มีการค้นพระราชวังของบอกาซา และทีมสืบค้นก็ต้องตกตะลึงเมื่อพบกับกระดูกของเด็กกว่า 37 คนอยู่ในสระว่ายน้ำ ซึ่งเด็กเหล่านี้ถูกโยนให้เป็นเหยื่อของจระเข้จำนวนสี่ตัว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของบอกาซา
ส่วนในห้องเย็นในครัวของพระราชวัง ก็พบซากร่างมนุษย์ที่ถูกนำมาทำอาหาร
ทางด้านประธานาธิบดีแด็สแต็งแห่งฝรั่งเศส ก็ได้ส่งเช็คเงินสดเป็นจำนวนเท่ากับเพชรพลอยที่บอกาซามอบให้ตนเป็นของขวัญ ให้แก่โรงเรียนต่างๆ ในเมืองบังกี
ส่วนตัวบอกาซานั้น ถูกเนรเทศ ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี และถูกตัดสินให้ประหารชีวิต ก่อนจะลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่สุดท้าย บอกาซาก็ได้รับการปล่อยตัวในปีค.ศ.1993 (พ.ศ.2536)
บอกาซาเสียชีวิตในปีค.ศ.1996 (พ.ศ.2539) ขณะมีอายุได้ 75 ปี
เป็นอันปิดฉากจักรพรรดิบ้าแห่งแอฟริกา และเป็นความอับอายและบทเรียนหนึ่งของฝรั่งเศส
โฆษณา