12 มี.ค. เวลา 09:46 • นิยาย เรื่องสั้น

เมื่อความงามกลายเป็นคำสาป

หัวค่ำ ผมนั่งอยู่ในศาลาไม้ที่ลงน้ำยาเคลือบไม้เป็นมันวาว มันสะท้อนแสงจากหลอดไฟแรงเทียนต่ำ ที่ห้อยอยู่กลางศาลาขนาดกว้างยาวไม่เกินสองเมตร แสงสว่างไม่มากนัก ส่องไม่ทั่วถึง แต่ก็พอจะมองเห็นยุงที่บินเวียนวนอยู่ใต้ชายคาศาลานั้นได้ไม่ยาก
อากาศช่วงค่ำวันนั้นค่อนข้างหนาวเย็นกว่าปกติ ด้วยว่ามีฝนพรำมาตั้งแต่เมื่อบ่าย ผมนั่งดมความเย็นฉ่ำในอากาศไป พร้อมกับเสียงยุงบินผ่านหูดังหึ่ง ๆ เป็นระยะ
ขณะกำลังจะเงื้อมือขึ้น หมายจะตบยุงที่กวนหูกวนใจ เรื่องราวที่เพิ่งผ่านสายตามาเมื่อตอยบ่าย ก็ผุดขึ้นในความคิด จนผมต้องชะงักมือเอาไว้ ... เรื่องของ “สมัน”
ว่ากันว่า สมัน เป็นกวางที่มีเขาแตกกิ่งก้านสวยงามที่สุด เท่าที่โลกนี้เคยมีมา โดยเฉพาะตัวผู้ ที่เขาบนหัวของมันนั้นงามสง่า เนื้อตัวของ สมัน นั้นมีขนาดใหญ่ น้ำหนักร้อยกิโลกรัมขึ้นไป และวิ่งเร็วร่วมร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นกวางที่ปราดเปรียวใช้ได้ และว่ากันว่า เป็นกวางที่มีนิสัยเป็นมิตรที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง ไม่ทำอันตราย และสามารถเข้าใกล้ได้ไม่ยากเลย
ที่น่าสนใจก็คือ บนพื้นที่หลายล้านตารางกิโลเมตรบนโลกนั้น สมัน เลือกจะใช้ชีวิตอยู่แค่บนพื้นที่ราบภาคกลาง ของประเทศไทยเท่านั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ของที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำแถบทุ่งรังสิต พระโขนง สำโรง บางปู บางบ่อ และกินพื้นที่ไปยังสมุทรสาคร ถือเป็นทำเลทอง ด้วยเป็นที่ราบกว้างใหญ่ เหมาะกับ สมัน ที่เขาอันสวยงามสง่านั้นไม่เหมาะจะอยู่ในป่าลึก เพราะจะพันและเกี่ยวกับกิ่งไม้ได้ง่าย
ก็อย่างว่าล่ะครับ เมื่อเขาสวยงามขนาดนั้น มันก็ต้องอวดกันบ้างเป็นธรรมดา นั่นทำให้ สมัน เลือกจะอวดเขาสวยสง่า อยู่บนพื้นที่ราบเหล่านี้ มากมาย
กระทั่งสยามลงนามใน “สนธิสัญญาเบาว์ริง” เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ การค้าก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคม และนั่นทำให้เราเริ่มขุดคลองเพื่อใช้สัญจรและขนส่งสินค้า
ด้วยเหตุนี้ ก็เลยเกิดการขยายพื้นที่ทำนาอย่างมหาศาล เกิดการขุดคลองที่ช่วยด้านการคมนาคม การชลประทาน และการขนส่งข้าวออกจากพื้นที่ ซึ่งพื้นที่สำคัญในการปลูกข้าว คือ ทุ่งรังสิต มีการขุด “คลองรังสิต” เพื่อเอื้อต่อการทำนา
ตอนนั้นชุมชนของ สมัน ก็อาศัยพื้นที่ลุ่มแถบรังสิตหากินและอยู่อาศัยล่ะครับ พอมีคนเข้าไปขุดคลอง สัตว์ก็ต้องล่าถอย เป็นธรรมดา
ก็ด้วยความสวยงามของเขา สมัน นี่ล่ะครับ ทำให้ใครต่อใครพากันล่ากวางสายพันธุ์ที่เป็นมิตรที่สุดสายพันธุ์นี้ เพื่อหวังจะเป็นเจ้าของเขาสวย ๆ ของมัน
ชาวบ้านชาวช่องพากันย่องไปใกล้ ๆ แล้วแทง สมัน ก็ตามอำเภอใจ ง่ายดายอย่างนั้นเลย ด้วยว่ามันเป็นมิตร ไม่หนี ทำให้การล่า สมัน ทำกันได้ง่ายดาย
พอ สมัน เริ่มรู้แกว คนล่าก็เลยเอาเขา สมัน ที่เคยล่าได้มาสวมหัว เพื่อพรางตัวเข้าไปใกล้ ๆ แล้วก็ยิง หรือแทงเอาตามใจชอบง่าย ๆ ได้อีก ความเป็นมิตรของ สมัน เป็นอันตรายต่อสายพันธุ์อย่างน่าเห็นใจจริง ๆ ครับ
ไม่กี่สิบปีหลังจากนั้น โลกก็ต้องบันทึกเอาไว้ว่า สมัน ในธรรมชาติตัวสุดท้าย ก็ถูกนายตำรวจคนหนึ่งยิงตาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕
แม้จะพอมี สมัน ที่ถูกเลี้ยงไว้อยู่บ้าง แต่เรื่องตลกร้ายก็คือ เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๑ พระยาวินิจวนันดร รับราชการในกรมป่าไม้ ทราบว่ามีสมภารเลี้ยง สมัน ตัวผู้ที่วัดแถวมหาชัย จึงรีบให้คนไปซื้อมาเลี้ยง แต่ไปช้าเพียงวันเดียว เพราะมีคนเมาสุราเดินมาเห็น สมัน ยืนขวางทาง จึงตี สมัน จนตาย สมัน ตัวสุดท้ายจึงสูญพันธุ์จากโลกไปในคราวนั้น
เรื่องที่ว่ามานั้น เกิดขึ้นก่อนที่บ้านเราจะมีโครงการรักษาพันธุ์สัตว์ป่านะครับ มันจริงอย่างคำพูดที่ว่า เราจะรู้สึกเสียดายก็ต่อเมื่อเราได้สูญเสียมันไปแล้ว ...
โลกเราผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ๆ มาหลายครั้งแล้วครับ ทั้งหมดนั้นเป็นสาเหตุจากธรรมชาติ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ ๖๖ ล้านปีก่อน นั่นคือครั้งที่โด่ง ดังเป็นที่รู้จักว่า เป็นครั้งที่พาเอาไดโนเสาร์หายไปจนหมดโลกนั่นล่ะครับ
แต่หลังจากนั้น เมื่อโลกนี้เริ่มมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” เราก็เริ่มพบกับการสูญพันธุ์ที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากน้ำมือของสัตว์สายพันธุ์ใหม่นี้
ตัวเลขที่น่าตกใจก็คือ ในรอบร้อยปีที่ผ่านมานั้น มีสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง (ก็สัตว์ใหญ่นั่นล่ะครับ) ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกด้วยน้ำมือมนุษย์ อย่างน้อย ๆ ก็ ๔๐๐ สายพันธุ์ ซึ่งอัตรานี้เป็นอัตราที่เร็วกว่าปกติของธรรมชาติถึงหนึ่งหมื่นเท่า ... โอววว
….
ผมก็เลยปล่อยให้ยุงที่ศาลาไม้ยามค่ำวันนั้น บินโฉบเฉี่ยวอย่างร่าเริงตามสบาย ปัดบ้างเป่าบ้างไปตามวาระ แต่ไม่อยากตบให้ถึงชีวิต ใครจะไปรู้ได้ล่ะครับว่า ความง่ายดายแค่ยกมือขึ้นตบยุงนั้น อาจส่งผลกระทบต่อการสูญพันธุ์ของมันเข้าสักวันก็เป็นได้
โลกที่ไม่มียุง แม้จะฟังดูน่าสบาย แต่ผมก็หวั่นไหวนะ ถ้ามันจะสูญพันธุ์เข้าจริง ๆ ก็คุ้นเคยกันมาทั้งชีวิตนี่ครับ ว่าไหม ....
โฆษณา