13 มี.ค. เวลา 14:30 • ไลฟ์สไตล์

คนที่อยากเกษียณไว (FIRE)

ทำไมถึงอยากเกษียณไว ส่วนตัวยังสนุกกับการทำงาน และเอาความรู้มาแชร์ให้คนอื่นได้
สำหรับประเด็นคำถามในวันนี้ aomMONEY ขอหยิบยกมาจากโพสต์ในแพลตฟอร์ม X จากกลุ่ม “FIRE ชุมชนคนรุ่นใหม่ เกษียณไว” ซึ่งมีผู้ใช้งานรายหนึ่งได้ตั้งคำถามไว้น่าสนใจ พร้อมมีสมาชิกหลายท่านที่ได้มาให้ความเห็นที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน
คำถามนี้มาจากคุณ Perth Woratana ที่ถามว่า “อยากถามคนที่อยากเกษียณไว (FIRE) ว่าทำไมถึงอยากเกษียณไวนะครับ ส่วนตัวยังสนุกกับการทำงาน และเอาความรู้มาแชร์ให้คนอื่น ได้ช่วยเหลือคนอื่นต่อ เลยอยากรู้ว่าคนที่อยาก FIRE หรือ FIRE แล้ว คิดกันยังไง”
ความคิดเห็นที่ 1 :
“เกษียณไวในสายตาไอคือการให้เงินทำงานด้วยตัวเองค่ะ เราไม่ต้องเครียดเรื่องเงิน ยิ่งจะทำให้เรียนรู้ ทำงาน และส่งต่อสิ่งดีๆ ให้คนอื่นได้มากขึ้นค่ะ บางทีคนที่ชอบทำงานมันก็เลิกทำงานไม่ได้หรอกค่ะ”
ความคิดเห็นที่ 2 :
“FIRE ไม่ได้แปลว่าจะเลิกทำงานนะ ฉันอยากเดินไปทำงาน ทำสิ่งที่ชอบโดยที่ไม่ต้องรู้สึกกว่า ต้องทนเพื่อให้มีเงินใช้”
ความคิดเห็นที่ 3 :
“คำว่าเกษียณไวในความหมายของผมคือไม่ต้องเครียดเรื่องเงินอีกแล้ว มีเงินพอที่จะจุนเจือชีวิตผมไปจนตาย ทำงานเพื่อไล่ตามความฝัน และความสำเร็จอย่างเดียว”
ความเห็นที่ 4 :
“อยากมีอิสระครับ ทำงานหรือไม่ทำงานก็ไม่เดือนร้อนเรื่องเงิน ยังชอบทำงานอยู่ ไม่ชอบว่าง แต่ก็ถ้าจะพักก็อยากพักเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องห่วงงาน ไม่ต้องห่วงว่าจะถูกไล่ออกมั้ย”
หากเราลองเชื่อมโยงทั้ง 4 ความเห็นนี้ จะพบว่ามีเรื่องของเป้าหมาย “การเกษียณไว” อาจไม่ใช่เรื่องของการหยุดทำงานไปเลย แต่คือการมีอิสระในการเลือกที่จะทำ/ไม่ทำงานก็ได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินว่าจะพอใช้หรือไม่
แล้วนิยาม หรือ ความเป็นมาของ FIRE ว่าไว้อย่างไร?
จริงๆ แล้ว FIRE เป็นคำที่ย่อมาจาก “Financial Independence, Retire Early” ซึ่งเป็นเทรนด์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากรวยเร็ว มีเงินเร็ว และตั้งเป้าหมายเกษียณก่อนอายุ 40
FIRE เป็นที่รู้จักครั้งแรก ผ่านหนังสือ ชื่อ “Your Money or Your Life” ผลงานของ Vicki Robin และ Joe Dominguez 2 กูรูทางด้านการเงินการลงทุนระดับโลก ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1992 โดยสาระสำคัญของ FIRE คือ การเน้นไปที่วิธีก้าวสู่การเกษียณก่อนวัย ด้วย 2 หลักการที่สุดแสนจะเรียบง่าย แต่อาจทำตามได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด ได้แก่
1. ทำให้รายจ่ายอยู่ในระดับต่ำที่สุด
2. หาช่องทางในการเพิ่มรายได้
จึงเป็นผลทำให้คนกลุ่มนี้ เร่งเก็บเงินและลงทุนอย่างดุเดือด เช่น โหมเก็บเงินเกิน 50% ของรายได้, ลงทุนอย่างหนักเพื่อให้เงินโตไวๆ
ซึ่งจากนิยามนี้เองก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเมื่อเกษียณแล้วต้องหยุดทำงานไปเลย มิหนำซ้ำ การมีเงินยังช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้นด้วย แต่ตรงกันข้าม ถ้าเราขัดสนเรื่องเงินก็มักจะมีแนวโน้มทำงานได้ไม่ดีด้วยเช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างงาน วิจัยเรื่องความขาดแคลนทางการเงิน (Financial Scarcity) โดย Mullainathan และ Shafir (2013) พบว่าความกังวลเรื่องการเงิน มักดึงทรัพยากรทางความคิด ทำให้ความสามารถในการตัดสินใจและการแก้ปัญหาลดลง
ในทางกลับกัน คนที่มีความมั่นคงทางการเงินจะมีทรัพยากรทางความคิดที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับการศึกษา “เรื่องแรงจูงใจและความเสี่ยง” (Motivation and Risk-Taking) พบว่าคนที่มีความมั่นคงทางการเงินมักกล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้นในการทำงาน เพราะความล้มเหลวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของเขา
จะเห็นได้ว่า แม้ว่าเราจะมีเงินจนสามารถเกษียณได้แล้ว แต่ถ้าเรายังทำงานต่อก็เป็นผลดีไม่น้อย ดังนั้น สุดท้ายแล้ว FIRE ก็คงจะเป็นแนวคิดแบบกว้างๆ ให้คนที่อยากมีอิสรภาพทางการเงินได้เติมเต็มความหมายในรูปแบบของตัวเองเข้าไป ส่วนเพื่อนๆ มีความคิดเห็นอย่างไร ก็สามารถนำมาแชร์กันได้นะครับ
#aomMONEY #การเงินส่วนบุคคล #ออมเงินเยอะ #FIRE #การใช้ชีวิต #เกษียณ
โฆษณา