Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
13 มี.ค. เวลา 15:00 • ธุรกิจ
“เจ้าของธุรกิจ” เกษียณอย่างไรให้เป็นสุข
13 เรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้ เมื่ออยากเกษียณ แต่วางมือไม่ได้
หลายธุรกิจอยู่ในสถานะที่แตกต่างกัน มีทั้งอยู่ในช่วงเริ่มต้นก่อร่างสร้างธุรกิจ ช่วงสนุกสนานกำลังเติบโต ช่วงเผชิญกับการหดตัวของธุรกิจ ช่วงเตรียมการส่งมอบทุกธุรกิจให้คนรุ่นถัดไปและการเตรียมออกจากธุรกิจ
ในความเป็นจริงเราจะพบเห็นว่าเจ้าของธุรกิจหลายท่านแม้อยู่ในวัยใกล้เกษียณแล้วยังสนุกกับการทำงานที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถที่สะสมมาสร้างความมั่งคั่งต่อไปได้อีกมาก อีกหลายท่านได้ส่งมอบธุรกิจให้คนรุ่นต่อไปรับช่วงบริหารต่อได้อย่างราบรื่น
แต่อีกหลายท่านไม่สามารถวางมือจากธุรกิจได้เพราะเป็นแหล่งรายได้ที่นำเงินมาใช้จ่ายในการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว หรือเป็นธุรกิจที่ใช้ความสามารถเฉพาะตัวของเจ้าของกิจการในการบริหารจัดการ ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจที่มีความสามารถเท่าเทียมหรือสูงกว่าในการสืบทอดธุรกิจ หรือมีภาระหนี้สินที่มีการผูกพันกับสินทรัพย์ส่วนตัวและของครอบครัว
ดังนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อให้เกษียณอย่างเป็นสุขควรมีการวางแผน ทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมกับสิ่งเหล่านี้
✅1. บริษัทไม่มีวันตาย ตราบใดที่ยังมีความมั่งคั่ง
ซึ่งการจัดโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้มีความสอดคล้องกับธุรกิจที่มีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การใช้ Holding Company เพื่อรับเงินปันผลจากบริษัทในเครือข่าย และนำเงินที่ได้มาจัดสรรให้ผู้ถือหุ้น
✅2. การเลือกหุ้นส่วน ไม่ใช่แค่เงินร่วมลงทุนที่ต้องการจากหุ้นส่วน
แต่สิ่งสำคัญคือการเป็นกัลยาณมิตรที่สามารถช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้การเติบโตของธุรกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน มีหุ้นส่วนเป็นคนมีศีลธรรมซื่อสัตย์สุจริต ไม่เป็นคนโกหก หลอกลวง ซึ่งหากเข้ามาอยู่ใกล้ตัว ปัญหาคดีความฟ้องร้องอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
✅3. การจัดทำงบดุล บัญชีรับจ่าย ที่โปร่งใสและถูกต้อง
หลายคนกลัวที่ต้องจ่ายภาษี แต่หากมีการบริหารภาษีที่ดี เจ้าของธุรกิจจะได้ประโยชน์จากการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง เช่น มีหลักฐานที่ถูกต้องในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เป็นข้อมูลให้ผู้ลงทุนรายใหม่ได้พิจารณาร่วมลงทุนขยายกิจการ และการแบ่งผลประโยชน์ที่ลงตัวให้กับผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเป็นธรรม
✅4. แยกกระเป๋าระหว่างเงินธุรกิจและเงินส่วนตัว
หากไม่วางแผนจะเจอเรื่องค่าใช้จ่ายต้องห้ามที่ไม่สามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ หลายครั้งเจ้าของธุรกิจก็กลายร่างเป็นคนกู้ยืมเงินบริษัท ซึ่งต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยให้กับบริษัทและคืนเงินกู้ส่วนนี้ ภาระผูกพันนี้ยังส่งผลถึงผู้รับมรดกในการรับชำระหนี้สินก้อนนี้ด้วย
✅5. ภาระการค้ำประกัน
สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อจะให้เจ้าของธุรกิจนำหลักทรัพย์ของบริษัทมาค้ำประกันและหากไม่พอก็สามารถนำหลักทรัพย์ส่วนตัวมาเพิ่มเป็นหลักประกัน โดยคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสต้องเซ็นยินยอมในภาระผูกพันนี้ จะเป็นการดีเป็นอย่างยิ่ง หากช่วงวัยเกษียณไม่มีภาระผูกพันในสินทรัพย์ส่วนตัว จะได้เกษียณอย่างสบายใจ
✅6. สร้างระบบทำงานอัตโนมัติ
มิใช่แค่การทดแทนด้วยระบบจักรกล หรือคอมพิวเตอร์ แต่การสร้างระบบในการทำงานไม่ว่างานในตำแหน่งใดจะมีการลาออก ก็สามารถพัฒนาให้บุคลากรรุ่นใหม่ หรือที่มีอยู่เดิมสามารถทดแทนงานนั้นได้
✅7. ข้อตกลงการขายหุ้น
เช่น ตอนเริ่มต้นดำเนินธุรกิจมีหุ้นส่วนอยู่สามหุ้นลงเงินคนละหนึ่งล้านบาท ผ่านไป 20 ปี มูลค่าธุรกิจ 100 ล้านบาท และมีหุ้นส่วนหนึ่งคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและคู่สมรสไม่ต้องการทำธุรกิจนั้นอีกต่อไป จะขอขายหุ้น หุ้นส่วนที่เหลือจะทำอย่างไร ดังนั้นการทำข้อตกลงการขายหุ้นควรเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ
✅8. เงินฉุกเฉินยามวิกฤต
หากบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของธุรกิจสูญเสียชีวิตหรือทุพลภาพ ทำให้ความสามารถในการหารายได้ของบริษัทตกต่ำลง ขาดสภาพคล่อง การทำประกันบุคคลสำคัญเพื่อนำเงินมาค้ำจุนบริษัทเป็นสิ่งที่ควรอยู่ในแผนธุรกิจ
✅9. บ่มเพาะผู้สืบทอดธุรกิจ
การสร้างคนดีที่มีศักยภาพสามารถสานต่อธุรกิจได้เป็นสิ่งที่ต้องบ่มเพาะ ซึ่งอาจมาจากทายาทโดยธรรม หรือบุคลากรในองค์กร หรือบุคคลภายนอก ซึ่งมีความเป็นไปได้จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ส่งมอบมายังให้ผู้เตรียมส่งมอบธุรกิจซึ่งถือหุ้นอยู่
✅10. บริหารความเสี่ยง
การโอนความเสี่ยงทั้งการประกันชีวิตและสุขภาพกลุ่ม ประกันทรัพย์สินและอัคคีภัย ประกันความรับผิดชอบของกรรมการ การประกันการขนส่ง เป็นต้น เบี้ยประกันถูกได้รับการคุ้มครองที่สูง เป็นเกราะคุ้มครองความมั่งคั่งได้เป็นอย่างดี
✅11. สร้างแหล่งเงินได้ยามเกษียณจากหลายช่องทาง
เช่น ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวม สลากธกส. สลากออมสิน เป็นต้น
✅12. ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ
หาเงินมาทั้งชีวิต แต่มาเจ็บป่วยตอนเกษียณ เพราะไม่ดูแลสุขภาพในช่วงวัยทำงาน ทรัพย์สินที่หามาได้ต้องกลายเป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ซึ่งไม่เคยต่อรองค่าใช้จ่ายได้เลย
✅13. คบหากัลยาณมิตร
มีที่ปรึกษาคู่ใจ ที่ช่วยวางแผนการเงิน และติดตามผลเพื่อให้เจ้าของธุรกิจเกษียณอย่างเป็นสุข
ดังนั้น เจ้าของธุรกิจที่มีการเตรียมพร้อมเพื่อให้เกษียณอย่างเป็นสุขโดยมีการวางแผน ทำความเข้าใจ บริหารจัดการปัจจัยและเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมในทุกๆ ด้านนั้น จะเห็นได้ว่ามีหลายสิ่งที่ต้องการวางแผนเพิ่มในแต่ละช่วงของชีวิต ทั้งส่วนตัวและธุรกิจให้เหมาะสม หรือเรียกว่า สมชีวิตา ซึ่งหากไม่เตรียมและใส่ใจอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบมากมายกับครอบครัวของเจ้าของธุรกิจ พนักงาน คู่ค้าทางธุรกิจ
ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนให้ผู้อ่านที่เป็นเจ้าธุรกิจเริ่มต้นวิเคราะห์ค้นหาสิ่งที่ต้องลงมือทำเป็นอันดับแรกๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญให้เกิดผลเร็วที่สุด และจัดลำดับความสำคัญในส่วนอื่นๆ ต่อไป ความสงบสุขทางใจจะปรากฏขึ้นจริง สัมผัสได้ในฉับพลันและมั่นคงในระยะยาวในชีวิตเกษียณอย่างเป็นสุข
เขียนโดย: วรเดช ปัญจรงคะ นักวางแผนการเงิน CFP®️
#aomMONEY #สมาคมนักวางแผนการเงินไทย #วางแผนเกษียณ #เจ้าของธุรกิจ
บันทึก
4
3
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย