18 มี.ค. เวลา 14:30 • ไลฟ์สไตล์

[ #Q&A ] อายุ 20 ต้นๆ เงินเดือน 18,000 บาท ใช้ชีวิตยังไงให้มีความสุข ช่วงนี้กำลังอกหักอยู่ด้วยค่ะ

เราเจอคำถามนี้จากกลุ่มพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาชีวิต ครอบครัว และความรัก รวมถึงมีลูกเพจหลายคนส่งเข้ามาถามในแนวเดียวกัน เลยขอหยิบมาทำเป็น Q&A ประจำสัปดาห์ (หากมีคำถามเรื่องการเงินส่วนบุคคล ทักมาคุยกันได้เลยค่ะ)
ก่อนอื่น ขอแสดงความเสียใจกับคนเพิ่งโสดทุกท่าน เพราะการอกหักไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครเลย และเมื่อเรามีความรัก ก็ต้องยอมรับว่ามันมาพร้อมกับความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่สามารถควบคุมได้
สำหรับคำถามนี้ เรามองว่าสามารถแยกเป็น 3 ประเด็นหลัก ใครที่อยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน ลองนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเองนะคะ
Q: อกหักอยู่ เงินเดือนก็ไม่เยอะ รู้สึกว่าชีวิตพังไปหมด ทำยังไงดี?
A: แน่นอนว่าเมื่อเราอกหัก ทุกปัญหามักจะถูกลากมารวมกันจนดูเหมือนชีวิตกำลังพังทั้งระบบ แต่ถ้าแยกประเด็นออกมาดูดีๆ จะเห็นว่ามีบางเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ความรักและความรู้สึกของคนอื่น แต่มีบางเรื่องที่อยู่ในมือเราล้วนๆ หนึ่งในนั้นคือ การเงิน
ในประเทศไทย ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 400-500 บาท เงินเดือน 18,000 บาทถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาจบใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราจัดการมันยังไง ตอนมีแฟน เราอาจเคยใช้เงินแบบไม่คิดมาก ไปเดต กินข้าว ดูหนัง ซื้อลูกโป่งวาเลนไทน์ที่ตอนนี้ก็ยังอยู่ในห้อง (แต่อาจจะหมดลมไปแล้ว) แต่พออยู่คนเดียว เราได้อำนาจในการใช้เงินกลับคืนมาเต็มๆ และนี่อาจเป็นโอกาสดีในการบริหารการเงินให้ชีวิตมั่นคงขึ้น
สำหรับคนอายุ 20 ต้นๆ ที่พึ่งได้เงินเดือนก้อนแรก เราอาจเริ่มต้นด้วยการใช้กฎ 50/30/20 เพื่อจัดระบบการเงินให้มั่นคงขึ้น เมื่อได้เงินมาเราก็เอามาแบ่งเป็น 3 ก้อน
- 50% ค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง
- 30% ค่าใช้จ่ายเพื่อความสุข เช่น เที่ยว ช็อป ดูหนัง ซื้อของที่ทำให้รู้สึกดี
- 20% การออมและลงทุน เช่น เก็บเงินฉุกเฉิน ลงทุน หรือหาช่องทางเพิ่มรายได้
ที่เราแนะนำให้เริ่มทำแบบนี้เพราะว่าจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน พบว่าความมั่นคงทางการเงินอาจเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสุข และหนึ่งในวิธีสร้างความมั่นคงทางการเงินที่มีเราคนเดียวทำได้ก็คือการจัดงบค่าใช้จ่ายและทำตามมันนั่นเอง
อย่าลืมว่า ความรักอาจเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่การใช้ชีวิตให้มั่นคงขึ้นเป็นสิ่งที่เราทำได้ การจัดการเงินให้ดีขึ้นไม่ใช่แค่ช่วยให้เราผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ แต่ยังช่วยให้อนาคตเรามีความสุขและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย
Q: กำลังเศร้า อยากใช้เงินช็อปปิ้งปลอบใจ แต่มีกำลังจ่ายจำกัด ควรทำยังไง?
A: จากการศึกษาของ Experian บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลและรายงานเครดิตผู้บริโภคซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในดับลิน พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว การแยกทางกับคนรักมักมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1,068 ปอนด์ (ประมาณ 47,000 บาท) ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการหาที่อยู่ใหม่ และค่าสมัครสมาชิกต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถแบ่งจ่ายกับอดีตคนรักได้อีกต่อไป
และยังไม่รวมว่าเวลารู้สึกแย่ หลายคนเลือกใช้เงินเป็นเครื่องปลอบใจ และเริ่มใช้จ่ายแบบไม่คิด ซึ่งการสูญเสียคนรักที่นำมาซึ่งการสูญเสียเงินจำนวนมากจากการใช้จ่ายอาจจะยิ่งนำมาซึ่งความเครียดทีหลัง ดังนั้น
1.ก่อนใช้จ่าย ควรถามตัวเองว่า "สิ่งที่เราต้องการจริงๆ ตอนนี้คืออะไร?"
แทนที่จะใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยตามอารมณ์ เราควรให้เวลาตัวเองในการไตร่ตรองดูก่อน โดยก่อนจะใช้จ่ายควรถามตัวเองก่อนว่า ซื้อมาแล้วได้ใช้รึเปล่า มีวิธีอื่นที่จะช่วยได้ไหม รออีกนิดได้ไหม หรือคำถามสุดท้ายก่อนเราจะจ่ายเงินก็คือ เราจะใช้วิธีใดจ่ายเพื่อให้ได้สิ่งนี้มาในราคาที่คุ้มค่าที่สุด?
การตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเองจะช่วยให้เราฉุกคิดและได้นึกถึงความจำเป็นของสิ่งที่กำลังจะจับจ่าย ทำให้การตัดสินใจใช้จ่ายเป็นไปอย่างรอบคอบและมีเหตุผลมากขึ้น
2.ก่อนจะใช้จ่ายอย่างฟุ้งซ่านลองทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายดูก่อน
เจสซิก้า ลีออนส์ (Jessica Lyons) ที่ปรึกษาทางการเงินของ Black Swan Capital ให้คำแนะนำว่า "ไม่ว่าความสัมพันธ์จะพังทลายลงอย่างไร ย่อมต้องมีช่วงเวลาของการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง และการทำงบประมาณเป็นสิ่งหนึ่งที่เราสามารถควบคุมได้"
การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นเรื่องสำคัญที่เราควบคุมได้เสมอ นอกจากจะช่วยควบคุมสถานการณ์การใช้จ่ายแล้ว การทำบัญชีในช่วงอกหักยังช่วยให้เราตระหนักถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอารมณ์ ซึ่งจะช่วยยับยั้งพฤติกรรมการใช้เงินเกินตัวได้
ดังนั้น ก่อนจะใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ลองทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้ชัดเจนก่อน เพื่อให้เห็นภาพรวมทางการเงินของตนเองและช่วยในการตัดสินใจใช้จ่ายอย่างมีสติมากขึ้น
3.แทนที่จะซื้อของใหม่ ลองจัดห้องใหม่ดูก่อน
หลังการเลิกรา หลายคนอยากจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่อย่าง แต่เรามักจะลืมไปว่าจริง ๆ แล้วของเหล่านั้นมันไม่ได้จำเป็น ดังนั้นการจัดห้องจึงเป็นอีกหนึ่งทางที่ดีในการคลายความเครียด และการจัดห้องอาจจะทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการได้ขายของที่ไม่จำเป็นหรือของขวัญจากแฟนเก่าที่เราไม่ต้องการใช้แล้ว
Q: มีวิธีไหนที่ช่วยให้ใช้ชีวิตให้มีความสุขขึ้นได้ โดยไม่ต้องใช้เงินเยอะไหม?
A: มีแน่นอน เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายทางอารมณ์ลุกลามไปสู่ความเสียหายทางการเงิน เราจึงนำเคล็ดลับการเงินสำหรับคนที่เพิ่งโสดมาฝาก
- พักจากโซเชียลมีเดียเพื่อลดแรงกระตุ้นในการใช้จ่าย
ในช่วงที่ชีวิตไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หลายคนมักหาทางออกด้วยการทำ "Retail Therapy" หรือการช็อปปิ้งเพื่อยกระดับอารมณ์ของตัวเองให้ดีขึ้น
งานวิจัยจาก Pennsylvania State University พบว่า 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขาช็อปปิ้งเพื่อทำให้ตัวเองอารมณ์ดีขึ้น บางคนถึงกับกล่าวว่าการซื้อของสามารถช่วยคลายเครียดได้ดีกว่าการนั่งสมาธิด้วยซ้ำ
ซึ่งพฤติกรรมนี้อาจนำไปสู่การใช้จ่ายมากกว่าที่เงินที่เราตั้งไว้หรือใช้จ่ายมากกว่าเงินที่เรามี ดังนั้น การพักจากโซเชียลมีเดียจึงเป็นวิธีหนึ่งที่อาจช่วยลดแรงกระตุ้นในการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้
- ใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัว เพราะการได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์เงินซื้อไม่ได้
เมื่อใจเราพัง เรามักเบี่ยงเบนความสนใจไปกับการจับจ่าย เพื่อให้รู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว สิ่งที่จะช่วยเยียวยาหัวใจที่แตกสลายได้จริง ๆ คือการได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์และความรักที่เงินไม่สามารถซื้อได้
📍#สรุปแล้ว คนเงินเดือน 18,000 ที่กำลังอกหัก จะมีชีวิตดีขึ้นได้ยังไง?
- จัดการเงินให้ชีวิตรอดก่อน แบ่งงบให้เป็นระบบ
- เยียวยาใจแบบไม่ทำลายบัญชีธนาคาร ใช้เงินปลอบใจแบบมีขอบเขต
- หาความสุขจากสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย สนุกกับสิ่งเล็กๆ ในชีวิต
วันนี้อาจจะยังเป็นวันที่ยาก แต่ถ้าเราดูแลตัวเองได้ดีขึ้น วันพรุ่งนี้จะต้องดีกว่าเดิมแน่นอน
#aomMONEY #คำถามการเงิน #ปรึกษาปัญหาชีวิต #ปัญหาการเงิน #การเงินส่วนบุคคล
โฆษณา