Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wichai Purisa
•
ติดตาม
18 มี.ค. เวลา 10:53 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
6 simple ways to tell if you’ve got high cortisol levels
6 วิธีง่ายๆ ที่จะบอกว่าคุณมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงหรือไม่
ฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือที่มักเรียกกันว่า 'ฮอร์โมนความเครียด'
ฮอร์โมนคอร์ติซอล เป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมในร่างกายของเรา ที่เรียกว่า ต่อมหมวกไต ซึ่งต่อมนี้มีตำแหน่งอยู่ที่เหนือไต ฮอร์โมนคอร์ติซอล มีบทบาทสำคัญในการทำงานต่างๆ ในร่างกาย เช่น ควบคุมการเผาผลาญอาหาร ลดการอักเสบ และช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อความเครียด แม้ว่าระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะมีความสำคัญต่อสุขภาพของเรา แต่การเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลอย่างเรื้อรัง อาจทำให้เกิดปัญหากับร่างกายหลายประการได้
ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่มีระดับเพิ่มขึ้น สามารถจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ฮอร์โมนนี้มีระดับที่สูงในคนที่เป็นโรคที่พบได้ยากที่เรียกว่าโรค คุชชิ่ง Cushing's syndrome โรคคุชชิ่งมักเกิดกับผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์ที่มีฮอร์โมนคอร์ติซอลสังเคราะห์เป็นระยะเวลานาน นอกจากนั้น ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เพิ่มขึ้น อาจเกิดขึ้นได้จากร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป เนื่องจากมีเนื้องอกที่สมอง หรือ มีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
สัญญาณหลายประการบ่งชี้ว่าระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีดังนี้
1. น้ำหนักเพิ่มขึ้น
ตัวบ่งชี้หนึ่งที่บอกว่า ฮอร์โมนคอร์ติซอลมีระดับสูงคือ น้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าท้อง ฮอร์โมนคอร์ติซอลมีอิทธิพลต่อบริเวณที่สะสมไขมัน และระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูงขึ้น อาจทำให้ไขมันสะสมในบริเวณนั้นมากขึ้น เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แม้ว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อาจจะมีความแตกต่างกันของพื้นที่ที่สะสมไขมัน และการกระจายตัวของไขมันก็ตาม
ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัสสาวะมากและบ่อย อาจทำให้หิวบ่อย กินจุ มีไขมันที่หน้าท้องเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ไขมันหน้าท้องเพิ่มขึ้นมา อาหาร การใช้ชีวิต พันธุกรรม และความไม่สมดุลของฮอร์โมนอื่นๆ เช่น การดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ไขมันหน้าท้องเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
การที่มีก้อนไขมันที่ไปสะสมที่ลำตัวส่วนบน หลัง คอ ไหล่ ไหปลาร้า ซึ่งมักเรียกกันว่า "หนอก" และใบหน้าที่บวมและกลม ก็เป็นสัญญาณของฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เพิ่มระดับขึ้นเช่นกัน
อาการที่แสดงออกมาทางผิวหนังที่สังเกตุได้ เช่น ผิวหนังแห้ง ผิวหนังบางจนเห็นเส้นเลือด หรือเกิดรอยช้ำได้ง่าย ผิวหนังแตกลายเป็นสีชมพูหรือสีม่วง บริเวณต้นขา ท้องแขน และหน้าอก เกิดรอยแผลเป็นได้ง่าย เป็นสิวทั้งตามตัวและใบหน้า อาการที่แสดงออกทางกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแอ ต้นแขนต้นขาลีบ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ส่วนอาการที่แสดงออกทางระบบภูมิคุ้มกัน เช่น มักติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย และอาจมีอาการป่วยที่รุนแรง
2. มีอาการเหนื่อยล้าและนอนไม่หลับ
แม้จะรู้สึกเหนื่อย แต่ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง มักจะมีปัญหานอนไม่หลับควบคู่ไปด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่การเหนื่อยล้าเรื้อรังได้ ระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลจะเป็นไปตามนาฬิกาชีวภาพ หรืออาจจะเรียกว่า ตามวัฏจักรรายวัน โดยระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะมีระดับสูงที่สุดในช่วงตอนเช้า และจากนั้นระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะค่อยๆ ลดต่ำลงตลอดทั้งวัน แต่เมื่อวัฏจักรตามนาฬิกาชีวภาพนี้ถูกรบกวน ปัญหานอนไม่หลับ จึงตามมา
3. ความดันโลหิตสูงและระดับน้ำตาลในเลือด
ระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอล จะช่วยในการควบคุมความดันโลหิต ช่วยควบคุมระดับของน้ำตาลในเลือด ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง ทำให้ปวดศีรษะ และเสี่ยงที่จะเกิดเป็นโรคเบาหวาน
4. การเปลี่ยนแปลงอารมณ์
ฮอร์โมนคอร์ติซอล มักเรียกกันว่า ฮอร์โมนความเครียด ดังนั้น ความวิตกกังวล ซึมเศร้า และหงุดหงิด บกพร่องทางกระบวนการคิด ไม่มีสมาธิ อารมณ์แปรปรวน จึงถือเป็นเรื่องปกติในผู้ที่มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง เนื่องจากระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ไปส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง เช่น เซโรโทนิน และโดปามีน
5. กระดูกพรุน
ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูงเรื้อรัง จะทำให้กล้ามเนื้อลีบ ความหนาแน่นของกระดูกลดลง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสตรีวัยหมดประจำเดือน
6. อาการอื่นๆ
ระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูง ทำให้ผิวหนังช้ำง่าย มีรอยแตกลายสีม่วงขนาดใหญ่ ในเพศชายความต้องการทางเพศลดลง และมีบุตรยาก ในเพศหญิงประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ หรือมีขนที่ใบหน้าและลำตัวมากกว่าปกติ
ผู้เขียน : Nish Manek (general practitioner)
แปลไทยโดย : Wichai Purisa (senior scientist)
อ้างอิง :
https://www.sciencefocus.com/wellbeing/high-cortisol-levels
ธุรกิจ
การเงิน
ข่าวรอบโลก
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย