19 มี.ค. เวลา 11:16 • ครอบครัว & เด็ก

“เดินจงกรม.. จนเลือดสาด..”

พระพุทธเจ้าสอนให้ใช้มรรค 8 เป็นทางสู่มรรคผล แต่ให้ปฏิบัติแบบพอดี เป็นทางสายกลาง..
ไม่ถึงขนาดทรมานกายทรมานใจจนเกินเหตุ.. และไม่ถึงขนาดปล่อยกายใจตามความสบายมากเกินไป..
เราเชื่อกันว่า การจะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังกายกำลังใจมาก..
ในส่วนกำลังใจนั้น.. เรามักได้ยิน ก่อนบุคคลจะตรัสรู้ หรือบรรลุอรหันต์.. แม้พระพุทธเจ้าเอง ก็ยังเคยอธิษฐานตั้งใจว่า.. จะปฏิบัติอย่างจริงจัง แม้ตายก็จะไม่ลุกจากที่นั่ง ไม่ละทางจงกรม จนกว่าจะเห็นธรรม..
บางคนสงสัยว่า แบบนี้ เกินไปมั้ย.. ขัดทางสายกลางรึเปล่า..
การอธิษฐานจิตเพื่อตั้งใจปฏิบัติให้บรรลุธรรมแบบนี้ ไม่ผิดนะครับ.. เป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการทำความดี..
แต่เวลาปฏิบัติ ใช้กำลังกาย.. บางรูปอธิษฐานอดอาหาร 7 วัน.. 10 วัน.. 15 วันก็มี.. เพื่อให้กายเบา คุมจิตไม่ฟุ้ง และละกาม ความอยากในอาหาร..
บางคนอาจตั้งใจไม่นอนเลย.. นั่งหลับก็ไม่ยอม.. แบบนี้ผิดมั้ย..
ให้ดูที่ผลครับ.. ถ้าทำแล้วได้ผลดี.. ละวางได้มากขึ้น มีสติมากขึ้น.. ไม่ทำร้ายกายใจจนเกินเหตุ.. ก็ดี ควรทำต่อไป..
บางคนไม่ดูความพร้อมของตนเอง.. เห็นคนอื่น รูปอื่นเขาทำได้ ได้.. ก็อยากทำตามเขาบ้าง.. แต่ร่างกายนนเองไม่เอื้อ ก็อาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้.. คือ ผิดวิธี.. ไม่ใช่ทางสายกลาง..
เรื่องนี้ เคยมีมาแล้ว..
 
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตเมืองราชคฤห์..
วันหนึ่ง เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะซึ่งเป็นรวย มีชีวิตสุขสบาย ไม่เคยลำบาก.. ฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม จนมีขนอ่อนขึ้น.. มาขอเข้าเฝ้า..
เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเกิดความซาบซึ้ง อยากประพฤติพรหมจรรย์ เห็นว่า ต้องบวชเท่านั้นจึงจะทำได้.. จึงขอบวช..
หลังจากพระพุทธเจ้าบวชให้.. ได้ชื่อว่า พระโสณะ ตั้งใจปฏิบัติธรรม ได้เดินทางไปพำนักอยู่ ณ ป่าสีตวัน..
ท่านปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนเท้าทั้งสองแตก เป็นแผล.. แต่ก็ยังอดทนเดินจงกรมต่อไป จนสถานที่เดินจงกรมเปรอะเปื้อน เต็มไปด้วยเลือด..
ครั้งนั้น พระโสณะเกิดปริวิตกว่า พระสาวกของพระผู้มีพระภาค ทำความเพียรจนบรรลุธรรมมากมาย.. แต่ไฉนจิตของเราทำความเพียรขนาดนี้ จิตยังไม่หลุดพ้นจากความไม่ถือมั่นหนอ จนคิดหดหู่ใจ อยากสึก..
พระพุทธเจ้าตรวจดู รู้จิตของพระโสณะ.. จึงหายตัวจากภูเขาคิชฌกูฏมายังป่าสีตวัน..
เดินไปดูทางจงกรมของพระโสณะที่เปื้อนเลือดเต็มไปหมด.. จึงสอบถามภิกษุอื่น ได้ความแล้วก็ให้เรียกพระโสณะมาพบ..
เมื่อพระโสณะมาถึง ท่านก็สอนว่า..
“เธอเพียรปฏิติแล้ว วิตกว่า ทำความเพียรขนาดนี้ ยังไม่หลุดพ้น.. เธอท้อใจเห็นว่า สมบัติในตระกูลก็มีอยู่ คิดจะสึกไปใช้ชีวิตแบบปุถุชน แล้วใช้ทรัพย์ทำบุญกุศลแทนใช่มั้ย.. ”
พระโสณะยอมรับว่า คิดเช่นนั้นจริง..
พระองค์สอนว่า..
“เธอรู้ใช้มั้ยว่า.. สายพิณที่ตึงเกินไป ก็ขาดง่าย ไม่ดี.. สายพิณที่หย่อนเกิน ก็ใช้ไม่ได้..
ดูกรโสณะ เหมือนกันนั่นแล.. ความเพียรที่ปรารภเกินไปนัก ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน..
ความเพียรที่ย่อหย่อนนัก.. ก็เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน..
เธอจงตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ..
จงทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน.. และถือเอาความสม่ำเสมอนั้น เป็นทางปฏิบัติ..”
แล้วพระองค์ได้บัญญัติพระวินัย ให้ภิกษุสวมรองเท้า ทำด้วยหญ้าชั้นเดียวได้.. แต่ห้ามใช้รองเท้าหนังสัตว์บางประเภท.. ห้ามใช้รองเท้าไม้.. ห้ามใช้รองเท้าหุ้มส้น หรือหุ้มหลังเท้า.. ห้ามใช้รองเท้าสีเขียว เหลือง แดง ชมพู ดำ แสด บานเย็น..
จากนั้นพระองค์ก็หายตัววาร์ป.. กลับไปปรากฎยังภูเขาคิชฌกูฏ..
พระโสณะรับมาปฏิติ.. ตั้งใจหลีกเร้นไปปฏิบัติแต่ผู้เดียว.. ไม่นานนักท่านก็บรรลุธรรม สำเร็จเป็นพระอรหันต์.. เกิดญาณรู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว..จึงเดินทางไปกราบทูลพระพุทธเจ้าทราบ..
สรุปว่า การปฏิบัติธรรมนั้น.. ต้องพิจารณาใคร่ครวญหลักอริยสัจ 4 และรู้วิธีนำมาใช้..
โดยยึดแนวทางตั้งแต่สัมมาทิฐิจนถึงสัมมาสมาธิตามหลักมรรค 8..
และการปฏิบัตินั้น ต้องเอาจริงเอาใจ.. มุ่งมั่นเพื่อความหลุดพ้น แม้จะตายก็ยอม..
จะจริงจังแค่ไหนเพียงไร ให้ดูกายใจ ความพร้อมของตนเองให้ดี.. นั่นคือ สายกลาง..
ไม่ใช่ ปฏิบัติเข้มงวดเครียดจนจิตเพี้ยน.. จนป่วยเจ็บทรมานสังขารเกินไป.. นั่นผิดวิธี..
แต่ก็ไม่ใช่ ปฏิบัติแบบ..
“ชิวๆนะ.. จะได้ไม่เครียด เดี๋ยวเป็นบ้า.. หิวก็กิน.. ง่วงก็นอน..
ถ้านั่งจนปวด ก็ขยับ.. ไม่งั้นเหน็บกิน..
ถ้าเดินจงกรมจนเหนื่อย เมื่อยนักก็พักเสีย.. ไม่งั้นเข่าสึก..
ปฏิบัติแบบนี้.. อย่ามาบอกตัวเองว่า นี่ ทางสายกลาง..
นั่น.. มันโดนกิเลสกามครอบงำจิตใจแล้ว.. 55
(จากพระไตรปิฏก หมวดพระวินัยปิฎก เล่ม ๕ มหาวรรค ภาค ๒, จัมมขันธกะ)
โฆษณา